พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. อัคคิสูตร ว่าด้วยไฟ ๓ กอง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  10 พ.ย. 2564
หมายเลข  40118
อ่าน  308

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้า 585

ติกนิบาต

วรรคที่ ๕

๔. อัคคิสูตร

ว่าด้วยไฟ ๓ กอง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 45]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้า 585

๔. อัคคิสูตร

ว่าด้วยไฟ ๓ กอง

[๒๗๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไฟ ๓ กองนี้ ๓ กองเป็นไฉน? คือ ไฟคือราคะ ๑ ไฟคือโทสะ ๑ ไฟคือโมหะ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไฟ ๓ กองนี้แล.

ไฟคือราคะ ย่อมเผาสัตว์ผู้กำหนัด แล้วหมกมุ่นแล้วในกามทั้งหลาย ส่วนไฟ คือโทสะ ย่อมเผานรชนผู้พยาบาท มี ปกติฆ่าสัตว์ ส่วนไฟคือโมหะ ย่อมเผา นรชนผู้ลุ่มหลง ไม่ฉลาดในอริยธรรม ไฟ ๓ กองนี้ย่อมตามเผาหมู่สัตว์ผู้ไม่รู้สึก ว่าเป็นไฟ ผู้ยินดียิ่งในกายตน ทั้งในภพนี้ และภพหน้า สัตว์เหล่านั้นย่อมเพิ่มพูน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้า 586

นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานอสุรกายและ ปิตติวิสัย เป็นผู้ไม่พ้นไปจากเครื่องผูก แห่งมาร.

ส่วนสัตว์เหล่าใดประกอบความเพียร ในพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งกลางคืนกลางวัน สัตว์เหล่านั้นผู้มี ความสำคัญอารมณ์ว่า ไม่งามอยู่เป็นนิจ ย่อมดับไฟ คือ ราคะได้ ส่วนสัตว์ทั้งหลาย ผู้สูงสุดในนรชน ย่อมดับไฟคือโทสะได้ ด้วยเมตตา และดับไฟคือโมหะได้ด้วย ปัญญาอันเป็นเครื่องให้ถึงความชำแรก กิเลส สัตว์เหล่านั้นมีปัญญาเป็นเครื่อง รักษาตน ไม่เกียจคร้านทั้งกลางคืนกลางวัน ดับไฟมีไฟคือราคะเป็นต้นได้ ย่อม ปรินิพพานโดยไม่มีส่วนเหลือ ล่วงทุกข์ ได้ไม่มีส่วนเหลือ บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็น อริยสัจผู้ถึงที่สุดแห่งเวท รู้แล้วโดยชอบ ด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ยิ่ง ซึ่งความสิ้นไป แห่งชาติ ย่อมไม่มาสู่ภพใหม่.

จบอัคคิสูตรที่ ๔

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้า 587

อรรถกถาอัคคิสูตร

ในอัคคิสูตรที่ ๔ พึงทราบวินิจฉัยต่อไปนี้ :-

ชื่อว่าไฟ เพราะความหมายว่า ลวกลน. ไฟคือราคะ ชื่อว่า ราคัคคิ. เพราะว่า ราคะเมื่อเกิดขึ้นจะลวกลนคือไหม้สัตว์ทั้งหลาย เพราะ ฉะนั้น จึงตรัสเรียกว่า อัคคิ. ในโทสะ และโมหะ ๒ อย่างนอกจากนี้ ก็มี นัยนี้เหมือนกัน.

พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ราคคฺคิ เป็นต้นต่อไป. ไฟติดขึ้นเพราะ อาศัยเชื้ออันใด ก็จะไหม้เชื้อนั้น (ลุกฮือ) เร่าร้อนมากทีเดียว ฉันใด ราคะ เป็นต้น แม้เหล่านั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน เกิดขึ้นเองในสันดานใด ก็จะเผาลน สันดานนั้นให้กลัดกลุ้มมากขึ้น เป็นสิ่งที่ดับได้ยาก. บรรดาสัตว์ที่ถูกราคะ เป็นต้นเผาลนเหล่านั้น เหล่าสัตว์ที่ถูกความกลัดกลุ้มเผาลนหทัย ประสบ ความตายเพราะความทุกข์ คือไม่ได้สิ่งที่ต้องการ (ไม่สมหวัง) หาประมาณ มิได้. นี้เป็นการเผาลนของราคะก่อน. แต่โดยพิเศษแล้ว ได้แก่เทพเจ้าเหล่า มโนปโทสิกา (จุติเพราะทำร้ายใจ) เพราะการเผาลนของโทสะ. เทพเจ้าเหล่า ขิฑฑาปโทสิกา (จุติเพราะเพลิดเพลินกับการเล่น) เป็นตัวอย่าง เพราะ การเผาลนของโมหะ. เพราะว่า ความเผลอสติของเทพเจ้าเหล่านั้นมีได้ ด้วย อำนาจโมหะ เพราฉะนั้น เทพเจ้าเหล่านั้น เมื่อปล่อยเวลารับประทานอาหาร ให้ล่วงเลยไป ด้วยอำนาจการเล่นจนทำกาละ นี้ คือการเผาลนแห่งราคะเป็นต้น ที่มีผลทันตาเห็นก่อน. แต่ที่มีผลในสัมปรายิกภพซึ่งร้ายแรงกว่า และยับยั้ง ได้ยาก มีขึ้นด้วยอำนาจแห่งการเกิดขึ้นในนรกเป็นต้น. และอรรถาธิบายนี้ ควรขยายให้แจ่มชัด ตามอาทิตตปริยายสูตร.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้า 588

พึงทราบวินิจฉัย ในคาถาทั้งหลายต่อไป. บทว่า กาเมสุ มุจฺฉิเต ความว่า ถึงการสยบคือความโง่ ได้แก่ความประมาท หมายความว่า มิจฉาจาร ด้วยอำนาจภาวะที่จะต้องดื่มด่ำในวัตถุกามทั้งหลาย. บทว่า พฺยาปนฺเน ความว่า มีจิตถึงความพินาศ. เชื่อมความว่า เผาอยู่. คำว่า นเร ปาณาติปาติโน นี้ เป็นชื่อของไฟคือโทสะ. บทว่า อริยธมฺเม อโกวิเท ความว่า ชนเหล่าใด เว้นการทำไว้ในใจ ซึ่งการเรียนและการซักถาม ในธรรมทั้งหลายมีขันธ์และ อายตนะเป็นต้น ทั่วทุกอย่างชื่อว่าเป็นผู้ไม่ฉลาดในธรรม ชนเหล่านั้นถูก ความงมงายครอบงำแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า. ชื่อว่า เป็นผู้งมงาย โดยพิเศษ. บทว่า เอเต อคฺคี อชานนฺตา ความว่า ไม่รู้อยู่ว่า ไฟราคะ เป็นต้นเหล่านี้ เผาลนอยู่ทั้งในภพนี้ และในสัมปรายภพ คือ ไม่แทงตลอด ด้วยอำนาจแห่งการบรรลุ ด้วยปริญญากิจ และด้วยสามารถแห่งการบรรลุ ด้วยปหานกิจ. บทว่า สกฺกายาภิรตา ความว่า เพลิดเพลินยินดียิ่งนักใน กายของตนคือในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ. บทว่า วฑฺฒยนฺติ ความว่า เพิ่มพูนคือสะสมไว้ โดยการให้เกิดขึ้นบ่อยๆ. บทว่า นิรยํ ได้แก่ นรกทุกๆ ขุม คือ นรกใหญ่ ๘ ขุม และอุสสทนรก ๑๖ ขุม. บทว่า ติรจฺฉานญฺจ โยนิยํ ได้แก่ กำเนิดเดียรฉานด้วย. บทว่า อสุรํ ได้แก่ อสุรกาย เชื่อมความว่า เพิ่มปิตติวิสัยเข้าไปด้วย.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงวัฏฏะโดยมุข คือ การแสดงภาวะ ที่ไฟราคะเป็นต้น เผาลนทั้งในภพนี้และภพหน้า ด้วยพระดำรัสเพียงเท่านี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงวิวัฏฏะ ด้วยการดับไฟราคะเป็นต้นเหล่านั้น จึงตรัส คำมีอาทิไว้ว่า เย จ รตฺตินฺทิวา ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยุตฺตา ความว่า ประกอบแล้ว ด้วย สามารถแห่งการประกอบเนืองๆ ซึ่งภาวนา. บรรดาภาวนาทั้ง ๒ นั้น ใน

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้า 589

ศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงความที่ไฟราคะเป็นต้น ดับได้ ไม่ใช่ในศาสนาอื่น. อนึ่ง เมื่อจะทรงแสดงวิธีดับไฟราคะเป็นต้น เหล่านั้น และอสุภกรรมฐานที่ไม่ทั่วไปแก่ศาสนาอื่น โดยสังเขปเท่านั้น จึง ตรัสไว้ว่า

