พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. มงคลสูตร ในขุททกปาฐะ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 พ.ย. 2564
หมายเลข  40016
อ่าน  1,140

[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑

๕. มงคลสูตร ในขุททกปาฐะ

มงคลสูตรในขุททกปาฐะ 5-6/117

๕. และ ๖. มงคลสูตร 117

อรรถกถามงคลสูตร 119

พรรณนาปาฐะว่า เอวํ เป็นต้น 134

แก้บท เม แก้บท สุตํ 138

แก้อรรถบท เอกํ และ สมยํ 142

แก้อรรถบท ภควา 146

แก้อรรถบท วิภตฺตวา 150

แก้อรรถบท ภตฺตวา และ ภเวสุ วนฺตคมน 151

แก้อรรถบท สาวตฺถิยํ วิหรติ 152

แก้อรรถบท เชตวเน 153

แก้อรรถบท อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม 154

แก้อรรถ อภิกนฺต ศัพท์ 157

แก้อรรถบท เกวลกปฺปํ 158

มูลเหตุเกิดมงคลปัญหา 163

พรรณนาคาถาว่า พหู เทวา 168

พรรณนาคาถาว่า อเสวนา จ 170

พรรณนาคาถาว่า ปฏิรูปเทสวาโส จ 181

พรรณนาคาถาว่า พาหุสจฺจฺ จ 184

พรรณนาคาถาว่า มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ 187

พรรณนาคาถาว่า ทานฺ จ 192

พรรณนาคาถาว่า อารตี 195

พรรณนาคาถาว่า คารโว จ 197

พรรณนาคาถาว่า ขนตี จ 204

พรรณนาคาถาว่า ตโป จ 208

พรรณนาคาถาว่า ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ 210

พรรณนาคาถาว่า เอตาทิสานิ 212


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 39]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 117

มงคลสูตรในขุททกปาฐะ

[๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้. สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหารอารามของท่านอนาถปิณฑิกะ กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นเมื่อล่วงปฐมยามไปแล้ว เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะงดงามเปล่งรัศมีสว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ยืน ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยพระคาถาว่า

[๖] เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ปรารถนาความสวัสดี พากันคิดมงคลทั้งหลาย ขอพระองค์โปรดตรัสบอกมงคลอันอุดมด้วยเถิด พระเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบด้วยคาถาเหล่านี้ว่า

การไม่คบพาล การคบแต่บัณฑิต และการบูชาผู้ที่ควรบูชา นี้ก็เป็นมงคลอุดม

การอยู่ในประเทศอันเหมาะ ความเป็นผู้ทำบุญไว้แต่ก่อน การตั้งตนไว้ชอบ นี่ก็เป็นมงคลอุดม.

ความเป็นพหูสูต ความเป็นผู้มีศิลปะ มีวินัยที่ศึกษามาดี มีวาจาเป็นสุภาษิต นี่ก็เป็นมงคลอุดม.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 118

การบำรุงมารดาบิดา การสงเคราะห์บุตรภริยา การงานอันไม่อากูล นี่ก็เป็นมงคลอุดม.

ทาน ธรรมจริยา การสงเคราะห์ญาติ การงานอันไม่มีโทษ นี่ก็เป็นมงคลอุดม.

การงดเว้นจากบาป งดเว้นการดื่มน้ำเมา ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย นี่ก็เป็นมงคลอุดม.

ความเคารพ ความถ่อมตน ความสันโดษ ความกตัญญู การฟังธรรมตามกาล นี่ก็เป็นมงคลอุดม.

ความอดทน ความว่าง่าย การเห็นสมณะ การสนทนาธรรมตามกาล นี่ก็เป็นมงคลอุดม.

ตบะ พรหมจรรย์ การเห็นอริยสัจ การทำพระนิพพานให้แจ้ง นี่ก็เป็นมงคลอุดม.

จิตของผู้ที่ถูกโลกธรรมกระทบแล้ว ไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศก ไม่เศร้าหมองด้วยละอองกิเลส เกษมปลอดโปร่ง นี่ก็เป็นมงคลอุดม.

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทำมงคลดังนี้แล้ว ไม่พ่ายแพ้ในข้าศึกทั้งปวง ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นี่แลมงคลอุดม ของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น.

จบมงคลสูตร

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 119

๕. อรรถกถามงคลสูตร

ประโยชน์แห่งบทตั้ง

บัดนี้ ถึงลำดับการพรรณนาความแห่งมงคลสูตรที่ยกเป็นบทตั้ง ต่อลำดับจากกุมารปัญหา. ในที่นี้ข้าพเจ้าจะกล่าวประโยชน์แห่งบทตั้งแล้วจึงจักพรรณนาความแห่งมงคลสูตรนั้น. อย่างไรเล่า. ความจริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้มิได้ตรัสตามลำดับนี้ แต่ข้าพเจ้ากล่าวเพื่อแสดงว่าการนับถือพระศาสนาด้วยการถึงสรณะ และนัยตามประเภทศีลสมาธิปัญญา ทรงแสดงไว้ด้วยสิกขาบท ทวัตติงสาการและกุมารปัญหา นี้ใด แม้ทั้งหมดนั้น ก็เป็นมงคลอย่างยิ่ง เพราะผู้ต้องการมงคล จำต้องทำพากเพียรอย่างยิ่งในมงคลนั้นนั่นแล. ส่วนความที่การนับถือพระศาสนาเป็นต้นนั้นเป็นมงคลนั้นบัณฑิตพึงทราบตามแนวพระสูตรนี้.

นี้เป็นประโยชน์แห่งบทตั้งในมงคลสูตรนั้น ในที่นี้

กถาพรรณนาปฐมมหาสังคายนา

ก็เพื่อพรรณนาความแห่งมงคลสูตรนั้น ซึ่งยกเป็นบทตั้งไว้อย่างนี้ มีมาติกาหัวข้อ ดังนี้.

ข้าพเจ้าจะกล่าววิธีนี้อย่างนี้ว่า คำนี้ผู้ใดกล่าว กล่าวเมื่อใด กล่าวเพราะเหตุไร เมื่อจะพรรณนาความแห่งปาฐะมี เอวํ เป็นต้น ก็จะกล่าวสมุฏฐานที่เกิดมงคลกำหนดมงคลนั้นแล้ว จะชี้แจงความมงคลแห่งมงคลสูตรนั้น.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 120

ในมาติกานั้น ก่อนอื่น กึ่งคาถานี้ว่า วุตฺตํ เยน ยทา ยสฺมา เจตํ วตฺวา อิมํ วิธึ. ท่านกล่าวหมายถึงคำคือ เอวมฺเม สุตํฯปฯ ภควนฺตํ คาถาย อชฺฌภาสิ. จริงอยู่. พระสูตรนี้ ท่านกล่าวโดยฟังต่อๆ กันมา ก็พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นสยัมภูคือเป็นพระพุทธเจ้าเองไม่มีอาจารย์ เพราะฉะนั้น คำนี้ [นิทานวจนะ] จึงไม่ใช่พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น. เพราะเหตุที่มีคำกล่าวว่า คำนี้ ใครกล่าว กล่าวเมื่อใด และกล่าวเพราะเหตุใด. ฉะนั้น จึงขอกล่าวชี้แจง. ดังนี้ คำนี้ท่านพระอานนท์กล่าว และกล่าวในเวลาทำมหาสังคายนาครั้งแรก

ความจริง การทำมหาสังคายนาครั้งแรกนี้ ควรทราบมาตั้งแต่ต้น เพื่อความฉลาดในนิทานวจนะคำต้นของสูตรทั้งปวง ดังต่อไปนี้.

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นนาถะที่พึ่งของโลก ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ เริ่มต้นแต่ทรงประกาศพระธรรมจักรจนถึงทรงโปรดสุภัททปริพาชก แล้วเสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เวลาใกล้รุ่งวันวิสาขบูรณมีระหว่าง ต้นสาละคู่ ในสาลวโนทยานอันเป็นที่แวะพักของมัลลกษัตริย์ใกล้กรุงกุสินารา ท่านพระมหากัสสปะผู้เป็นสังฆเถระของภิกษุประมาณเจ็ดแสนรูปที่ประชุมกันในวันแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้ามาระลึกถึงคำของ ขรัวตา สุภัตทะ กล่าวเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานได้ ๗ วันว่า "พอทีเถิด ผู้มีอายุ ท่านทั้งหลาย อย่างเศร้าโศกไปเลย อย่าร่ำไรไปเลย พวกเราพ้นดีแล้วจากพระมหาสมณะผู้นั้น แต่ก่อนพวกเราถูกพระมหาสมณะผู้นั้น บังคับจู้จี้ว่า "สิ่งนี้ควรแก่พวกเธอบ้างละ สิ่งนี้ไม่ควรแก่พวกเธอบ้างละ" มาบัดนี้ พวกเราปรารถนาสิ่งใด ก็จักทำสิ่งนั้น ไม่ปรารถนาสิ่งใด ก็จักไม่ทำสิ่งนั้น" ท่านดำริว่า "พวกภิกษุชั่ว

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 121

เข้าใจว่า" ปาพจน์ คือ ธรรมวินัย มีศาสดาล่วงไปแล้ว ได้สมัครพรรคพวก ก็จะพากันย่ำยีพระสัทธรรมให้อันตรธานไปไม่นานเลย ข้อนี้ย่อมเป็นไปได้. ตราบใด ธรรมวินัยยังดำรงอยู่ ตราบนั้น ปาพจน์ คือ ธรรมวินัยก็หาชื่อว่า มีศาสดาล่วงไปแล้วไม่ สมจริง ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส (๑) ไว้ว่า

ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยอันใด อันเราตถาคตแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย เมื่อเรา ล่วงลับไป ดังนี้.

อย่ากระนั้นเลย จำเราจะช่วยกันสังคายนาธรรมและวินัย โดยวิธีที่พระศาสนานี้จะพึงดำรงอยู่ยั่งยืนยาวนาน.

อนึ่งเล่า เรากัสสปะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุเคราะห์ด้วยสาธารณบริโภคในจีวร ตรัสว่า

ดูก่อนกัสสปะเธอจักครองผ้าป่านบังสุกุลที่ใช้แล้วของเราไหวหรือ และทรงอนุเคราะห์ด้วยทรงสถาปนาเราไว้เสมอๆ กับพระองค์ในอุตตริมนุสสธรรม ธรรมอัน ยิ่งยวดของมนุษย์ ต่างโดยอนุปุพพวิหาร ๙ และ อภิญญา ๖ โดยนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตต้องการสงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌานอยู่เพียงใด แม้กัสสปะก็ต้องการสงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจาก อกุศลธรรมทั้งหลาย ฯลฯ เข้าถึงปฐมฌานอยู่เพียงนั้น. ดังนี้.


๑. ที. มหา. ๑๐/ข้อ ๑๔๑.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 122

เรานั้นจะมีหนี้อื่นอะไรเล่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า กัสสปะผู้นี้จักเป็นผู้ดำรงวงศ์พระสัทธรรมของเรา จึงทรงอนุเคราะห์เรา ด้วยการอนุเคราะห์ที่ไม่ทั่วไปนี้ เหมือนพระราชาทรงอนุเคราะห์พระราชโอรส ผู้ดำรงวงศ์ตระกูล ด้วยทรงมอบเกราะและพระราชอิสริยยศ มิใช่หรือ จึงทำความอุตสาหะให้เกิดแก่ภิกษุทั้งหลาย เพื่อช่วยกันสังคายนาธรรมและวินัย เหมือนอย่างที่ท่านพระอานนท์กล่าวไว้ว่า

ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปเล่ากะภิกษุทั้งหลายว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ครั้งหนึ่ง เราเดินทางไกล จากนครปาวามาสู่นครกุสินารา พร้อมกับภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ดังนี้.

สุภัททกัณฑ์ ควรกล่าวให้พิศดารทั้งหมด. ต่อจากนั้น ท่านพระมหากัสสปะ กล่าวว่า

ผู้มีอายุทั้งหลาย เอาเถิด เรามาช่วยกันสังคายนาธรรมและวินัย ต่อไปเมื่อหน้าอธรรมรุ่งเรือง ธรรมก็จะร่วงโรย. อวินัยรุ่งเรือง วินัยก็จะร่วงโรย เมื่อหน้าอธรรมวาทีมีกำลัง ธรรมวาทีก็จะอ่อนกำลัง อวินัยวาทีมีกำลัง วินัยวาทีก็จะอ่อนกำลัง.

ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ขอพระเถระโปรดเลือกภิกษุทั้งหลายเถิด. พระเถระละเว้นภิกษุที่เป็นปุถุชน โสดาบัน สกทาคามี อนาคามีและพระขีณาสพสุกขวิปัสสก ผู้ทรงพระปริยัติคือนวังคสัตถุศาสน์ทั้งสิ้น เป็นจำนวนหลายร้อยหลายพันรูป เลือกเอาเฉพาะภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ ประเภทเตวิชชาเป็นต้น ผู้ทรงปริยัติ คือพระไตรปิฎกทั้งหมด บรรลุปฏิสัมภิทา มีอานุภาพยิ่งใหญ่โดยมาก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกย่องเป็นเอตทัคคะที่

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 123

พระสังคีติกาจารย์มุ่งหมายกล่าวไว้ว่า ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปะคัดเลือกพระอรหันต์ ๕๐๐ รูปหย่อนอยู่รูปหนึ่ง ดังนี้.

ถามว่า ทำไม พระเถระจึงทำให้หย่อนอยู่รูปหนึ่ง. ตอบว่า เพื่อไว้ช่องโอกาสแก่ท่านพระอานนท์เถระเพราะว่า ทั้งร่วมกับท่านพระอานนท์ ทั้งเว้นท่านพระอานนท์เสียไม่อาจทำสังคายนาธรรมได้ ด้วยว่าพระอานนท์นั้น เป็นพระเสขะยังมีกิจที่ต้องทำอยู่ ฉะนั้นจึงไม่อาจร่วมได้ แต่เพราะเหตุที่นวังคสัตถุศาสน์มีสุตตะและเคยยะเป็นต้น ข้อใดข้อหนึ่ง ซึ่งพระทศพลทรงแสดงแล้ว ที่ชื่อว่า ท่านพระอานนท์ไม่ได้รับต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มี ฉะนั้น จึงไม่อาจเว้นเสียได้. ผิว่า ท่านพระอานนท์แม้เป็นเสขะอยู่ ก็น่าที่พระเถระจะพึงเลือก เพราะเป็นผู้มีอุปการะมาก ต่อการทำสังคายนาธรรม แต่เพราะเหตุไร พระเถระจึงไม่เลือกเล่า. เพราะจะหลีกเลี่ยงการตำหนิติเตียนเสีย. ความจริง พระเถระมีความสนิทสนมอย่างเหลือเกินในท่านพระอานนท์. จริงอย่างนั้น ถึงท่านพระอานนท์จะมีศีรษะหงอกแล้ว. พระเถระก็ยังสั่งสอนท่านด้วยวาทะว่า เด็ก ว่า "เด็กคนนี้ ไม่รู้จักประมาณเสียเลย". อนึ่ง ท่านพระอานนท์นี้เกิดในตระกูลศากยะ เป็นพระอนุชาของพระตถาคต เป็น โอรสของพระเจ้าอา. ในการคัดเลือกท่านพระอานนท์ ภิกษุทั้งหลายจะสำคัญประหนึ่งท่านลำเอียงเพราะรัก จะพึงตำหนิติเตียนว่าพระเถระละเว้นเหล่าภิกษุผู้บรรลุอเสขปฏิสัมภิทาเสียไปเลือกพระอานนท์ ผู้บรรลุเสขปฏิสัมภิทา. พระเถระเมื่อจะหลีกเลี่ยงตำหนิติเตียนนั้น คิดว่า "เว้นพระอานนท์เสีย ก็ไม่อาจทำสังคายนากันได้ เราจะเลือก ก็ต่อเมื่อภิกษุทั้งหลายอนุมัติเท่านั้น" ดังนี้ จึงไม่เลือกเอง.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 124

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายพากันร้องขอพระเถระ เพื่อเลือกท่านพระอานนท์เสียเองเลย เหมือนอย่างที่พระอานนท์กล่าวไว้ว่า

ภิกษุทั้งหลาย ได้กรายเรียนท่านพระมหากัสสปะ อย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านพระอานนท์นี้ ถึงแม้จะเป็นพระเสขะ แต่ก็ไม่ควรจะลำเอียงเพราะรัก เพราะเกลียด เพราะหลง เพราะกลัว ก็ท่านพระอานนท์นี้ ได้ร่ำเรียนธรรมและวินัยมาในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอันมาก ถ้าอย่างนั้น ขอพระเถระโปรดเลือกท่านพระอานนท์ด้วยเถิดเจ้าข้า. ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปะ จึงได้เลือกท่านพระอานนท์ด้วย ดังนี้.

พระเถระจึงได้มีจำนวนครบ ๕๐๐ รูป รวมทั้งท่านพระอานนท์ ที่พระเถระเลือกโดยอนุมัติของภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้.

ลำดับนั้น ภิกษุผู้เถระทั้งหลายปรึกษากันว่า เราจะช่วยกันสังคายนาธรรมและวินัย ที่ไหนเล่าหนอ. ได้ตกลงกันว่า กรุงราชคฤห์ มีโคจรที่หาอาหารมาก มีเสนาสนะมาก ถ้ากระไร เราจะอยู่จำพรรษา ช่วยกันทำสังคายนา ณ กรุงราชคฤห์ ภิกษุเหล่าอื่น [ที่ไม่ได้รับคัดเลือก] ไม่พึงเข้าจำพรรษา กรุงราชคฤห์. ก็เหตุไร ภิกษุผู้เถระเหล่านั้นจึงได้ตกลงกันดังนั้น. เพราะท่านดำริว่า การทำสังคายนานี้ เป็นถาวรกรรมของเรา บุคคลผู้เป็นวิสภาคไม่ถูก กัน จะพึงเข้ามาท่ามกลางสงฆ์ แล้วรื้อถาวรกรรมนั้นเสีย. ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปะจึงประกาศด้วยญัตติทุติยกรรม. คำประกาศนั้น พึงทราบตามนัยที่ท่านกล่าวไว้แล้วในสังคีติขันธกะนั้นแล.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 125

ครั้งนั้น นับแต่พระตถาคตเสด็จปรินิพพาน เมื่อการเล่นสาธุกีฬา ล่วงไป ๗ วัน การบูชาพระธาตุล่วงไปอีก ๗ วัน พระมหากัสสปะเถระรู้ว่า เวลาล่วงไปครึ่งเดือนแล้ว ยังเหลือเวลาเดือนครึ่ง ก็กระชั้นชิดดิถีเข้าจำพรรษา จึงกล่าวว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย เราจะพากันไปกรุงราชคฤห์ ก็พาหมู่ภิกษุครึ่งหนึ่งเดินทางแยกไปทางหนึ่ง แม้พระอนุรุทธเถระ ก็พาหมู่ภิกษุครึ่งหนึ่งแยกไปอีกทางหนึ่ง. ส่วนพระอานนทเถระถือบาตรจีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้า อันหมู่ภิกษุแวดล้อม ประสงค์จะไปกรุงสาวัตถี [ก่อน] แล้ว จึงจะไปกรุงราชคฤห์ ก็แยกทางจาริกไปทางกรุงสาวัตถี. ในสถานที่พระอานนทเถระไปถึงๆ ก็ได้มีเสียงครวญคร่ำรำพันขนานใหญ่ว่า ท่านอานนท์เจ้าข้า ท่านอานนท์เก็บพระศาสดาไว้เสียที่ไหน มาแล้ว. เมื่อพระเถระถึงกรุงสาวัตถีตามลำดับ ได้มีเสียงครวญคร่ำรำพันขนานใหญ่ เหมือนในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพาน.

ข่าวว่า สมัยนั้น ท่านพระอานนท์ ต้องปลอบมหาชนนั้น ด้วยธรรมีกถาที่ประกอบด้วยอนิจจตาความไม่เที่ยงเป็นต้น แล้วจึงเข้าไปยังพระเชตวันวิหาร เปิดพระทวารแห่งพระคันธกุฎีที่พระทศพลประทับแล้วนำเตียงตั่งออกเคาะปัดกวาดพระคันธกุฎี ทิ้งขยะคือดอกไม้แห้ง นำเตียงตั่งเข้าไปตั้งไว้ตามเดิมอีก ได้กระทำวัตรปฏิบัติทุกอย่างที่ควรทำ เหมือนในครั้งพระผู้มี-พระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่.

พระเถระแข็งใจดื่มยาระบายเจือน้ำนมในวันที่ ๒ เพื่อทำกายที่มีธาตุหนักให้เบา เพราะตั้งแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพาน ท่านต้องยืนมาก นั่งมาก จึงนั่งอยู่แต่ในวิหารเท่านั้น ซึ่งท่านอ้างถึง จึงกล่าวกะเด็กหนุ่ม ที่สุภมาณพใช้ไปดังนี้ว่า

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 126

ดูก่อนพ่อหนุ่ม วันนี้ยังไม่เหมาะ เพราะเราดื่มยาถ่าย ต่อพรุ่งนี้เราจึงจะเข้าไป.

วันที่ ๒ พระเถระ มีพระเจตกเถระ เป็นปัจฉาสมณะผู้ติดตามจึงเข้าไป ถูกสุภมาณพถามปัญหาแล้วได้กล่าวสูตรที่ ๑๐ ชื่อ สุภสูตร (๑) ใน ทีฆนิกาย. คราวนั้นพระเถระขอให้สุภมาณพ ช่วยปฎิสังขรณ์สิ่งสลักหักพังในพระเชตวันวิหาร ครั้นจวนจะเข้าพรรษาจึงไปยังกรุงราชคฤห์. พระมหากัสสปเถระและพระอนุรุทธเถระก็อย่างนั้น พาหมู่ภิกษุทั้งหมดไปยังกรุงราชคฤห์เหมือนกัน.

สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์มีวัดใหญ่อยู่ ๑๘ วัด ทุกวัดมีหยากเยื่อที่เขาทิ้งตกเรี่ยราดไปทั้งนั้น. เพราะในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพาน ภิกษุทั้งหลายถือบาตรจีวรของตนทอดทิ้งวัดและบริเวณไปกันหมด ครั้งนั้น พระเถระทั้งหลาย คิดกันว่า เราจะช่วยกันปฏิสังขรณ์วิหารที่ชำรุดทรุดโทรมตลอดเดือนแรกแห่งพรรษา เพื่อบูชาพระพุทธดำรัสและปลดเปลื้องคำตำหนิติเตียนของพวกเดียรถีย์. ด้วยว่า พวกเดียรถีย์พากันติเตียนว่า พวกสาวกของพระสมณโคดม เมื่อศาสดายังมีชีวิตอยู่ ก็ช่วยกันทะนุบำรุง ครั้นศาสดา ปรินิพพานแล้ว ก็พากันทอดทิ้งไป. ท่านอธิบายว่า พระเถระทั้งหลายคิดกัน ดังนั้น ก็เพื่อปลดเปลื้องคำตำหนิติเตียนของเดียรถีย์พวกนั้น. สมจริงดังที่ท่าน กล่าวไว้ว่า

ภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลาย ปรึกษากันดังนี้ว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย การปฏิสังขรณ์วิหารที่ชำรุดทรุดโทรม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญไว้ เอาเถิดผู้มีอายุทั้งหลาย จำเราจะช่วยกันปฏิสังขรณ์วิหารที่ชำรุดทรุด-


๑. ที.สี. ๙/ข้อ ๓๑๔ เป็นต้น

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 127

โทรม ตลอดเดือนแรก เดือนกลางเราจึงจักประชุม ช่วยกันสังคายนาธรรมและวินัย.

วันที่สอง พระเถระเหล่านั้น พากันไปยืนอยู่ใกล้ประตูพระราชนิเวศน์ พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จมาทรงไหว้แล้วปวารณาว่า ท่านเจ้าข้า โยมจะช่วยอะไรได้บ้าง พระคุณเจ้าต้องการอะไร. พระเถระทั้งหลาย ถวายพระพรขอหัตถกรรมงานฝีมือ เพื่อต้องการปฏิสังขรณ์วัดใหญ่ ๑๘ วัด. พระราชาทรงรับว่า สาธุ ดีละ เจ้าข้า แล้วพระราชทานผู้คนที่เป็นช่างฝีมือ. พระเถระทั้งหลายให้ปฏิสังขรณ์วิหารทั้งหมด ตลอดเดือนแรก. ต่อมา จึงกราบทูลพระราชาว่า ขอถวายพระพร งานปฏิสังขรณ์วิหารเสร็จแล้ว บัดนี้ อาตมาภาพทั้งหลาย จะช่วยกันสังคายนาธรรมและวินัย. พระราชามีพระดำรัสว่า ดีละ เจ้าข้า ขอพระคุณเจ้าโปรดทำอย่างสบายใจเถิด การอาณาจักรไว้เป็นธุระของโยม ฝ่ายการธรรมจักรเป็นธุระของพระคุณเจ้า โปรดสั่งมาเถิดเจ้าข้า จะให้โยมช่วยอะไร. พระเถระทั้งหลาย ถวายพระพรทูลว่า ถวายพระพร โปรดให้สร้างสถานที่นั่งประชุมสำหรับภิกษุทั้งหลาย ผู้จะช่วยกันทำสังคายนาธรรม. ตรัสถามว่า จะทำที่ตรงไหนเล่า เจ้าข้า. ทูลว่า ถวายพระพร ทำใกล้ประตูถ้ำสัตตบรรณ ข้างภูเขาเวภาระน่าจะเหมาะมหาบพิตร. พระเจ้าอชาตศัตรูรับสั่งว่า ดีละ เจ้าข้า แล้วโปรดให้สร้างมณฑปใหญ่ มีฝา เสาและบันไดอันจัดไว้อย่างดี วิจิตรด้วยลายดอกไม้และลายเครือเถานานาชนิด เสมือนวิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตไว้ แต่มณฑปใหญ่นั้น ให้มีเพดานทองกลมกลืนกับพวงดอกไม้ชนิดต่างๆ อันห้อยย้อยอยู่ งานภาคพื้นดินก็ปรับเสร็จเป็นอันดี งดงามด้วยดอกไม้บูชานานาพันธุ์ ประหนึ่งพื้นทางเดินอันปรับด้วยลูกรังดังมณีรัตนวิจิตร เสมือนวิมานพรหม โปรดให้ปูลาดอาสนะอันเป็นกัปปิยะ ๕๐๐ ที่ มีค่านับมิได้ ในมณฑป

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 128

ใหญ่นั้น สำหรับภิกษุ ๕๐๐ รูป ให้ปูลาดอาสนะพระเถระ หันหน้าทางทิศเหนือ หันหลังทางทิศใต้ ให้ปูลาดธรรมาสน์ ที่นั่งแสดงธรรม อันควรเป็นอาสนะสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า หันหน้าทางทิศตะวันออก ท่ามกลางมณฑป วางพัดทำด้วยงาช้างไว้บนธรรมาสน์นั้น แล้วมีรับสั่งให้เผดียงแจ้งแก่ภิกษุสงฆ์ ว่า กิจกรรมเสร็จแล้ว เจ้าข้า.

