พระโสดาบัน มีสติอยู่ตลอด เวลาใช่หรือไม่ครับ

 
WS202398
วันที่  15 มิ.ย. 2550
หมายเลข  4004
อ่าน  2,357

ขอเรียนถามว่า

พระโสดาบัน ละขาดจากความยึดมั่นว่าเป็นตัวตน แสดงว่า มีสติอยู่ตลอดเวลาใช่หรือไม่ครับ เพราะเมื่อไหร่หลงลืมสติ ก็ย่อมเป็นตัวตน ขณะเจริญสติปัสฐาน มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ ความเพียรคือ สัมมาสังกัปปะใช่หรือไม่ครับ

จริงอยู่ธรรมทั้งปวงเป็นอารมณ์ของ "สติปัฏฐาน" การที่เราไม่ไปในสถาน ที่ "อโคจร"เราไม่คบคนพาล เรากระทำการต่างๆ เพื่อป้องกันอกุศลไม่ให้เกิดขึ้น ร่วมกับการเพียรระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง และบางเวลา มีอกุศลเกิดขึ้นมากเกินกว่าที่สติจะสู้ได้ ก็เข้าสู่สมาธิ การหลีกเลี่ยงดังกล่าว หรือการทำสมาธิในเหตุการดังกล่าว จะถือว่าเป็นการไม่ยอมรับหลักการที่ว่า ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐานหรือไม่ สมาธิมีประโยชน์อย่างไร ฌาณมีประโยชน์หรือไม่ ที่ว่าสติเป็นทางอันเอก ทางอันเอก หมายถึงยอดเยี่ยม หรือแปลว่าทางเดียว เป็นไปได้หรือไม่ที่ละคลายความยึดถือสภาพที่เกิดขึ้นทางตา แต่ยังไม่ละขาด


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 17 มิ.ย. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

๑. พระโสดาบัน ละขาดจากความยึดมั่นว่าเป็นตัวตน แสดงว่า มีสติอยู่ตลอดเวลา ใช่หรือไม่ครับ เพราะเมื่อไหร่หลงลืมสติ ก็ย่อมเป็นตัวตน

สติเจตสิก เป็นโสภณเจตสิกเกิดกับธรรมฝ่ายดี เช่น เกิดกับกุศลจิตทุกระดับ พระโสดาบันดับความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์บุคคล ตัวตน (ทิฏฐิเจตสิก) แต่ยังมีกิเลสอื่นที่ยังไม่ได้ดับ ดังนั้น พระโสดาบันจึงยังมีอกุศลจิตเกิดอยู่ เช่น โทสะ โลภะ (ความติดข้องในรูป เสียง ... ) เป็นต้น ขณะที่อกุศลจิตเกิด ไม่ว่าจะเป็น อกุศลประเภทใด ขณะนั้นไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย (สติเกิดกับธรรมฝ่ายดี) ดังนั้น ขณะที่พระโสดาบันเป็นอกุศล ก็ชื่อว่าหลงลืมสติ แต่ขณะที่เป็นอกุศล ท่านไม่ได้ยึดถืออกุศลว่าเป็นเรา (เพราะดับความเห็นผิดแล้ว) คำว่า "เป็นตัวตน" จึงไม่ได้หมายถึง ความเห็นผิดที่ยึดถือว่า เป็นสัตว์บุคคล ตัวตน (ทิฏฐิ เจตสิก) เท่านั้น แต่ความเป็นเรา เป็นตัวตนด้วยตัณหา (โลภเจตสิก) มานะ (มานะเจตสิก) ก็ได้ ซึ่งพระโสดาบันยังมีโลภะ และมานะอยู่ครับ ถึงแม้จะดับความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน (ทิฏฐิ) แล้ว แต่ก็ยังมีอกุศลอื่นที่เกิดจึง ชื่อว่าหลงลืมสติ ขณะที่เป็นอกุศล สรุปว่า ดับความยึดถือว่าเป็นตัวตน แต่ยังมีกิเลสอื่นครับ (พระโสดาบัน)

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 17 มิ.ย. 2550

๒. ขณะเจริญสติปัฏฐาน มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ ความเพียร คือสัมมาสังกัปปะใช่หรือไม่ครับ

ความเพียร คือ สัมมาวายามะ (วิริยเจตสิก) ไม่ใช่สัมมาสังกัปปะครับ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 627

ข้อความบางตอนจาก

สติปัฏฐานสูตร

สัมมาสังกัปปะเป็นไฉน?

ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในความไม่พยาบาท ความดำริในอันไม่เบียดเบียน อันนี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ

สัมมาวายามะเป็นไฉน?

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดฉันทะพยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรม ที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ไม่เลือนหาย เจริญยิ่ง ไพบูลย์ มีขึ้น เต็มเปี่ยม แห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว อันนี้เรียกว่า สัมมาวายามะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 17 มิ.ย. 2550

๓. จริงอยู่ธรรมทั้งปวง เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน การที่เราไม่ไปในสถานที่อโคจรเราไม่คบคนพาล เรากระทำการต่างๆ เพื่อป้องกันอกุศลไม่ให้เกิดขึ้น ร่วมกับการเพียรระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง และบางเวลามีอกุศลเกิดขึ้นมากเกินกว่าที่สติจะสู้ได้ ก็เข้าสู่สมาธิ การหลีกเลี่ยงดังกล่าว หรือการทำสมาธิในเหตุการณ์ดังกล่าว จะถือว่าเป็นการไม่ยอมรับ หลักการที่ว่า ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐานหรือไม่ สมาธิมีประโยชน์อย่างไร ฌาณมีประโยชน์ หรือไม่

การไม่คบคนพาล และ การไปในสิ่งที่ไม่สมควรย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่ความหมาย ของสติปัฏฐานคือ ไปแล้วแม้ที่นั้น (ไม่สมควร) สติก็สามารถระลึกได้ เพราะ เราไปสู่ที่นั้นแล้ว มีเหตุปัจจัยที่ไปสู่ที่นั้น แม้ที่อันไม่สมควร ก็มีธรรม และธรรม (ปรมัตถ์) ที่มีในขณะนั้น ก็เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ครับ ไม่ได้ หมายความว่าสนับสนุนให้ไปที่นั้น แต่มีเหตุปัจจัยให้ไปที่นั้น สติก็สามารถ ระลึกได้ครับ (สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง) ดังเช่น พระสุนทรสมุทรเถระที่ไปบนปราสาทของหญิงแพศยา ท่านไปแล้วสู่ที่นั้น ท่านก็เจริญสติปัฏฐาน ปัญญาท่านก็ เกิดบรรลุธรรมในที่นั้นครับ ส่วนประเด็นการหลีกเลี่ยงอกุศล โดยการใช้สมาธิ สมาธิมี ๒ อย่าง มิจฉาสมาธิ และสัมมาสมาธิ ขณะที่เป็นอกุศล ขณะนั้นก็เป็น มิจฉา ถ้าเป็นกุศล ก็เป็นสัมมาสมาธิ เพราะ สมาธิ คือเอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดกับจิตทุกดวง ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ดังนั้น ขณะที่เป็นอกุศลไม่ต้องเข้าสู่สมาธิ หรอกครับ ขณะนั้นก็มีสมาธิเกิดด้วย (เอกัคคตาเจตสิก) เพียงแต่เราไม่มั่นคงว่า เป็นธรรมจึงพยายามหาทางต่างๆ เพื่อให้เป็นกุศล ทั้งๆ ที่สภาพธัมมะ เขาก็เป็น อย่างนั้น ตามเหตุปัจจัย สิ่งที่สำคัญ คือรู้ตัวจริงของเขาว่า เป็นธรรม ขณะที่พยายามหลีกเลี่ยงก็เป็นตัวตนอีกนั่นแหละที่กำลังหลีกเลี่ยง และก็ไม่รู้ความจริง ขณะที่คิดหลีกเลี่ยงด้วยสมาธิอีกต่างหาก ว่าขณะนั้นก็เป็นธรรม เช่นกัน การอบรมปัญญาจึงไม่ต้องหลีกเลี่ยง แต่รู้ความจริงของเขาครับ และสมาธิก็เกิดอยู่แล้ว และถ้าไม่มีปัญญาก็สำคัญว่า สิ่งที่สงบนั้นเป็นกุศลก็ได้ครับ เพราะฌาน ก็มีทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล แม้ฌานที่เป็นกุศล ก็ไม่สามารถดับกิเลสได้ ดังเช่นพรหมที่ไปเกิดเพราะกำลังของฌาน ก็ยังมีความเห็นผิดเช่น พวกพรหม และที่สำคัญการจะอบรมอะไรก็ตาม ต้องมีปัญญา แม้ในเรื่องฌาน ต้องมั่นคงว่า หนทางเดียวคือ ... .

