แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์ [วิสุทธิมรรค]

 
wittawat
วันที่  5 พ.ค. 2565
หมายเลข  43071
อ่าน  439

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

โส ภควา อิติปิ อรหํ (แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์)

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ หน้า ๒๔๖

ฉอนุสสตินิเทศ

...สตินั่นเอง ชื่อว่าอนุสติ เพราะเกิดขึ้นบ่อยๆ อนึ่ง สติชื่อว่า อนุสติ เหตุเป็นความระลึกอันนับว่าสมควรแก่กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธา เพราะให้เป็นไปในฐานะอันควรให้เป็นไปเท่านั้น ดังนี้ก็ได้

อนุสสติอันปรารภพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ชื่อพุทธานุสติ คำว่าพุทธานุสตินั่น เป็นคำเรียกสติอันมีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์...

<ข้อความเกี่ยวกับอนุสติอื่นๆ มีธรรมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ เทวตานุสติ มรณานุสติ กายคตาสติ อานาปานสติ อุปสมานุสติ รวมเป็น ๑๐>

...ในอนุสติ ๑๐ มีประการดังกล่าวมานี้ พระโยคาวจรผู้กอปรด้วยความเลื่อมใสมั่น ใคร่จะเจริญพุทธานุสสติ... พึงเป็นผู้ไปในที่ลับ เร้นอยู่ในเสนาสนะอันสมควรแล้ว ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า อิติปิโส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา นี้เป็นนัยในการระลึกในพระพุทธคุณเหล่านี้ คือ ระลึกโดยประกอบ อิติปิ ไว้ทุกบท ได้แก่ โส ภควา อิติปิ อรหํ (แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์) ฯเปฯ โส ภควา อิติปิ ภควา (แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระภควา) ....มีอธิบายว่า ...”เพราะเหตุนี้ๆ ”

[แก้อรรถบท อรหํ ๕ นัย]

บัณฑิตย่อมระลึกว่า ในบทเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นได้พระนามว่า พระอรหันต์ (อรหํ) ๕ นัย นี้ก่อน คือ

เพราะความเป็นผู้ไกล

เพราะความที่ทรงกำจัดข้าศึกทั้งหลายเสียได้

เพราะทรงทำลายซี่กำทั้งหลายเสียได้

เพราะความเป็นผู้ควรแก่ทักขิณาวัตถุทั้งหลาย มีปัจจัย เป็นต้น

เพราะความไม่มีที่ลับที่จะทำบาป

[นัยที่ ๑ ผู้ไกล]

จริงอยู่พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นชื่อว่า ผู้ไกล (อารกะ) คือ ทรงสถิตอยู่ในที่ไกลลิบลับแต่สรรพกิเลส เพราะกิเลสทั้งหลายกับทั้งวาสนา พระองค์ทรงกำจัดเสียได้แล้ว เพราะความเป็นผู้ไกลนี้ จึงได้นามว่า อรหํ...

[นัยที่ ๒ ผู้กำจัดอริ]

อนึ่งอริ (ข้าศึก) คือ กิเลสทั้งหลายเหล่านั้น พระองค์ทรงกำจัดเสียได้แล้วด้วยมรรค เพราะความที่ทรงกำจัดอริทั้งหลายเสียได้ดังนี้ จึงทรงพระนามว่า อรหํ…

[นัยที่ ๓ ผู้ทำลายซี่กำสังสารจักร]

(ล้อรถประกอบด้วย 3 ส่วน “ดุมล้อ” คือศูนย์กลางล้อที่ต่อกับเพลารถ “ซี่” หรือ “กำ” คือซี่ล้อรถซึ่งแยกออกจากดุมล้อรถไปที่ขอบล้อที่เป็นวงกลม “กง” คือขอบล้อที่โค้งเป็นวงกลมซึ่งต่อมาจากซี่ล้อ ซึ่งล้อรถในอดีตทำด้วยไม้)

อนึ่ง สังสารจักร (ล้อ คือ สังสาร) อันมีดุมทำด้วยอวิชชา และภวตัณหา อภิสังขารมีบุญญาภิสังขาร เป็นต้น เป็นซี่กำ ชรามรณะ เป็นกง สอดด้วยเพลาทำด้วย อาสวสมุทัย ประกอบเข้าไว้ในตัวรถ คือไตรภพ (กามภพ รูปภพ อรูปภพ) หมุนไปตลอดกาลอันหาเบื้องต้นไม่ได้ นั้นใด ซี่กำทั้งหลายของสังสารจักรนั้น พระองค์ทรงประดิษฐานอยู่ ณ พื้นปฐพี คือ ศีล ด้วยพระยุคลบาท คือ วิริยะ แล้วทรงถือขวาน คือ พระญาณอันทำความสิ้นกรรม ด้วยพระหัตถ์ คือ ศรัทธา ทรงทำลายเสียสิ้นแล้ว เพราะความที่ทำลายอระ (ซี่กำ คือ สังขาร) เสียได้ดังนี้ จึงทรง พระนามว่า อรหํ อีกประการ ๑

