รบกวนท่านผู้รู้ ... ทุกข์นอกอริยสัจ มีไหม ครับ

 
nomatasa99k
วันที่  16 เม.ย. 2565
หมายเลข  43006
อ่าน  376

ทุกข์นอกอริยสัจ มีไหม เคยอ่านเจอแต่ทุกขอริสัจครับ เช่น ต้นไม้ ภูเขา จัดว่าเป็นทุกข์ไหมครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 17 เม.ย. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุกขอริยสัจจ์

ทุกฺข (สภาพที่ทนได้ยาก) + อริยสจฺจ (ความจริงอย่างประเสริฐ) ความจริงอย่างประเสริฐคือสภาพที่ทนได้ยาก หมายถึง สภาพธรรมที่เกิดดับ และทำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏฏ์ คือ จิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ รูป ๒๘ ซึ่งเป็นโลกียธรรมทั้งหมด

จิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ รูป ๒๘ เป็นความจริงอย่างประเสริฐ เพราะผู้ที่ตรัสรู้ความจริง คือทุกขธรรมเหล่านี้แล้ว เป็นผู้เข้าถึงความประเสริฐ คือเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นพระอริยเจ้า

อริยสัจธรรมที่ ๑ คือ ทุกขอริยสัจ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจนี้แล คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้ข้อนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์”

ดังนั้น ทุกขอริยสัจจะ จึงกินความกว้างขวาง ทั้งสภาพธรรมที่เป็นทุกขทุกข ที่เป็นทุกขเวทนาที่เป็นไปทางกายและจิตด้วย ไม่ว่า ทุกข์ คือ ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ก็เป็นทุกขอริยสัจจะ สัจจะ. ความป่วยไข้ทางกายและจิต มีปวดหู ปวดฟัน ความเร่าร้อนเกิดแต่ราคะ ความเร่าร้อนเกิดแต่โทสะ เป็นต้น ชื่อว่า ปฏิจฉันนทุกข์ (ทุกข์เล็กน้อย ปกปิด ต้องถามจึงรู้) เป็นทุกขอริยสัจจะด้วยครับ รวมทั้งสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ก็เป็นทุกขอริยสัจจะ และสภาพธรรมที่ควรกำหนดรู้ คือ สภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ทั้งรูปภายในและรูปภายนอก รวมทั้งนามธรรมที่เป็นจิต และเจตสิกที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ก็เป็นสภาพธรรมที่ควรกำนหดรู้ เป็นทุกขอริยสัจจะ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ....

ลักษณะของทุกข์ของก้อนหินก้อนหนึ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 17 เม.ย. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุกข์ เป็นสภาพธรรมที่ตั้งอยู่ไม่ได้ เป็นธรรมที่เมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ปราศจากความเที่ยง ปราศจากความงาม และ ปราศจากความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ซึ่งไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้เลยที่เป็นทุกข์ เพราะมีสภาพธรรมที่เกิดดับอยู่ตลอด มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษา นั้น แสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามความเป็นจริง ธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น มีลักษณะเฉพาะของตนๆ ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่น และไม่มีใครจะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ได้เลย

เมื่อกล่าวถึงทุกข์แล้ว ไม่ได้มุ่งหมายถึงเพียงเฉพาะทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจเท่านั้น แต่หมายรวมถึง สภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดตามเหตุตามปัจจัยแล้วดับไป ทั้งหมด ซึ่งได้แก่ ขันธ์ ๕ (รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์) หรือ ที่จำแนกเป็นปรมัตถธรรม ๓ ได้แก่ จิต (วิญญาณขันธ์) เจตสิก (เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์) รูป (รูปทั้งหมด ๒๘ รูป) เท่านั้น ที่เป็นทุกข์ เป็นสภาพธรรมที่ทนอยู่ไม่ได้ ตั้งอยู่ไม่ได้ ถูกบีบคั้นด้วยความเกิดดับ เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ดังนั้น แม้แต่ที่กล่าวถึง ต้นไม้ ภูเขา ก็ไม่พ้นจากความเกิดขึ้นเป็นไปของรูปธรรม ซึ่งมีจริงๆ เกิดแล้วดับ จึงเป็นทุกขสัจจ์ด้วย ไม่ได้นอกเหนือจากทุกขสัจจ์เลย ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 18 เม.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nomatasa99k
วันที่ 21 เม.ย. 2565

ขออนุญาตถามต่อนะครับ

ถ้าต้นไม้ ภูเขา ก้อนหิน ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

...ทำไมพระพุทธเจ้า ไม่ตรัสว่า

สัพเพธัมมาอนิจจัง สัพเพธัมมาทุกขา สัพเพธัมมาอนัตตาครับ

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 23 เม.ย. 2565

สพเพ สงขารา อนิจจาฯ สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง

สพเพ สงขารา ทุกขาฯ สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์

สพเพ ธมมา อนตตาฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

สังขาร คือ สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง มี รูป เป็นต้น ต้นไม้ ภูเขา ก็เป็นรูปธรรม จึงไม่เที่ยง และเป็นทุกข์

แต่ ไม่ใช้คำว่า สัพเพ ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เพราะ นิพพาน ไม่รวม ในความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ครับ

สรุปความได้ว่า ต้น ไม้ ภูเขา ก็เป็นทุกข์ สพเพ สงขารา ทุกขาฯ สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ เพราะไม่พ้นจากรูปธรรรม ครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