ภิกษุทั้งหลายกล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ท่านอานนท์ พรุ่งนี้เป็นวันประชุมสงฆ์ ส่วนตัวท่านเป็นเสขะ ยังมีกิจที่จะต้องทำ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงไม่ควรไปประชุม ขอท่านจงอย่าประมาทนะ. ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ ดำริว่า พรุ่งนี้เป็นวันประชุม การที่เรายังเป็นเสขะไปประชุม ไม่สมควรเลย ดังนี้ จึงยับยั้งอยู่ด้วยกายคตาสติ ตลอดราตรีเป็นอันมาก เวลาใกล้รุ่งจึงลงจากที่จงกรมเข้าไปยังวิหาร นึกถึงกาย หมายจะนอนพัก. เท้าทั้งสองพ้นพื้น และศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน ในระหว่างนั้น จิตไม่ยึดมั่น ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย.

ความจริง ท่านพระอานนท์นี้ ยับยั้งอยู่ภายนอก ด้วยการจงกรม ไม่อาจทำคุณวิเศษให้เกิดได้ จึงดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะเราไว้ มิใช่หรือว่า อานนท์ เธอมีบุญที่ทำไว้แล้ว จงประกอบความเพียรเนืองๆ ก็จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะได้ฉับพลัน ก็ธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสไว้ ไม่ผิด เราคงปรารภความเพียรเกินไป ด้วยเหตุนั้น จิตของเราจึงเป็นไปทาง ฟุ้งซ่าน เอาเถิด จำเราจะประกอบความเพียรแต่พอดี จึงลงจากที่จงกรม ยืน ณ ที่ล้างเท้า ล้างเท้าแล้วก็เข้าวิหาร นั่งบนเตียง คิดจะพักเสียหน่อยหนึ่ง ก็เอนกายลงบนเตียง เท้าทั้งสองพ้นพื้น และศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน ในระหว่างนั้น จิตไม่ยึดมั่น ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย. พระอรหัตของพระ่

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 129

เถระ. เว้นจากอิริยาบถ ๔ ด้วยเหตุนั้น เมื่อถามกันว่า ในพระศาสนานี้ ภิกษุรูปไร ไม่นั่ง ไม่นอน ไม่ยืน ไม่เดิน บรรลุพระอรหัต ก็ควรจะตอบว่า พระอานนทเถระ.

ในวันที่สอง พระภิกษุเถระทั้งหลาย ฉันภัตตาหาร เก็บงำบาตรจีวรแล้ว ก็ประชุมกัน ณ ธรรมสภา. ส่วนพระอานนทเถระประสงค์จะให้สงฆ์รู้การบรรลุพระอรหัตของตน จึงไม่ไปพร้อมกับภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลายเมื่อนั่งเหนืออาสนะที่ถึงแก่ตนๆ ตามอาวุโส ก็นั่งเว้น อาสนะของพระอานนทเถระไว้. ในที่นั้น เมื่อมีพระเถระบางเหล่าถามว่า นั่นอาสนะของใคร ก็มีเสียงตอบว่า ของพระอานนท์. ถามว่า ก็พระอานนท์ไปไหนเสียเล่า. สมัยนั้น พระเถระดำริว่า บัดนี้ เป็นเวลาที่เราไปได้ละ ดังนั้น เมื่อสำแดงอานุภาพของตน จึงดำดินไปแสดงตัวเหนืออาสนะของตนเลย. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เหาะมานั่งก็มี.

เมื่อพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้ว ท่านพระมหากัสสปะเถระจึงปรึกษากะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย เราจะสังคายนาอะไรก่อน ธรรมหรือวินัย

ภิกษุทั้งหลายจึงเรียนว่า ข้าแต่ท่านมหากัสสปะ ธรรมดาว่าวินัยเป็นอายุของพระพุทธศาสนา เมื่อวินัยยังดำรงอยู่ พระศาสนาก็ชื่อว่าดำรงอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น เราจะสังคายนาวินัยก่อน. พระเถระถามว่า จะมอบให้ใครเป็นธุระสังคายนาวินัยเล่า. ภิกษุทั้งหลายเรียนว่า ท่านพระอุบาลี เจ้าข้า. พระเถระถามแย้งว่า พระอานนท์ไม่สามารถหรือ. ภิกษุทั้งหลายเรียนว่า ไม่ใช่ไม่สามารถดอกเจ้าข้า แต่ทว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อยังดำรงพระชนม์อยู่ ทรงอาศัยการเล่าเรียนพระปริยัติ [ของท่าน] จึงทรงสถาปนาท่านพระอุบาลีไว้

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 130

ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาลีเป็นเลิศกว่าภิกษุสาวกของเราผู้ทรงพระวินัย ดังนี้ เพราะฉะนั้น เราจะถามพระอุบาลีเถระ ช่วยกันสังคายนาวินัย. แต่นั้น พระเถระจึงสมมติตนด้วยตนเอง เพื่อถามวินัย ฝ่ายพระอุบาลีเถระก็สมมติคน เพื่อตอบวินัย. ในข้อนั้น มีบาลีดังนี้

ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปะ เผดียงสงฆ์ว่า

สุณาตุ เม อาวุโส สงฺโฆ, ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ อหํ อุปาลึ วินยํ ปุจฺเฉยฺยํ.

ดูก่อนท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์โปรดฟังข้าพเจ้า ผิว่า สงฆ์พรักพร้อมแล้ว ข้าพเจ้าจะถามวินัยกะท่านอุบาลี.

แม้ท่านพระอุบาลี ก็เผดียงสงฆ์ว่า

สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ, ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ อหํ อายสฺมตา มหากสฺสเปน วินยํ ปุฏฺโฐ วิสฺสชฺเชยฺยํ.

ข้าแต่ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์โปรดฟังข้าพเจ้า ผิว่า สงฆ์พรักพร้อมแล้ว ข้าพเจ้าอันท่านพระมหากัสสปะ ถามแล้ว จะตอบวินัย.

ท่านพระอุบาลี ครั้นสมมติตนด้วยตนเองอย่างนี้แล้ว ก็ลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ไหว้พระภิกษุชั้นเถระแล้ว นั่งเหนือธรรมาสน์จับพัดทำด้วยงา ต่อนั้น ท่านพระมหากัสสปะเถระจึงถามวินัยทั้งหมดตั้งแต่ปฐมปาราชิกเป็นต้นไป กะท่านพระอุบาลีเถระ. ท่านพระอุบาลีเถระก็ตอบ พระภิกษุหมดทั้ง ๕๐๐ รูป ก็สวดเป็นหมู่พร้อมๆ กัน ตั้งแต่ปฐมปาราชิกสิกขาบท พร้อมทั้งนิทานไป แม้สิกขาบทนอกนั้น ก็สวดอย่างนั้น เพราะเหตุนั้น พึงถือเรื่อง ทั้งหมดตามอรรถกถาวินัย. ท่านพระอุบาลีเถระครั้นสังคายนาวินัยปิฎกทั้งสิ้น พร้อมทั้งวิภังค์ทั้งสอง [ภิกขุวิภังค์ ภิกขุนีวิภังค์] พร้อมด้วยคัมภีร์ขันธกะ

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 131

และปริวารโดยนัยนี้แล้ว ก็วางพัดงา ลงจากธรรมาสน์ ไหว้ภิกษุผู้เฒ่าแล้ว ก็นั่งเหนืออาสนะที่ถึงแก่ตน.

ท่านพระมหากัสสปะเถระ ครั้นสังคายนาวินัยแล้วประสงค์จะสังคายนาธรรม จึงถามภิกษุทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายเมื่อจะสังคายนาธรรม จะมอบบุคคลไรเป็นธุระสังคายนาธรรม. ภิกษุทั้งหลาย จึงเรียนว่า มอบท่านพระอานนทเถระให้เป็นธุระ.

ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปะ จึงเผดียงสงฆ์ว่า

สุณาตุ เม อาวุโส สงฺโฆ, ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ อหํ อานนฺทํ ธมฺมํ ปุจฺเฉยฺยํ.

ดูก่อนท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์โปรดฟังข้าพเจ้า ผิว่า สงฆ์พรักพร้อมแล้ว ข้าพเจ้าจะถามธรรมกะท่านอานนท์.

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ ก็เผดียงสงฆ์ว่า

สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ, ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ อหํ อายสฺมตา มหากสฺสเปน ธมฺมํ ปุฏฺโ วิสฺสชฺเชยฺยํ.

ข้าแต่ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์โปรดฟังข้าพเจ้า ผิว่า สงฆ์พรักพร้อมแล้ว ข้าพเจ้าอันท่านพระมหากัสสปะถามแล้ว จะตอบธรรม ดังนี้.

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ลุกจากอาสนะ. ห่มจีวร เฉวียงบ่า ไหว้พระภิกษุชั้นเถระแล้ว ก็นั่งเหนือธรรมาสน์ถือพัดงา. ลำดับนั้น ท่านพระมหากัสสปะเถระ ถามธรรมกะท่านพระอานนท์ว่า ท่านอานนท์ พรหมชาลสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ณ ที่ไหน. ตอบว่า ตรัสที่พระตำหนักในพระราชอุทยานชื่ออัมพลัฏฐิกา ซึ่งอยู่ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา. ถามว่า

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 132

ทรงปรารภใคร. ตอบว่า ทรงปรารภสุปปิยปริพาชกกับพรหมทัตตมาณพ. ลำดับนั้น ท่านพระมหากัสสปะถามท่านพระอานนท์ถึงนิทานแห่งพรหมชาลสูตร ถามทั้งบุคคล. ถามว่า ท่านอานนท์ ก็สามัญญผลสูตรเล่าตรัสที่ไหน. ตอบว่า ที่สวนมะม่วงของหมอชีวก กรุงราชคฤห์ เจ้าข้า. ถามว่า ตรัสกับใคร. ตอบว่า กับพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร โอรสพระนางเวเทหิ เจ้าข้า. ลำดับนั้น ท่านพระมหากัสสปะจึงถามท่านพระอานนท์ ถึงนิทานแห่งสามัญญผลสูตร ถามทั้งบุคคล. ท่านพระมหากัสสปะถามแม้ทั้ง ๕ นิกาย โดยอุบายนี้นี่แลท่านพระอานนท์ ถูกถามแล้วถามเล่าก็ตอบได้หมด. ปฐมมหาสังคีติสังคายนาใหญ่ครั้ง แรกนี้ พระเถระ. ๕๐๐ รูปช่วยกันทำ

สเตหิ ปญฺจหิ กตา เตน ปญฺจสตาติ จ เถเรเหว กตตฺตา จ เถริกาติ ปวุจฺจติ.

ปฐมมหาสังคีติ การทำสังคายนาใหญ่ครั้งแรก อันพระเถระ ๕๐๐ รูป ช่วยกันทำ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า ปัญจสตา และเพราะภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นพระเถระทั้งนั้น จึงเรียกว่า เถริกา ลัทธิเถระวาท.

เมื่อปฐมมหาสังคีตินี้ กำลังดำเนินไป เมื่อท่านพระอานนท์ อันท่านพระมหากัสสปะ ครั้นถามคัมภีร์ทีฆนิกายและคัมภีร์มัชฌิมนิกายเป็นต้นหมดแล้ว เมื่อจะถามคัมภีร์ขุททกนิกาย ตามลำดับ ในท้ายคำที่ท่านถามเป็นต้น อย่างนี้ว่า ท่านอานนท์ มงคลสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ณ ที่ไหน ดังนี้ จึงถามถึงนิทานในคำนี้ว่า ถามทั้งนิทาน ถามทั้งบุคคล. ท่านพระอานนท์ประสงค์จะกล่าวนิทานนั้นให้พิศดารว่า ตรัสอย่างใด ผู้ใดฟังมา ฟังเมื่อใด และผู้ใดกล่าว กล่าวที่ใด กล่าวแก่ผู้โด จะกล่าวข้อความนั้นให้หมด เมื่อ

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 133

จะแสดงความนั้นว่า ตรัสไว้อย่างนี้, ข้าพเจ้าฟังมา, ฟังมาสมัยหนึ่ง, พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส, ตรัสที่กรุงสาวัตถี, ตรัสแก่เทวดา ดังนี้จึงกล่าวว่า เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา สาวตฺถิยํ วิหรติ เชตวเน อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเมฯปฯ ภควนฺตํ คาถาย อชฺฌภาสิ. คำนี้ ท่าน พระอานนท์กล่าวไว้อย่างนี้. ก็แล คำนั้นพึงทราบว่า ท่านกล่าวไว้ในเวลาทำปฐมมหาสังคีติ.

บัดนี้ จะอธิบายในข้อนี้ว่า ตรัสเพราะเหตุไร. เพราะเหตุที่ท่านพระมหากัสสปะถามถึงนิทาน ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวนิทานนั้นไว้พิศดารตั้งแต่ต้น อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่เทวดาบางเหล่าเห็นท่านพระอานนท์นั่งเหนือธรรมาสน์ ห้อมล้อมด้วยคณะผู้เชี่ยวชาญ จึงเกิดจิตคิดว่า "ท่านพระอานนท์นี้เป็นเวเทหมุนี แม้โดยปกตินับเพียงอยู่ในศากยตระกูล เป็นทายาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ทรงยกย่องไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะถึง ๕ สถาน เป็นผู้ประกอบด้วยอัจฉริยอัพภูตธรรม ๔ ประการ เป็นที่รักที่ต้องใจของบริษัท ๔ บัดนี้ เห็นทีจะเป็นรัชทายาทโดยธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า เกิดเป็นพุทธะ ผู้รู้".

ฉะนั้น ท่านพระอานนท์ รู้ทั่วถึงความปริวิตกทางใจของเทวดาเหล่านั้นด้วยใจตนเอง ทนการยกย่องคุณที่ไม่เป็นจริงนั้นไม่ได้เพื่อแสดงภาวะที่ตนเป็นเพียงสาวก จึงกล่าวว่า เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควาฯปฯ อชฺฌภาสิ. ในระหว่างนี้พระอรหันต์ ๕๐๐ รูปและเทวดาหลายพัน ก็ชื่อชมท่านพระอานนท์ว่า สาธุ สาธุ. แผ่นพื้นมหาปฐพีก็ไหว ฝนดอกไม้นานาชนิดก็หล่นลงจากอากาศ ความอัศจรรย์อย่างอื่นก็ปรากฏมากมาย และเทวดามากหลายก็เกิดความสังเวชว่า คำใด เราฟังมาต่อพระพักตร์ของพระผู้

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 134

มีพระภาคเจ้า คำนั้นแม้เหตุการณ์ผ่านพ้นสายตามาแล้ว ก็มาเกิดได้. คำนี้ท่านพระอานนท์ แม้จะกล่าวในเวลาทำปฐมมหาสังคีติ ก็พึงทราบว่าท่านกล่าวเพราะเหตุนี้ ด้วยประการฉะนี้. ด้วยการพรรณนามาเพียงเท่านี้ ก็เป็นอันประกาศความแห่งกึ่งคาถานี้ว่า วุตฺตํ เยน ยทา ยสฺมา เจตํ วตฺวา อิมํ วิธึ กล่าววิธีนี้ว่า ผู้ใดกล่าว กล่าวเมื่อใด กล่าวเพราะเหตุใด.

พรรณนาปาฐะว่า เอวํ เป็นต้น

เพื่อประกาศความที่รวบรัดไว้ด้วยหัวข้อเป็นต้นอย่างนี้ว่า เอวมิจฺจาทิปาสฺส อตฺถํ นานปฺปการโต ความแห่งปาฐะว่า เอวํ เป็นต้น โดยประการต่างๆ บัดนี้ ขออธิบายดังนี้ ศัพท์ว่า เอวํ นี้ พึงเห็นว่า

ใช้ในอรรถทั้งหลายมีเป็นต้นว่า ความเปรียบเทียบ ความแนะนำ ความยกย่อง ความติเตียน การรับคำ อาการ การชี้แจง การห้ามความอื่น. จริงอย่างนั้น เอวํ ศัพท์นี้

ใช้ในความเปรียบเทียบ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า

เอวํ ชาเตน มจฺเจน กตฺตพฺพํ กุสลํ พหุํ สัตว์เกิดมาแล้ว ควรบำเพ็ญกุศลให้มาก ฉันนั้น

ใช้ในความแนะนำ ได้ในประโยคเป็นต้น เอวํ เต อภิกฺกมิตพฺพํ เอวํ เต ปฏิกฺกมิตพฺพํ เธอพึงก้าวไปอย่างนี้ พึงถอยกลับ อย่างนี้.

ใช้ในความยกย่อง ได้ในประโยคเป็นต้น เอวเมตํ ภควา เอวเมตํ สุคต ข้อนั้นเป็น อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้อนั้นเป็น อย่างนี้ พระสุคต.

ใช้ในความติเตียน ได้ในประโยคเป็นต้นว่า เอวเมวํ ปนายํ วสลี ยสฺมึ วา ตสฺส มุณฺฑกสฺส สมณกสฺส วณฺณํ ภาสติ ก็หญิง

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 135

ถ่อยคนนี้กล่าวสรรเสริญสมณะหัวโล้นนั้น อย่างนี้ อย่างนี้ ทุกหนทุกแห่ง.

ใช้ในการรับคำ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ ว่า เอวํ ภนฺเตติ โข เต ภิกฺขู ภควโต ปจฺจสฺโสสุํ ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

ใช้ในอาการ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า เอวํ พฺยา โข อหํ ภนฺเต ภควตา ธมฺมํ เทสิตํ อาชานามิ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว อย่างนี้ จริง.

ใช้ในการชี้แจง ได้ในประโยคเป็นต้นว่า

เอหิ ตฺวํ มาณวก เยน สมโณ อานนฺโท เตนุปสงฺกม. อุปสงฺกมิตฺวา มม วจเนน สมณํ อานนฺทํ อปฺปาพาธํ อปฺปาตงฺกํ ลหุฏฺานํ พลํ ผาสุวิหารํ ปุจฺฉ สุโภ มาณโว โตเทยฺยปุตฺโต ภวนฺตํ อานนฺทํ อปฺปาพาธํ อปฺปาตงฺกํ ลหุฏฺานํ พลํ ผาสุวิหารํ ปุจฺฉตีติ เอวญฺจ วเทหิ สาธุ กิร ภวํ อานนฺโท เยน สุภสฺส มาณวสฺส โตเทยฺยปุตฺตสฺส นิเวสนํ เตนุปสงฺกมตุ อนุกมฺปํ อุปาทาย.

มานี่แน่ะ พ่อหนุ่ม เจ้าจงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ แล้วเรียนถามท่านพระอานนท์ ถึงความไม่มีอาพาธ ความไม่มีโรค ความคล่องแคล่ว ความมีกำลัง ความอยู่สำราญ และจงพูดอย่างนี้ว่า สุภมาณพ

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 136

โตเทยยบุตร เรียนถามท่านพระอานนท์ถึงความไม่มีอาพาธ ความไม่มีโรค ความคล่องแคล่ว ความมีกำลัง ความอยู่สำราญ และจงกล่าวอย่างนี้ว่า สาธุ ขอท่านพระอานนท์ โปรดอนุเคราะห์เข้าไปยังนิเวศน์ของสุภมาณพโตเทยยบุตรดด้วยเถิด.

ใช้ในการห้ามความอื่น ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า

ตํ กึ มญฺถ กาลามา อิเม ธมฺมา กุสลา วา อกุสลา วาติ. อกุสลา ภนฺเตติ. สาวชฺชา วา อนวุชฺชา วาติ. สาวชฺชา ภนฺเตติ. วิญฺญุครหิตา วา วิญฺญุปฺปสตฺถา วาติ. วิญฺญุครหิตา ภนฺเตติ. สมตฺตา สมาทินฺนา อหิตาย ทุกฺขาย สํวตฺตนฺติ โน วา กถํ โว เอตฺถ โหตีติ. สมตฺตา ภนฺเต สมาทินฺนา อหิ ตาย ทุกฺขาย สํวตฺตนฺติ เอวํ โน เอตฺถ โหตีติ.

ตรัสถามว่า ดูก่อนชาวกาลามะทั้งหลาย ท่านจะสำคัญความข้อนั้นอย่างไร ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรืออกุศล. ทูลตอบว่า เป็นอกุศล พระเจ้าข้า ตรัสถามว่า มีโทษหรือไม่มีโทษ. ทูลตอบว่า มีโทษ พระเจ้าข้า. ตรัสถามว่า วิญญูชนติเตียนหรือสรรเสริญเล่า. ทูลตอบว่า ติเตียน พระเจ้าข้า. ตรัสถามว่า บุคคลสมาทานบริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์หรือมิใช่ ในข้อนี้ท่านมีความเห็นอย่างไร. ทูลตอบว่า บุคคลสมาทานบริบูรณ์แล้ว เป็น

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 137

ไปเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ ข้าพระองค์มีความเห็นในข้อนี้ อย่างนี้ พระเจ้าข้า.

แต่ในที่นี้ พึงเห็นว่า เอวํศัพท์ ใช้ในอรรถ คืออาการ การชี้แจง และการห้ามความอื่น.

ในอรรถทั้ง ๓ นั้น พระเถระแสดงอรรถนี้ด้วย เอวํ ศัพท์ ที่มีอรรถ เป็นอาการว่า พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ละเอียดโดยนัยต่างๆ เกิดขึ้นโดยมากอัธยาศัย สมบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะ. มีปาฏิหาริย์ต่างๆ อย่างลุ่มลึกโดยธรรม อรรถ เทศนาและปฏิเวธ มากระทบโสต พอเหมาะแก่ภาษาของตนๆ ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ใครจะสามารถรู้ได้โดยประการทั้งปวง แต่ข้าพเจ้าแม้ใช้เรี่ยวแรงทั้งหมดให้เกิดความอยากจะฟัง ก็ได้ฟังมาอย่างนี้ คือแม้ข้าพเจ้าก็ได้ฟังมาแล้วโดยอาการอย่างหนึ่ง.

ด้วยเอวํศัพท์ ที่มีอรรถเป็นการชี้แจง พระเถระเมื่อจะเปลื้องตนว่า ข้าพเจ้ามิใช่พระสยัมภู พระสูตรนี้ ข้าพเจ้ามิได้ทำให้แจ้ง จึงแสดงพระสูตร ทั้งสิ้นที่ควรกล่าวในบัดนี้ว่า เอวมฺเม สุตํ คือแม้ข้าพเจ้าก็ได้ยินมาอย่างนี้.

ด้วยเอวํศัพท์ ที่มีศัพท์เป็นการห้ามความอื่น พระเถระเมื่อแสดงพลังความทรงจำของตน อันควรแก่ภาวะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญไว้อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นยอดของภิกษุสาวกของเรา ซึ่งเป็นพหูสูต มีคติ มีสติ มีธิติ เป็นพุทธอุปัฏฐาก ดังนี้ ย่อมให้เกิดความอยากฟังแก่สัตว์ทั้งหลาย ด้วยกล่าวว่า ข้าพเจ้าฟังมาแล้วอย่างนี้ คำนั้น ไม่ขาดไม่เกิน ไม่ว่าโดยอรรถหรือพยัญชนะ บัณฑิตพึงเห็นอย่างนี้เท่านั้น ไม่พึงเห็นเป็นอย่างอื่น.

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 138

แก้บท เม

เมศัพท์ พบกันอยู่ในความ ๓ ความ. จริงอย่างนั้น เมศัพท์ มีความว่า มยา อันเรา ได้ในประโยคเป็นต้นว่า คาถาภิคีตํ เม อโภชเนยฺยํ โภชนะที่ได้มาด้วยการขับกล่อม อันเราไม่ควรบริโภค.

มีความว่า มยฺหํ แก่เรา ได้ในพระโยคเป็นต้นว่า สาธุ เม ภนฺเต ภควา สงฺขิตฺเตน ธมฺมํ เทเสตุ ดีละ พระเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด.

