ขอสอบถามเรื่องกรรมครับ

 
DoWe
วันที่  21 เม.ย. 2565
หมายเลข  43027
อ่าน  384

ผมเองพึ่งฟังธรรมจากยูทูปบ้านธรรมมะมาไม่นาน มีข้อสงสัยที่ยังไม่รู้เปิดหาดูหลายคลิปแล้วก็ยังไม่เจอคำตอบ 1.ว่าด้วยเรื่องของกรรมกับเจตนาเจตสิกมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันมากน้อยอย่างไรขอช่วยอธิบายด้วย 2.ต่อจากข้อแรกเป็นความสงสัยถึงขณะที่มีเจตนาที่เกิดและดับไปก่อนแล้วและโดยขณะถัดไปมีเจตนาที่เกิดต่อนั้นจะเกิดได้โดยลักษณะใด 3.เจตนาที่เป็นอกุศลจะสามารถเกิดต่อจากเจตนาที่เป็นกุศลซึ่งเกิดต่อสืบเนื่องกันแล้วได้หรือไม่อย่างไร (หากอกุศลที่เกิดแล้วต้องเป็นเหตุให้อกุศลขณะถัดไปเกิด ดังนั้นแล้วอยากทราบถึงโอกาสของกุศลที่จะเกิดว่าเป็นไปได้โดยลักษณะใด) ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 21 เม.ย. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรม คือ การกระทำ ได้แก่ เจตนา (ความจงใจ ความตั้งใจ) ที่เป็นกุศล (บุญ) หรืออกุศล (กิเลส) เป็นเหตุให้กระทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมทางกาย ทางวาจา และทางใจ

กรรม คือ ธรรม กรรมไม่ใช่เรา กรรม คือ ธรรมที่เป็นเจตนาเจตสิก แสดงถึงว่า ไม่มีเราทำกรรม แต่เป็นธรรมทำหน้าที่ ที่เป็นกุศลกรรม อกุศลกรรม เป็นต้น

1.ว่าด้วยเรื่องของกรรมกับเจตนาเจตสิกมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันมากน้อยอย่างไรขอช่วยอธิบายด้วย

- ตัวเจตนาเจตสิก ก็คือ ตัวกรรมนั่นเอง ครับ

2.ต่อจากข้อแรกเป็นความสงสัยถึงขณะที่มีเจตนาที่เกิดและดับไปก่อนแล้วและโดยขณะถัดไปมีเจตนาที่เกิดต่อนั้นจะเกิดได้โดยลักษณะใด

- เจตนาเกิดกับจิตทุกประเภท คือ กุศลจิต อกุศลวิบากจิต กิริยาจิตและวิบากจิต ที่เป็นผลของกรรม ก็ขึ้นอยู่กับว่า เจตนาขณะถัดไป เป็นจิตประเภทใด ถ้าเจตนาเกิดกับจิตที่เป็นผลของกรรมที่เป็นวิบากจิต เจตนานั้นก็เป็นประเภทวิบากครับ

3.เจตนาที่เป็นอกุศลจะสามารถเกิดต่อจากเจตนาที่เป็นกุศลซึ่งเกิดต่อสืบเนื่องกันแล้วได้หรือไม่อย่างไร (หากอกุศลที่เกิดแล้วต้องเป็นเหตุให้อกุศลขณะถัดไปเกิด ดังนั้นแล้วอยากทราบถึงโอกาสของกุศลที่จะเกิดว่าเป็นไปได้โดยลักษณะใด)

- อกุศลเจตนาสามารถเกิดต่อได้ เพราะยังมีเชื้อคือกิเลสเป็นปัจจัย คือ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลเจตนา ครับ โดยนัยตรงกันข้าม เหตุให้เกิดกุศลกรรม ก็เพราะมี ธรรมที่ดีงาม มี อโลภะ อโทสะและอโมหะ คือปัญญาเป็นปัจจัย ครับ ดังข้อความในพระไตรปิฎก ดังนี้

ข้อความในพระสุตตันตปิฏก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต นิทานสูตร ว่าด้วยอกุศลมูลและกุศล มีดังนี้

“ (๓๑๐) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อเกิดกรรม (อกุศลกรรม) ๓ ประการเป็นไฉน คือ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑… ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดา มนุษย์ หรือ แม้สุคติอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมไม่ปรากฏ เพราะกรรมที่เกิดแต่โลภะ แต่โทสะ โดยที่แท้ นรก กำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ปิตติวิสัย หรือ แม้ทุคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมปรากฏ เพราะกรรมที่เกิดแต่โลภะ แต่โทสะ แต่โมหะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อเกิดกรรม ๓ ประการนี้แล


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อเกิดกรรม (กุศลกรรม) ๓ ประการนี้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ อโลภะ ๑ อโทสะ ๑ อโมหะ ๑… ดูก่อนภิกษุทั้งหลายนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย หรือ แม้ทุคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมไปปรากฏเพราะกรรมที่เกิดแต่อโลภะ แต่อโทสะ แต่อโมหะ โดยที่แท้เทวดามนุษย์ หรือ แม้สุคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมปรากฏเพราะกรรมที่เกิดแต่อโลภะ แต่อโทสะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อเกิดกรรม ๓ ประการนี้แล”

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 21 เม.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 21 เม.ย. 2565

ขอบพระคุณ และยินดีในความดีด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 21 เม.ย. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องกรรมไว้เป็นจำนวนมาก ทรงแสดงว่า กรรม คือ เจตนา ความจงใจ ความตั้งใจ ขณะใดที่ตั้งใจทำชั่ว ขณะนั้นเป็นกุศลกรรม ขณะใดที่ตั้งใจกระทำความดี ขณะนั้นเป็นกุศลกรรม ดังนั้น กรรมจึงมีจริง

กรรม คือ การกระทำ เป็นความจงใจ ความตั้งใจกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ เจตนาเจตสิก เจตนาที่เกิดร่วมกับกุศลจิตและอกุศลจิต เมื่อสำเร็จเป็นกรรม ย่อมให้ผลตามโอกาสอันควร เมื่อไม่ถึงโอกาสอันควร จึงยังไม่ให้ผล คนที่ทำไม่ดี เมื่อกรรมไม่ดีนั้นให้ผลย่อมได้รับผลที่ไม่ดีตามเหตุ

แต่เนื่องจากแต่ละบุคคลในสังสารวัฏฏ์ มีการกระทำกรรม ทั้งกรรมดีและกรรมไม่ดีไว้มากมาย กรรมที่ทำไว้แล้วทุกขณะไม่มีการสูญหายไปไหน เมื่อถึงโอกาสอันควรย่อมให้ผลตามควรแก่เหตุที่ได้กระทำไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงควรอย่างยิ่งที่จะสะสม แต่กรรมที่ดีเท่านั้น ครับ

ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
เพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

กรรมคือเจตนา

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