หรือมิฉะนั้น สังสารวัฏ (วงเวียน) อันไม่ปรากฏที่สิ้นสุด เรียกว่า สังสารจักร ก็แล อวิชชา นับว่าเป็นดุมของสังสารจักรนั้น เพราะ เป็นต้น (เหตุ) ชรามรณะนับว่าเป็นกง เพราะเป็นปลาย (เหตุ) ธรรมที่เหลือ ๑๐ ข้อ นับเป็น ซี่กำ (๑๐ ข้อ หมายถึง องค์ของปฏิจสมุปบาทที่เหลือ ได้แก่ สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ) ...ความไม่รู้ในอริยสัจมีทุกข์เป็นอาทิ ชื่อว่า อวิชชา และอวิชชาในกามภพ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งสังขารทั้งหลายในกามภพ อวิชชาในรูปภพ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งสังขารทั้งหลายในรูปภพ อวิชชาในอรูปภพ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งสังขารทั้งหลายในอรูปภพ (ด้วยกัน)

สังขารทั้งหลายในกามภพ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งปฏิสนธิวิญญาณในกามภพ ในภพนอกนี้ก็นัยนั้น

ปฏิสนธิวิญญาณในกามภพ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งนามรูปในกามภพ ในรูปภพก็อย่างนั้น (แต่) ในอรูปภพ (ปฏิสนธิวิญญาณ) เป็นปัจจัยแห่งนามอย่างเดียว

นามรูปในกามภพ เป็นปัจจัยแห่งอายตนะครบ ๖ ในกามภพ นามรูปในรูปภพเป็นปัจจัยแห่งอายตนะ ๓ ในรูปภพ นามในอรูปภพเป็นปัจจัยแห่งอายตนะ ๑ ในอรูปภพ

อายตนะ ๖ ในกามภพ เป็นปัจจัยแห่งผัสสะทั้ง ๖ ในกามภพ อายตนะในรูปภพเป็นปัจจัยแห่งผัสสะ ๓ ในรูปภพ อายตนะ ๑ ในอรูปภพเป็นปัจจัยแห่งผัสสะ ๑ ในอรูปภพ

ผัสสะ ๖ ในกามภพ เป็นปัจจัยแห่งเวทนาทั้ง ๖ ในกามภพ ผัสสะ ๓ ในรูปภพ เป็นปัจจัยแห่งเวทนาทั้ง ๓ ในรูปภพนั้นด้วย ผัสสะ ๑ ในอรูปภพ เป็นปัจจัยแห่งเวทนาทั้ง ๑ ในอรูปภพนั้นด้วยกัน

เวทนา ๖ ในกามภพ เป็นปัจจัยแห่งกองตัณหา ๖ ในกามภพ เวทนา ๓ ในรูปภพ เป็นปัจจัยแห่งกองตัณหา ๓ ในรูปภพนั้นด้วยกัน เวทนา ๑ ในอรูปภพ เป็นปัจจัยแห่งกองตัณหา ๑ ในอรูปภพนั้นด้วยกัน

ตัณหานั้นๆ ในภพนั้นๆ เป็นปัจจัยแห่งอุปทานนั้นๆ ธรรมที่เหลือมีอุปาทาน เป็นต้น เป็นปัจจัยแห่งธรรมทั้งหลายมีภพเป็นอาทิ

ถามว่า ข้อนี้เป็นอย่างไร แก้ว่า “บุคคลบางคนในโลกนี้ ปรารถนา (ด้วยอำนาจกามตัณหา) ว่า เราจักบริโภคกาม แล้วประพฤติทุจริตด้วยกาย ประพฤติทุจริตด้วยวาจา ประพฤติทุจริตด้วยใจ เพราะกามุปาทานเป็นปัจจัย ครั้นเพียบไปด้วยทุจริต เขา (ตายไป) ก็เกิดในอบาย กรรมอันเป็นเหตุแห่งความอุปบัติในอบายนั้นของเขา เป็นกรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายอันเกิดเพราะกรรมเป็นอุปบัติภพ ความเกิดแห่งขันธ์ทั้งหลายเป็นชาติ ความหง่อมไป (แห่งขันธ์เหล่านั้น) เป็นชรา ความสลายไป (แห่งขันธ์เหล่านั้น) เป็นมรณะ

