ความหมายของคำว่าพระสุคต [อรรถกถาพาหิยสูตร ขุททกนิกาย อุทาน]

 
khampan.a
วันที่  26 พ.ค. 2565
หมายเลข  43160
อ่าน  395

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ หน้าที่ ๑๔๔

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุคโต ความว่า ชื่อว่า สุคต เพราะ เสด็จไปงาม คือเสด็จไปสู่ที่อันงาม เสด็จไปโดยชอบ มีพระวาจาชอบ. จริงอยู่ การไปท่านเรียกว่า คต. ก็การไปนั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้า งามคือบริสุทธิ์ไม่มีโทษ. ถามว่า ก็การไปคืออะไร? ตอบว่า คืออริยมรรค. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเสด็จไปสู่ทิศเกษมไม่ติดขัดด้วย การไปนั้น. แม้คนอื่นพระองค์ก็ให้ดำเนินไปด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อ ว่าสุคต เพราะเสด็จไปงาม. ก็พระองค์เสด็จไปสู่ที่อันดี คืออมตนิพพาน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าสุคต เพราะเสด็จไปสู่ที่อันดี. พระองค์ ชื่อว่า สุคต เพราะเสด็จไปชอบ เหตุไม่หวนกลับมาสู่กิเลสที่พระองค์ประหาร ด้วยมรรคนั้นๆ . สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสว่า ชื่อว่า สุคต เพราะไม่ มาอีก ไม่กลับมา ไม่หวนกลับมาสู่กิเลสที่พระองค์ประหารได้ด้วยโสดาปัตติมรรค. ชื่อว่า สุคต เพราะไม่หวนกลับมาสู่กิเลสที่พระองค์ประหาร ได้ด้วยสกทาคามิมรรคฯ ลฯ ด้วยอรหัตมรรค. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สมฺมาคตตฺตา ความว่า เพราะเสด็จไป คือดำเนินไปด้วยดีด้วยสัมมาปฏิบัติ แม้ในการกำหนดทั้ง ๓ อย่าง. จริงอยู่ ชื่อว่า สุคต เพราะ เสด็จไปโดยชอบแม้ด้วยอาการอย่างนี้ว่า พระองค์ทรงบรรลุที่สุดญาตัตถจริยา โลกัตถจริยา พุทธัตถจริยา ด้วยสัมมาปฏิบัติอันบริบูรณ์ด้วยพระบารมี ๓๐ ถ้วน จำเดิมแต่บาทมูลพระพุทธเจ้าทีปังกร ตราบเท่าถึงมหาโพธิมณฑล ทรงพอกพูนเฉพาะหิตสุขแก่โลกทั้งปวง ต่อแต่นั้น จึงเสด็จ ไป คือดำเนินไป ด้วยการเป็นใหญ่ในธรรมที่พระองค์ทรงบรรลุในอริสัจ ๔ ด้วยมัชฌิมาปฏิปทา กล่าวคือโพชฌงคภาวนาอันยอดเยี่ยม ไม่ข้องแวะที่สุดเหล่านี้ คือ สัสสตทิฏฐิ อุจเฉททิฏฐิ กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค และด้วยสัมมาปฏิบัติอันไม่ใช่วิสัยในสัตว์ทั้งปวง. ก็ พระผู้มีพระภาคเจ้านี้ตรัสโดยชอบ คือตรัสพระวาจาเฉพาะที่ควร ใน ฐานะอันควร เพราะเหตุนั้น ชื่อว่า สุคต. สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสว่า เราตถาคตเป็นกาลวาที พูดตามกาล ภูตวาที พูดตามที่เป็นจริง อัตถวาที พูดตามอรรถ ธัมมวาที พูดตามธรรม วินัยวาที พูดตามวินัย พูดวาจา ที่มีหลักฐาน มีที่อ้างมีที่สุดประกอบด้วยประโยชน์ตามกาลอันควร. ตรัส ไว้อีกอย่างมีอาทิว่า วาจาใด ไม่เป็นจริงไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของชนเหล่าอื่น เราตถาคตไม่พูด วาจานั้น. ชื่อว่า สุคต แม้เพราะตรัสชอบด้วยประการฉะนี้.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 27 พ.ค. 2565

กราบยินดีในความดีด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 27 พ.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