พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๑. ติงสมัตตาเถรีคาถา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 พ.ย. 2564
หมายเลข  40731
อ่าน  287

[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 198

เถรีคาถา ปัญจกนิบาต

๑๑. ติงสมัตตาเถรีคาถา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 54]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 198

๑๑. ติงสมัตตาเถรีคาถา

[๔๔๙] พระเถรีประมาณ ๓๐ รูปนี้ ได้พยากรณ์อรหัตผลในสำนักของพระปฏาจาราเถรีอย่างนี้ว่า :-

    มาณพทั้งหลายถือเอาสากตำข้าวเปลือก แสวงหาทรัพย์มาเลี้ยงดูบุตรภริยา ท่านทั้งหลายจงทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งทำแล้วไม่ต้องเดือดร้อนในภายหลัง ท่านทั้งหลายจงรีบล้างเท้า แล้วนั่งณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง จงประกอบความสงบใจเนืองๆ กระทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า.

    ภิกษุณีเหล่านั้น ได้ฟังคำสั่งสอนของพระปฏาจาราเถรีนั้นแล้ว ล้างเท้าเข้าไปนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง ได้ประกอบความสงบใจเนืองๆ กระทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ในยามต้นแห่งราตรีระลึกถึงชาติก่อนได้ ในยามกลางแห่งราตรีชำระทิพยจักษุได้ ในยามปลายแห่งราตรีทำลายกองแห่งความมืดได้ พากันลุกขึ้นกราบเท้าพระเถรี พร้อมกับกล่าวว่า พวกเราทำตามคำสอนของพระแม่เจ้าแล้ว จักอยู่ห้อมล้อมพระแม่เจ้า เหมือนทวยเทพชั้นไตรทศห้อมล้อมพระอินทร์ผู้ชนะในสงครามฉะนั้น. พวกเรามีวิชชาสาม เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ดังนี้.

    จบ ติงสมัตตาเถรีคาถา

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 199

๑๑. อรรถกถาติงสมัตตาเถรีคาถา

    คาถาของพระเถรี ๓๐ รูป มีว่า มูสลานิ คเหตฺวาน เป็นต้น.

    พระเถรีแม้เหล่านั้น ได้บำเพ็ญบารมีมาในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ สร้างสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาในภพนั้นๆ สั่งสมธรรมเครื่องปรุงแต่งวิโมกข์มาโดยลำดับ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ถูกกรรมของตนกระตุ้นเตือนแล้วก็บังเกิดในเรือนครอบครัวนั้นๆ รู้เดียงสาแล้ว ฟังธรรมในสำนักพระปฏาจาราเถรี ได้ศรัทธาแล้ว พากันออกบวช มีศีลบริสุทธิ์ บำเพ็ญวัตรปฏิบัติอยู่ ต่อมาวันหนึ่ง พระปฏาจาราเถรีเมื่อให้โอวาทแก่ภิกษุณีเหล่านั้น จึงได้กล่าว ๒ คาถานี้ว่า

    มาณพทั้งหลายถือสากตำข้าวเปลือก แสวงหาทรัพย์มาเลี้ยงดูบุตรภริยา.

    ท่านทั้งหลาย จงทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งทำแล้วไม่ต้องเดือดร้อนในภายหลัง

    ท่านทั้งหลายจงรีบล้างเท้า แล้วนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง จงประกอบความสงบใจเนืองๆ กระทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า.

    ในคาถานั้น มีความสังเขปดังนี้ว่า สัตว์เหล่านี้ ถือสากตำข้าวเปลือกทำงานตำข้าวในครกของคนอื่นๆ เพราะเหตุเลี้ยงชีพ ทำงานต่ำๆ เช่นนี้อย่างอื่น รวบรวมทรัพย์ได้พอสมควร เลี้ยงดูบุตรภริยา แต่งานนั้นของสัตว์เหล่านั้นเป็นงานต่ำ เป็นงานของปุถุชน เป็นทุกข์ และไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลาย ละเว้นงานเนิ่นช้าที่ประกอบด้วยความเศร้าหมองเช่นนี้เสีย จงกระทำ จงพร้อมทำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวคือไตรสิกขา จงให้บังเกิดในสันดานของตน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 200