อีกคนหนึ่ง ปรารถนาจักเสวยสมบัติในสวรรค์ แล้วประพฤติสุจริต เพราะกามุปาทาน เป็นปัจจัยอย่างเดียวกันนั้น ครั้นเปี่ยมไปด้วยสุจริต เขา (ตายไป) ก็เกิดในสวรรค์ นัย (ความต่อไป) ก็นัยเดียวกัน คือ กรรมอันเป็นเหตุแห่งความอุปบัติในสวรรค์นั้นของเขาเป็นกรรมภพ ดังนี้ เป็นต้น

...<ข้อความถัดไปเกี่ยวกับบุคคลที่ปรารถนาจะเสวยสมบัติในพรหมโลก เจริญพรหมวิหาร มีเมตตา เป็นต้น เพื่อไปเกิดในพรหมโลก และบุคคลที่ปรารถนาจะเกิดในอรูปภพ เจริญอรูปสมาบัติ มีอากาสานัญจายตนะ เป็นต้น เพื่อไปเกิดในอรูปภพ>...

โดยนัยดังนี้ ปัญญาในการกำหนดจับปัจจัยว่า “อวิชชาเป็นเหตุ สังขารเป็นเหตุสมุบัน (เกิดแต่เหตุ) อวิชชาและสังขารทั้ง ๒ นั้น ก็เป็นเหตุสมุบันด้วยกัน (หมายถึงธรรมทั้ง ๒ นั้นมีเหตุ อวิชชา มีเหตุคือ อาสวะ และสังขาร มีเหตุคือ อวิชชา) ” นี้ชื่อ ธรรมฐิติญาณ ปัญญาในการกำหนดจับปัจจัยว่า "อวิชชาเป็นเหตุ สังขารเป็นเหตุสมุบัน อวิชชา และสังขารทั้ง ๒ นั้น ก็เป็นเหตุสมุบันด้วยกันทั้งในกาลอดีตทั้งในกาลอนาคต" ชื่อว่า ธรรมฐิติญาณ แล บททั้งปวง บัณฑิตพึง (กล่าว) ให้พิสดารโดยนัยนี้เทอญ

ในธรรมเหล่านั้น อวิชชากับสังขารเป็นสังเขป ๑ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา เป็นสังเขป ๑ ตัณหา อุปาทาน ภพ เป็นสังเขป ๑ ชาติ ชรามรณะ เป็นสังเขป ๑

อนึ่ง ใน ๔ สังเขปนั้น สังเขปแรก เป็น อดีตอัทธา (อดีตกาล) สังเขปกลาง ๒ เป็นปัจจุบันอัทธา ชาติ ชรามรณะ เป็นอนาคตอัทธา

อนึ่งในธรรมเหล่านั้น ด้วยถือเอา (คือกล่าวถึง) อวิชชา สังขาร ก็เป็นอันถือเอา (คือกินความไปถึง) ตัณหา อุปาทาน ภพ (ซึ่งเป็นเหตุคือ เป็นกิเลส และกรรมด้วยกัน) ด้วย เพราะฉะนั้น ธรรม ๕ ประการนี้จึงจัดเป็นกรรมวัฏในอดีต ธรรม ๕ มี วิญญาณ เป็นต้น (วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา) จัดเป็นวิปากวัฏในกาลบัดนี้ ด้วยถือเอา (คือกล่าวถึง) ตัณหา อุปาทาน ภพ ก็เป็นอันถือเอา (คือกินความไปถึง) อวิชชา สังขารด้วย เพราะฉะนั้น ธรรม ๕ ประการนี้จึงเป็นกรรมวัฏในกาลบัดนี้ (ด้วย) ธรรม ๕ ประการนี้ (คือ วิญญาณ ฯลฯ เวทนา) จัดเป็นวิปากวัฏในกาลต่อไป (ด้วย) เพราะด้วยการกล่าวถึง ชาติ ชรามรณะ ก็เป็นอันชี้ถึงธรรม (๕) มี วิญญาณ เป็นต้น (ซึ่งเป็นธรรม มีชาติ ชรามรณะ เป็นสภาวะ) ธรรมเหล่านั้น โดยอาการจึงเป็น ๒๐

