จิตเศร้าหมองเป็นเหตุให้เกิดในอบายเพราะชวนะจิต?

 
lokiya
วันที่  11 พ.ย. 2564
หมายเลข  40142
อ่าน  615

สงสัยเหมือนกับว่าเป็น ชวนจิต ที่เป็น โลภะ โทสะ โมหะนั้นเองเป็นจิตที่นำปฏิสนธิในอบาย ถูกต้องหรือไม่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 11 พ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 17] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้า ๔๔๓

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผ้าที่เศร้าหมอง มลทินจับ ช่างย้อมพึงนำเอาผ้านั้นหย่อนลงในน้ำย้อมใดๆ คือสีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือ สีชมพู ผ้านั้นพึงเป็นผ้ามีสีที่เขาย้อมไม่ดีมีสีมัวหมอง ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะผ้าเป็นของไม่บริสุทธิ์ ฉันใด เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันหวังได้ ฉันนั้น


ชวนจิตก่อนตาย ที่เป็นอกุศลจิต นั้น ไม่ใช่อกุศลกรรมที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิ แต่เป็นเพราะอกุศลกรรม ใด ที่เคยกระทำแล้วในอดีต (หรือ แม้กระทั่ง ที่ทำเมื่อตอนใกล้ตาย) จะให้ผลนำเกิด จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อกุศลจิต เกิด เป็นจิตที่เศร้าหมอง ก่อนตาย เมื่อตายไปแล้ว จึงไปเกิดในอบายภูมิ ด้วยอำนาจของอกุศลกรรม ที่เคยได้กระทำแล้วในอดีต ดังนั้น เมื่อจิตเศร้าหมองก่อนตาย จึงไปเกิดในอบายภูมิ ด้วยเหตุผลดังกล่าว แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งไม่รู้ว่าจะละจากโลกนี้ไปเมื่อใด จึงไม่ประมาท ควรอย่างยิ่งที่จะได้สะสมความดีและอบรมเจริญปัญญา ให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้อง ซึ่งจะเป็นที่พึ่งที่แท้จริง ความดีทั้งหลายทั้งปวง ไม่เป็นเหตุนำมาซึ่งความเดือดร้อนใดๆ ทั้งสิ้น

ข้อความในพระไตรปิฎก ควรค่าแก่การพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ดังนี้

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ ๑๑

พวกคนเดินทาง ย่อมพักทำกิจนั้นๆ ในระหว่างทางได้ฉันใด; คนไปสู่ปรโลก (โลกหน้า) ย่อมพักอยู่ฉันนั้นไม่ได้ เพราะคนไปสู่ปรโลก ไม่อาจเพื่อจะกล่าวคำเป็นต้นว่า “ท่านจงรอสัก ๒-๓ วัน ข้าพเจ้าจะให้ทานก่อน จะฟังธรรมก่อน” ก็บุคคลเคลื่อนจากโลกนี้ แล้ว ย่อมเกิดในปรโลกทีเดียว


[เล่มที่ 58] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ ๘๔๘

ข้าแต่พระราชา เว้นสุจริตและวาจาสุภาษิตเสีย เหตุอย่างอื่นจะป้องกันได้ในเวลาใกล้มรณกาล ไม่มีเลย ทรัพย์นอกนี้ก็เหมื
อนกันแหละ


[เล่มที่ 61] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้าที่ ๕๒๓

บุคคลเหล่าใดประมาทแล้ว บุคคลเหล่านั้นควรเห็นเหมือนคนตายแล้ว เพราะเหตุไร? เพราะเหตุที่ยังกิจให้สำเร็จไม่ได้ แท้จริง สำหรับคนที่ตายแล้ว ย่อมไม่มีความคำนึง ความปรารถนา หรือ ความขวนขวาย ว่า เราจักให้ทาน จักรักษาศีล จักทำอุโบสถกรรม (รักษาอุโบสถศีล) จักบำเพ็ญคุณงามความดี เพราะเป็นผู้ปราศจากวิญญาณ (คือ ปราศจากจิต เนื่องจากตายไปแล้ว) สำหรับคนประมาท ก็ไม่มี (ความคิดในการเจริญกุศล) เพราะขาดความไม่ประมาท เพราะฉะนั้น คนตาย กับ คนประมาท ทั้งสอง นี้ จึงเสมอเหมือนเป็นบุคคลประเภทเดียวกัน”


[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ ๒๐๓

"ผู้มีปกติทำบาป ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ ละไปแล้วย่อมเดือดร้อน เขาย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง เขาย่อมเดือดร้อนว่า 'กรรมชั่วเราทำแล้ว' ไปสู่ทุคติ ย่อมเดือดร้อนยิ่งขึ้น"



...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
lokiya
วันที่ 11 พ.ย. 2564

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 11 พ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
petsin.90
วันที่ 11 พ.ย. 2564

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