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 17 มิ.ย. 2550

๔. ที่ว่าสติเป็นทางอันเอก ทางอันเอก หมายถึงยอดเยี่ยม หรือแปลว่าทางเดียว

สติปัฏฐาน เป็นทางเอก คือเป็นทางเดียว ไม่ใช่มีทางอื่นที่จะดับกิเลสได้ครับ หรือหมายถึง เป็นหนทางของบุคคลอันเอก คือผู้ประเสริฐไปคือพระพุทธเจ้าดังนั้น สติปัฏฐานก็ย่อมเป็นทางที่ประเสริฐด้วยครับ

[เล่มที่ 14] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 260

ข้อความบางตอนจาก

มหาสติปัฏฐานสูตร

ในพระสูตรนั้น ข้อว่า เป็นทางเดียว คือเป็นทางเอก. แท้จริงทางมีมากชื่อ คือ มัคคะ ปันถะ ปถะ ปัชชะ อัญชสะ วฏุมะ อยนะ นาวา อุตตรเสตุ กุลละ ภิสิสังกมะ ทางนี้นั้น ในที่นี้ ท่านกล่าวโดยชื่อว่า อยนะ เพราะฉะนั้น ในข้อที่ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นทางเดียวนี้ จึงควรเห็นความอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นทางเอกมิใช่ทางสองแพร่ง.

ขอเชิญคลิกอ่านที่นี่

เรื่อง มรรคมีองค์ ๘ หรือสติปัฏฐาน ๔ ประเสริฐยอดเยี่ยม

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 17 มิ.ย. 2550

๕. เป็นไปได้หรือไม่ที่ละคลายความยึดถือสภาพที่เกิดขึ้นทางตา แต่ยังไม่ละขาด การละคลายก็มีหลายระดับ

ระดับ ชั่วขณะ เช่น ขณะที่สติปัฏฐานเกิดก็ระลึกสภาพธัมมะที่ปรากฏทางตา ว่าเป็นธรรม ขณะนั้นก็ละความยึดถือชั่วขณะที่ระลึกว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เมื่อดับไป ก็ยังยึดถือความเป็นสัตว์บุคคลได้ดังเดิม เพราะยังไม่ละขาดคือ ยังไม่ได้ดับกิเลส คือความเห็นผิดจนหมดสิ้น (สมุจเฉท) หรือขณะที่เป็นวิปัสสนนาญาณก็เช่นกัน ละ คลายชั่วขณะนั้นแต่ก็ยังไม่ได้ดับความเห็นผิดหมด ด้วยมรรคปัญญาครับ ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่ละคลายการยึดถือสภาพธัมมะทางตา แต่ยังไม่ละขาด ก็ด้วย สติปัฏฐาน ที่ระลึกขณะนั้นหรือวิปัสสนาญาณ ละคลายขณะนั้นครับ จะละคลายขาดไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน ก็คือเป็นพระโสดาบันนั่นเองครับ

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
WS202398
วันที่ 18 มิ.ย. 2550

ขอบพระคุณและอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 18 มิ.ย. 2550

๑. พระโสดาบันละความเห็นผิด ในสภาพธรรมะที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคลตัวตน แต่ไม่ใช่ว่าสติจะเกิดตลอดเวลา เพราะพระโสดาบันก็ยังมีโลภะ ยังมีโทสะ โมหะ เช่น นางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน รักหลาน หลานตายก็ร้องไห้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ฯลฯ

๒. ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขณะนั้นประกอบด้วยมรรค ๕ องค์ ฯลฯ

๓. ทุกอย่างเป็นธรรม อยู่ที่ไหนสติปัฏฐานก็สามารถเกิดได้ ถ้ามีความเห็นถูก เข้าใจถูก

๔. สติปัฏฐานเป็นหนทางเดียวที่จะนำไปสู่การดับทุกข์ เหมือนคำพระพุทธเจ้า ตรัสเป็นหนึ่งไม่มีสอง

๕. สติปัฏฐานเป็นการเริ่มอบรมระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล แต่ยังไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง ยังไม่ขาด ตราบใดที่ยังไม่บรรลุวิปัสสนาญาณ ๑๖ ขั้น จนกว่าจะเป็นพระโสดาบันขึ้นไป

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 19 มิ.ย. 2550

อนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pimpan
วันที่ 25 ส.ค. 2553
อนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 18 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 2 ก.พ. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