ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน รู้ชัดธรรมใด

 
pdharma
วันที่  19 ม.ค. 2565
หมายเลข  41947
อ่าน  435

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่เคยรับฟังมา จะเกี่ยวกับ สี ลักษณะที่ปรากฏทางตา เสียง ลักษณะที่ปรากฏทางหู กลิ่น ลักษณะที่ปรากฏทางจมูก รส ลักษณะที่ปรากฏทางลิ้น ซึ่งเป็น อายตนะภายนอก

แต่ที่อ่านพบใน ธัมมานุปัสสนานิทเทส กล่าวถึง นิวรณปัพพะ และ โพชฌังคปัพพะ

จึงอยากเรียนถามว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการรู้ชัดใน อายตนะภายนอก (เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) หรือ รู้ชัดใน นิวรณ์และโพชฌังค์

ขอขอบพระคุณ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 20 ม.ค. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรื่องของสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา เพื่อเข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่า เป็นธรรม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม ซึ่งไม่พ้นไปจากขณะนี้เลย ทุกขณะเป็นธรรม ควรรู้ ควรศึกษาให้เข้าใจ จะเห็นได้ว่าพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของคำสอน ก็คือ เพื่อใ้ห้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ถ้าไม่อาศัยการฟังเรื่องของสภาพธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงเป็นปกติ บ่อยๆ เนืองๆ จนมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นไปตามลำดับแล้ว ย่อมไม่ได้เหตุได้ปัจจัยให้สติเกิดขึ้นหรือเจริญขึ้นได้ เพราะเหตุว่า ที่ตั้งให้สติระลึกและปัญญารู้ตรงลักษณะนั้น คือสภาพธรรมที่มีในขณะนี้นั่นเอง ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ โดยไม่มีการเลือกหรือเจาะจง เพราะธรรมเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น และขณะที่ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม นั้น ก็ไม่พ้นไปจากสติปัฏฐานหนึ่งสติปัฏฐานใด ในสติปัฏฐาน คือ กาย เวทนา จิต และ ธรรม สภาพธรรมที่นอกเหนือไปจากกาย เวทนา และจิต ก็เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทั้งหมด

ในส่วนของธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน นั้น มีดังนี้

นิวรณบรรพ คือ สติและปัญญา เกิดระลึกรู้ลักษณะของนิวรณ์ มี กามฉันทะ ที่เป็นโลภะ เป็นต้น ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ

ขันธบรรพ คือ สติและปัญญา เกิดระลึกรู้ลักษณะของขันธ์ประการต่างๆ มี รูปขันธ์ เป็นต้น

อายตนบรรพ คือ สติและปัญญาเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ และ อายตนะภายนอก คือ สี เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย และ ธรรม ที่เป็นอารมณ์ทางใจ

โพชฌงคบรรพ คือ สติและปัญญา เกิดระลึกรู้ในธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ มี สติสัมโพชฌงค์ เป็นต้น

สัจจบรรพ คือ สติที่ระลึกในอริยสัจจ์ ๔

ทั้งหมด เป็นธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เลือก ไม่ใช่เจาะจง ที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด แต่สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้น ในขั้นของการฟัง มีความเข้าใจถูกต้องในเรื่องของสิ่งที่มีจริง ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ก็เป็นเหตุให้สติปัฏฐาน เกิดได้ สภาพธรรมใด ปรากฏ ก็สามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริงได้ เป็นธรรมที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

จึงสำคัญที่ความเข้าใจถูกตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นหมวดใดของสติปัฏฐาน ก็คือ สติและปัญญาเกิดขึ้นที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่มีลักษณะปรากฏให้รู้ได้ และไม่มีตัวตนที่จะไปเลือกว่าให้สติปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้ที่ธรรมนั้นธรรมนี้ ในหมวดนั้นหมวดนี้ เพราะมีแต่ธรรม เท่านั้น เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา สติและปัญญาพร้อมกับสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับสติและปัญญา ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ด้วยเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม พิจารณาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อเป็นเครื่องปรุงแต่งให้สติและปัญญาเกิดขึ้น ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งจะเป็นไปเพื่อการละคลายความยึดถือในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

ธัมมานุปัสสนา

ธัมมานุปัสสนา [มหาสติปัฏฐานสูตร]

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ม.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Witt
วันที่ 3 ก.พ. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Sea
วันที่ 25 ก.พ. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
มังกรทอง
วันที่ 26 ก.พ. 2565

น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