อนึ่ง ในธรรมเหล่านั้น ในระหว่างสังขารกับวิญญาณ มีสนธิ ๑ ระหว่าง เวทนากับตัณหามีสนธิ ๑ ระหว่างภพกับชาติมีสนธิ ๑ ดังนี้แล

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ทรงเห็น คือ ทรงรู้ยิ่งเห็นจริง ซึ่งปฏิจจสมุบาท อันมีสังเขป ๔ อัทธา (กาล) ๓ อาการ ๒๐ สนธิ ๓ โดยอาการทั้งปวงโดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้ ความรู้นั้น ชื่อว่า ญาณ เพราะอรรถว่า หยั่งรู้ ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ประจักษ์ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการกำหนดรู้ปัจจัย ชื่อว่าธรรมฐิติญาณ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงรู้ธรรมเหล่านั้นตามจริงด้วยธรรมฐิติญาณนี้แล้ว ทรงหน่ายในธรรมเหล่านั้น ทรงคลายความยินดีหลุดพ้นไป ชื่อว่าทรงกำจัด คือรื้อทำลาย ซึ่งกำ (ก้านล้อรถ) ทั้งหลายแห่งสังสารจักรอันมีประการดังกล่าวแล้ว เพราะทรงกำจัดกำทั้งหลาย (แห่งสังสารจักร) เสียได้อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงพระนามว่า อรหํ ประการ ๑...

[นัยที่ ๔ ผู้ควร]

อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นควรซึ่งปัจจัยมีจีวร เป็นต้น และซึ่งการบูชาอย่างวิเศษ เพราะความที่พระองค์เป็นอัครทักขิไณยบุคคล ก็เพราะเหตุนั้นแล เมื่อพระตถาคตเจ้าเกิดขึ้นแล้ว ชนทุกหมู่เหล่าผู้เป็นมเหสักข์ (ประชุมชนยกย่องว่าเป็นเจ้าเป็นใหญ่) ทั้งที่เป็นเทวดาทั้งที่เป็นมนุษย์มีอยู่ ท่านเหล่านั้นหาทำการบูชาในที่อื่นไม่ จริงอย่างนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมได้บูชาพระตถาคตเจ้าด้วยพวงรัตนะเท่าเขาสิเนรุ อนึ่ง เทวดาอื่นๆ และมนุษย์ทั้งหลาย เช่น พระเจ้าพิมพิสารและพระเจ้าโกศล ก็ได้บูชา (พระองค์) ตามกำลัง อนึ่งเล่า พระเจ้าอโศกมหาราชก็ไดทรงสละทรัพย์ประมาณ ๙๖ โกฏ โปรดให้สร้างวิหารถึง ๘๔,๐๐๐ (ตำบล) อุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้เสด็จปรินิพพานแล้ว จะกล่าวอะไรถึงการบูชาอย่างวิเศษอื่นๆ (ที่เทวดาและมนุษย์ผู้มิใช่มเหสักข์ทำถวาย) เล่า เพราะความเป็น อรห (ผู้ควร) แก่ทักขิณาวัตถุทั้งหลายมีปัจจัยเป็นอาทิดังนี้ จึงทรงพระนามว่า อรหํ ประการ ๑...

[นัยที่ ๕ ผู้ไม่มีที่ลับ]

อนึ่ง คนพาลผู้ไว้ตัวว่าเป็นบัณฑิตทุกจำพวกในโลก ย่อมทำบาปในที่ลับ เพราะกลัวเสียชื่อ ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นหาทรงทำ (บาปในที่ลับ) ฉันนั้น ในกาลไหนๆ ไม่ เพราะความไม่มีที่ลับในการทำบาปดังนี้ จึงได้พระนามว่า อรหํ ประการ ๑...

[สรุปความ]

ในคัมภีร์ได้แสดงการอบรมเจริญความสงบ โดยมีการระลึกถึงคุณความดีของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอารมณ์ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การระลึกว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์” ซึ่งได้แสดงเหตุของความเป็นพระอรหันต์ ๕ นัย ได้แก่

๑. เป็นผู้ไกล (อารกะ) หมายถึง ทรงเป็นผู้ไกลจากกิเลสทั้งปวง เพราะว่าทรงดับกิเลสพร้อมทั้งวาสนาได้หมดสิ้นแล้ว

๒. เป็นผู้กำจัดข้าศึก (อริ) หมายถึง ทรงกำจัดข้าศึก คือ กิเลสได้ทั้งหมดแล้ว ได้ด้วยมรรคปัญญา

