พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. ทันติกาเถรีคาถา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 พ.ย. 2564
หมายเลข  40715
อ่าน  333

[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 86

เถรีคาถา ติกนิบาต

๔. ทันติกาเถรีคาถา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 54]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 86

๔. ทันติกาเถรีคาถา

    [๔๓๓] ข้าพเจ้าออกจากที่พักกลางวันบนภูเขาคิชกูฌฏ ได้เห็นช้างลงสู่แม่น้ำแล้วขึ้นจากแม่น้ำที่ฝั่งนที นายหัตถาจารย์ถือขอให้สัญญาว่า จงให้เท้าช้างได้เหยียดเท้าออก นายหัตถาจารย์ก็ขึ้นช้าง ข้าพเจ้าเห็นช้างที่ไม่เคยได้รับการฝึก เมื่อได้รับการฝึกแล้วก็อยู่ในอำนาจของพวกมนุษย์ หลังจากเห็นช้างนั้นข้าพเจ้าเข้าป่าทำจิตให้เป็นสมาธิ เพราะกิริยาของช้างนั้นเป็นเหตุ.

    จบ ทันติกาเถรีคาถา

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 87

๔. อรรถกถาทันติกาเถรีคาถา

    คาถาว่า ทิวาวิหารา นิกฺขมฺม เป็นต้น เป็นคาถาของพระเถรีชื่อทันติกา.

    แม้พระเถรีชื่อทันติกาองค์นี้ ก็ได้สร้างสมบุญบารมีไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้นๆ เกิดในกำเนิดกินนรที่ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา ในเวลาที่ว่างพระพุทธเจ้า วันหนึ่งกินรีนั้นเที่ยวเล่นกับเหล่ากินนร ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งนั่งอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง พอเห็นก็มีใจเลื่อมใส เข้าไปหาบูชาด้วยดอกสาละ ไหว้แล้วหลีกไปด้วยบุญกรรมนั้น เธอท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ในพุทธุปปาทกาลนี้ เกิดในเรือนพราหมณ์ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าโกศล กรุงสาวัตถี รู้ความแล้วเป็นอุบาสิกาได้ศรัทธาในกาลรับพระเชตวัน ภายหลังบวชในสำนักของพระมหาปชาบดีโคตมี อยู่ในกรุงราชคฤห์ วันหนึ่งฉันอาหารแล้วขึ้นเขาคิชฌกูฏ นั่งพักกลางวันเห็นช้างเหยียดเท้าเพื่อให้คนขี่ช้างขึ้น ทำเรื่องนั้นแหละให้เป็นอารมณ์ เจริญวิปัสสนา ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า (๑)

    ข้าพเจ้าเป็นกินรีอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา ในกาลนั้น ข้าพเจ้าได้เห็นพระสยัมภูพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี ผู้อันใครๆ ให้แพ้ไม่ได้ ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใสดีใจ ปลื้มใจ กระทำอัญชลี ถือเอาดอกสาละบูชาพระสยัมภู ด้วยกรรมที่ทำดีนั้น และด้วยความตั้งใจมั่น ข้าพเจ้าละร่างกินรี ได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ข้าพเจ้า


    ๑. ขุ. ๓๓/ข้อ ๑๕๖ นฬมาลิการตรีอปทาน.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 88

ได้เป็นมเหสีของเทวราช ๓๖ องค์ สิ่งที่ใจปรารถนาบังเกิดแก่ข้าพเจ้าตามที่ปรารถนา ข้าพเจ้าได้เป็นมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๐ องค์ ข้าพเจ้าเป็นผู้สร้างสรรค์ตนเองท่องเที่ยวไปในภพทั้งหลาย ข้าพเจ้ามีบุญกุศลได้บวชเป็นบรรพชิต วันนี้ข้าพเจ้าเป็นปูชารหบุคคลในศาสนาของพระศากยบุตร วันนี้ข้าพเจ้ามีใจบริสุทธิ์ ปราศจากใจชั่วช้า มีอาสวะทั้งปวงหมดสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่มิได้มี ในกัปที่ ๙๔ แต่ภัทรกัปนี้ ข้าพเจ้าได้บูชาพระพุทธะใด ด้วยพุทธบูชานั้น ข้าพเจ้าไม่รู้จักทุคติ นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยดอกสาละ ข้าพเจ้าเผากิเลสแล้ว ฯลฯ ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว.

    ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว พิจารณาการปฏิบัติของตน เกิดปีติโสมนัส ได้กล่าวคาถาเหล่านี้เป็นอุทานว่า

    ข้าพเจ้าออกจากที่พักกลางวันบนภูเขาคิชฌกูฏได้เห็นช้างลงสู่แม่น้ำแล้วขึ้นจากแม่น้ำ ที่ฝั่งนที นายหัตถาจารย์ถือขอให้สัญญาว่า จงให้เท้า ช้างได้เหยียดเท้าออก นายหัตถาจารย์ก็ขึ้นช้าง ข้าพเจ้าเห็นช้างที่ไม่เคยได้รับการฝึก เมื่อได้รับการฝึกแล้ว ก็อยู่ในอำนาจของพวกมนุษย์ หลังจากเห็นช้างนั้น ข้าพเจ้าเข้าป่าทำจิตให้เป็นสมาธิ เพราะกิริยาของช้างนั้นเป็นเหตุ.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 89

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาคํ โอคาหมุตฺติณฺณํ ความว่าช้างทำการลงคือลงในแน่น้ำแล้วขึ้นจากแม่น้ำนั้น. อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะว่าโอคยฺห อุตฺติณฺณํ ลงแล้วขึ้น ดังนี้ ม อักษรทำหน้าที่เชื่อมบท. บทว่านทีตีรมฺหิ อทฺทสํ ความว่า ได้เห็นที่ฝั่งแห่งแม่น้ำจันทภาคา.

    บทว่า ปุริโส เป็นต้นที่กล่าวเพื่อแสดงความนี้ว่า ทำอะไร.บาทคาถาว่า เทหิ ปาทนฺติ ยาจติ ในคาถานั้น ความว่า ให้สัญญาเหยียดเท้าเพื่อขึ้นหลัง ว่าจงให้เท้า ก็ผู้ให้สัญญาตามที่ฝึกกัน ไว้ ท่านกล่าวในที่นี้ว่ายาจติ.

    บทว่า ทิสฺวา อทนฺตํ ทมิตํ ความว่า ตามปกติช้างที่ไม่เคยฝึกมาก่อน บัดนี้ได้รับการฝึกที่นายหัตถาจารย์ฝึกด้วยการศึกษาสำหรับช้างประกอบความว่า ฝึกเช่นไรจึงอยู่ในอำนาจของมนุษย์ทั้งหลาย เห็นช้างที่พวกมนุษย์บังคับนั้นๆ . บทว่า ขลุ ในบทว่า ตโต จิตฺตํ สมาเธสึ ขลุตาย วนํ คตา เป็นนิบาตลงในอรรถห้ามความอื่น ความว่า หลังจากนั้นคือจากที่เห็นช้าง ข้าพเจ้าไปยังวนะคือป่า ทำจิตให้เป็นสมาธิทีเดียว ด้วยกิริยาของช้างนั้นเป็นเหตุอย่างไร ข้าพเจ้าคิดว่า ช้างแม้นี้ชื่อว่าเป็นดิรัจฉานยังถึงการฝึกด้วยความสามารถของผู้ฝึกช้างได้ เหตุไรจิตของเราผู้เป็นมนุษย์จึงจักไม่ถึงการฝึก ด้วยความสามารถของพระศาสดาผู้ฝึกคนเล่า ดังนี้ เกิดความสังเวชเจริญวิปัสสนา ทำจิตของข้าพเจ้าให้เป็นสมาธิด้วยอรหัตมรรคสมาธิคือทำกิเลสให้สิ้นไปโดยประการทั้งปวงด้วยสมาธิอันแน่วแน่.

    จบ อรรถกถาทันติกาเถรีคาถา