พระเถรีกล่าวเหตุในเรื่องนี้ว่า คำสอนใดที่ทำแล้วไม่ต้องเดือดร้อนในภายหลังได้แก่เพราะเหตุที่ทำคำสอนใด ไม่ต้องเดือดร้อนตามมาในปัจจุบันและอนาคต. บัดนี้ เพื่อแสดงกิจเบื้องต้นและวิธีประกอบเนืองๆ ในการทำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นพระเถรีจึงกล่าวว่า ขิปฺปํ ปาทานิ โธวิตฺวาเป็นอาทิ. ในคำนั้น เพราะเหตุที่ความสุขในการนั่ง และการได้อุตุสัปปายะไม่มีแก่ผู้ไม่ล้างเท้า ไม่ล้างหน้า แต่ทั้งสองอย่างนั้นจะได้แก่ผู้ล้างเท้าและล้างหน้าแล้วนั่งในที่สมควรส่วนหนึ่ง ฉะนั้น ท่านทั้งหลายอย่าพลาดขณะตามที่ได้แล้วนี้เสีย จงรีบล้างเท้าคือเท้าของตนแล้วนั่งในที่สมควรส่วนหนึ่ง คือในโอกาสที่สงัด ท่านทั้งหลายจงผูกจิตของตนไว้ในอารมณ์ ๓๘ เฉพาะอารมณ์ที่ชอบใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ประกอบความสงบใจเนืองๆ กระทำ พร้อมกระทำศาสนา คือโอวาทคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า โดยการเจริญกรรมฐานมีสัจจะ ๔ เป็นอารมณ์ ด้วยจิตที่ตั้งมั่นแล้ว.

    ครั้งนั้น ภิกษุณีเหล่านั้น อยู่ในโอวาทของพระเถรีนั้น เริ่มวิปัสสนาทำการภาวนา ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ เพราะมีญาณแก่กล้าและเพราะสมบูรณ์ด้วยเหตุ เมื่อพิจารณาการปฏิบัติของตนได้กล่าวคาถาเหล่านั้นพร้อมด้วยคาถาโอวาทว่า

ภิกษุณีเหล่านั้น ได้ฟังคำสั่งสอนของพระปฏาจาราเถรีนั้น ล้างเท้าแล้ว เข้าไปนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง ได้ประกอบความสงบใจเนืองๆ กระทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ในยามต้นแห่งราตรีระลึกถึงชาติก่อนได้ [บุพเพนิวาสญาณ] ในยามกลางแห่งราตรี ชำระทิพยจักษุ [จุตูปปาตญาณ] ได้ ในยามปลายแห่งราตรี ทำลายกองแห่งความมืดได้ [อาสวักขยญาณ)

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 201

พากันลุกขึ้นกราบเท้าพระเถรี พร้อมกับกล่าวว่า พวกเราทำตามคำสอนของพระแม่เจ้าแล้วจักอยู่ห้อมล้อมพระแม่เจ้า เหมือนทวยเทพชั้นไตรทศห้อมล้อมพระอินทร์ ผู้ชนะในสงครามฉะนั้น พวกเรามีวิชชา ๓ เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ดังนี้.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺสา ตา วจนํ สุตฺวา ปฏาจารายสาสนํ ความว่า คำสั่งสอน คือคำโอวาทนั้นๆ ของพระปฏาจาราเถรีนั้นเพราะอรรถว่าเป็นคำสอนให้สละกิเลสทั้งหลาย ภิกษุณี ๓๐ รูปนั้น ฟังแล้วรับคือรับคำด้วยเศียรเกล้า.

    บทว่า อุฏฺาย ปาเท วนฺทึสุ กตา เต อนุสาสนี ความว่าภิกษุณีเหล่านั้นทำให้เป็นประโยชน์ คือทำไว้ในใจ ซึ่งคำสั่งสอนนั้น ตามที่รับไว้แล้ว นั่งภาวนาในสถานตามที่สบาย ทำภาวนาให้ถึงที่สุดแล้ว ลุกจากอาสนะที่นั่ง เพื่อบอกคุณวิเศษที่ตนบรรลุ จึงเข้าไปหาพระเถรีกล่าวว่า ข้าแต่พระแม่มหาเถรี พวกเราทำตามอนุศาสนีของพระแม่เจ้าตามที่สั่งสอนแล้ว กราบเท้าของพระเถรีด้วยเบญจางคประดิษฐ์. บทว่า อินฺทํว เทวา ติทสา สงฺคาเมอปราชิตํ ความว่า ข้าแต่พระแม่มหาเถรี พวกเราจะอยู่ห้อมล้อมพระแม่เจ้าเหมือนทวยเทพชั้นดาวดึงส์ ห้อมล้อมพระอินทร์ ผู้ไม่พ่าย คือชนะในสงครามระหว่างเทวดากับอสูรฉะนั้น เพราะไม่มีกิจอื่นที่จะต้องทำ เพราะฉะนั้นภิกษุณีเหล่านี้ จึงประกาศความที่ตนเป็นผู้กตัญญูว่า พวกเรามีวิชชา ๓ ไม่มีอาสวะ. คำนี้ ก็เป็นคำพยากรณ์พระอรหัตของภิกษุณีเหล่านี้ด้วย. แต่เมื่อว่าโดยอรรถในคำนี้ก็เป็นอย่างอื่น คำนั้น มีนัยที่กล่าวมาแล้วแต่หนหลังทั้งนั้น.

    จบ อรรถกถาติงสมัตตาเถรีคาถา