มิจฉาทิฏฐิ มีกี่ประการ

 
Witt
วันที่  6 ธ.ค. 2564
หมายเลข  41652
อ่าน  5,876

กราบเรียนถามครับ

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงมิจฉาทิฏฐิไว้โดยนัย ประเภทใดบ้าง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 ธ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มิจฉาทิฏฐิ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นอกุศลธรรม ที่เป็นความเห็นผิด เห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เช่น เห็นผิดว่ากรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี เห็นผิดว่ามีสัตว์บุคคล เห็นผิดว่าเป็นสุข เห็นผิดว่าเที่ยง เป็นต้น รวมความว่าความเห็นผิดเป็นการเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงในเรื่องของสภาพธรรม ครับ

ดังนั้น ความเห็นผิดก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ความเห็นผิดที่เป็นพื้นฐนรากเหง้าของความเห็นผิดทั้งหลาย คือ ความยึดถือว่ามีเรามีสิ่งหนึ่งสิ่งใด คือ สักกายทิฏฐิ

สักกายทิฏฐิ

สก (ของตน) + กาย (ที่ประชุม) + ทิฏฐิ (ความเห็น)

ความเห็นว่าเป็นกายของตน ความเห็นว่าเป็นตัวตน หมายถึง ความเห็นผิดในขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา ของเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งผิดไปจากความเป็นจริงตามสภาพธรรม

สักกายทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดที่เป็นพื้นฐาน เป็นอนุสัยกิเลสซึ่งมีอยู่ในทุกบุคคลที่ไม่ใช่พระอริยะ เรียกว่า ทิฏฐิสามัญ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิด ทิฏฐิพิเศษ ที่มีโทษมากได้ เช่น สัสสตทิฏฐิ อุจเฉททิฏฐิ อเหตุกทิฏฐิ อกิริยทิฏฐิ นัตถิกทิฏฐิ เป็นต้น

และความเห็นผิดอีก 10 ประการที่พอจะเข้าใจได้ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาทิฏฐิเป็นไฉน? คือ ความเห็นดังนี้ว่า ทานที่ให้แล้ว ไม่มีผล ๑ ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มีผล ๑ สังเวยที่บวงสรวงแล้ว ไม่มีผล ๑ ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้ว ไม่มี ๑ โลกนี้ไม่มี ๑ โลกหน้าไม่มี ๑ มารดาไม่มี (คุณ) ๑ บิดาไม่มี (คุณ) ๑ สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะไม่มี ๑ สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินไปชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกไม่มี ๑ นี้มิจฉาทิฏฐิ


และความเห็นผิดที่ดิ่ง อันตราย ก็มีดังนี้ครับ ความเห็นผิดมีโทษมาก ความเห็นผิดมีโทษมาก สามารถทำบาปได้ทุกอย่างเพราะมีความเห็นผิดเป็นปัจจัย ความเห็นผิดที่ดิ่ง มี 3 อย่างคือ นิยตมิจฉาทฎฐิ ๓ ได้แก่

- อเหตุกทิฎฐิ เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเองเป็นเอง ไม่อาศัยเหตุปัจจัยให้เกิดให้มีขึ้น ไม่เชื่อในเหตุ คลิก...อเหตุกทิฏฐิ

- นัตถิกทิฎฐิ เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ผลอันเนื่องมาแต่เหตุผลของการทำดีทำชั่ว ไม่มีโลกนี้โลกหน้า สัตว์บุคคลไม่มี เป็นแต่ธาตุประชุมกันตายแล้วสูญไม่เกิดอีก เชื่อว่าไม่มีอะไรทั้งนั้น คลิก... นัตถิกทิฏฐิ

- อกิริยทิฎฐิ เห็นว่าการกระทำใดๆ ไม่ชื่อว่าเป็นอันกระทำ ผลบาปบุญไม่มีแก่ผู้ทำกระทำแล้วก็เป็นอันแล้วกันไป ปฏิเสธการกระทำโดยประการทั้งปวง