ท่านเทล่านั้นมีความสำคัญว่าไม่งาม อยู่เนืองนิตย์ย่อมดับไฟราคะได้ แต่ผู้สูง สุดกว่านรชนดับไฟโทสะได้ ด้วยเมตตา ส่วนไฟโมหะ ท่านดับได้ด้วยปัญญานี้ ที่ เป็นเหตุให้เจาะทะลุไปเป็นปกติ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสุภสญฺิโน ความว่า ผู้ชื่อว่ามี อสุภสัญญาเป็นปกติ (มีความสำคัญหมายว่าไม่งาม) เพราะประกอบความเพียรเนืองๆ ในอสุภภาวนา ด้วยอำนาจอาการ ๓๒ และด้วยอำนาจอารมณ์ มีซากศพที่ขึ้นพองเป็นต้น. บทว่า เมตฺตาย ความว่า ด้วยเมตตาภาวนา ที่ตรัสไว้ว่า เธอมีจิตสรหคตด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศๆ หนึ่งอยู่ และใน พระคาถานี้ ผู้ศึกษาพึงทราบการดับไฟราคะและไฟโทสะ ด้วยอนาคามิมรรค ที่เกิดขึ้นโดยทำฌานที่มีอสุภะเป็นอารมณ์ และ (ฌานมีเมตตาเป็นอารมณ์) ให้เป็นเบื้องบาท. บทว่า ปญฺาย ความว่า ด้วยมรรคปัญญาที่ประกอบด้วย วิปัสสนาปัญญา ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า ยายํ นิพฺเพธคามินี เพราะว่า ปัญญานั้นจะทะลุทะลวงกิเลสและขันธ์ไปคือเป็นไป เพราะ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า นิพเพธคามินี (เจาะทะลุไป).

บทว่า อเสสํ ปรินิพฺพนฺติ ความว่า ท่านเหล่านั้นให้ไฟราคะ เป็นต้น ดับไปไม่มีเหลือ ด้วยอรหัตมรรคแล้วดำรงอยู่ ด้วยสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ชื่อว่า เป็นผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน เพราะถึงความไพบูลย์

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้า 590

แห่งปัญญา ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ซึมเซาตลอดทั้งคืนทั้งวัน เพราะเป็นผู้ละความ เกียจคร้านได้โดยเด็ดขาดมาก่อนแล้วด้วยสัมมัปปธาน และเพราะเป็นผู้ขยัน หมั่นเพียรด้วยการเข้าผลสมาบัติ ชื่อว่า ดับสนิทไม่มีเหลือ ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เพราะจิตดวงหลัง (สุดท้าย) ดับแล้ว และต่อจากนั้นไป ก็จะ ข้ามไป คือ ก้าวล่วงวัฏทุกข์ไปได้ ไม่มีเหลือคือไม่เหลือไว้เลย.

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงความดับด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ แก่เหล่าภิกษุผู้ดับไฟราคะเป็นต้น ได้อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงชมเชย (ภิกษุเหล่านั้น) ด้วยคุณธรรมทั้งหลายที่เธอได้แทงตลอดกันแล้ว จึงได้ตรัส พระคาถาสุดท้ายไว้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อริยทฺทส ความว่า ท่านเหล่าใดเห็นอยู่ ซึ่งธรรมที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย คือ บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น จะ พึงเห็น หรือเห็นพระนิพพาน ที่ชื่อว่าอริยะ เพราะไกลจากกิเลสทั้งหลาย อีก อย่างหนึ่ง เห็นอยู่ ซึ่งสัจจะทั้ง ๔ ที่ประเสริฐ เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้นจึง ชื่อว่า อริยทฺทส (ผู้เห็นสัจจะอันประเสริฐ). ท่านเหล่าใดถึงที่สุดแห่งพระเวท คือ มรรคญาณ หรือถึงที่สุดแห่งสงสารด้วยพระเวท (คือมรรคญาณ) นั้น เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้น จึงชื่อว่า เวทคุโน (ผู้ถึงที่สุดแห่งพระเวท). บทว่า สมฺมทญฺาย ความว่า เพราะรู้กุศลธรรมเป็นต้น และขันธ์เป็นต้น ที่จะต้องรู้ทุกอย่าง โดยชอบนั่นเอง. คำที่เหลือมีนัยเหมือนที่กล่าวมาแล้ว.

จบอรรถกถาอัคคิสูตรที่ ๔