๓. เป็นผู้ทำลายซี่กำ (อระ) ซึ่งท่านได้เปรียบเทียบไว้ดังนี้

ล้อรถ คือ สังสารจักร ซึ่งได้แก่ ความเป็นไปของสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ที่เกิดขึ้นเป็นไปทุกขณะนี้ ซึ่งเป็นไปทั้งใน กามภพ รูปภพ และอรูปภพ

ดุมล้อ คือ อวิชชา และภวตัณหา (อวิชชา หมายถึง โมหเจตสิก และ ภวตัณหา หมายถึง ความยินดีในภพ หรือหมายถึงโลภเจตสิกที่เกิดกับทิฏฐิที่เห็นว่าเที่ยง) ซึ่งเป็นต้นเหตุของสังสารวัฏ

ซี่ล้อ (กำ) คือ สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ

กงล้อ (ขอบล้อที่เป็นวงกลม) คือ ชรามรณะ ซึ่งเป็นปลายเหตุของสังสารวัฏ

เพลารถ คือ อาสวสมุทัย (กล่าวถึงอาสวะ ที่เป็นเหตุให้อวิชชา เกิด)

ตัวรถ คือ ไตรภพ ได้แก่ กามภพ รูปภพ อรูปภพ

โดยที่ล้อนั้นก็หมุนอยู่ตลอด และก็ไม่ทราบว่าหมุนมาตั้งแต่เมื่อไรด้วย ก็หมายถึงการเกิดขึ้นและดับไปของธรรมที่มีอย่างต่อเนื่อง ในภพภูมิต่างๆ เป็นคน สัตว์ เทวดา เป็นต้น ที่หาเบื้องต้นไม่ได้ ทั้งในอดีตที่ดับไปแล้ว ปัจจุบันที่มีอัตภาพเป็นไปอยู่นี้ และอนาคตที่ยังมาไม่ถึงด้วย ซึ่งผู้ที่ทำลายซี่ล้อของสังสารจักรนี้ คือ พระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งมีข้ออุปมาว่า

ทรงยืนอยู่ที่พื้น คือ ศีล

โดยพระบาท คือ วิริยะ

ทรงถือขวาน คือ ปัญญา

โดยพระหัตถ์ คือ ศรัทธา

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นได้ประจักษ์ธรรมโดยวิปัสนาญาณ ตามลำดับขั้น รู้แจ้งปฏิจสมุปบาทโดยอาการทั้งปวงมี สังเขป ๔ กาล ๓ อาการ ๒๐ สนธิ ๓ ด้วยพระปัญญา ตั้งแต่ ธรรมฐิติญาณ เป็นต้น จนกระทั่งถึงความหน่าย และความดับสิ้นไปของความไม่รู้ และความติดข้องทั้งปวง และดับสังสารวัฏทั้งปวง เป็นผู้ทำลายซี่กำ ซึ่งหมายถึง กิเลสวัฏ (อวิชชา ตัณหา อุปาทาน) และกรรมวัฏ (สังขาร ภพ) ในปัจจุบันชาติ ด้วยอรหัตมรรค ซึ่งจะไม่มีปัจจัยให้มีวิปากวัฏ (วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ซึ่งรวมไปถึง ชาติ ชรามรณะด้วย) เกิดขึ้นอีกเลยในชาติถัดไป

๔. เป็นผู้ควร (อรหะ) หมายถึง ทรงเป็นผู้ควรแก่ทักขิณาวัตถุทั้งหลาย มีปัจจัย เป็นต้น เพราะความเป็นอัครทักขิไณยบุคคล หมายถึง ผู้ควรแก่ทักษิณา (หรือ ทานที่ทายกยกมาบูชา) อย่างยิ่ง ผู้ที่ให้ทานทั้งหลายไม่ว่าจะมีศักดิ์ใหญ่หรือไม่ก็ตาม ก็ถวายทานบูชาพระองค์ ทั้งสมัยที่พระองค์ทรงมีพระชนม์อยู่ ก็มีผู้ถวายทานมากมาย ซึ่งแม้พระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว ก็ยังมีผู้ถวายทานอุทิศแก่พระองค์ มีพระเจ้าอโศก เป็นต้น

๕. เป็นผู้ไม่มีที่ลับ (รหะ) ท่านกล่าวว่าคนพาลที่อ้างว่าตัวเองเป็นบัณฑิต ย่อมจะทำบาปในที่ลับ เพราะกลัวเสียชื่อเสียง แต่พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นผู้ดับกิเลสได้หมดแล้วย่อมไม่มีที่ลับในการทำบาป


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