คลิกอ่านที่นี่ครับ

.. อกิริยทิฏฐิ

มิจฉาทิฏฐิที่ดิ่งเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ มีโทษมากกว่าอนันตริยกรรม (ฆ่า บิดา มารดา (เป็นต้น) เพราะอนันตริยกรรมยังพอกำหนดอายุที่จะไปอบายได้ เช่น ไปนรก 1 กัปดังเช่น พระเทวทัตทำสังฆเภท (ทำสงฆ์ให้แตก) ซึ่งเมื่อครบกำหนดอายุกรรมแล้วก็สามารถไปเกิดในสุคติภูมิและบรรลุธรรมภายหลังได้ ดังเช่น พระเทวทัต ภายหลังท่านก็ได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคตกาล แต่ว่ามิจฉาทิฏฐิไม่สามารถออกจากวัฏฏะได้เลย (ตอวัฏฏะ) และยังเป็นเหตุให้ที่ทำบาปกรรมต่างๆ มากมายด้วย มีการทำอนันตริยกรรม เป็นต้น จึงไม่สามารถไปสุคติภูมิได้และไม่มีทางบรรลุมรรคผล จึงมีโทษมากดังนี้

ด้วยเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรามองไม่เห็นธรรมอย่างหนึ่ง อันอื่นที่มีโทษมาก เหมือนอย่างมิจฉาทิฏฐิเลย กระบวนโทษทั้งหลาย มิจฉาทิฏฐิมีโทษอย่างยิ่ง

ความเห็นผิด ยังแบ่งเป็นอีก 2 อย่างคือ

1. สัสสตทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดว่าเที่ยง ไม่เกิดดับ หรือ ตายแล้วต้องเกิดอีกแน่นอน

2. อุจเฉททิฏฐิ คือ ความเห็นผิดว่าขาดสูญ คือ ตายแล้วไม่เกิดอีก เป็นต้น

ดังนั้นรากเหง้าของความเห็นผิดที่มีได้ด้วย ความเห็นผิด ยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคลตัวตน คือ สักกายทิฏฐิครับ ซึ่งพระโสดาบันละได้แล้ว และหนทางการละสักกายทิฏฐิ คือ การเจริญสติปัฏฐาน ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา โดยเริ่มจากการฟังให้เข้าใจครับ ทุกคนยังมีความเห็นผิดอยู่ มีสักกายทิฏฐิ เป็นต้น แต่สามารถละได้ด้วยการเจริญอบรมปัญญาครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 6 ธ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มิจฉาทิฏฐิ เป็นธรรมที่มีจริง เป็นสภาพที่เห็นผิด คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่ตรงตามความเป็นจริง เพราะมีความเห็นผิดเกิดขึ้นเป็นไป จึงเรียกบุคคลนั้นว่า เป็นบุคคลผู้มีความเห็นผิด เป็นผู้มีความเห็นที่ไม่ตรง มีความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรม เมื่อเห็นผิดแล้ว ทุกอย่างก็ผิดไปหมด ความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา และทางใจ ก็ย่อมผิดไปด้วย กล่าวได้ว่า คิดผิด พูดผิด ทำผิด ประพฤติปฏิบัติผิด คล้อยตามความเห็นที่ผิด เป็นผู้ล่วงเลยสิ่งที่เป็นสาระ ไปหลงติดในสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ซึ่งมีแต่โทษเท่านั้น

ขณะที่ความเห็นผิดเกิดขึ้น ย่อมเป็นผู้ที่เสื่อมจากปัญญา เสื่อมจากคุณความดีทั้งปวง เช่น ถ้าเห็นผิดว่าผลของกรรมดีและกรรมชั่ว ไม่มี ก็ลองคิดดูว่าถ้าเห็นผิดอย่างนี้แล้วจะเป็นอย่างไร? ก็ไม่ทำดีอย่างแน่นอน มีแต่ทำชั่วประการต่างๆ ไม่เห็นโทษของความชั่วเลยแม้แต่น้อย และยิ่งถ้าเป็นความเห็นผิดในข้อประพฤติปฏิบัติแล้ว ก็ยิ่งพอกพูนความติดข้อง ความไม่รู้ และความเห็นผิดให้มากยิ่งขึ้น จนยากที่จะแก้ไขได้ ไม่ยอมสละความเห็นผิด อีกทั้งยังอาศัยความเห็นผิดนี้ ทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย มีการเผยแพร่ความเห็นผิดแก่ผู้อื่น สอนผิดจากความเป็นจริงของธรรม นี้คือ ความเป็นจริงของความเห็นผิด ซึ่งมีโทษมากเป็นอย่างยิ่ง ทำลายทั้งตนเองและทำลายบุคคลอื่นทำให้บุคคลอื่นออกจากพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นก็เท่ากับทำลายคำสอนของพระองค์ด้วย เพราะคำไม่จริง เบียดเบียนคำจริงของพระองค์ ทำลายคำสอนของพระองค์ ครับ

ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1722


...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Dechachot
วันที่ 6 ธ.ค. 2564

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 6 ธ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 8 ธ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Witt
วันที่ 8 ธ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