มีความว่า มม ของเรา ได้ในประโยคเป็นต้นว่า ธมฺมทายาทา เม ภิกฺขเว ภวถ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทของเราเถิด.

แต่ในที่นี้ เมศัพท์ ย่อมถูกต้องในความทั้งสองคือ เม สุตํ อัน ข้าพเจ้าฟังมา มม สุตํ การฟังของข้าพเจ้า.

แก้บท สุตํ

สุตศัพท์นี้ มีอุปสรรคและไม่มีอุปสรรค ต่างกันโดยความหลายความ เช่นมีความว่า ไป ปรากฏ กำหนัด สั่งสม ขวนขวาย เสียงที่รู้ทางโสตะและรู้ตามแนวโสตทวารเป็นต้น. จริงอย่างนั้น สุตศัพท์นั้น

มีความว่าไป ได้ในประโยคเป็นต้นว่า เสนาย ปสุโต เคลื่อนทัพ ไป.

มีความว่า ปรากฏ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า สุตธมฺมสฺส ปสฺสโต ผู้มีธรรมปรากฏแล้ว เห็นอยู่.

มีความว่า กำหนัด ได้ในประโยคเป็นต้นว่า อวสฺสุตา อวสฺสุตสฺส ภิกษุณีมีความกำหนัด ยินดีการที่ชายผู้มีความกำหนัดมาลูบคลำจับต้องกาย.

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 139

มีความว่า สั่งสม ได้ในประโยคเป็นต้นว่า ตุมฺเหหิ ปฺญฺํ ปสุตํ อนปฺปกํ ท่านทั้งหลายสั่งสมบุญเป็นอันมาก.

มีความว่า ขวนขวาย ได้ในประโยคเป็นต้นว่า เย ฌานปฺปสุตา ธีรา ปราชญ์เหล่าใดขวนขวายในฌาน.

มีความว่า เสียงที่รู้ทางโสตะ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า ทิฏฺํ สุตํ มุตํ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ.

มีความว่า รู้ตามแนวโสตทวาร ได้ในประโยคเป็นต้นว่า สุตธโร สุตสนฺนิจโย ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ.

แต่ในที่นี้ ศัพท์ว่า สุตะ มีความว่า เข้าไปทรงไว้หรือการทรงจำไว้ด้วยวิถีวิญญาณ ซึ่งมีโสตวิญญาณเป็นหัวหน้า. ในคำนั้น เมื่อใด เมศัพท์ มีความว่า มยา อันข้าพเจ้า เมื่อนั้นก็ประกอบความว่า อันข้าพเจ้าฟังมาแล้ว คือทรงจำไว้แล้วด้วยวิถีวิญญาณ อันมีโสตวิญญาณเป็นหัวหน้า อย่างนี้. เมื่อใด เมศัพท์ มีความว่า มม ของข้าพเจ้า เมื่อนั้น ก็ประกอบความว่าการฟังของข้าพเจ้าคือการทรงจำไว้ ด้วยวิถีวิญญาณอันมีโสตวิญญาณเป็นหัวหน้า.

บรรดาบททั้ง ๓ เหล่านั้น ดังพรรณนามานี้ บทว่า เอวํ เป็นบทชี้ถึงกิจคือหน้าที่ของโสตวิญญาณ. บทว่า มยา เป็นบทชี้ถึงบุคคลผู้ประกอบด้วยโสตวิญญาณที่กล่าวแล้ว. บทว่า สุตํ เป็นบทชี้ถึงการถือเอาไม่ขาดไม่เกินและไม่วิปริต เพราะปฏิเสธภาวะคือการไม่ได้ฟัง.

นัยหนึ่ง บทว่า เอวํ เป็นบทแสดงถึงภาวะที่มีจิตคิดจะฟังเป็นต้น เป็นไปในอารมณ์ โดยประการต่างๆ. บทว่า เม เป็นบทแสดงถึงตัว. บทว่า สุตํ เป็นบทแสดงถึงธรรม.

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 140

อีกนัยหนึ่ง บทว่า เอวํ เป็นบทชี้แจงธรรมที่ควรชี้แจง. บทว่า เม เป็นบทชี้แจงตัวบุคคล. บทว่า สุตํ เป็นบทชี้แจงกิจคือหน้าที่ของตัว บุคคล.

อีกนัยหนึ่ง ศัพท์ว่า เอวํ อธิบายถึงประการต่างๆ ของวิถีจิตทั้งหลาย เป็นอาการบัญญัติ ศัพท์ว่า เม อธิบายถึงตัวผู้ทำ. ศัพท์ว่า สุตํ อธิบายถึงวิสัย.

อีกนัยหนึ่ง ศัพท์ว่า เอวํ อธิบายถึงกิจหน้าที่ของบุคคล. ศัพท์ว่า สุตํ อธิบายถึงกิจหน้าที่ของวิญญาณ. ศัพท์ว่า เม อธิบายถึงบุคคลผู้กอปร ด้วยกิจทั้งสอง.

อีกนัยหนึ่ง ศัพท์ว่า เอวํ แสดงถึงภาวะ. ศัพท์ว่า เม แสดงถึง บุคคล. ศัพท์ว่า สุตํ แสดงถึงกิจของบุคคลนั้น.

ในคำเหล่านั้น คำว่า เอวํ และว่า เม เป็นวิชชมานบัญญัติ โดยเป็นสัจฉิกัตถปรมัตถ์. คำว่า สุตํ เป็นวิชชมานบัญญัติ.

อีกนัยหนึ่ง คำว่า เอวํ และ เม ชื่อว่า อุปาทาบัญญัติ เพราะกล่าวอาศัยอารมณ์นั้นๆ. คำว่า สุตํ ชื่อว่า อุปนิธาบัญญัติ เพราะกล่าวอ้างอารมณ์ มีอารมณ์ที่เห็นแล้วเป็นต้น.

ก็ในคำทั้ง ๓ นั้น พระเถระแสดงไม่หลงเลือนด้วยคำว่า เอวํ. ความไม่หลงลืมเรื่องที่ฟังมาด้วยคำว่า สุตํ อนึ่ง พระเถระแสดงการใส่ใจโดยแยบคาย ด้วยคำว่า เอวํ เพราะไม่มีการแทงตลอดโดยประการต่างๆ สำหรับผู้ใส่ใจโดยไม่แยบคาย. แสดงความไม่ฟุ้งซ่านด้วยคำว่า สุตํ เพราะไม่มีการฟัง สำหรับผู้มีจิตฟุ้งซ่าน. จริงอย่างนั้น บุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่าน แม้ท่านจะกล่าว ครบถ้วนทุกอย่าง ก็จะกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ยิน โปรดพูดซ้ำสิ. ก็ในข้อนี้

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 141

บุคคลจะให้สำเร็จการตั้งตนไว้ชอบและความเป็นผู้ทำบุญไว้ก่อน ก็ด้วยการใส่ใจโดยแยบคาย จะให้สำเร็จการฟังธรรมของสัตบุรุษ และการพึ่งพาอาศัยสัตบุรุษ ก็ด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน ก็พระเถระแสดงความถึงพร้อมด้วยจักรธรรม ๒ ข้อหลังของตนด้วยอาการอันงาม ด้วยบทว่า เอวํ นี้ แสดงความถึงพร้อมด้วยจักรธรรม ๒ ข้อต้น ด้วยความเพียรฟัง ด้วยบทว่า สุตํ อนึ่ง พระเถระแสดงความบริสุทธิ์แห่งอัธยาศัย และความบริสุทธิ์แห่งความเพียรอย่างนั้น คือ แสดงความฉลาดในอธิคมด้วยความบริสุทธิ์แห่งอัธยาศัย ทั้งแสดงความ ฉลาดในปริยัติ ด้วยความบริสุทธิ์แห่งความเพียร.

อนึ่ง พระเถระแสดงความถึงพร้อมด้วยอรรถปฏิสัมภิทาและปฏิภาณปฏิสัมภิทาของตน ด้วยถ้อยคำอันแสดงปฏิเวธมีประการต่างๆ ด้วยคำว่า เอวํ นี้ แสดงความถึงพร้อมด้วยธรรมปฏิสัมภิทาและนิรุตติปฏิสัมภิทา ด้วยถ้อยคำอันแสดงปฏิเวธอันต่างด้วยข้อที่ควรฟัง ด้วยคำว่า สุตํ นี้ อนึ่งพระเถระเมื่อกล่าวคำที่แสดงถึงความใส่ใจโดยแยบคายนี้ ก็ประกาศให้เขารู้ว่า ธรรมเหล่านี้ ข้าพเจ้าเพ่งด้วยใจแล้วรู้ทะลุปรุโปร่งแล้วด้วยทิฏฐิ ด้วยคำว่า เอวํ เมื่อกล่าวคำอันแสดงถึงความเพียรฟังนี้ ก็ประกาศให้เขารู้ว่า ธรรมเป็นอันมากข้าพเจ้าฟังแล้วทรงจำแล้ว คล่องปากแล้ว ด้วยคำว่า สุตํ เมื่อแสดงความบริบูรณ์แห่งอรรถะและพยัญชนะให้เกิดความเอื้อเฟื้อที่จะฟัง แม้ด้วยคำทั้งสองนี้.

อนึ่ง ท่านพระอานนท์ไม่ตั้งธรรมที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว เพื่อตน ล่วงเสียซึ่งภูมิของอสัตบุรุษ เมื่อปฏิญาณความเป็นพระสาวก จึงก้าวลงสู่ภูมิของสัตบุรุษ ด้วยคำแม้ทั้งสิ้น ว่า เอวํ เม สุตํ นี้. อนึ่ง พระเถระ ชื่อว่า ยกจิตขึ้นจากอสัทธรรม ตั้งจิตไว้ในพระสัทธรรม. อนึ่งเมื่อแสดงว่า พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ข้าพเจ้า

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 142

ฟังมาแล้วอย่างสิ้นเชิง ชื่อว่า เปลื้องตน อ้างพระศาสดา แนบสนิทพระพุทธดำรัส ตั้งแบบแผนธรรมไว้.

อนึ่งเล่า พระเถระไม่ยอมรับความที่คำว่า เอวํ เม สุตํ ตนทำให้เกิดขึ้น เมื่อเปิดการฟังมาก่อนใคร จึงควรทราบว่า ท่านชื่อว่าทำลายความไม่เชื่อ ทำให้เกิดสัทธาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยความเชื่อในพระธรรมนี้แก่มวลเทวดาและมนุษย์ว่า พระดำรัสนี้ ข้าพเจ้ารับมาต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้แกล้วกล้าด้วยจตุเวสารัชชญาณ ผู้ทรงทศพล ผู้ดำรงอยู่ในตำแหน่งสูงสุด ผู้บันลือสีหนาท ผู้ทรงเป็นยอดของสรรพสัตว์ ทรงเป็นใหญ่ในธรรม ทรงเป็นราชาแห่งธรรม อธิบดีแห่งธรรม ทรงมีธรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทรงหมุนจักรอันประเสริฐ คือ สัทธรรม ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะตรัสรู้ชอบลำพังพระองค์ ในบทดำรัสนั้นไม่ควรทำความสงสัยเคลือบแคลงในอรรถหรือธรรม บทหรือพยัญชนะเลย. ก็ในข้อนี้มีคำกล่าวว่า

วินาสยติ อสทฺธิยํ สทฺธํ วฑฺเฒติ สาสเน เอวมฺเม สุตมิจฺเจวํ วทํ โคตมสาวโก.

ท่านพระอานนท์ สาวกของพระโคดมพุทธเจ้า เมื่อกล่าวคำว่า เอวมฺเม สุตํ ชื่อว่าทำลายอสัทธิยะ ความไม่เชื่อ เพิ่มพูนศรัทธาความเชื่อในพระศาสนา.

แก้อรรถบท เอกํ และ สมยํ

ศัพท์ว่า เอกํ แสดงการกำหนดจำนวน. ศัพท์ว่า สมยํ แสดงกาลที่กำหนด. สองคำว่า เอกํ สมยํ แสดงกาลไม่แน่นอน ในคำนั้น สมย ศัพท์ มีความว่า พร้อมเพรียง ขณะ กาล ประชุม เหตุ ลัทธิ ได้เฉพาะ ละ และแทงตลอด.

 
  ข้อความที่ 27  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 143

จริงอย่างนั้น สมยศัพท์นั้น มีความว่าพร้อมเพรียงได้ในประโยคมี เป็นต้นว่า อปฺเปว นาม เสฺวปิ อุปสงฺกเมยฺยาม กาลญฺจ สมยญฺจ อุปาทาย ถ้ากระไร เราทั้งหลายกำหนดกาลและความพร้อมเพรียง พึงเข้าไปหาแม้ในวันพรุ่งนี้

มีความว่า ขณะ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า เอโก ว โข ภิกฺขเว ขโณ จ สมโย จ พฺรหฺมจริยวาสาย ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย โอกาสและขณะ เพื่อกาลอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ มีอย่างเดียวแล.

มีความว่า กาล ได้ในประโยคเป็นต้นว่า อุณฺหสมโย ปริฬาหสมโย กาลร้อน กาลกระวนกระวาย.

มีความว่า ประชุม ได้ในประโยคเป็นต้นว่า มหาสมโย ปวนสฺมิ การประชุมใหญ่ในป่าใหญ่.

มีความว่า เหตุ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า สมโยปิ โข เต ภทฺทาลิ อปฺปฏิวิทฺโธ อโหสิ, ภควา โข สาวตฺถิยํ วิหรติ, โสปิ มํ ชานิสฺสติ ภทฺทาลิ นาม ภิกฺขุ สตฺถุสาสเน สิกฺขาย อปริปูรการีติ อยมฺปิ โข เต ภทฺทาลิ สมโย อปฺปฏิวิทฺโธ อโหสิ. ดูก่อน ภัททาลิ เธอก็ไม่รู้ตลอดถึงเหตุว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่กรุงสาวัตถี แม้พระองค์ก็จักทรงทราบตัวเราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิไม่ทำสิกขาให้บริบูรณ์ในคำสอนของของพระศาสดา ดูก่อนภัททาลิ เธอไม่รู้ตลอดถึงเหตุแม้นี้แล.

มีความว่าลัทธิ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า เตน โข ปน สมเยน อุคฺคหมาโน ปริพฺพาชโก สมณมุณฺฑิกาปุตฺโต สมยปฺปวาทเก ตินฺทุกาจีเร เอกสาลเก มลฺลิกาย อาราเม ปฏิวสติ. สมัยนั้น ปริพาชก ชื่อ อุคคาหมานะ บุตรของ นางสมณมุณฑิกา อาศัยอยู่ในอารามของพระนางมัลลิกา ซึ่งมีศาลาหลังเดียว มีต้นมะพลับเรียงรายอยู่รอบ เป็นสถานที่สอนลัทธิ

 
  ข้อความที่ 28  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 144

มีความว่า ได้เฉพาะ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า

ทิฏฺเ ธมฺเม จ โย อตฺโถ โย จตฺโถ สมฺปรายิโก อตฺถาภิสมยา ธีโร ปณฺฑิโตติ ปวุจฺจติ.

ผู้มีปัญญา ท่านเรียกว่า บัณฑิต เพราะได้เฉพาะ ประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในภายภาคหน้า.

มีความว่า ละ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า สมฺมา มานาภิสมยา อนฺตมกาสิ ทุกฺขสฺส ทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะ ละ มานะได้โดยชอบ.

มีความว่า แทงตลอด ได้ในประโยคเป็นต้นว่า ทุกฺขสฺส ปิฬนฏฺโ สงฺขตฏฺโ สนฺตาปฏฺโ วิปริณามฏฺโ อภิสมยฏฺโ มีความว่า บีบคั้นปรุงแต่ง เร่าร้อน แปรปรวน แทงตลอด.

แต่ในที่นี้ สมยศัพท์นั้น มีความว่า กาล. ด้วยเหตุนั้นพระเถระจึงแสดงว่า เอกํ สมยํ สมัยหนึ่ง บรรดาสมัยทั้งหลาย ที่เรียกว่ากาล เป็นต้นว่า ปี ฤดู เดือน ครึ่งเดือน คืน วัน เช้า กลางวัน เย็น ยามต้น ยามกลาง ยามท้าย และครู่.

ท่านอธิบายว่า สมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ใด ที่เรียกว่ากาลมีมาก ซึ่งปรากฏอย่างยิ่งในหมู่เทวดาและมนุษย์ เป็นต้นอย่างนี้คือ สมัยเสด็จลงสู่พระครรภ์ สมัยประสูติ สมัยทรงสังเวช สมัยเสด็จออกทรงผนวช สมัยทรงทำทุกกรกิริยา สมัยทรงชนะมาร สมัยตรัสรู้ สมัยประทับอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน สมัยเทศนา สมัยปรินิพพาน บรรดาสมัยเหล่านั้น พระเถระแสดงสมัยหนึ่ง กล่าวคือสมัยเทศนา.

ท่านอธิบายว่า บรรดาสมัยทรงทำกิจด้วยพระญาณ และทรงทำกิจด้วยพระกรุณา สมัยทรงทำกิจด้วยพระกรุณานี้ใด บรรดาสมัยทรงปฏิบัติเพื่อ

 
  ข้อความที่ 29  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 145

เพื่อประโยชน์ส่วนผู้อื่นนี้ใด บรรดาสมัยทรงปฏิบัติกรณียกิจทั้งสอง แก่บริษัทที่ประชุมกัน สมัยทรงกล่าวธรรมีกถานี้ใด บรรดาสมัยเทศนาและปฏิบัติ สมัยเทศนานี้ใด บรรดาสมัยแม้เหล่านั้น พระเถระแสดงว่า เอกํ สมยํ สมัยหนึ่ง หมายเอาสมัยใดสมัยหนึ่ง.

ในข้อนี้ ผู้ทักท้วงกล่าวว่า ก็เพราะเหตุไร ในพระสูตรนี้ ท่านจึงทำนิเทศเป็นทุติยาวิภัตติ ไม่ทำเหมือนในอภิธรรม ที่ทำนิเทศเป็นสัตตมีวิภัตติว่า ยสฺมึ สหเย กามาวจรํ และในสุตตบทอื่นนอกจากอภิธรรมนี้ว่า ยสฺมึ สมเย ภิกฺขเว ภิกฺขุ วิวิจฺเจว กาเมหิ และเหมือนในวินัย ที่ทำนิเทศเป็นตติยาวิภัตติว่า เตน สมเยน พุทฺโธ ภควา. ขอกล่าวชี้แจงดังนี้ เพราะในพระอภิธรรมและพระวินัยนั้น สมยศัพท์มีอรรถเป็นอย่างนั้น ส่วนในพระสูตรนี้มีอรรถเป็นอย่างอื่น. ความจริงบรรดาปิฎกทั้งสามนั้น ในอภิธรรมปิฎก สมยศัพท์มีอรรถว่ากำหนดภาวะ. จริงอยู่ อธิกรณะ ก็คือสมัยศัพท์ที่มีความว่า กาล และมีความว่าประชุม และภาวะแห่งธรรมมีผัสสะเป็นต้นนั้นกำหนดได้ด้วยภาวะแห่งสมัยคือขณะ ความพร้อมเพรียงและเหตุแห่งธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้น ที่กล่าวแล้วในอภิธรรมปิฎกและสุตตบทอื่นนั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงทำนิเทศเป็นสัตตมีวิภัตติ ในอภิธรรมปิฎกนั้น เพื่อส่องความนั้น.

ส่วนในวินัยปิฎก สมยศัพท์ มีความว่าเหตุและมีความว่า กรณะ. จริงอยู่ สมัยทรงบัญญัติสิกขาบทนั้นใด แม้พระเถระมีพระสารีบุตรเป็นต้น ยังรู้ได้โดยยาก โดยสมัยนั้นอันเป็นเหตุ และเป็นกรณะ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงบัญญัติสิกขาบททั้งหลาย ก็ทรงเพ่งถึงเหตุแห่งการบัญญัติสิกขาบทจึงประทับอยู่ ณ สถานที่นั้นๆ เพราะฉะนั้น ท่านจึงทำนิเทศเป็นตติยาวิภัตติไว้ในวินัยปิฎกนั้น เพื่อส่องความนั้น.

 
  ข้อความที่ 30  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 146

ส่วนในสูตรนี้ และในปาฐะแห่งสุตตันตปิฎก ซึ่งมีกำเนิดอย่างนี้อื่นๆ สมยศัพท์มีอรรถว่า อัจจันตสังโยค คือทุติยาวิภัตติ ที่แปลว่าตลอด. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสูตรนี้หรือสูตรอื่น ตลอดสมัยใด ก็ประทับอยู่ด้วยพระกรุณาวิหารตลอดไปคือตลอดสมัยนั้น เพราะฉะนั้น สมย ศัพท์จึงควรทราบว่า ท่านทำนิเทศเป็นทุติยาวิภัตติไว้ในสูตรนี้ ก็เพื่อส่องความนั้น. ในข้อนี้ มีคำกล่าวว่า

ตํ ตํ อตฺถมเปกฺขิตฺวา ภุมฺเมน กรเณน จ อญฺตฺร สมโย วุตฺโต อุปโยเคน โส อิธ.

ท่านพิจารณาอรรถนั้นๆ กล่าวสมยศัพท์ในปิฎกอื่นด้วยสัตตมีวิภัตติและด้วยตติยาวิภัตติ แต่ในสุตตันตปิฎกนี้ สมยศัพท์นั้น ท่านกล่าวด้วยทุติยาวิภัตติ.

แก้อรรถบท ภควา

คำว่า ภควา นี้เป็นคำเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ผู้วิเศษโดยพระคุณ เป็นยอดของสัตว์ เป็นครูและควรเคารพเหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า

ภควาติ วจนํ เสฏฺํ ภควาติ วจนมุตฺตมํ ครุคารวยุตฺโต โส ภควา เตน วุจฺจติ.

คำว่า ภควา เป็นคำประเสริฐสุด คำว่า ภควา เป็น คำสูงสุด พระองค์ทรงเป็นครู และควรแก่ความเคารพ ด้วยเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกว่า ภควา.

ความจริง นามคือชื่อมี ๔ คือ อาวัตถิกะ ชื่อตามรุ่น ลิงคิกะชื่อตามเพศ เนมิตตกะ. ชื่อตามคุณ อธิจจสมุปปันนะ ชื่อตั้งลอยๆ. ชื่อว่าอธิจจสมุปปันนนาม ท่านอธิบายว่า เป็นนามที่ตั้งตามความพอใจ. ในนามทั้ง ๔ นั้น นามเป็นต้น

 
  ข้อความที่ 31  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 147

อย่างนี้ว่า โคลูก โคฝึก โคงาน ชื่อว่า อาวัตถิกนาม. นามเป็นต้นอย่างนี้ว่า คนมีไม้เท้า [คนแก่] คนมีฉัตร [พระราชา] สัตว์มีหงอน [นกยูง] สัตว์มีงวง [ช้าง] ชื่อว่าลิงคิกนาม. นามเป็นต้นอย่างนี้ว่า ผู้มีวิชชา ๓ ผู้มีอภิญญา ๖ ชื่อว่า เนมิตตกนาม. นามเป็นต้นอย่างนี้ว่า ผู้เจริญด้วยสิริ ผู้เจริญด้วยทรัพย์ ซึ่งเป็นไปไม่เพ่งความของคำ ชื่อว่า อธิจจสมุปปันนนาม. ส่วนนามว่าภควานี้ เป็นเนมิตตกนามโดยพระคุณ ไม่ใช่พระนางเจ้ามหามายา พุทธมารดาตั้ง ไม่ใช่พระเจ้าสุทโธนมหาราช พุทธบิดาตั้ง ไม่ใช่พระประยูรญาติ ๘๔,๐๐๐ พระองค์ตั้ง ไม่ใช่เทวดาพิเศษมีท้าวสักกะ ท้าวสันดุสิตเป็นต้นตั้ง เหมือนอย่างที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวไว้ว่า พระนามว่า ภควา นี้พระพุทธมารดามิได้ตั้ง ฯลฯ พระนามคือภควา เป็นสัจฉิกาบัญญัติ. เพื่อประกาศพระคุณทั้งหลาย ที่เป็นคุณเนมิตตกนาม พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคาถานี้ว่า

ภคี ภชี ภาคี วิภตฺตวา อิติ อกาสิ ภคฺคนฺติ ครูติ ภาคฺยวา พหูหิ าเยหิ สุภาวิตตฺตโน ภวนฺตโค โส ภควาติ วุจฺจติ.

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงพระนามว่า ภควา เพราะทรงเป็นผู้มีภคะคือโชค เพราะทรงเป็นผู้เสพ [ที่สงัด] เพราะทรงมีภาค [ส่วนที่ควรได้รับจตุปัจจัย หรือมีส่วนแห่งธรรม] เพราะทรงเป็นผู้จำแนกธรรม เพราะได้ทรงทำการหักบาปธรรม เพราะทรงเป็นครู เพราะทรงมีภาคยะคือบุญ เพราะทรงอบรมพระองค์ดีแล้วด้วยญายธรรมเป็นอันมาก เพราะเป็นผู้ถึงที่สุดภพ.

 
  ข้อความที่ 32  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 148

ก็ความแห่งพระคุณบทว่า ภควา นั้น พึงเห็นตามนัยที่กล่าวไว้แล้ว ในนิเทศเป็นต้นนั่นแล.

อนึ่ง ปริยายอื่นอีก มีดังนี้

ภาคฺยวา ภคฺควา ยุตฺโต ภเคหิ จ วิภตฺตวา ภตฺตวา วนฺตคมโน ภเวสุ ภควา ตโต.

พระองค์ทรงมีบุญ ทรงหักกิเลส ทรงประกอบด้วยภคธรรม ทรงจำแนกธรรม ทรงเสพธรรม ทรงคายกิเลสเป็นเหตุไปในภพทั้งหลายได้แล้ว เพราะฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า ภควา.

ในบทเหล่านั้น พึงทราบว่า ท่านถือลักษณะแห่งนิรุตติศาสตร์อย่างนี้ว่า ลงอักษรใหม่ ย้ายอักษร เป็นต้น หรือถือลักษณะการรวมเข้าในชุดศัพท์มี ปิโสทรศัพท์ เป็นต้น ตามนัยแห่งศัพทศาสตร์ เมื่อน่าจะเรียกว่า พระภาคยวา เพราะพระองค์มีภาคยะคือบุญบารมีมีทานและศีลเป็นต้น อย่างเยี่ยม อันให้เกิดความสุขทั้งโลกิยะและโลกุตระ แต่ก็เรียกเสียว่า ภควา.

อนึ่ง เพราะเหตุที่พระองค์ทรงหักรานกิเลส อันทำความกระวนกระวายเร่าร้อนนับแสนประเภท คือประเภทโลภะ โทสะ โมหะ ประเภทวิปริต. มนสิการ ประเภทอหิริกะ อโนตตัปปะ ประเภทโกธะ อุปนาหะ ประเภทมักขะ ปลาสะ ประเภทอิสสา มัจฉริยะ ประเภทมายาสาเถยยะ ประเภทถัมภะ สารัมภะ ประเภทมานะ อติมานะ ประเภทมทะ ปมาทะ ประเภท ตัณหา อวิชชา. ประเภท อกุศลมูล ๓ ทุจริต ๓ สังกิเลส ๓ มละ ๓ วิสมะ ๓ สัญญา ๓ วิตก ๓ ปปัญจธรรม ๓. ประเภทวิปริเยสะ ๔ อาสวะ ๔ คันถะ ๔ โอฆะ ๔ โยคะ ๔ อคติ ๔ ตัณหุปปาทะ ๔. ประเภทเจโตขีละ ๕ วินิพันธะ ๕ นีวรณะ ๕

 
  ข้อความที่ 33  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 149

อภินันทนะ ๕ ประเภทวิวาทมูล ๖ ตัณหากายะ ๖ ประเภทอนุสัย ๗ ประเภทมิจฉัตตะ ๘ ประเภทตัณหามูลกะ ๙ ประเภทอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประเภททิฏฐิคตะ ๖๒ ประเภทตัณหาวิจริต ๑๐๘ หรือว่าโดยสังเขป คือมาร ๕ คือ กิเลสมาร ขันธมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร และเทวปุตตมาร ฉะนั้น เมื่อน่าจะเรียกว่า ภัคควา ก็เรียกเสียว่า ภควา เพราะทรงหักรานอันตรายเหล่านั้นเสียได้ ในข้อนี้ ท่านกล่าวไว้ว่า

ภคฺคราโค ภคฺคโทโส ภคฺคโมโห อนาสโว ภคฺคาสฺส ปาปกา ธมฺมา ภควา เตน วุจฺจติ.

ทรงหักราคะ หักโทสะ หักโมหะ ไม่มีอาสวะ ทรงทักบาปธรรมได้แล้ว ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่าภควา.

ก็แลความถึงพร้อมแห่งพระรูปกายของพระองค์ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระบุญลักษณะนับร้อย เป็นอันท่านแสดงด้วยความที่ทรงมีภาคยะคือบุญ ความถึงพร้อมแห่งพระธรรมกาย เป็นอันท่านแสดงด้วยความที่ทรงหักโทสะได้แล้ว. ความเป็นผู้ที่ชาวโลกและคนใกล้เคียงนับถือมากก็ดี ความเป็นผู้ที่คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลายไปมาหาสู่ก็ดี ความเป็นผู้สามารถในอันช่วยขจัดทุกข์กายและทุกข์ใจ แก่ผู้ไปมาหาสู่ก็ดี ความเป็นผู้ทำอุปการะเขาด้วยอามิสทานและธรรมทานก็ดี ความเป็นผู้สามารถในอันประกอบเขาไว้ด้วยโลกิยสุขและโลกุตตรสุขก็ดีเป็นอันท่านแสดงด้วยพระคุณสองอย่างนั้น.

อนึ่ง เพราะเหตุที่ ภค ศัพท์ในโลก เป็นไปในธรรม ๖ คือ อิสริยะ ธรรมะ ยสะ สิริ กามะ ปยัตตะ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีอิสริยะความเป็นใหญ่ในจิตของพระองค์เองอย่างเยี่ยม หรือทรงมีอิสริยะบริบูรณ์โดยอาการทุกอย่างที่สมมติว่าเป็นโลกิยะ มีอณิมา ทำตัวให้เล็ก [ย่อส่วน] ลังฆิมาทำตัวให้เบา [เหาะ] ทรงมีโลกุตรธรรมก็เหมือนกัน ทรงมี

 
  ข้อความที่ 34  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 150

ยศบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ที่ทรงได้โดยพระคุณตามเป็นจริง ปรากฏทั่วสามโลก ทรง มีพระสิริสง่างามทั่วสรรพางค์ บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง ทรงสามารถให้เกิดขวัญตาขวัญใจแก่ผู้ขวนขวายเข้าชมพระรูปพระโฉมได้ ทรงมีพระกามะ อันหมายถึงความสำเร็จแห่งประโยชน์ที่ทรงประสงค์ เพราะประโยชน์ใดๆ ที่ทรงประสงค์แล้ว ปรารถนาแล้ว จะเป็นประโยชน์ ตนก็ตาม ประโยชน์ผู้อื่นก็ตาม ประโยชน์นั้นๆ ก็สำเร็จสมพระประสงค์ทั้งนั้น และทรงมีพระปยัตตะ กล่าวคือ สัมมาวายามะ อันเป็นเหตุเกิดความเป็นครูของโลกทั้งปวง ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ภควา โดยอรรถนี้ว่าทรงมีภคธรรม เพราะความที่ทรงประกอบด้วยภคธรรมเหล่านี้.

แก้บท วิภตฺตวา

อนึ่ง เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็น วิภตฺตวา ท่านอธิบายว่า ทรงจำแนก เปิดเผย แสดง ซึ่งธรรมทั้งปวงโดยประเภทมีประเภทกุศล เป็นต้น หรือซึ่งธรรมมีกุศลธรรมเป็นต้น โดยประเภทมีขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ อินทรีย์และปฏิจจสมุปบาทเป็นต้น หรือซึ่งทุกขอริยสัจ โดยอรรถคือ ปีฬนะบีบคั้น สังขตะอันปัจจัยปรุงแต่ง สันตาปะแผดเผา วิปริณามะแปรปรวน หรือซึ่งสมุทัยอริยสัจ โดยอรรถคือ อายูหนะ ประมวลทุกข์มา นิทานะเหตุแห่งทุกข์ สังโยคะผูกไว้กับทุกข์ ปลิโพธะหน่วงไว้มิให้ถึงมรรค ซึ่งนิโรธอริยสัจโดยอรรถคือ นิสสรณะออกไปจากทุกข์ วิเวกะสงัดจากทุกข์ อสังขตะอันปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง อมตะเป็นสภาพไม่ตาย ซึ่งมรรคอริยสัจโดยอรรถ คือ นิยยานิกะ นำออกจากทุกข์ เหตุ เหตุแห่งนิโรธ ทัสสนะเห็นพระนิพพาน อธิปไตย ใหญ่ในการเห็นพระนิพพาน ฉะนั้น เมื่อน่าจะเรียก วิภตฺตวา แต่ ก็เรียกเสียว่า ภควา.

 
  ข้อความที่ 35  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 151

แก้บท ภตฺตวา

อนึ่ง เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงคบ ทรงเสพ ทรงทำให้มาก ซึ่งธรรมอันเป็นทิพพวิหาร พรหมวิหารและอริยวิหาร ซึ่งกายวิเวก จิตตวิเวก และอุปธิวิเวก ซึ่งสุญญตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ และ อนิมิตตะวิโมกข์ และซึ่งอุตตริมนุสสธรรมทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระอื่นๆ ฉะนั้น เมื่อน่าที่จะเรียกว่า ภตฺตวา แต่ก็เรียกเสียว่า ภควา

แก้บท ภเวสุ วนฺตคมน

อนึ่งเล่า เพราะเหตุที่การไป กล่าวคือตัณหาในภพทั้ง ๓ อันพระองค์ทรงคายเสียแล้ว ฉะนั้น เมื่อน่าที่จะเรียกว่า ภเวสุ วนฺตคมน แต่ท่านถืออักษรจากภวศัพท์ อักษรจากคมนศัพท์ และอักษรจากวันตศัพท์ แล้วทำให้เป็นทีฆะเสียงยาว เรียกเสียว่า ภควา เหมือนในทางโลก เมื่อน่าจะเรียกเต็มๆ ว่า เมหนสฺส ขสฺส มาลา แต่ปราชญ์ท่าน [ถือเอา เม จาก เมหนสฺส ข จาก ขสฺส ลา จากมาลา] ก็เรียกเสียว่า เมขลา ฉะนั้นแล.

ก็ท่านพระอานนทเถระเมื่อแสดงธรรมตามที่ได้ฟังมา เล่าเรียนมา จึงประกาศพระสรีรธรรม [ตัวธรรม] ของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ประจักษ์ ด้วยคำว่า เอวมฺเม สุตํ ในพระสูตรนี้ ด้วยคำเพียงเท่านี้ ด้วยเหตุนั้น พระเถระจึงปลอบชนผู้มีใจพลุ่งพล่าน เพราะไม่พบพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ปาพจน์ [คือธรรมวินัย] นี้ ชื่อว่ามีศาสดาล่วงแล้ว หามิได้ ธรรมวินัยนี้เป็นศาสดา ของท่านทั้งหลาย.

ด้วยคำว่า เอกํ สมยํ ภควา พระเถระเมื่อแสดงความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มีอยู่ในสมัยนั้น ชื่อว่าแสดงปรินิพพานแห่งพระรูปกาย. ด้วย

 
  ข้อความที่ 36  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 152

คำนั้น พระเถระย่อมยังชนผู้มัวเมา เพราะมัวเมาในชีวิตให้สลดใจ และยังอุตสาหะในธรรมให้เกิดแก่ชนนั้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้พระองค์นั้น ผู้ทรงแสดงอริยธรรมนี้อย่างนั้น ทรงทศพล มีพระกายดุจร่างเพชร ก็ยังเสด็จปรินิพพาน ในข้อนั้น คนอื่นใครเล่าจะพึงให้เกิดความหวังในชีวิตได้.

ก็พระเถระเมื่อกล่าวว่า เอวํ ชื่อว่าแสดงเทศนาสมบัติ ความถึงพร้อมแห่งเทศนา เมื่อกล่าวคำว่า เม สุตํ ชื่อว่าแสดงสาวกสมบัติ ความถึงพร้อมแห่งสาวก. เมื่อกล่าวคำว่า เอกํ สมยํ ชื่อว่าแสดงกาลสมบัติ ความถึงพร้อมแห่งกาล เมื่อกล่าวคำว่า ภควา ชื่อว่าเทสกสมบัติ ความถือพร้อมแห่งผู้แสดง.

แก้บท สาวตฺถิยํ วิหรติ

คำว่า สาวตฺถี ในคำว่า สาวตฺถิยํ วิหรติ นี้ ได้แก่นครอันเป็นสถานที่อยู่ประจำของฤษีชื่อสวัตถะ เหมือนคำว่า กากนฺที มากนฺที ฉะนั้น ดังนั้น ท่านจึงเรียกว่า สาวัตถี เป็นศัพท์อิตถีลิงค์ [เพศหญิง] ปราชญ์ทางอักษรศาสตร์กล่าวกันอย่างนี้. ส่วนพระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า เครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับมนุษย์มีอยู่ทุกสิ่งทุกอย่างในนครนั้น เหตุนั้น นครนั้น จึงชื่อว่า สาวัตถี. แต่ในการประกอบศัพท์ เมื่อถูกถามว่า มีสิ่งของอะไร จึงอาศัยคำว่ามีทุกอย่าง ประกอบว่า สาวัตถี มีของทุกอย่าง.

เครื่องอุปกรณ์ทุกอย่าง มีพร้อมในกรุงสาวัตถีทุกเมื่อ เพราะฉะนั้น หมายถึงของทุกอย่างจึงเรียกว่า สาวัตถี.

ราชธานีแห่งแคว้นโกศล น่ารื่นรมย์ น่าชม น่าชื่นใจ ไม่เงียบจากเสียงทั้ง ๑๐ พรั่งพร้อมด้วยข้าวน้ำ

 
  ข้อความที่ 37  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 153

กรุงสาวัตถีราชธานี ถึงความเจริญไพบูลย์มั่งคั่ง รุ่งเรือง น่าระรื่นใจ ดังกรุงอาฬกมันทาเทพธานีของเหล่าทวยเทพ ฉะนั้น.

ใกล้กรุงสาวัตถีนั้น คำนี้เป็นสัตตมีวิภัตติ ลงในอรรถว่าใกล้.

คำว่า วิหรติ นี้ เป็นคำแสดงความพร้อมด้วยวิหารการอยู่ บรรดาอิริยาบถวิหาร ทิพวิหาร พรหมวิหาร และอริยวิหาร แบบใดแบบทนึ่ง โดยไม่แปลกกัน แต่ในพระสูตรนี้ แสดงความประกอบพร้อมด้วยอิริยาบถวิหาร ในบรรดาอิริยาบถต่างโดยยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถหนึ่ง. ด้วย เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนก็ดี ทรงดำเนินก็ดี ประทับนั่งก็ดี บรรทมก็ดี ก็พึงทราบว่า วิหรติ อยู่ทั้งนั้น. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงตัดความลำบากแห่งอิริยาบถอย่างหนึ่งด้วยอิริยาบถอีกอย่างหนึ่ง [เปลี่ยนอิริยาบถ] ทรงบริหารอัตภาพให้เป็นไปไม่ลำบาก เพราะฉะนั้น จึง เรียกว่า วิหรติ ประทับอยู่.

แก้อรรถบท เชตวเน

พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า เชตวเน นี้ ดังนี้. พระราชกุมารชื่อว่า เชตะ เพราะชนะชนผู้เป็นศัตรูของตน หรือว่า เชตะ เพราะประสูติ เมื่อพระราชาทรงชนะชนผู้เป็นศัตรู หรือว่า ชื่อว่า เชตะ แม้เพราะพระราชา ทรงขนานพระนามอย่างนี้แก่พระราชกุมาร เพราะมีพระราชประสงค์จะให้เป็นมงคล. ที่ชื่อว่า วนะ เพราะให้คบหา อธิบายว่า ให้ทำความภักดีแก่ตน เพราะความถึงพร้อมแห่งตน คือให้เกิดความรักในตน. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วนะ เพราะเรียกร้อง อธิบายว่า ประหนึ่งว่า วอนขอสัตว์ทั้งหลายว่า เชิญมาใช้สอยเราเถิด. วนะของเชตราชกุมาร ชื่อว่า เชตวัน. จริงอยู่ เชตวัน

 
  ข้อความที่ 38  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 154

นั้น อันพระราชกุมารพระนามว่า เชตะ ปลูกสร้างบำรุงรักษา. เชตราชกุมารนั้นเป็นเจ้าของเชตวันนั้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกกันว่าเชตวัน. ในพระเชตวัน นั้น.

แก้อรรถบท อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม

พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม นี้ ดังนี้. คฤหบดีนั้น ชื่อสุทัตตะ โดยบิดามารดาตั้งชื่อให้ อนึ่งท่านได้ให้ก้อนข้าวเป็นทานแก่คนอนาถาเป็นประจำ เพราะท่านเป็นคนปราศจากมลทินคือความตระหนี่ และเพราะเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยคุณ มีกรุณาเป็นต้น เหตุท่านเป็นผู้มั่งคั่งด้วย สมบัติที่น่าปรารถนาทุกอย่าง ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้รับขนานนามว่า อนาถปิณฑิกะ. ประเทศที่ชื่อว่า อาราม เพราะเป็นที่สัตว์ทั้งหลาย หรือโดย เฉพาะอย่างยิ่งบรรพชิตทั้งหลายพากันมาอภิรมย์ อธิบายว่า บรรพชิตทั้งหลายพากันมาจากที่นั้นๆ ยินดีอภิรมย์ อยู่อย่างไม่เบื่อหน่าย เพราะพระเชตวันนั้น งดงามด้วยดอกไม้ ผลไม้ ใบไม้อ่อนเป็นต้น และเพราะถึงพร้อมด้วยองค์ของเสนาสนะ ๕ ประการ มีไม่ไกลเกินไปไม่ใกล้เกินไปเป็นต้น. อีกประการหนึ่ง ชื่อว่าอาราม เพราะนำท่านที่ไปในที่นั้นๆ มาภายในของตนแล้วยินดี เพราะสมบัติดังกล่าวมาแล้ว. จริงอยู่ อารามนั้น อันท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดี ชื้อจากพระหัตถ์ของเชตพระราชกุมาร ด้วยปูเงิน ๑๘ โกฏิ ให้สร้างเสนาสนะ เป็นเงิน ๑๘ โกฏิ เสร็จแล้วฉลองวิหารเป็นเงิน ๑๘ โกฏิ มอบถวายพระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ด้วยบริจาคเงิน ๕๔ โกฏิ อย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกกันว่า อารามของท่านอนาถปิณฑิกะ. ในอารามของ อนาถปิณฑิกะนั้น.

ก็ในคำเหล่านั้น คำว่า เชตวเน ระบุถึงเจ้าของคนก่อน คำว่า อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม ระบุถึงเจ้าของตนหลัง. มีคำทักท้วงว่า ในการ

 
  ข้อความที่ 39  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 155

ระบุถึงพระเชตวันและอารามเหล่านั้น มีประโยชน์อะไร. ขอชี้แจงดังนี้. กล่าวโดยอธิการก่อน ประโยชน์ก็คือเป็นการทำการกำหนด [ตอบ] คำถามที่ว่าตรัสไว้ ณ ที่ไหนอย่างหนึ่ง เป็นการประกอบผู้ที่ต้องการบุญอื่นๆ ไว้ในการถึง [ถือเอา] แบบอย่าง อย่างหนึ่ง. จริงอยู่ ในประโยชน์สองอย่างนั้น ทรัพย์ ๑๘ โกฏิ ที่ได้จากการขายที่ดิน ในการปลูกสร้างปราสาทที่มีประตูและซุ้มและต้น ไม้ทั้งหลายที่มีค่าหลายโกฏิ เป็นการบริจาคของพระเชตราชกุมาร. ทรัพย์ ๕๔ โกฏิ เป็นการบริจาคของท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดี. ด้วยการระบุถึงพระเชตวัน และอารามนั้น ท่านพระอานนท์ เมื่อแสดงว่าผู้ต้องการบุญย่อมทำบุญทั้งหลายอย่างนี้ ก็ย่อมประกอบผู้ต้องการบุญอื่นๆ ไว้ในการถือเอาเป็นแบบอย่างโดยประการใด. การประกอบผู้ต้องการบุญไว้ในการถือเอาแบบอย่าง ก็พึงทราบว่าเป็นประโยชน์ในข้อนี้โดยประการนั้น.

ในข้อนี้ผู้ทักท้วงกล่าวว่า ผิว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ใกล้กรุงสาวัตถีก่อน ท่านพระอานนท์ก็ไม่ควรกล่าวว่า ในพระเชตวัน อารามของท่านอนาถปิณฑิกะ แต่ถ้าประทับอยู่ในพระเชตวันนั้น ก็ไม่ควรกล่าวว่า ใกล้กรุงสาวัตถี. ด้วยว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่อาจประทับอยู่ในสถานที่สองแห่งในเวลาเดียวกันได้. ขอชี้แจงดังนี้ ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้วมิใช่หรือว่า คำว่า สาวตฺถิยํ เป็นสัตตมีวิภัตติลงในอรรถว่าใกล้ เพราะว่า เปรียบเหมือนฝูงโค เที่ยวไปอยู่ใกล้แม่น้ำคงคาและยมุนาเป็นต้น เขาก็เรียกว่า เที่ยวไปใกล้แม่น้ำคงคา เที่ยวไปใกล้แม่น้ำยมุนา ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถปิณฑิกะใกล้กรุงสาวัตถี ก็พึงทราบว่า ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถปิณฑิกะใกล้กรุงสาวัตถี แม้ในพระสูตรนี้ ก็ฉันนั้น. จริงอยู่ คำว่า สาวัตถี ของพระเถระ ก็เพื่อแสดงโคจรคาม คำที่เหลือ ก็เพื่อแสดงสถานที่อยู่ประจำอันเหมาะแก่บรรพชิต.

 
  ข้อความที่ 40  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 156

ในคำทั้งสองนั้น พระเถระแสดงการอนุเคราะห์คฤหัสถ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยการระบุกรุงสาวัตถี แสดงการอนุเคราะห์บรรพชิตด้วยการระบุพระเชตวันเป็นต้น. อีกนัยหนึ่ง แสดงการงดเว้นอัตตกิลมถานุโยค เพราะถือเอาปัจจัย ด้วยคำต้น แสดงอุบายงดเว้นกามสุขัลลิกานุโยค เพราะละวัตถุกามด้วยคำหลัง. อนึ่ง แสดงความพากเพียรในเทศนาด้วยคำต้น แสดงความน้อมไปในวิเวก ด้วยคำหลัง แสดงการเข้าไปด้วยกรุณา ด้วยคำต้น และ แสดงการเข้าไปด้วยปัญญา ด้วยคำหลัง. แสดงความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงน้อมไปในอันจะให้สำเร็จหิตสุขแก่สัตว์ทั้งหลาย ด้วยคำต้น แสดงความที่ทรง ไม่ติดอยู่ในการบำเพ็ญหิตสุขแก่ผู้อื่น ด้วยคำหลัง. แสดงความอยู่ผาสุก อันมีการทรงสละสุขที่ประกอบด้วยธรรมเป็นนิมิต ด้วยคำต้น แสดงการอยู่ผาสุก อันมีการประกอบเนืองๆ ซึ่งอุตตริมนุสสธรรมเป็นนิมิต ด้วยคำหลัง.แสดงความที่ทรงมีอุปการะมากแก่มนุษย์ทั้งหลาย ด้วยคำต้น. แสดงความที่ทรงมีอุปการะมากแก่เทวดาทั้งหลาย ด้วยคำหลัง. แสดงความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอุบัติในโลก เจริญเติบใหญ่ในโลก ด้วยคำต้น แสดงความที่โลกฉาบทา พระองค์ไม่ได้ ด้วยคำหลัง มีอย่างดังกล่าวมานี้เป็นต้น.

คำว่า อถ ใช้ในอรรถว่าไม่ขาดสาย ศัพท์ว่า โข เป็นนิบาต ใช้ในอรรถว่า แสดงเรื่องอื่นๆ ด้วยสองคำนั้น พระเถระแสดงว่า เรื่องอื่นๆ นี้เกิดขึ้นในพระวิหารของพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ขาดสายเลย. เรื่องนั้นคืออะไร คือเรื่องเทวดาองค์หนึ่งเป็นต้น. ศัพท์ว่า อญฺตรา องค์หนึ่ง ในคำว่า อญฺตรา เทวดาองค์หนึ่งนั้น แสดงความไม่แน่นอน. จริงอยู่ เทวดานั้นไม่ปรากฏนามและโคตร เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อญฺตรา. เทวดาก็คือเทพนั่นแล คำว่า อญฺตรา นี้ สาธารณะทั่วไปแก่หญิงและชาย แต่ในที่นี้ผู้ชายเท่านั้น คือเทพบุตร. ก็คำอะไรเล่า เทพบุตรท่านกล่าวว่า เทวดา โดยเป็นสาธารณนาม.

 
  ข้อความที่ 41  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 157

แก้ อภิกฺกนฺตศัพท์

ในคำว่า อภิกฺกนฺตาย รตฺติยา นี้ อภิกกันตศัพท์ใช้ในความทั้งหลาย มี สิ้นไป ดี งาม ยินดียิ่ง เป็นต้น.

ในความเหล่านั้น ใช้ในความว่า สิ้นไป ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ ว่า อภิกฺกนฺตา ภนฺเต รตฺติ, นิกฺขนฺโต ปโม ยาโม จิรนิสินฺโน ภิกฺขุสงฺโฆ อุทฺทิสตุ ภนฺเต ภควา ภิกฺขูนํ ปาฏิโมกฺขํ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีสิ้นไปแล้ว ปฐมยามล่วงไปแล้ว ภิกษุสงฆ์นั่งนานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลายเถิดพระเจ้าข้า.

ใช้ในความว่า ดี ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า อยํ อิเมสํ จตุนฺนํ ปุคฺคลานํ อภิกฺกนฺตตโต จ ปณีตตโร จ นี้ดีกว่า ประณีตกว่า บุคคล ๔ จำพวกนี้.

ใช้ในความว่า งาม ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า

โก เม วนฺทติ ปาทานิ อิทฺธิยา ยสสา ชลํ อภิกฺกนฺเตน วณฺเณน สพฺพา โอภาสยํ ทิสา.

ใครหนอ รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ด้วยยศ มีวรรณะงาม ส่องรัศมีสว่างทั่วทิศ มาไหว้เท้าเรา.

ใช้ในความว่า ยินดียิ่ง ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า อภิกฺกนฺตํ โภ โคตม อภิกฺกนฺตํ โภ โคตม ไพเราะจริง ท่านพระโคดม ไพเราะจริง ท่านพระโคดม.

แต่ในพระสูตรนี้ ใช้ในความว่า สิ้นไป. ท่านอธิบายว่า บทว่า อภิกฺกนฺตาย รตฺติยา แปลว่า เมื่อราตรีสิ้นไปแล้ว.

ในคำว่า อภิกฺกนฺตวณฺณา นี้ อภิกกันตศัพท์ในความว่า งาม. วัณณศัพท์ ใช้ในความว่า ผิว สรรเสริญ พวกตระกูล เหตุ ทรวดทรง ขนาด รูปายตนะ เป็นต้น.

 
  ข้อความที่ 42  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 158

ใช้ในความว่า ผิว ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า สุวณฺณวณฺโณ ภควา พระผู้มีพระภาคเจ้ามี พระฉวี ดังทอง.

ใช้ในความว่า สรรเสริญ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า ดูก่อน คฤหบดี คำสรรเสริญพระสมณโคดมเหล่านั้น ท่านรวบรวมไว้เมื่อไร.

ใช้ในความว่าพวกตระกูล ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า ท่านพระโคดม วรรณะ ๔ เหล่านี้.

ใช้ในความว่าเหตุ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า เกน นุ วณฺเณน คนฺธเถโนติ วุจฺจติ เพราะเหตุอะไรเล่าหนอ จึงมาว่าเราเป็นผู้ขโมยกลิ่น.

ใช้ในความว่า ทรวดทรง ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า มหนฺตํ หตฺถีราชวณฺณํ อภินิมฺมิตฺวา เนรมิตทรวดทรงเป็นพระยาช้าง.

ใช้ในความว่า ขนาด ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า ตโย ปตฺตสฺส วณฺณา ขนาดของบาตรสามขนาด.

ใช้ในความว่า รูปายตนะ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า วณฺโณ คนฺโธ รโส โอชา รูป กลิ่น รส โอชา.

วัณณศัพท์นั้นในสูตรนี้ พึงเห็นว่าใช้ในความว่า ผิว ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงอธิบายว่า บทว่า อภิกฺกนฺตวณฺณา แปลว่า มีวรรณะน่ารัก.

แก้อรรถบท เกวลกปฺปํ

เกวล ศัพท์ในบทว่า เกวลกปฺปํนี้ มีความหมายเป็นอเนก เช่น ไม่มีส่วนเหลือ โดยมาก ไม่ปน [ล้วนๆ ] ไม่มากเกิน มั่นคง ไม่เกาะ เกี่ยว จริงอย่างนั้น เกวลศัพท์นั้นมีความว่าไม่มีส่วนเหลือ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ พรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่มีส่วนเหลือ.

 
  ข้อความที่ 43  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 159

มีความว่า โดยมาก ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า เกวลกปฺปา จ องฺคมคธา ปหูตํ ขาทนียํ โภชนียํ อาทาย อุปสงฺกมิสฺสนฺติ ชาวอังคะและชาวมคธะ ส่วนมาก ถือของเคี้ยว ของกิน เข้าไปเฝ้า.

มีความว่าไม่ปน [ล้วนๆ] ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ ความเกิดแห่งทุกขขันธ์ ล้วนๆ มีอยู่.

มีความว่า ไม่มากเกินได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า เกวลํ สทฺธามตฺตกํ นูน อยมายสฺมา ท่านผู้นี้มีเพียงศรัทธาอย่างเดียว แน่แท้.

มีความว่า มั่นคง ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า อายสฺมโต ภนฺเต อนุรุทฺธสฺส พาหิโย นาม สทฺธิวิหาริโก เกวลกปฺปํ สงฺฆเภทาย ิโต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัทธิวิหาริก ของท่านพระอนุรุทธะ ชื่อว่าพาหิยะ ตั้งอยู่ในสังฆเภท การทำสงฆ์ให้แตกกัน ตลอดกัป มั่นคง.

มีความว่า ไม่เกาะเกี่ยว ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า เกวลี วุสิตฺวา อุตฺตมปุริโสติ วุจฺจติ ผู้ไม่เกาะเกี่ยวอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ท่านเรียกว่า บุรุษสูงสุด.

แต่ในสูตรนี้ เกวลศัพท์นั้น ท่านประสงค์เอาความว่า ไม่มีส่วนเหลือ.

ส่วนกัปปศัพท์ มีความหมายมากเป็นต้นว่า ความเชื่อมั่น โวหาร กาล บัญญัติ ตัดแต่ง วิกัปป์ เลศ และโดยรอบ.

จริงอย่างนั้น กัปปศัพท์นั้น มีความว่าเชื่อมั่น ได้ในประโยคเป็นต้น อย่างนี้ว่า โอกปฺปนียเมตํ โภโต โคตมสฺส ยถา ตํ อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส นั่นเป็นความเชื่อมั่นต่อท่านพระโคดม เหมือนอย่าง เชื่อมั่น ต่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.

 
  ข้อความที่ 44  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 160

มีความว่า โวหาร ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว ปญฺจหิ สมณกปฺเปหิ ผลํ ปริภุญฺชิตุํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตฉันผลไม้ด้วยสมณโวหาร ๔ ประการ.

มีความว่า กาล ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า เยน สุทํ นิจฺจ กปฺปํ วิหรามิ ได้ยินว่า เราจะอยู่ตลอดกาล เป็นนิตย์ ด้วยธรรมใด.

มีความว่า บัญญัติ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า อิจฺจายสฺมา กปฺโป ท่าน กัปปะ อย่างนี้.

มีความว่า ตัดแต่ง ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า อลงฺกโต กปฺปิตเกสมสฺสุ แต่งตัว แต่งผมและหนวด.

มีความว่าควร ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า กปฺปติ ทฺวงฺคุลกปฺโป ภิกษุไว้ผมสององคุลีย่อมควร.

มีความว่า เลศ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า อตฺถิ กปฺโป นิปชฺชิตุํ ทำเลศเพื่อจะนอนมีอยู่.

มีความว่า โดยรอบ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า เกวลกปฺปํ เวฬุวนํ โอภาเสตฺวา ส่องรัศมี รอบๆ พระเวฬุวัน.

แต่ในสูตรนี้ กัปปศัพท์นั้น ท่านประสงค์เอาความว่า โดยรอบ โดยประการที่ในคำว่า เกวลกปฺปํ เชตวกนํ นี้ ควรจะทราบความอย่างนี้ว่า ส่องรัศมีตลอดพระเชตวัน โดยรอบไม่เหลือเลย.

บทว่า โอภาเสตฺวา ได้แก่ แผ่ด้วยรัศมี. อธิบายว่า ทำรัศมีเป็นอันเดียวกัน รุ่งโรจน์อย่างเดียวกัน เหมือนพระจันทร์และเหมือนพระอาทิตย์

คำว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ เป็นตติยาวิภัตติลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัติ โดยประการที่พึงเห็นความในคำนี้ อย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า

 
  ข้อความที่ 45  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 161

ประทับ อยู่ ณ ที่ใด เทพบุตรก็เข้าไปเฝ้า ณ ที่นั้น. หรือพึงเห็นความในคำนี้อย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า อันเทวดาและมนุษย์พึงเข้าไปเฝ้า โดยเหตุใดเทพบุตรก็เข้าไปเฝ้าโดยเหตุนั้นนั่นแหละ. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า อันเทวดา และมนุษย์พากันเข้าไปเฝ้า ด้วยเหตุอะไร. ด้วยประสงค์จะบรรลุคุณวิเศษมีประการต่างๆ เหมือนต้นไม้ใหญ่ที่ออกผลอยู่เป็นนิจ อันฝูงนกพากันเข้าไป ก็ด้วยประสงค์จะบริโภคผลไม้ซึ่งมีรสอร่อย ฉะนั้น. ท่านอธิบายว่า บทว่า อุปสงฺกมิ แปลว่าไปแล้ว. คำว่า อุปสงฺกมิตฺวา เป็นคำกล่าวถึงสุดท้ายแห่งการเข้าไปเฝ้า. อีกอย่างหนึ่ง ท่านอธิบายว่า เทวดาไปอย่างนั้นแล้ว ต่อนั้นก็ไปยังสถานที่ต่อจากอาสนะ กล่าวคือที่ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า. บทว่า ภควนฺตํ อภิวาเทตฺวา ได้แก่ ถวายบังคม น้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า.

ศัพท์ว่า เอกมนฺตํ เป็นศัพท์นิเทศทำเป็น ภาวนปุํสกลิงค์. ท่าน อธิบายว่า โอกาสหนึ่ง ส่วนข้างหนึ่ง. อีกนัยหนึ่ง คำนี้เป็นทุติยาวิภัตติ ลงในอรรถสัตตมีวิภัตติ. ศัพท์ว่า อฏฺาสิ ปฎิเสธอิริยาบถนั่งเป็นต้น อธิบายว่า สำเร็จการยืน คือได้ยืนแล้ว.

ถามว่า ก็เทวดานั้นยืนอย่างไร จึงชื่อว่าได้เป็นผู้ยืนอยู่ ส่วนข้างหนึ่ง.

ตอบว่า ท่านโปราณาจารย์กล่าวว่า

น ปจฺฉโต น ปุรโต นาปิ อาสนฺนทูรโต น กจฺเฉ โนปิ ปฏิวาเต น จาปิ โอณตุณฺณเต อิเม โทเส วิวชฺเชตฺวา เอกมนฺตํ ิตา อหุ.

 
  ข้อความที่ 46  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 162

ไม่ยืนข้างหลัง ไม่ยืนข้างหน้า ไม่ยืนใกล้และไกล ไม่ยืนที่ชื้นแฉะ ไม่ยืนเหนือลม ไม่ยืนที่ต่ำและที่สูง ยืนเว้นโทษเหล่านี้ ชื่อว่ายืน ณ ส่วนข้างหนึ่ง ดังนี้.

ถามว่า เพราะเหตุไร เทวดาองค์นี้ จึงยืนอย่างเดียวไม่นั่ง.

ตอบว่า เพราะเทวดาประสงค์จะกลับเร็ว. จริงอยู่ เทวดาทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์บางอย่าง จึงมาสู่มนุษย์โลก เหมือนบุรุษผู้สะอาด มาเข้าส้วม. ก็โดยปกติ มนุษยโลก ย่อมเป็นของปฏิกูล เพราะเป็นของเหม็น สำหรับเทวดาเหล่านั้น นับแต่ร้อยโยชน์ เทวดาทั้งหลาย ไม่อภิรมย์ในมนุษยโลกนั้นเลย ด้วยเหตุนั้น เทวดาองค์นั้นจึงไม่นั่ง เพราะประสงค์จะทำกิจที่มาแล้วรีบกลับไป. ก็มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมนั่งก็เพื่อบรรเทาความลำบากแห่งอิริยาบถมีเดินเป็นต้นอันใด ความลำบากอันนั้นสำหรับเทวดาไม่มี เพราะฉะนั้น เทวดาจึงไม่นั่ง.

อนึ่ง พระมหาสาวกเหล่าใด ยืนแวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงนับถือตอบพระมหาสาวกเหล่านั้น [คือประทับยืน] แม้เพราะเหตุนั้น เทวดาจึงไม่นั่ง.

อนึ่ง เทวดาไม่นั่งก็เพราะเคารพในพระผู้มีพระภาคเจ้า. จริงอยู่ที่นั่งย่อมบังเกิดแก่เทวดาทั้งหลายผู้ประสงค์จะนั่ง เทวดาองค์นี้ไม่ปรารถนาที่นั่งนั้น ไม่คิดแม้แต่จะนั่ง จึงได้ยืน ณ ส่วนข้างหนึ่ง.

บทว่า เอกมนฺตํ ิตา โข สา เทวตา ความว่า เทวดาองค์นั้น ยืน ณ ส่วนข้างหนึ่ง ด้วยเหตุเหล่านั้นอย่างนี้แล้ว. บทว่า ภควนฺตํ คาถาย อชฺฌภาสิ ความว่า ได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคำร้อยกรอง

 
  ข้อความที่ 47  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 163

อันกำหนดด้วยอักขระบท. ว่าอย่างไร. ว่าอย่างนี้ว่า พหู เทวา มนุสฺสา จ ฯเปฯ พฺรูหิ มงฺคลมุตฺตมํ.

เรื่องมูลเหตุเกิดมงคลปัญหา

ในการพรรณนามงคลสูตรนั้น เพราะเหตุที่ข้าพเจ้าตั้งมาติกาหัวข้อไว้ว่า เมื่อจะพรรณนาความแห่งปาฐะมีอาทิว่า เอวํ โดยประการต่างๆ จะกล่าวถึงสมุฏฐานมูลเหตุ ดังนี้ นี้เป็นโอกาสที่จะกล่าวถึงสมุฏฐานมูลเหตุนั้น ฉะนั้น จะกล่าวถึงสมุฏฐานมูลเหตุเกิดมงคลปัญหาเสียก่อนแล้วภายหลัง จึงจักพรรณนาความแห่งบทคาถาเหล่านี้.

เล่ากันมาว่า ในชมพูทวีป มหาชนชุมนุมกันในที่นั้นๆ เช่นใกล้ประตูเมือง สภาแห่งสถานราชการเป็นต้น มอบทรัพย์สินเงินทอง ให้เขาเล่าเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องนำนางสีดามาเป็นต้น. เรื่องหนึ่งๆ เล่าอยู่ถึง ๔ เดือนจึงจบ ในสถานที่นั้น วันหนึ่ง เรื่องมงคลปัญหาก็เกิดขึ้นว่า อะไรเล่าหนอ เป็นมงคล. สิ่งที่เห็นหรือเป็นมงคล เรื่องที่ได้ยินหรือเป็นมงคล หรือเรื่องที่ทราบเป็นมงคล ใครหนอรู้จักมงคล ดังนี้.

ครั้งนั้น บุรุษผู้หนึ่ง ชื่อทิฏฐมังคลิกะ [นับถือสิ่งที่เห็นเป็นมงคล] กล่าวว่า ข้าพเจ้ารู้จักมงคล. สิ่งที่เห็นเป็นมงคลในโลก รูปที่สมมติกันว่าเป็นมงคลยิ่ง ชื่อว่าทิฏฐะ. รูปอย่างไรเล่า. คนบางคนในโลกนี้ ตื่นแต่เช้าเห็นนกกระเต็นบ้าง เห็นต้นมะตูมรุ่นบ้าง เห็นหญิงมีครรภ์บ้าง เห็นเด็กรุ่นหนุ่ม ตกแต่งประดับกาย เทินหม้อเต็มน้ำบ้าง ปลาตะเพียนแดงสดบ้าง ม้า อาชาไนยบ้าง รถเทียมม้าบ้าง. โคผู้บ้าง โคเมียบ้าง โคแดงบ้าง ก็หรือว่าเห็นรูปแม้อื่นใด เห็นปานนั้น ที่สมมตกันว่าเป็นมงคลยิ่ง รูปที่เห็นนี้ เรียกว่าทิฏฐิมงคล. คนบางพวกก็ยอมรับคำของเขา บางพวกก็ไม่ยอมรับ พวกที่ไม่ยอมรับ ก็ขัดแย้งกับเขา.

 
  ข้อความที่ 48  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 164

ครั้งนั้นบุรุษผู้หนึ่ง ชื่อสุตมังคลิกะ ก็กล่าวว่า ท่านเอย ขึ้นชื่อว่าตาย่อมเห็นของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง ของดีบ้างของไม่ดีบ้าง ของชอบใจบ้าง ของไม่ชอบใจบ้าง ผิว่า รูปที่ผู้นั้นเห็นพึงเป็นมงคลไซร้ ก็จะพึงเป็นมงคลทั้งหมดนะสิ เพราะฉะนั้น รูปที่เห็นไม่เป็นมงคล. ก็แต่ว่าเสียงที่ได้ยินต่างหากเป็นมงคล. เสียงที่สมมตว่าเป็นมงคลยิ่ง. ชื่อว่าสุตะ อย่างไรเล่า. คนบางคนในโลกนี้ ลุกขึ้นแต่เช้า ได้ยินเสียงเช่นนี้ว่า เจริญแล้ว เจริญอยู่ เต็ม ขาว ใจดี สิริ เจริญด้วยสิริ วันนี้ ฤกษ์ดี ยามดี วันดี มงคลดี หรือเสียงที่สมมตว่ามงคลยิ่งอย่างใดอย่างหนึ่ง. เสียงที่ได้ยินนี้ เรียกว่าสุตมงคล. บางพวกก็ยอมรับคำของเขา บางพวกก็ไม่ยอมรับ พวกที่ไม่ยอมรับ ก็ขัดแย้งกับเขา.

ครั้งนั้น บุรุษผู้หนึ่ง ชื่อ มุตมังคลิกะ กล่าวว่า ท่านเอย แท้จริงขึ้นชื่อว่าหู ย่อมได้ยินเสียงดีบ้างไม่ดีบ้าง ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง ผิว่า เสียงที่ผู้นั้นได้ยิน พึงเป็นมงคลไซร้ ก็จะเป็นมงคลทั้งหมดนะสิ. เพราะฉะนั้น เสียงที่ได้ยินจึงไม่เป็นมงคล. ก็แต่ว่าสิ่งที่ทราบแล้วต่างหากเป็นมงคล. กลิ่นรสและโผฏฐัพพะสิ่งที่พึงถูกต้อง ชื่อว่ามุตะ. อย่างไรเล่า. คนบางคนลุกแต่เช้า สูดกลิ่นดอกไม้มีกลิ่นดอกปทุมเป็นต้นบ้าง เคี้ยวไม้สีฟันขาวบ้าง จับต้องแผ่น ดินบ้าง จับต้องข้าวกล้าเขียวบ้าง มูลโคสดบ้าง เต่าบ้าง งาบ้าง ดอกไม้บ้าง ผลไม้บ้าง ฉาบทาด้วยดินขาวโดยชอบบ้าง นุ่งผ้าขาวบ้าง โพกผ้าโพกขาวบ้าง ก็หรือว่าสูดกลิ่น ลิ้มรส หรือถูกต้องโผฏฐัพพะ ที่สมมติว่าเป็นมงคลยิ่ง อย่างอื่นใด เห็นปานนั้น สิ่งดังกล่าวมานี้ เรียกว่ามุตมงคล. บางพวกก็ยอมรับคำแม้ของเขา บางพวกก็ไม่ยอมรับ.

 
  ข้อความที่ 49  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 165

ในสามพวกนั้น ทิฏฐมังคลิกบุรุษ ก็ไม่อาจทำให้สุตมังคลิกบุรุษและ มุตมังคลิกบุรุษยินยอมได้ ทั้งสามฝ่ายนั้น ฝ่ายหนึ่ง ก็ทำอีกสองฝ่ายให้ยินยอมไม่ได้ บรรดามนุษย์เหล่านั้น พวกใดยอมรับคำของทิฏฐมังคลิกบุรุษ พวกนั้นก็ถือว่ารูปที่เห็นแล้วเท่านั้นเป็นมงคล. พวกใด ยอมรับคำของสุตมังคลิกบุรุษ และมุตมังคลิกบุรุษ พวกนั้นก็ถือว่าเสียงที่ได้ยินเท่านั้นเป็นมงคล สิ่งที่ได้ทราบเท่านั้น เป็นมงคล. เรื่องมงคลปัญหานี้ ปรากฏไปทั่วชมพูทวีป ด้วยประการฉะนี้.

ครั้งนั้น มนุษย์ทั่วชมพูทวีปถือกันเป็นพวกๆ พากันคิดมงคลทั้งหลายว่า อะไรกันหนอเป็นมงคล. อารักขเทวดาของมนุษย์พวกนั้น ฟังเรื่องนั้นแล้ว ก็พากันคิดมงคลทั้งหลายเหมือนกัน. เหล่าภุมมเทวดา เป็นมิตรของเทวดาเหล่านั้น ฟังเรื่องจากอารักขเทวดานั้นแล้ว ก็พากันคิดมงคลอย่างนั้นเหมือนกัน. อากาสัฏฐกเทวดาเป็นมิตรของเทวดาเหล่านั้น จตุมหาราชิกเทวดาเป็นมิตรของอากาสัฏฐกเทวดาเหล่านั้น โดยอุบายนี้ ตราบถึงอกนิฏฐเทวดาเป็นมิตรของสุทัสสีเทวดา ฟังเรื่องจากสุทัสสีเทวดานั้นแล้ว ก็ถือกันเป็นพวกๆ พากันคิดมงคลทั้งหลาย ด้วยอุบายอย่างนี้ การคิดมงคลได้เกิดไปในที่ทุกแห่งจนถึงหมื่นจักรวาล. ก็การคิดมงคลเกิดขึ้นแล้ว แม้วินิจฉัยว่านี้เป็นมงคล นี้เป็นมงคลแต่ก็ยังไม่เด็ดขาด จึงตั้งอยู่ถึง ๑๒ ปี. ทั้งมนุษย์ทั้งเทวดาทั้งพรหมหมดด้วยกันเว้นพระอริยสาวกแตกเป็น ๓ พวก คือทิฏฐมังคลิกะ สุตมังคลิกะ และมุตมังคลิกะ แม้แต่พวกหนึ่ง ก็ตกลงตามเป็นจริงไม่ได้ว่า นี้เท่านั้นเป็นมงคล มงคลโกลาหล การแตกตื่นเรื่องมงคลเกิดขึ้นแล้วในโลก.

ขึ้นชื่อว่า โกลาหลมี ๕ คือ กัปปโกลาหล จักกวัตติโกลาหล พุทธโกลาหล มงคลโกลาหล โมเนยยโกลาหล. บรรดาโกลาหลทั้ง ๕

 
  ข้อความที่ 50  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 166

นั้น เหล่าเทวดาชั้นกามาวจร ปล่อยศีรษะ สยายผม ร้องไห้ เอาหัตถ์เช็ดน้ำตา นุ่งผ้าสีแดง ทรงเพศแปลกๆ อย่างยิ่ง เที่ยวไปในถิ่นมนุษย์ร้องบอกกล่าวว่า ล่วงไปแสนปี กัปจักปรากฏ โลกนี้จักพินาศ มหาสมุทรจักแห้ง มหาปฐพีนี้และขุนเขาสิเนรุ จักถูกไฟไหม้ จักพินาศ โลกพินาศจักมีจนถึงพรหมโลก. ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ ขอท่านทั้งหลายจงพากันเจริญเมตตาไว้เถิด จงพากันเจริญกรุณา มุทิตา อุเบกขา ไว้เถิด ท่านผู้นิรทุกข์จงบำรุงมารดาบิดา จงยำเกรงท่านผู้เป็นผู้ใหญ่ในตระกูล ตื่นกันเถิด อย่าได้ประมาทกันเลย. นี้ ชื่อว่า กัปปโกลาหล.

เทวดาชั้นกามาวจรนั่นแล เที่ยวไปในถิ่นมนุษย์บอกกล่าวว่า ล่วงไปร้อยปี พระเจ้าจักรพรรดิจักเกิดขึ้นในโลก. นี้ชื่อว่า จักกวัตติโกลาหล.

ส่วนเทวดาชั้นสุทธาวาส ประดับองค์ด้วยอาภรณ์พรหม โพกผ้าของพรหมที่พระเศียรเกิดปีติปราโมทย์ กล่าวพระพุทธคุณ เที่ยวไปในถิ่นมนุษย์ บอกกล่าวว่าล่วงไปพันปี พระพุทธเจ้าจักอุบัติในโลก. นี่ชื่อว่า พุทธโกลาหล.

เทวดาชั้นสุทธาวาสนั่นแหละ รู้จิตของพวกมนุษย์ เที่ยวไปในถิ่นมนุษย์บอกกล่าวว่า ล่วงไปสิบสองปี พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จักตรัสมงคล. นี้ชื่อว่า มงคลโกลาหล.

เทวดาชั้นสุทธาวาสนั่นแหละ เที่ยวไปในถิ่นมนุษย์ บอกกล่าวว่า ล่วงไปเจ็ดปี ภิกษุรูปหนึ่งสมาคมกับพระผู้มีพระภาคเจ้า จักทูลถามโมเนยยปฏิปทา นี้ชื่อว่า โมเนยยโกลาหล. บรรดาโกลาหลทั้ง ๕ นี้ มงคลโกลาหลของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วในโลก.

ครั้งนั้น เมื่อเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พากันเลือกเฟ้นก็ยังไม่ได้มงคลทั้งหลาย ล่วงไป ๑๒ ปี เทวดาชั้นดาวดึงส์คบหาสมาคมกัน ก็ช่วยกัน

 
  ข้อความที่ 51  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 167

คิดอย่างนี้ว่า เจ้าของเรือนก็เป็นหัวหน้าของคนภายในเรือน เจ้าของหมู่บ้านก็เป็นหัวหน้าของชาวหมู่บ้าน พระราชาก็เป็นหัวหน้าของมนุษย์ทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมทวยเทพพระองค์นี้ ก็เป็นผู้เลิศประเสริฐสุดของพวกเรา คือเป็นอธิบดีของเทวโลกทั้งสอง [ชั้นจาตุมหาราชและดาวดึงส์] ด้วยบุญ เดช อิสริยะ ปัญญา. ถ้ากระไร เราจะพึงพากันไปทูลถามความข้อนี้กะท้าวสักกะ จอมทวยเทพเถิด. เทวดาเหล่านั้น ก็พากันไปยังสำนักท้าวสักกะ ถวายบังคมจอมทวยเทพ ซึ่งมีพระสรีระมีสิริด้วยอาภรณ์ประจำพระองค์ อันเหมาะแก่ขณะนั้น มีหมู่อัปสร ๒๕๐ โกฏิห้อมล้อม ประทับนั่งเหนือบัณฑุกัมพลสิลาอาสน์อัน ประเสริฐ ภายใต้ต้นปาริฉัตตกะ แล้วยืน ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ทูลว่า ขอประทานพระวโรกาส พระองค์ผู้นิรทุกข์ โปรดทรงทราบเถิด. บัดนี้ มงคลปัญหาตั้งขึ้นแล้ว พวกหนึ่งกล่าวว่า รูปที่เห็นเป็นมงคล พวกหนึ่งกล่าวว่า เสียงที่ได้ยินเป็นมงคล พวกหนึ่งกล่าวว่าสิ่งที่ทราบแล้วเป็นมงคล บรรดาท่านเหล่านั้น พวกข้าพระบาทและพวกอื่นยังไม่ได้ข้อยุติ สาธุ ขอพระองค์โปรด ทรงพยากรณ์ตามเป็นจริง แก่พวกข้าพระบาทด้วยเถิด. ท้าวสักกะเทวราชแม้โดยปกติ ทรงมีปัญหา จึงตรัสว่าเรื่องมงคลนี้เกิดขึ้นที่ไหนก่อนเล่า. ทูลว่าข้าแต่เทวราช พวกข้าพระบาทฟังคำของพวกเทวดาชั้นจาตุมมหาราช ต่อจากนั้น พวกเทวดาจาตุมมหาราชก็ฟังคำของพวกอากาสัฏฐเทวดา พวกอากาสัฏฐเทวดาฟังคำของพวกภุมมเทวดา พวกภุมมเทวดาฟังคำของเทวดาผู้รักษามนุษย์ พวกเทวดาผู้รักษามนุษย์กล่าวว่า เรื่องมงคลเกิดขึ้นในมนุษยโลก.

ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมทวยเทพตรัสถามจอมเทวดาเหล่านั้นว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ที่ไหน. เทวดาทั้งหลายทูลว่า ประทับอยู่ในมนุษยโลก พระเจ้าข้า. ตรัสถามว่า ใครได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นแลหรือ. ทูลว่า ไม่มีใคร พระเจ้าข้า. ตรัสว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์

 
  ข้อความที่ 52  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 168

ทำไมหนอ ท่านทั้งหลาย จึงมาทิ้งดวงไฟเสียแล้วมาตามไฟต่อจากแสงหิ่งห้อย ด้วยเหตุไรท่านทั้งหลายจึงมาล่วงเลยพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงแสดงมงคลไว้ไม่เหลือเสียเล่า ยังเข้าใจว่าควรจะไต่ถามเรา มาเถิดท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย เราจะทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น พวกเราคงจักได้การพยากรณ์ปัญหาอันมีสิริแน่แท้ จึงมีเทวโองการใช้เทพบุตรองค์หนึ่งว่า ท่านจงไปทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด. เทพบุตรองค์นั้นแต่งองค์ด้วยเครื่องอลังการ อันเหมาะแก่ขณะนั้น รุ่งโรจน์ดุจสายฟ้าแลบ มีหมู่เทพแวดล้อม ไปยังพระเชตวันมหาวิหาร ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วยืน ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง เมื่อทูลถามมงคลปัญหา จึงกล่าวเป็นคาถาว่า พหู เทวา มนุสฺสา จ เป็นต้น.

นี้เป็นมูลเหตุเกิดมงคลปัญหา

พรรณนาคาถาว่า พหู เทวา

บัดนี้ จะพรรณนาความแห่งบทคาถา. ศัพท์ว่า พหู แสดงจำนวนไม่แน่นอน ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงอธิบายว่า หลายร้อย หลายพัน หลายแสน ชื่อว่า เทวะ เพราะเล่น อธิบายว่า เล่นกับกามคุณ ๕ หรือโชติช่วงด้วยสิริของตน. อีกนัยหนึ่ง บทว่า เทวา ได้แก่ เทพทั้ง ๓ คือสมมติเทพ อุปปัตติเทพ และวิสุทธิเทพ เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า

บทว่า เทวา ได้แก่ เทพ ๓ คือ สมมติเทพ อุปปัตติเทพ วิสุทธิเทพ บรรดาเทพทั้ง ๓ นั้น พระราชา พระราชเทวี พระราชกุมาร ชื่อว่าสมมติเทพ. เทพตั้งแต่ชั้นจาตุมมหาราชิกาและสูงขึ้นไปกว่านั้น ชื่อว่า อุปปัตติเทพ ท่านที่เรียกกันว่าพระอรหันต์ ชื่อว่า วิสุทธิเทพ.

 
  ข้อความที่ 53  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 169

ในเทพทั้ง ๓ นั้น ในสูตรนี้ ท่านประสงค์เอาอุปปัตติเทพ. ชื่อว่า มนุษย์ เพราะเป็นเหล่ากอของพระมนู. แต่โบราณาจารย์กล่าวว่า ชื่อว่า มนุษย์ เพราะเป็นผู้มีใจสูง. มนุษย์เหล่านั้นมี ๔ คือชาวชมพูทวีป ชาวอปรโคยานทวีป ชาวอุตตรกุรุทวีป ชาวปุพพวิเทหทวีป ในสูตรนี้ท่านประสงค์เอามนุษย์ชาวชมพูทวีป. ชื่อว่ามงคล เพราะสัตว์เจริญรุ่งเรืองด้วยคุณเหล่านั้น อธิบายว่า สัตว์ถึงความสำเร็จและความเจริญ. บทว่า อจินฺตยุํ แปลว่า คิดกันแล้ว. บทว่า อากงฺขมานา ได้แก่ ประสงค์ ปรารถนา กระหยิ่ม. บทว่า โสตฺถานํ แปลว่า ความสวัสดี ท่านอธิบายว่า ความที่ธรรมทั้งหลาย อันเป็นไปในปัจจุบัน และภายภาคหน้าทุกอย่าง สวยดีงาม. บทว่า พฺรูหิ ได้แก่แสดง ประกาศ บอก เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย. บทว่า มงฺคลํ ได้แก่ เหตุแห่งความสำเร็จ เหตุแห่งความเจริญ เหตุแห่งสมบัติทุกอย่าง. บทว่า อุตฺตมํ ได้แก่ วิเศษประเสริฐ นำประโยชน์สุขมาให้โลกทั้งปวง ดังกล่าวมานี้ เป็นการพรรณนาตามลำดับบทแห่งคาถาทั้งหลาย.

ส่วนความรวมมีดังนี้ เทพบุตรนั้นแลเห็นเทวดาในหมื่นจักรวาล ชุมนุมกันในจักรวาลนี้ เพราะอยากจะฟังมงคลปัญหา พากันเนรมิตอัตภาพ อันละเอียด ๑๐ บ้าง ๒๐ บ้าง ๓๐ บ้าง ๔๐ บ้าง ๕๐ บ้าง ๖๐ บ้าง ๗๐ บ้าง ๘๐ บ้าง ขนาดโอกาสปลายขนทรายขนหนึ่ง ยืนห้อมล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์อันประเสริฐที่จัดไว้ เปล่งพระรัศมีครอบงำเทวดามารพรหมทั้งหมด ด้วยพระสิริและพระเดช และหยั่งรู้ปริวิตกแห่งใจของเหล่ามนุษย์ชาวชมพู ที่ไม่ได้มาประชุมในสมัยนั้น ด้วยใจตนเอง จึงกล่าวคาถา เพื่อถอนลูกศรคือความสงสัยของเทวดาและมนุษย์ทั้งปวงว่า

 
  ข้อความที่ 54  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 170

เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ปรารถนาความสวัสดี จึงพากันคิดมงคลทั้งหลาย ขอพระองค์โปรดตรัสบอกมงคลด้วยเถิด พระเจ้าข้า.

ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์เป็นผู้ซึ่งข้าพระองค์ทูลถามแล้ว โดยอนุมัติของเทวดาเหล่านั้น และโดยอนุเคราะห์มนุษย์ทั้งหลาย มงคลอันใดเป็นอุดมสูงสุด เพราะนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ข้าพระองค์หมดด้วยกัน โปรดอาศัยพระกรุณาตรัสบอกมงคลอันนั้นแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายแล.

พรรณนาคาถาว่า อเสวนา จ

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงสดับคำของเทพบุตรนั้นอย่างนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถาว่า อเสวนา จ พาลานํ เป็นต้น. ในพระคาถานั้น บทว่า อเสวนา ได้แก่ การไม่คบ ไม่เข้าไปใกล้.

บทว่า พาลานํ ความว่า ชื่อว่าพาล เพราะเป็นอยู่ หายใจได้ อธิบายว่า เป็นอยู่โดยเพียงหายใจเข้าหายใจออก ไม่เป็นอยู่โดยความเป็นอยู่ด้วยปัญญา. ซึ่งพาลเหล่านั้น.

บทว่า ปณฺฑิตานํ ความว่า ชื่อว่าบัณฑิต เพราะดำเนินไป อธิบายว่า ดำเนินไปด้วยคติ คือความรู้ในประโยชน์ที่เป็นปัจจุบันและภายภาคหน้า ซึ่งบัณฑิตเหล่านั้น.

บทว่า เสวนา ได้แก่ การคบ การเข้าใกล้ ความมีบัณฑิตนั้นเป็นสหาย มีบัณฑิตนั้นเป็นเพื่อน ความพรักพร้อมด้วยบัณฑิตนั้น.

บทว่า ปูชา ได้แก่ การสักการะ เคารพนับถือ กราบไหว้.

บทว่า ปูชเนยฺยานํ แปลว่า ผู้ควรบูชา.

 
  ข้อความที่ 55  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 171

บทว่า เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประมวลการไม่คบพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาผู้ที่ควรบูชา ๑ ทั้งหมดจึงตรัสว่า เอตมฺมงฺคลมุตฺตม.ํ ท่านอธิบายว่า คำใดท่านถามว่า โปรดตรัสบอกมงคลอันอุดมเถิด ท่านจงถือคำนั้นว่า มงคลอันอุดม ในข้อนั้นก่อน นี้เป็นการพรรณนาบทแห่งคาถานี้.

ส่วนการพรรณนาความแห่งบทนั้น พึงทราบดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงสดับคำของเทพบุตรนั้นอย่างนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า อเสวนา จ พาลานํ เป็นต้น.

ในคาถานั้น คาถามี ๔ คือ ปุจฉิตคาถา อปุจฉิตคาถา สานุสันธิกคาถา อนนุสันธิกคาถา.

บรรดาคาถาทั้ง ๔ นั้น คาถาที่ทรงถูกผู้ถามถามแล้ว จึงตรัสชื่อว่า ปุจฉิตคาถา ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า ปุจฺฉามิ ตํ โคตม ภูริปญฺ กถํกโร สาวโกสาธุ โหติ ท่านพระโคดม ผู้มีปัญญากว้างขวางดังแผ่นดิน ข้าพเจ้าขอถามท่าน สาวกทำอย่างไรจึงเป็นคนดี และประโยคว่า กถํ นุ ตฺวํ มาริส โอฆมตริ ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านข้ามโอฆะอย่างไรเล่าหนอ.

คาถาที่พระองค์ไม่ได้ถูกถามแต่ตรัสโดยพระอัธยาศัยของพระองค์เอง ชื่อว่า อปุจฉิตคาถา ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า ยํ ปเร สุขโต อาหุ ตทริยา อาหุ ทุกฺขโต คนอื่นๆ กล่าวสิ่งใดว่าเป็นสุข พระอริยะทั้งหลาย กล่าวสิ่งนั้นว่าเป็นทุกข์. คาถาของพระพุทธะทั้งหลายแม้ทั้งหมด ชื่อว่า สานุสันธิกคาถา เพราะบาลีว่า สนิทานาหํ ภิกฺขเว ธมฺมํ เทเสสฺสามิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมมีนิทานคือเหตุ ดังนี้. ที่ชื่อว่าอนสุสันธิคาถา คาถาไม่มีเหตุ ไม่มีในศาสนานี้ ก็บรรดาคาถาเหล่านี้ดังกล่าวมา

 
  ข้อความที่ 56  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 172

นี้ คาถานี้ชื่อว่า ปุจฉิตคาถา เพราะเป็นคาถาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าถูกเทพบุตรทูลถามแล้วจึงตรัสตอบ. ก็คาถานี้ บอกคนที่ไม่ควรคบ ในคนที่ควรคบและไม่ควรคบ แล้วจึงบอกคนที่ควรคบ เปรียบเหมือนบุรุษผู้ฉลาด รู้จักทาง รู้จักทั้งที่มิใช่ทาง ถูกถามถึงทาง จึงบอกทางที่ควรละเว้นเสียก่อนแล้ว ภายหลังจึงบอกทางที่ควรยึดถือไว้ว่า ในที่ตรงโน้นมีทางสองแพร่ง. ในทางสองแพร่งนั้น พวกท่านจงละเว้นทางซ้ายเสียแล้ว ยึดถือเอาทางขวาฉะนั้น. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นเสมือนบุรุษผู้ฉลาดในทางอย่างที่ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนติสสะ คำว่าบุรุษผู้ฉลาดในทางนี้เป็นชื่อของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จริงอยู่ ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ฉลาดรู้โลกนี้ ฉลาดรู้โลกอื่น ฉลาดรู้ถิ่นมัจจุ ฉลาดรู้ทั้งมิใช่ถิ่นมัจจุ ฉลาดรู้บ่วงมาร ฉลาดรู้ทั้งมิใช่บ่วงมาร.

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสบอกถึงบุคคลที่ไม่ควรคบก่อน จึงตรัสว่า การไม่คบพาล การคบบัณฑิต ความจริงคนพาลทั้งหลาย ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้เหมือนทางที่ควรละเว้น แต่นั้น ก็ควรคบ ควรเข้าใกล้แต่บัณฑิตเหมือนทางที่ควรยึดถือไว้. ผู้ทักท้วงกล่าวว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสมงคล จึงตรัสการไม่คบพาลและการคบบัณฑิตก่อน ขอชี้แจงดังนี้ เพราะเหตุที่พวกเทวดาและมนุษย์ยึดความเห็นว่ามงคลในสิ่งที่ เห็นแล้วเป็นต้นนี้ ด้วยการคบพาล ทั้งการคบพาลนั้น ก็ไม่เป็นมงคล ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงติเตียนการสมคบกับคนที่มิใช่กัลยาณมิตร ซึ่งหักรานประโยชน์ทั้งโลกนี้และโลกหน้าและทรงสรรเสริญการสมาคมกับกัลยาณมิตร ซึ่งให้สำเร็จประโยชน์ในโลกทั้งสอง จึงตรัสการไม่คบพาลและการคบบัณฑิตก่อน แก่เทวดาและมนุษย์เหล่านั้น.

 
  ข้อความที่ 57  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 173

สัตว์ทั้งหลายทุกประเภท ผู้ประกอบด้วยอกุศลกรรมบถมีปาณาติบาต เป็นต้น ชื่อว่า พาล ในจำนวนพาลและบัณฑิตนั้น. พาลเหล่านั้น จะรู้ได้ก็ด้วยอาการทั้งสาม เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้. พระสูตรว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พาลลักษณะของพาล ๓ เหล่านี้. อนึ่ง ครูทั้ง ๖ มี ปูรณกัสสปเป็นต้น และสัตว์อื่นๆ เห็นปานนั้นเหล่านั้น คือ เทวทัต โกกาลิกะ กฏโมทกะ ติสสขัณฑาเทวีบุตร สมุทททัตตะ นางจิญจมาณวิกา เป็นต้น และพี่ชายของทีฆวิทะ ครั้งอดีตพึงทราบว่า พาล.

พาลเหล่านั้น ย่อมยังตนเองและเหล่าคนที่ทำตามคำของตนให้พินาศ ด้วยทิฏฐิคตะความเห็นที่ตนถือไว้ไม่ดี ดังเรือนที่ถูกไฟไหม้ เหมือนพี่ชายของทีฆวิทะ ล้มลงนอนหงาย ด้วยอัตภาพประมาณ ๖๐ โยชน์ หมกไหม้อยู่ในมหานรก อยู่ถึง ๔ พุทธันดร และเหมือนตระกูล ๕๐๐ ตระกูล ที่ชอบ ใจทิฏฐิความเห็นของพี่ชายของทีฆวิทะนั้น เข้าอยู่ร่วมเป็นสหายของพี่ชายของทีฆวิทะนั่นแหละ หมกไหม้อยู่ในมหานรกฉะนั้น. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไฟลามจากเรือนไม้อ้อหรือเรือนหญ้า ย่อมไหม้แม้เรือนยอด ซึ่งฉาบไว้ทั้งข้างนอกข้างใน กันลมได้ ลงกลอนสนิท ปิดหน้าต่างไว้ เปรียบฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัยทุกชนิด ย่อมเกิดเปรียบฉันนั้นเหมือนกัน ภัยเหล่านั้นทั้งหมด เกิดจากพาล ไม่เกิดจากบัณฑิต. อุปัทวะทุกอย่างย่อมเกิด ฯลฯ อุปสรรคทุกอย่างย่อมเกิด ฯลฯ ไม่เกิดจากบัณฑิต. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดังนั้นแลพาลเป็นภัย

 
  ข้อความที่ 58  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 174

บัณฑิตไม่เป็นภัย พาลอุบาทว์ บัณฑิตไม่อุบาทว์ พาลเป็นอุปสรรค บัณฑิตไม่เป็นอุปสรรค ดังนี้.

อนึ่ง พาลเสมือนปลาเน่า ผู้คบพาลนั้น ก็เสมือนห่อด้วยใบไม้ที่ห่อปลาเน่า ย่อมประสบภาวะที่วิญญูชนทอดทิ้ง และรังเกียจ. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

ปูติมจฺฉํ กุสคฺเคน โย นโร อุปนยฺหติ กุสาปิ ปูตี วายนฺติ เอวํ พาลูปเสวนา.

นรชนผู้ใดผูกปลาเน่าด้วยปลายหญ้าคา แม้หญ้าคาของของนรชนผู้นั้น ก็มีกลิ่นเน่าฟุ้งไปด้วย การคบพาลก็เป็นอย่างนั้น.

อนึ่งเล่า เมื่อท้าวสักกะจอมทวยเทพประทานพร แก่อกิตติบัณฑิต ก็กล่าวอย่างนี้ว่า

พาลํ น ปสฺเส น สุเณ น จ พาเลน สํวเส พาเลนลฺลาปสลฺลาปํ น กเร น จ โรจเย.

ไม่ควรพบพาล ไม่ควรฟัง ไม่ควรอยู่ร่วมกับพาล ไม่พึงทำการเจรจาปราศรัยกับพาล และไม่ควรชอบใจ.

ท้าวสักกะ ตรัสถามว่า

กินฺนุ เต อกรํ พาโล วท กสฺสป การณํ เกน กสฺสป พาลสฺส ทสฺสนํ นาภิกงฺขสิ.

ท่านกัสสปะ ทำไมหนอ พาลจึงไม่เชื่อท่าน โปรดบอกเหตุมาสิ เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่อยากเห็น พาลนะท่านกัสสปะ.

 
  ข้อความที่ 59  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 175

อกัตติบัณฑิตตอบว่า

อนยํ นยติ ทุมฺเมโธ อธุรายํ นิยุญฺชติ ทุนฺนโย เสยฺยโส โหติ สมฺมา วุตฺโต ปกุปฺปติ วินยํ โส น ชานาติ สาธุ ตสฺส อทสฺสนํ.

คนปัญญาทราม ย่อมแนะนำข้อที่ไม่ควรแนะนำ ย่อมประกอบคนไว้ในกิจที่มิใช่ธุระ การแนะนำเขาก็แสนยาก เพราะเขาถูกว่ากล่าวโดยดี ก็โกรธ พาลนั้นไม่รู้จักวินัย การไม่เห็นเขาเสียได้ก็เป็นการดี.

พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงติเตียนการคบพาลโดยอาการทั้งปวงอย่างนี้ จึงตรัสว่า การไม่คบพาลเป็นมงคล บัดนี้เมื่อทรงสรรเสริญการคบบัณฑิต จึงตรัสว่า การคบบัณฑิตเป็นมงคล.

สัตว์ทุกประเภท ผู้ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ มีเจตนางดเว้นปาณาติบาตเป็นต้น ชื่อว่า บัณฑิต ในจำพวกพาลและบัณฑิตนั้น.

บัณฑิตเหล่านั้น จะพึงรู้ได้ก็ด้วยอาการทั้ง ๓ เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ พระสูตรว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตลักษณะของบัณฑิต ๓ เหล่านั้น. อนึ่ง พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอสีติมหาสาวก พระสาวกอื่น ของพระตถาคต และบัณฑิตมีสุเนตตศาสดา มหาโควินทศาสดา พระวิธูรบัณฑิต สรภังคดาบส พระมโหสธ สุตโสมบัณฑิต พระเจ้านิมิราช อโยฆรกุมาร และ อกิตติบัณฑิต เป็นต้น พึงทราบว่าบัณฑิต.

บัณฑิตเหล่านั้น เป็นผู้สามารถกำจัดภัยอุปัทวะและอุปสรรคได้ทุกอย่าง แก่พวกที่ทำตามคำของตน ประหนึ่งป้องกันได้ในเวลามีภัย ประหนึ่ง

 
  ข้อความที่ 60  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 176

ดวงประทีปในเวลามืด ประหนึ่งได้ข้าวน้ำเป็นต้น ในเวลาถูกทุกข์มีหิวระหาย เป็นต้นครอบงำ. จริงอย่างนั้น อาศัยพระตถาคต พวกเทวดาและมนุษย์นับไม่ถ้วน ประมาณไม่ได้พากันบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ ดำรงอยู่ในพรหมโลก ดำรงอยู่ในเทวโลก เกิดในสุคติโลก ตระกูลแปดหมื่นตระกูล ทำจิตให้เลื่อมใสในพระสารีบุตรเถระ และบำรุงพระเถระด้วยปัจจัย ๔ ก็บังเกิดในสวรรค์. ตระกูลทั้งหลายทำจิตให้เลื่อมใส ในพระมหาสาวกทั้งปวง นับตั้งแต่พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะเป็นต้นไป ก็อย่างนั้นเหมือนกัน สาวกทั้งหลายของสุเนตตศาสดา บางพวกก็เกิดในพรหมโลก บางพวกก็เข้าเป็นสหายของเหล่าเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ฯลฯ บางพวกก็เข้าเป็นสหายของคฤหบดีมหาศาล. แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสไว้ดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่มีภัยแต่บัณฑิต ไม่มีอุปัททวะแต่บัณฑิต ไม่มีอุปสรรคแต่บัณฑิต.

อนึ่ง บัณฑิตเสมือนของหอมมีกฤษณา และดอกไม้เป็นต้น คนผ้คบบัณฑิตก็เสมือนห่อด้วยใบไม้ที่ห่อของหอมมีกฤษณาและดอกไม้เป็นต้น ยังประสบภาวะที่วิญญูชนชมเชยและพอใจ. แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสไว้ดังนี้ว่า

ตครญฺจ ปลาเสน โย นโร อุปนยฺหติ ปตฺตาปิ สุรภี วายนฺติ เอวํ ธีรูปเสวนา.

นรชนผู้ใดห่อกฤษณาไว้ด้วยใบไม้ แม้ใบไม้ของนรชนผู้นั้นก็ส่งกลิ่นหอมฟุ้ง การคบบัณฑิต ก็เหมือนอย่างนั้น.

อนึ่งเล่า เมื่อท้าวสักกะจอมทวยเทพประทานพรแก่ อกิตติบัณฑิตก็กล่าวว่า

ธีรํ ปสฺเส สุเณ ธีรํ ธีเรน สห สํวเร ธีเรนลฺลาปสลฺลาปํ ตํ กเร ตญฺจ โรจเย.

 
  ข้อความที่ 61  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 177

ควรพบบัณฑิต ควรฟังบัณฑิต ควรอยู่ร่วมกับบัณฑิต ควรทำการสนทนาปราศรัยกับบัณฑิต และ ควรชอบใจบัณฑิตนั้น.

ท้าวสักกะจอมทวยเทพตรัสถามว่า

กินฺนุ เต อกรํ ธีโร วท กสฺสป การณํ เกน กสฺสป ธีรสฺส ทสฺสนํ อภิกงฺขสิ.

ท่านกัสสปะ ทำไมหนอ บัณฑิตจึงไม่ทำต่อท่าน โปรดบอกเหตุมาสิ เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงอยากพบบัณฑิต นะท่านกัสสปะ.

อกิตติบัณฑิตตอบว่า

นยํ นยติ เมธาวี อธุรายํ น ยุญชติ สุนโย เสยฺยโส โหติ สมฺมา วุตฺโต น กุปฺปติ วินยํ โส ปชานาติ สาธุ เตน สมาคโม.

บัณฑิตย่อมแนะนำเรื่องที่ควรแนะนำ ไม่จูงคนไปในกิจมิใช่ธุระ แนะนำเขาก็ง่ายดี เพราะเขาถูกว่า กล่าวโดยดี ก็ไม่โกรธ บัณฑิตนั้นรู้วินัย สมาคมกับบัณฑิตนั้นได้ เป็นการดี.

พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงสรรเสริญการคบบัณฑิต โดยธรรมทั้งปวงอย่างนี้ จึงตรัสว่า การคบบัณฑิตเป็นมงคล. บัดนี้ เมื่อจะทรงสรรเสริญ การบูชาบุคคลผู้เข้าถึงความเป็นผู้ควรบูชาโดยลำดับ ด้วยการไม่คบพาลและการคบบัณฑิตนั้น จึงตรัสว่า ปูชา จ ปูชเนยฺยานํ มงคลํ การบูชาผู้ที่ควรบูชาเป็นมงคล. พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ชื่อว่า ปูชเนยยะ เพราะทรง

 
  ข้อความที่ 62  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 178

เว้นจากโทษทุกอย่าง และเพราะทรงประกอบด้วยคุณทุกอย่าง และภายหลังจากนั้น ก็พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอริยสาวกทั้งหลาย ชื่อว่าปูชเนยยะ. จริงอยู่ การบูชาปูชเนยยบุคคลเหล่านั้น แม้เล็กน้อย ก็เป็นประโยชน์สุขตลอดกาลยาว นาน. ในข้อนี้ มีเรื่องนายสุมนมาลาการและนางมัลลิกาเป็นต้นเป็นตัวอย่าง. ใน ๒ เรื่องนั้น จะกล่าวแต่เรื่องเดียว พอเป็นตัวอย่าง.

ความว่า เช้าวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอันตรวาสกแล้วทรงถือบาตรจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ ขณะนั้น นายช่างดอกไม้ชื่อ สุมนมาลาการ กำลังเดินถือดอกไม้สำหรับพระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพมคธ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงประตูกรุง ผ่องใสน่าเลื่อมใสประดับด้วยพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการและพระอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการรุ่งเรืองด้วยพระพุทธสิริ ครั้นเห็นแล้ว เขาก็คิดว่า พระราชาทรงรับดอกไม้แล้วก็จะพึงประทานทรัพย์ร้อยหนึ่งหรือพันหนึ่ง ก็อันนั้นก็จะพึงเป็นความสุขเพียงโลกนี้เท่านั้น. แต่การบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมจะมีผลประมาณไม่ได้ นับไม่ถ้วน นำประโยชน์สุขมาให้ตลอดกาลยาวนาน. เอาเถิดจำเราจะบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดอกไม้เหล่านั้น ดังนี้เขามีจิตเลื่อมใส จับดอกไม้กำหนึ่งเหวี่ยงไปเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า. ดอกไม้ทั้งหลายไปทางอากาศประดิษฐานเป็นเพดานดอกไม้อยู่เหนือพระผู้มีพระภาคเจ้า. นายมาลาการเห็นอานุภาพนั้น ก็มีจิตเลื่อมใสยิ่งขึ้น จึงเหวี่ยงดอกไม้ไปอีกกำหนึ่ง แม้ดอกไม้เหล่านั้น ก็ไปประดิษฐานเป็นเกราะดอกไม้. นายมาลาการเหวี่ยงดอกไม้ไป ๘ กำ อย่างนี้ ดอกไม้เหล่านั้น ก็ไปประดิษฐานเป็นเรือนยอดดอกไม้.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ในเรือนยอด มหาชนก็ชุมนุมกัน. พระผู้มีพระภาคเจ้าทอดพระเนตรเห็นนายมาลาการ ก็ทรงทำอาการแย้มให้ปรากฏ พระอานนท์เถระก็ทูลถามถึงเหตุที่ทรงแย้มด้วยคิดว่า พระพุทธเจ้า

 
  ข้อความที่ 63  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 179

ทั้งหลาย ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย จะไม่ทรงแย้มให้ปรากฏ. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อานนท์ นายมาลาการผู้นี้ จักท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์แสนกัป ด้วยอานุภาพของการบูชานี้แล้วในที่สุดก็จักเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า นามว่า สุมนิสสระ. ตรัสจบก็ได้ตรัสพระคาถานี้ เพื่อทรงแสดงธรรมว่า

ตญฺจ กมฺมํ กตํ สาธุ ยํ กตฺวา นานุตปฺปติ ยสฺส ปตีโต สุมโน วิปากํ ปฏิเสวติ.

บุคคลทำกรรมใดแล้วไม่เดือดร้อนกายหลัง บุคคลใจดีเอิบอิ่มแล้วเสวยผลของกรรมใด กรรมนั้น ทำแล้วดี.

จบคาถา สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ได้บรรลุธรรม การบูชาปูชเนยยบุคคลเหล่านั้น แม้เล็กน้อยพึงทราบว่า มีประโยชน์สุขตลอดกาลยาวนาน ด้วยประการ ฉะนี้.

ก็การบูชานั้นเป็นอามิสบูชา จะป่วยกล่าวไปไยในปฏิบัติบูชา เพราะกุลบุตรเหล่าใด บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยการรับสรณคมน์และสิกขาบท ด้วยการสมาทานองค์อุโบสถ และด้วยคุณทั้งหลายของตน มีปาริสุทธิศีล ๔ เป็นต้น ใครเล่าจักพรรณนาผลแห่งการบูชาของกุลบุตรเหล่านั้นได้. ด้วยว่ากุลบุตรเหล่านั้น ท่านกล่าวว่า บูชาพระตถาคตด้วยการบูชาอย่างยอดเยี่ยม เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

ดูก่อนอานนท์ ผู้ใดแล ไม่ว่าเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ประพฤติตามธรรม ผู้นั้น ชื่อว่า สักการะเคารพนับถือ บูชายำเกรงนอบน้อมตถาคต ด้วยการบูชาอย่างยอดเยี่ยม.

 
  ข้อความที่ 64  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 180

ความที่การบูชาแม้พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอริยสาวกนำมาซึ่งประโยชน์สุข พึงทราบตามแนวนี้.

อนึ่ง สำหรับ คฤหัสถ์ พึงทราบปูชเนยยบุคคลในข้อนี้อย่างนี้ คือ ผู้เจริญที่สุด ทั้งพี่ชาย ทั้งพี่สาว ชื่อว่าปูชเนยยบุคคลของน้อง มารดาบิดา เป็นปูชเนยยบุคคลของบุตร สามีพ่อผัวแม่ผัวเป็นปูชเนยยบุคคลของกุลสตรีทั้งหลาย ด้วยว่า การบูชาปูชเนยยบุคคลแม้เหล่านั้น เป็นมงคลทั้งนั้น เพราะนับว่าเป็นกุศลธรรม และเพราะเป็นเหตุเจริญอายุเป็นต้น. พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระพุทธดำรัสไว้ดังนี้ว่า ชนเหล่านั้น จักเป็นผู้เกื้อกูลมารดา เกื้อกูลบิดา เกื้อกูลสมณะ เกื้อกูลพราหมณ์ เป็นผู้นอบน้อมผู้ใหญ่ในสกุล ยังจักยึดถือกุศลธรรมนี้ปฏิบัติ ก็จักเจริญทั้งอายุ จักเจริญทั้งวรรณะ เพราะเหตุสมาทานกุศลธรรมเหล่านั้นเป็นต้น.

บัดนี้ เพราะเหตุที่ข้าพเจ้าตั้งมาติกาหัวข้อไว้ว่า กล่าวสมุฏฐานเป็นที่เกิดมงคล แล้วกำหนดมงคลนั้น จะชี้แจงความของมงคลนั้น ฉะนั้น จึงขอชี้แจงดังนี้ พระผู้พระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๓ มงคลคือ การไม่คบพาล, การคบบัณฑิต, และการบูชาผู้ที่ควรบูชา, ด้วยประการฉะนี้. ในมงคลทั้ง ๓ นั้น พึงทราบว่าการไม่คบพาลชื่อว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์ของโลกทั้งสอง เหตุป้องกันภัยมีภัยเกิดแต่คบพาลเป็นปัจจัยเป็นต้น การคบบัณฑิตและการบูชาผู้ที่ควรบูชา ชื่อว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่ง นิพพานและสุคติ โดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในการพรรณนาความเพิ่มพูนแห่งผลของการคบบัณฑิตและการบูชาผู้ที่ควรบูชานั้นนั่นแล. แต่ข้าพเจ้าจักยังไม่แสดงหัวข้อต่อจากนี้ไป จักกำหนดข้อที่เป็นมงคลอย่างนี้ จึงจักชี้แจงความที่ข้อนั้นเป็นมงคล.

จบพรรณนาความแห่งคาถานี้ว่า อเสวนา จ พาลานํ.

 
  ข้อความที่ 65  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 181

พรรณนาคาถาว่า ปฏิรูปเทสวาโส จ

พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ถูกเทพบุตรขอมงคลอย่างเดียวว่า พฺรูหิ มงฺคลมุตฺตนํ ขอได้โปรดตรัสบอกมงคลอันอุดม แต่ก็ตรัสถึง ๓ มงคล ด้วยคาถาเดียว เปรียบเหมือนบุรุษใจกว้าง ถูกขอแต่น้อยแต่ก็ให้มาก ยิ่งไปกว่านั้น ยังทรงเริ่มที่จะตรัสมงคลอีกเป็นอันมาก ด้วยคาถาทั้งหลายมีว่า ปฏิรูปเทสวาโส จ เป็นต้น ก็เพราะเทวดาทั้งหลายอยากฟัง เพราะมงคลทั้งหลาย มีอยู่ และเพราะมงคลใดๆ อนุกูลแก่สัตว์ใดๆ ทรงมีพุทธประสงค์จะทรง ประกอบสัตว์นั้นๆ ไว้ ในมงคลนั้นๆ. บรรดาคาถาเหล่านั้น จะกล่าวใน คาถาแรกก่อน. บทว่า ปฏิรูโป แปลว่า สมควร. โอกาสเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย ทุกแห่ง ไม่ว่าเป็นคามก็ดี นิคมก็ดี นครก็ดี ชนบทก็ดี ชื่อว่า เทสะ. การอยู่อาศัยในเทสะนั้น ชื่อว่า วาสะ. บทว่า ปุพฺเพ แปลว่า แต่ก่อน คือในชาติที่ล่วงมาแล้ว. ความเป็นผู้มีกุศลอันสั่งสมแล้ว ชื่อว่า ความเป็นผู้มีบุญอันทำไว้แล้ว. จิตหรืออัตภาพทั้งสิ้น เรียกว่า อัตตะ. การประกอบไว้ คือการตั้งความปรารถนาของตนไว้ชอบ. ท่านอธิบายว่า การตั้งตนโดยชอบ ชื่อว่า สมฺมาปณิธิ การตั้งไว้ชอบ. คำนอกนั้น มีนัยที่กล่าวไว้แล้วทั้งนั้น. นี้เป็นการพรรณนาบทในคาถาแรกนั้น.

ส่วนการพรรณนาความ พึงทราบดังนี้. ในประเทศใดบริษัท ๔ ยังจาริกอยู่ ยังบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุมีทานเป็นต้นอยู่ นวังคสัตถุศาสน์ยังรุ่งเรืองอยู่. ประเทศนั้นชื่อว่าปฏิรูปเทส การอยู่อาศัยในปฏิรูปเทสนั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นปัจจัยแก่การทำบุญของสัตว์ทั้งหลาย. ในข้อนี้ มีชาวประมงที่เข้าไปยังเกาะสิงหลเป็นต้นเป็นตัวอย่าง.

 
  ข้อความที่ 66  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 182

อีกนัยหนึ่ง ประเทศเป็นที่ตรัสรู้พระโพธิญาณ [ที่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เรียกโพธิมัณฑสถาน] ประเทศที่ทรงประกาศพระธรรมจักร. ประเทศ คือโคนต้นมะม่วงของนายคัณฑะที่ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ทำลายความเมาของพวกเดียรถีย์ทั้งปวง ท่ามกลางบริษัทประมาณ ๑๒ โยชน์ ประเทศที่เสด็จลงจากเทวโลก ก็หรือประเทศอื่นใดอันเป็นที่ประทับอยู่ของพระพุทธเจ้า มีกรุงสาวัตถี กรุงราชคฤห์เป็นต้น ประเทศนั้น ชื่อว่า ปฏิรูปเทส การอยู่อาศัยในปฏิรูปเทสนั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นปัจจัยแก่การได้อนุตตริยะ ๖ ของสัตว์ทั้งหลาย.

อีกนัยหนึ่ง ทิศบูรพา ตั้งแต่กชังคลนิคมลงมาถึงมหาสาลา รอบนอกเป็นปัจจันติมชนบท รอบใน เป็นมัชฌิมชนบท. ทิศอาคเนย์ ตั้งแต่แม่น้ำสัลลวตีลงมา รอบนอก เป็นปัจจันติมชนบท รอบใน เป็นมัชฌิมชนบท. ทิศทักษิณ ตั้งแต่เสตกัณณิกนิคมลงมา รอบนอก เป็นปัจจันติมชนบท รอบใน เป็นมัชฌิมชนบท. ทิศตะวันตก ตั้งแต่ถูณะตำบลบ้านพราหมณ์ลงมา รอบนอก เป็นปัจจันติมชนบท รอบใน เป็นมัชฌิมชนบท. ทิศอุดร ตั้งแต่ ภูเขาอุสีรธชะลงมา รอบนอก เป็นปัจจันติมชนบท รอบใน เป็นมัชฌิมชนบท. นี้เป็นมัชฌิมประเทศ ยาว ๓๐๐ โยชน์ กว้าง ๒๕๐ โยชน์ โดยรอบ ๙๐๐ โยชน์. มัชฌิมประเทศนี้ ชื่อว่าปฏิรูปเทส.

พระเจ้าจักรพรรดิทั้งหลาย ผู้ครองอิสริยาธิปัตย์แห่งทวีปใหญ่ทั้ง ๔ ทวีป ทวีปน้อย ๒,๐๐๐ ทวีป ย่อมเกิดในปฏิรูปเทสนั้น พระมหาสาวกทั้งหลาย มีพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะเป็นต้น บำเพ็ญบารมีมาหนึ่งอสงไขย กับแสนกัป ก็เกิดในปฏิรูปเทสนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย บำเพ็ญบารมีมาสองอสงไขยกับแสนกัป ก็เกิดในปฏิรูปเทสนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 
  ข้อความที่ 67  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 183

ทั้งหลาย บำเพ็ญบารมีมาสี่อสงไขยกับแสนกัปบ้าง แปดอสงไขยกับแสนกัปบ้าง สิบหกอสงไขยกับแสนกัปบ้าง ก็เสด็จอุบัติในปฏิรูปเทสนั้น. บรรดาท่านเหล่านั้น สัตว์ทั้งหลายรับโอวาทของพระเจ้าจักรพรรดิตั้งอยู่ในศีล ๕ แล้วก็มีสวรรค์เป็นเบื้องหน้า, ตั้งอยู่ในโอวาทของพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็เหมือนกัน ส่วนสัตว์ทั้งหลายตั้งอยู่ในโอวาทของพระพุทธเจ้า ของสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมมีสวรรค์เป็นเบื้องหน้า มีพระนิพพานเป็นเบื้องหน้า เพราะฉะนั้น การอยู่ในปฏิรูปเทส นั้น จึงตรัสว่า เป็นมงคล เพราะเป็นปัจจัยแห่งสมบัติเหล่านี้.

ความเป็นผู้ปรารภพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระขีณาสพ สร้างสมกุศลไว้ในชาติที่ล่วงมาแล้ว ชื่อว่า ความเป็นผู้ทำบุญไว้ในก่อน. แม้ความเป็นผู้ทำบุญไว้ในก่อนนั้นก็เป็นมงคล. เพราะเหตุไร เพราะทำอธิบาย ว่าความเป็นผู้ทำบุญไว้ในก่อน ย่อมให้บรรลุพระอรหัต เมื่อจบคาถาแม้ ๔ บท ที่แสดงต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือที่ฟังเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้า. ก็มนุษย์ผู้ใด สร้างบารมีไว้ มีกุศลมูลอันแน่นหนามาก่อน มนุษย์ผู้นั้น ทำวิปัสสนาให้เกิดแล้ว ย่อมบรรลุธรรมที่สิ้นอาสวะ ด้วยกุศลมูลนั้นนั่นแล เหมือนพระเจ้ามหากัปปินะ และอัครมเหสี ด้วยเหตุนั้น พระผู้พระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ความเป็นผู้ทำบุญไว้ในก่อนเป็นมงคล.

คนบางคนในโลกนี้ ย่อมทำตนที่ทุศีลให้ตั้งอยู่ในสุศีล ตนที่ไม่มีศรัทธาให้ตั้งอยู่ในสัทธาสัมปทา ตนที่ตระหนี่ให้ตั้งอยู่ในจาคสัมปทา การตั้งตนดังกล่าว ชื่อว่า ตั้งตนไว้ชอบ. การตั้งตนไว้ชอบนี้ เรียกว่า อัตตสัมมาปณิธิ. อัตตสัมมาปณิธินี้แลเป็นมงคล. เพราะเหตุไร. เพราะเป็นเหตุละเวรที่เป็นไปในปัจจุบันและภายภาคหน้าและประสบอานิสงส์ต่างๆ อย่าง.

 
  ข้อความที่ 68  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 184

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๓ มงคล คือการอยู่ในปฏิรูปเทส ๑ ความเป็นผู้ทำบุญไว้ในก่อน ๑ และการตั้งตนไว้ชอบ ๑ ด้วยประการฉะนี้. ก็ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ก็ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้น.

จบพรรณนาความแห่งคาถานี้ว่า ปฏิรูปเทสวาโส จ

พรรณนาคาถาว่า พาหุสจฺจญฺจ

บัดนี้ ความเป็นพหูสูต ชื่อว่าพาหุสัจจะ ในบทนี้ว่า พาหุสจฺจญฺจ. ความฉลาดในงานฝีมือทุกอย่าง ชื่อว่า ศิลปะ. การฝึกกายวาจาจิต ชื่อว่า วินัย. บทว่า สุสิกฺขิโต แปลว่า อันเขาศึกษาด้วยดีแล้ว. บทว่า สุภาสิตา แปลว่า อันเขากล่าวด้วยดีแล้ว. ศัพท์ว่า ยา แสดงความไม่แน่นอน. คำเปล่งทางคำพูด ชื่อว่า วาจา. คำที่เหลือ มีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้นแล. นี้เป็นการพรรณนาบทในคาถาว่า พาหุสจฺจญฺจ นี้.

ส่วนการพรรณนาความ พึงทราบดังนี้. ความเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งวัตถุศาสน์ ที่ทรงพรรณนาไว้ โดยนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า เป็นผู้ทรงสุตตะ สั่งสมสุตตะ และว่า ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ มีสุตะมาก คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ เป็นต้น ชื่อว่าความเป็นพหูสูต. ความเป็นพหูสูตนั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุละอกุศลและประสบกุศลและเพราะเป็นเหตุทำให้แจ้งปรมัตถสัจจะตามลำดับ สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก ผู้สดับแล้ว ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ย่อมละสิ่งมีโทษ เจริญสิ่งที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์ ดังนี้.

อีกพระดำรัสหนึ่งตรัสว่า

 
  ข้อความที่ 69  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 185

ย่อมพิจารณาความของธรรมทั้งหลาย ที่ทรงจำไว้ ธรรมทั้งหลายย่อมทนการเพ่งพินิจของเธอ ผู้พิจารณาความอยู่ เมื่อธรรมทนการเพ่งพินิจอยู่ ฉันทะย่อมเกิด เกิดฉันทะแล้ว ก็อุตสาหะ เมื่ออุตสาหะ ดีใช้ดุลยพินิจ เมื่อใช้ดุลยพินิจ ก็ตั้งความเพียร เมื่อตั้งความเพียร ย่อมทำให้แจ้งปรมัตถสัจจะ ด้วยกาย [นามกาย] และย่อมเห็นทะลุปรุโปร่ง ด้วยปัญญา ดังนี้.

อนึ่ง แม้พาหุสัจจะความเป็นพหูสูตของคฤหัสถ์อันใดไม่มีโทษ อันนั้นก็พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งประโยชน์สุขในโลกทั้งสอง.

ศิลปะของคฤหัสถ์ และศิลปะของบรรพชิต ชื่อว่า ศิลปะ. บรรดาศิลปะทั้งสองนั้น กิจกรรมมีงานของช่างมณี ช่างทองเป็นต้น ที่เว้นจากการทำร้ายชีวิตสัตว์อื่น เว้นจากอกุศล ชื่อว่า อคาริกสิปปะ ศิลปะของคฤหัสถ์. อคาริกสิปปะนั้น ชื่อว่า เป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งประโยชน์ในโลกนี้.

การจัดทำสมณบริขารมีการกะและเย็บจีวรเป็นต้น ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญไว้ในที่นั้นๆ โดยนัยเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรทำไรๆ ของสพรหมจารี ไม่ว่าสูงต่ำเหล่านั้นใด ภิกษุเป็นผู้ขยันในกิจที่ควรทำไรๆ นั้น และที่ตรัสว่า เป็นนาถกรณธรรม ธรรมทำที่พึ่ง ชื่อว่า อนาคาริกสิปปะ ศิลปะของบรรพชิต. ศิลปะของบรรพชิตนั้น พึงทราบว่า เป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งประโยชน์สุขในโลกทั้งสองแก่ตนเองและแก่คนอื่นๆ.

วินัยของคฤหัสถ์และวินัยของบรรพชิต ชื่อว่าวินัย. บรรดาวินัยทั้งสองนั้น การงดเว้นอกุศลกรรมบถ ๑๐ ชื่อว่าวินัยของคฤหัสถ์. วินัยของคฤหัสถ์

 
  ข้อความที่ 70  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 186

นั้น คฤหัสถ์ศึกษาดีแล้วในวินัยนั้น ชื่อว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งประโยชน์สุขในโลกทั้งสอง ด้วยการไม่ต้องสังกิเลสความเศร้าหมอง และด้วยการกำหนดคุณ คืออาจาระ.

การไม่ต้องอาบัติ ๗ กอง ชื่อว่าวินัยของบรรพชิต. แม้วินัยของบรรพชิตนั้น อันบรรพชิตศึกษาดีแล้ว โดยนัยที่กล่าวมาแล้ว. หรือปาริสุทธิศีล ๔ ชื่อว่าวินัยของบรรพชิต. วินัยของบรรพชิตนั้น อันบรรพชิตศึกษาดีแล้ว ด้วยการศึกษาโดยประการที่ตั้งอยู่ในปาริสุทธิศีล ๔ นั้นแล้วจะบรรลุพระอรหัตได้ พึงทราบว่าเป็นมงคลเพราะเป็นเหตุประสบสุขทั้งโลกิยะทั้ง โลกุตระ.

วาจาที่เว้นจากโทษมีมุสาวาทเป็นต้น ชื่อว่าวาจาสุภาษิต เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๔ เป็นวาจาสุภาษิต. หรือว่า วาจาที่เจรจาไม่เพ้อเจ้อ ก็ชื่อว่าวาจาสุภาษิต. เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า (๑)

สุภาสิตํ อุตฺตมมาหุ สนฺโต ธมฺมํ ภเณ นาธมฺมํ ตํ ทุติยํ ปิยํ ภเณ นาปฺปิยํ ตํ ตติยํ สจฺจํ ภเณ นาลิกํ จตุตถํ.

สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวว่า วาจาสุภาษิตเป็นวาจาสูงสุดเป็นข้อที่ ๑. บุคคลพึงกล่าวแต่ธรรม ไม่กล่าวไม่เป็นธรรมเป็นข้อที่ ๒. พึงกล่าวแต่คำน่ารัก ไม่กล่าวคำไม่น่ารัก เป็นข้อที่ ๓. กล่าวแต่คำสัตย์ ไม่กล่าวคำเหลาะแหละเป็นข้อที่ ๔.


(๑) ขุ.สุ. ๒๕/ข้อ ๓๕๖

 
  ข้อความที่ 71  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 187

แม้วาจาสุภาษิตนี้ ก็พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งประโยชน์สุขในโลกทั้งสอง แต่เพราะเหตุที่วาจาสุภาษิตนี้นับเนื่องในวินัย ฉะนั้น ถึงไม่สงเคราะห์วาจาสุภาษิตนี้ไว้ด้วยวินัยศัพท์ ก็พึงทราบว่าเป็นวินัย. เมื่อเป็นเช่นนั้น วาจามีการแสดงธรรมแก่คนเหล่าอื่นเป็นต้น พึงทราบว่าเป็นวาจาสุภาษิตในที่นี้ ด้วยความกระอักกระอ่วนนี้หรือ. ความจริงวาจาสุภาษิตตรัสว่า เป็นมงคล ก็เพราะเป็นเหตุประสบสุขในโลกทั้งสองและพระนิพพานของสัตว์ทั้งหลาย ก็เหมือนการอยู่ในปฏิรูปเทศ. พระวังคีสเถระกล่าวไว้ว่า (๑)

ยํ พุทฺโธ ภาสตี วาจํ เขมํ นิพฺพานปตฺติยา ทุกฺขสฺสนฺตกิริยาย สา เว วาจานมุตฺตมา.

พระพุทธเจ้าตรัสพระวาจาใด อันเกษม เพื่อบรรลุพระนิพพาน เพื่อทำที่สุดทุกข์ พระวาจานั้นแลเป็นยอดของวาจาทั้งหลาย.

พระพุทธเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๔ มงคล คือ พาหุสัจจะ ๑ สิปปะ ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑ และ วาจาสุภาษิต ๑ ด้วยประการฉะนี้. ก็ความที่มงคลนั้นเป็นมงคล ก็ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล.

จบพรรณนาความแห่งคาถานี้ว่า พาหุสจฺจญฺจ เป็นต้น

พรรณนาคาถาว่า มาตาปิตุอุปฏฺานํ

บัดนี้ จะพรรณนาในคาถานี้ว่า มาตาปิตุอุปฏฺานํ. มารดาและบิดา เหตุนั้น ชื่อว่า มารดาและบิดา. บทว่า อุปฏฺานํ แปลว่า การบำรุง. บุตรทั้งหลายด้วย ภรรยาทั้งหลายด้วย ชื่อว่าบุตรและภรรยา การสงเคราะห์ ชื่อว่า สังคหะ. การงานคือกิจกรรมอากูลหามิได้ ชื่อว่าไม่อากูล. คำที่เหลือ มีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้นแล. นี่เป็นการพรรณนาบท.


(๑) ขฺ.สฺ. ๒๕/ข้อ ๓๕๗

 
  ข้อความที่ 72  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 188

ส่วนการพรรณนาความ พึงทราบดังนี้. สตรีผู้ยังบุตรให้เกิด เรียกชื่อว่า มารดา บิดาก็เหมือนกัน. การทำอุปการะด้วยการล้างเท้านวดฟั้นขัดสีให้อาบน้ำ และด้วยการมอบให้ปัจจัย ๔ ชื่อว่า การบำรุง. ในการบำรุงนั้นเพราะเหตุที่มารดาบิดา มีอุปการะมาก หวังประโยชน์อนุเคราะห์บุตรทั้งหลาย มารดาบิดาเหล่าใด แลเห็นบุตรทั้งหลายเล่นอยู่ข้างนอก เดินมามีเนื้อตัวเปื้อนฝุ่น ก็เช็ดฝุ่นให้ จูบจอมถนอมเกล้า เกิดความรักเอ็นดู บุตรทั้งหลายใช้ศีรษะทูนมารดาบิดาไว้ถึงร้อยปี ก็ไม่สามารถจะทำปฏิการะสนองคุณของมารดา บิดานั้นได้ และเพราะเหตุที่มารดาบิดานั้น เป็นผู้ดูแลบำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้ สมมติว่าเป็นพรหม สมมติว่าเป็นบุรพาจารย์ ฉะนั้น การบำรุงมารดาบิดานั้น ย่อมนำมาซึ่งการสรรเสริญในโลกนี้และละโลกไปแล้วก็จะนำมาซึ่งสุขในสวรรค์ ด้วยเหตุนั้นจึงตรัสว่าเป็นมงคล สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ว่า (๑)

มารดาบิดา ท่านเรียกว่าพรหม ว่าบุรพาจารย์ เป็นอาหุเนยยบุคคลของบุตร เป็นผู้อนุเคราะห์บุตร เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงนอบน้อม และพึงสักการะมารดาบิดานั้น ด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน การขัดสี การให้อาบน้ำและล้างเท้า. เพราะการปรนนิบัติมารดาบิดา นั้น บัณฑิตทั้งหลายจึงสรรเสริญเขาในโลกนี้ เขาละโลกไปแล้ว ยังบรรเทิงในสวรรค์.

อีกนัยหนึ่ง กิจกรรม ๕ อย่าง มีการเลี้ยงดูท่าน ทำกิจของท่านและการดำรงวงศ์สกุลเป็นต้น ชื่อว่า การบำรุง. การบำรุงนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์สุขในปัจจุบัน ๕ อย่างมี การห้ามมิให้ทำบาปเป็นต้น. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า (๒)


(๑) ขุ.อิ. ๒๕/ข้อ ๒๘๖.

(๒) ที.ปา. ๑๑/ข้อ ๑๙๙

 
  ข้อความที่ 73  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 189

ดูก่อนบุตรคฤหบดี ทิศเบื้องหน้า คือมารดาบิดา อันบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ เราท่านเลี้ยงมาแล้ว จักเลี้ยงดูท่าน จักทำกิจของท่าน จักดำรงวงศ์สกุล จักปฏิบัติตัวเหมาะที่จะเป็นทายาท เมื่อท่านล่วงลับดับขันธ์แล้วจักทำบุญอุทิศไปให้ท่าน. ดูก่อนบุตรคฤหบดี ทิศเบื้องหน้าคือมารดาบิดา อันบุตรถึงบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้วย่อมอนุเคราะห์บุตร ด้วยสถาน ๕ คือ ห้ามบุตรจากความชั่ว ให้บุตรตั้งอยู่ในความดี ให้ศึก ษาศิลปะ จัดหาภรรยาที่สมควรให้ มอบทรัพย์มรดกให้ในเวลาสมควร.

อนึ่ง ผู้ใดบำรุงมารดาบิดา ด้วยให้เกิดความเลื่อมใสในวัตถุ [รัตนะ] ทั้งสาม ด้วยให้ถึงพร้อมด้วยศีล ด้วยการบรรพชา ผู้นี้เป็นยอดของผู้บำรุงมารดาบิดา. การบำรุงมารดาบิดาของผู้นั้นเป็นการตอบแทนอุปการคุณที่มารดาบิดาทำมาแล้ว ตรัสว่า เป็นมงคล เพราะเป็นปทัฏฐานแห่งประโยชน์ทั้งหลายทั้งปัจจุบัน ทั้งภายภาคหน้า เป็นอันมาก.

ทั้งบุตรทั้งธิดา ที่เกิดจากตน ก็นับว่าบุตรทั้งนั้น ในคำว่า ปุตฺตทารสฺสนี้. บทว่า ทารา ได้แก่ภรรยา ๒๐ จำพวก จำพวกใดจำพวกหนึ่ง. บุตรและภรรยา ชื่อว่า ปุตตทาระ. ซึ่งบุตรและภรรยานั้น. บทว่า สงฺคโห ได้แก่ การทำอุปการะด้วยการยกย่องเป็นต้น. การอุปการะนั้น พึงทราบว่า เป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์สุขในปัจจุบัน มีความเป็นผู้จัดการงานดีเป็นต้น. ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสงเคราะห์บุตรภรรยาที่ทรง

 
  ข้อความที่ 74  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 190

ยกขึ้นแสดงว่า ทิศเบื้องหลัง พึงทราบว่าคือบุตรภรรยาไว้ด้วย ภริยา ศัพท์ จึงตรัสไว้ดังนี้ว่า (๑)

ดูก่อนบุตรคฤหบดี ทิศเบื้องหลังคือภรรยา อันสามีพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยการยกย่อง ด้วยการไม่ดูหมิ่น ด้วยการไม่นอกใจ ด้วยการมอบความเป็นใหญ่ให้ ด้วยการมอบเครื่องประดับให้. ดูก่อน บุตรคฤหบดี ทิศเบื้องหลังคือภรรยา อันสามีบำรุงด้วย สถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕ คือ จัดการงานดี สงเคราะห์คนข้างเคียง ไม่นอกใจ รักษาทรัพย์ที่สามีหามา ขยันไม่เกียจคร้านในกิจทุกอย่าง.

หรือ มีอีกนัยหนึ่งดังนี้ บทว่า สงฺคโห ได้แก่ การสงเคราะห์ด้วยทานการให้ ปิยวาจาพูดน่ารัก อรรถจริยาการบำเพ็ญประโยชน์อันเป็นธรรม. คืออะไร. การให้เสบียงอาหารในวันอุโบสถ การให้ดูงานนักขัตฤกษ์ กระทำมงคลในวันมงคล การโอวาทสั่งสอน ในประโยชน์ทั้งหลายที่เป็นไปในปัจจุบัน และเป็นไปภายหน้า การสงเคราะห์นั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์ในปัจจุบัน เพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์ในภายหน้า และเพราะเป็นเหตุแห่งความเป็นผู้ที่แม้เทวดาทั้งหลายพึงนอบน้อม. เหมือนอย่างที่ท้าวสักกะจอมทวยเทพตรัสไว้ว่า (๒)

เย คหฏฺา ปุญฺกรา สีลวนฺโต อุปาสกา ธมฺเมน ทารํ โปเสนฺติ เต นมสฺสามิ มาตลิ.


(๑) ที.ปา. ๑๑/ข้อ ๒๐,

(๒) สํ, สคาถ. ๑๕/ข้อ ๙๓๐

 
  ข้อความที่ 75  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 191

ดูก่อนมาตลี คฤหัสถ์เหล่าใด ทำบุญ มีศีล เป็นอุบาสก เลี้ยงดูภรรยาโดยธรรม เราย่อมนอบน้อมคฤหัสถ์เหล่านั้น.

การงานทั้งหลาย มีกสิกรรมทำไร่นา โครักขกรรมเลี้ยงโคและวณิชกรรม ค้าขายเป็นต้น เว้นจากภาวะอากูล มีการล่วงเลยเวลา การทำไม่เหมาะ และการทำย่อหย่อนเป็นต้น เพราะเป็นผู้รู้จักกาล เพราะเป็นผู้ทำเหมาะ เพราะเป็นผู้ไม่เกียจคร้าน และเพราะไม่ควรพินาศ เหตุถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร ชื่อว่าการงานไม่อากูล. การงานไม่อากูลเหล่านั้น อันบุคคลประกอบได้อย่างนี้ ก็เพราะตน บุตรภรรยา หรือทาสและกรรมกร เป็นผู้ฉลาด ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์ ข้าวเปลือกและความเจริญในปัจจุบัน. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า

ผู้มีธุระ ทำเหมาะ หมั่น ย่อมได้ทรัพย์.

และว่า

ผู้ชอบนอนหลับกลางวัน เกลียดการขยันกลางคืน เมาประจำ เป็นนักเลง ครองเรือนไม่ได้. ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลย พวกคนหนุ่มที่ทอดทิ้งการงาน ด้วยอ้างว่า หนาวนัก ร้อนนัก เย็นแล้ว. ผู้ใดไม่สำคัญความเย็นและควานร้อนยิ่งไปกว่าหญ้า ทำกิจของลูกผู้ชาย ผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมจากสุข.

และว่า

เมื่อคนรวบรวมโภคทรัพย์ เหมือนแมลงผึ้งรวบรวมน้ำหวาน โภคทรัพย์ย่อมสะสมเป็นกอง เหมือนจอมปลวกที่ปลวกทั้งหลายก่อขึ้นฉะนั้น.

 
  ข้อความที่ 76  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 192

อย่างนี้เป็นต้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๔ มงคล คือการบำรุงมารดา ๑ การบำรุงบิดา ๑ การสงเคราะห์บุตรภรรยา ๑ และการงานไม่อากูล ๑ หรือ ๕ มงคล เพราะแยกการสงเคราะห์บุตรและภรรยาออกเป็น ๒ หรือ ๓ มงคล เพราะรวมการบำรุงมารดาและบิดาเป็นข้อเดียวกัน. ก็ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล.

จบพรรณนาความแห่งคาถานี้ว่า มาตาปิตุอุปฏฺานํ

พรรณนาคาถาว่า ทานญฺจ

บัดนี้ จะพรรณนาในคาถานี้ว่า ทานญฺจ. ชื่อว่า ทาน เพราะเขาให้ด้วยวัตถุนี้ ท่านอธิบายว่า เขามอบทรัพย์ที่มีอยู่ของตนให้แก่ผู้อื่น. การประพฤติธรรมหรือความประพฤติที่ไม่ปราศจากธรรม ชื่อว่า ธรรมจริยา. ชื่อว่า ญาติ เพราะใครๆ ก็รู้ว่า ผู้นี้พวกของเรา. ไม่มีโทษ ชื่อว่า อนวัชชะ ท่าน อธิบายว่า ใครๆ นินทาไม่ได้ ติเตียนไม่ได้. คำที่เหลือมีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้นแล. นี้เป็นการพรรณนาบท.

ส่วนการพรรณนาความ พึงทราบดังนี้. เจตนาเป็นเหตุบริจาคทาน. วัตถุ ๑๐ มีข้าวเป็นต้น ซึ่งมีความรู้ดีเป็นหัวหน้า เฉพาะผู้อื่น หรือความไม่โลภ ที่ประกอบด้วยจาคเจตนานั้น ชื่อว่า ทาน. จริงอยู่ บุคคลย่อมมอบให้วัตถุนั้นแก่ผู้อื่น ด้วยความไม่โลภ. ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ชื่อว่า ทาน เพราะเขาให้ทานด้วยวัตถุนี้ ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบผลวิเศษที่เป็นไปในปัจจุบันและเป็นไปภายหน้า มีความเป็นผู้ที่ชนเป็นอันมากรักและพอใจเป็นต้น. ในเรื่องทานนี้ พึงระลึกถึงสูตรทั้งหลาย เป็นต้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนสีหะ ทานบดีผู้ทายกย่อมเป็นที่รักที่พอใจของชนเป็นอันมาก.

 
  ข้อความที่ 77  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 193

อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่า ทานมี ๒ คือ อามิสทานและธรรมทาน ในทานทั้งสองนั้น อามิสทาน ได้กล่าวมาแล้วทั้งนั้น. ส่วนการแสดงธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศแล้ว อันนำมาซึ่งความสิ้นทุกข์และสุขในโลกนี้และโลกหน้า เพราะหมายจะให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่นๆ ชื่อว่า ธรรมทาน. อนึ่ง บรรดาทานทั้งสองนี้ ธรรมทานนี้อย่างเดียวเป็นเลิศ เหมือนอย่างที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า (๑)

สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ สพฺพรตึ ธมฺมรติ ชินาติ ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชินาติ.

การให้ธรรมชนะการให้ทั้งปวง รสแห่งธรรม ชนะรสทั้งปวง ความยินดีในธรรมชนะความยินดีทั้งปวง ความสิ้นตัณหาชนะทุกข์ทั้งปวง.

ในพระสูตรและคาถานั้นก็ตรัสความที่อามิสทานเป็นมงคลเท่านั้น ส่วน ธรรมทานตรัสว่า เป็นมงคล เพราะเป็นปทัฏฐานแห่งคุณทั้งหลาย มีความเป็นผู้ซาบซึ้งอรรถเป็นต้น สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุแสดงธรรม ตามที่ฟังมา ตามที่เรียนมาโดยพิศดารแก่คนอื่นๆ โดยประการใดๆ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้ซาบซึ้งอรรถ และซาบซึ้งธรรม ในธรรมนั้น โดยประการนั้นๆ อย่างนี้ เป็นต้น.

การประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐ ชื่อว่า ธรรมจริยา เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เป็นต้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย การ


(๑) ขุ. ธ. ๒๕/ข้อ ๓๔

 
  ข้อความที่ 78  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 194

ประพฤติธรรม การประพฤติสม่ำเสมอ มี ๓ อย่าง. ก็การประพฤติธรรมนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุเข้าถึงโลกสวรรค์. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย เพราะเหตุที่ประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ สัตว์บางเหล่าในโลกนี้ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้.

ชนผู้เกี่ยวข้องข้างมารดาหรือข้างบิดา จนถึง ๗ ชั่วปู่ย่า ชื่อว่า ญาติ. การสงเคราะห์ญาติเหล่านั้น ผู้ถูกความเสื่อมโภคะถูกความเสื่อมเพราะเจ็บป่วย ครอบงำแล้วมาหาตน ด้วยอาหารเครื่องนุ่งห่มและข้าวเปลือกเป็นต้น ตามกำลัง ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบผลวิเศษ ที่เป็นปัจจุบันมีการสรรเสริญเป็นต้น และที่เป็นภายหน้ามีไปสุคติเป็นต้น. กิจกรรมที่เป็นสุจริต ทางกายวาจาใจมีการสมาทานองค์อุโบสถ การทำความขวนขวาย การปลูกสวนและป่า และสร้างสะพานเป็นต้น ชื่อว่า การงานไม่มีโทษ. การงานไม่มี โทษเหล่านั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้ประสบประโยชน์สุขนานาประการ. พึงระลึกถึงพระสูตรทั้งหลาย มีเป็นต้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนวิสาขา สตรี หรือบุรุษบางตนในศาสนานี้ ถืออุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก พึงเข้าถึงความเป็นสหายของทวยเทพ ชั้นจาตุมมหาราชิกาอันใด อันนั้นก็เป็นฐานะเป็นไปได้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๔ มงคล คือ ทาน ๑ ธรรมจริยา ๑ การสงเคราะห์ญาติ ๑ การงานไม่มีโทษ ๑ ด้วยประการ ฉะนี้. ก็ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ก็ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล.

จบพรรณนาความแห่งคาถานี้ว่า ทานญฺจ

 
  ข้อความที่ 79  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 195

พรรณนาคาถาว่า อารตี

บัดนี้ จะพรรณนาในคาถาว่า อารตี วิรตี นี้. ชื่อว่า อารมณะ เพราะงด. ชื่อว่า วิรมณะ เพราะเว้น. อีกนัยหนึ่ง เจตนาชื่อว่า วิรติ เพราะเป็นเครื่องที่สัตว์งดเว้น. บทว่า ปาปา ได้แก่จากอกุศล. ชื่อว่า มัชชะ เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งแห่งความเมา. การดื่มมัชชะ ชื่อว่า มัชชปานะ. สำรวมจากมัชชปานะนั้น. ความระวังชื่อว่า สํยมะ. ความไม่ประมาทชื่อว่า อัปปมาทะ. บทว่า ธมฺเมสุ ได้แก่ ในกุศลทั้งหลาย. คำที่เหลือมีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้นแล นี้เป็นการพรรณนาบท.

ส่วนการพรรณาความ พึงทราบดังนี้. ความไม่ยินดียิ่งทางใจอย่างเดียวของบุคคลผู้เห็นโทษในบาป ชื่อว่า อารติ. ความเว้นทางกายวาจา โดยกรรมและทวาร ชื่อว่า วิรัติ.

ก็ธรรมดาวิรัตินั่นนั้นมี ๓ คือ สัมปัตตวิรัติ ๑ สมาทานวิรัติ ๑ สมุจเฉทวิรัติ ๑. บรรดาวิรัติทั้ง ๓ นั้น วิรัติเจตนางดเว้นจากวัตถุที่ประสบเข้าอันใดของกุลบุตร โดยนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า ข้อที่เราจะฆ่าสัตว์นี้ จะลักทรัพย์เป็นต้น เมื่อนึกถึงชาติตระกูล หรือโคตรของตน ก็ไม่สมควรแก่เราเลย วิรัติเจตนางดเว้นอันนี้ชื่อว่า สัมปัตตวิรัติ. กุลบุตรไม่ทำบาปมีปาณาติบาตเป็นต้น ตั้งแต่ประพฤติวิรัตอันใด วิรัติอันนั้น เป็นไปโดยสมาทานสิกขาบท ชื่อว่า สมาทานวิรัติ. ภัยเวร ๕ ของพระอริยสาวกระงับไป ตั้งแต่ประพฤติวิรัติใด วิรัตินั้นประกอบด้วยอริยมรรค ชื่อว่า สมุจเฉทวิรติ. บาปอกุศลนั้นใด มี ๔ อย่าง กล่าวคือกรรมกิเลส ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้พิศดารอย่างนี้ว่า ดูก่อนบุตรคฤหบดี กรรมกิเลส คือ ปาณาติบาต กรรมกิเลสคือ อทินนาทาน ฯลฯ กรรมกิเลส คือ มุสาวาส ดังนี้แล้วทรงสังเขปไว้ด้วยคาถา อย่างนี้ว่า

 
  ข้อความที่ 80  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 196

ปาณาติปาโต อทินฺนาทานํ มุสาวาโท จ วุจฺจติ ปรทารคมนญฺเจว นปฺปสํสนฺติ ปณฺฑิตา

ท่านกล่าวกรรมกิเลส ๔ คือ ปาณาติบาต, อทินนาทาน, มุสาวาท และการละเมิดภรรยาของผู้อื่น. บัณฑิตทั้งหลาย ไม่สรรเสริญเลย.

การงดเว้นจากบาปอกุศลนั้น การงดการเว้นแม้ทั้งหมดนั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบผลวิเศษนานาประการ มีการละภัยเวรที่เป็นปัจจุบันและเป็นไปภายหน้าเป็นต้น. ก็ในข้อนี้ พึงระลึกถึงพระสูตรทั้งหลาย โดยนัยเป็นต้นว่า ดูก่อนบุตรคฤหบดี อริยสาวกเว้นขาดจากปาณาติบาตแล.

จะกล่าวพรรณนาการสำรวมจากการดื่มของเมา. คำนี้เป็นชื่อของเจตนางดเว้นจากที่ตั้งแห่งความประมาท คือการดื่มของเมา คือสุราและเมรัย ที่กล่าวไว้ก่อนแล้ว. ก็เพราะเหตุที่ผู้ดื่มของเมาย่อมไม่รู้อรรถ ไม่รู้ธรรม ย่อมทำอันตรายแก่มารดา ทำอันตรายแก่บิดา แม้แก่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพระพุทธเจ้า และพระสาวกของพระตถาคต ย่อมประสบการติเตียนในภพปัจจุบัน ประสบทุคติในภพเบื้องหน้า และประสพความเป็นบ้าในภพต่อๆ ไป. ส่วนการสำรวมจากการดื่มของเมา ย่อมบรรลุการระงับโทษเหล่านั้น และการถึงพร้อมด้วยคุณตรงกันข้ามกับโทษนั้น. ฉะนั้น การสำรวมจากการดื่มของเมานี้ พึงทราบว่าเป็นมงคล.

ความอยู่ไม่ปราศจากสติในกุศลธรรมทั้งหลาย โดยอรรถพึงทราบ โดยเป็นปฏิปักษ์ต่อความประมาท ที่ท่านกล่าวไว้ในบาลีนี้ ความกระทำโดยไม่เคารพ ความกระทำโดยไม่ต่อเนื่อง ความกระทำไม่มั่นคง ความประพฤติ

 
  ข้อความที่ 81  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 197

ย่อหย่อน ความทอดฉันทะ ความทอดธุระ. การไม่เสพ การไม่เจริญ การไม่ทำให้มาก การไม่ตั้งใจ การไม่ประกอบเนืองๆ ความเลินเล่อในการอบรมกุศลธรรมทั้งหลาย ความประมาท ความเลินเล่อ ความเป็นผู้เลินเล่อ เห็นปานนี้ใด อันนี้เรียกว่า ประมาท. ชื่อว่าความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย. ความไม่ประมาทในกุศลธรรมนั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบกุศลนานาประการ และเพราะเป็นเหตุบรรลุอมตธรรม. ในข้อนั้นพึงระลึกถึงคำสั่งสอนของพระศาสดา เป็นต้นอย่างนี้ว่า ผู้ไม่ประมาท ผู้มีความเพียร และว่า ความไม่ประมาทเป็นอมตบท ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๓ มงคล คือ การงดเว้นจากบาป ๑ การสำรวมจากการดื่มของเมา ๑ ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย ๑ ด้วยประการฉะนี้. ก็ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ก็ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล.

จบพรรณนาความแห่งคาถาว่า อารตี

พรรณนาคาถาว่า คารโว จ

บัดนี้ จะพรรณนาในคาถาว่า คารโว จ นี้. บทว่า คารโว ได้แก่ ความเป็นผู้หนัก [การณ์]. บทว่า นิวาโต ได้แก่ ความประพฤติถ่อมตน. บทว่า สนฺตุฏฺิ แปลว่า ความสันโดษ. ความรู้อุปการะคุณที่ท่านทำไว้ ชื่อว่า กตัุตา. บทว่า กาเลน แปลว่า ขณะสมัย. การฟังธรรม ชื่อว่า ธัมมัสสวนะ. คำที่เหลือมีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้นแล นี้เป็นการพรรณนาบท.

 
  ข้อความที่ 82  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 198

ส่วนการพรรณนาความ พึงทราบดังนี้. ความเคารพ การทำความเคารพ ความเป็นผู้มีความเคารพตามสมควรในพระพุทธเข้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวกของพระตถาคต อาจารย์ อุปัชฌาย์ มารดาบิดา พี่ชาย พี่สาว เป็นต้น เป็นผู้ควรประกอบความเคารพ ชื่อว่า คารวะ. คารวะนี้นั้น เพราะเหตุที่เป็นเหตุแห่งการไปสุคติเป็นต้น เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

บุคคลกระทำความเคารพผู้ที่ควรเคารพ สักการะผู้ที่ควรสักการะ นับถือผู้ที่ควรนับถือ บูชาผู้ที่ควรบูชา. เพราะกรรมนั้น ที่ยึดถือไว้บริบูรณ์อย่างนี้ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค. ถ้าเขาไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ หากเขา มาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเป็นผู้มีตระกุลสูงในประเทศที่กลับมาเกิด ดังนี้.

และเหมือนอย่างที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความไม่เสื่อม ๗ ประการเหล่านี้. ๗ ประการเป็นไฉน ๗ ประการมี ความเป็นผู้มีความเคารพในพระศาสดา ดังนี้เป็นต้นฉะนั้น จึงตรัสว่าเป็นมงคล.

ความเป็นผู้มีใจลดต่ำ ความเป็นผู้มีความประพฤติไม่ลำพอง ชื่อว่า ความถ่อมตน. บุคคลประกอบด้วยความเป็นผู้ถ่อมตนอันใด กำจัดมานะได้ กำจัดความกระด้างได้ เป็นเสมือนผ้าเช้ดเท้า เสมอด้วยโคอุสุภะเขาขาด และเสมอด้วยงูที่ถูกถอนเขี้ยวแล้ว ย่อมเป็นผู้ละเอียดอ่อนละมุนละไม ผ่องแผ้วด้วยสุข ความเป็นผู้ถ่อมตนอันนี้ เป็นนิวาตะ นิวาตะนี้นั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะ

 
  ข้อความที่ 83  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 199

เป็นเหตุได้คุณ มียศเป็นต้น. อนึ่ง ตรัสไว้ว่า ผู้มีความถ่อมตน ไม่กระด้าง คนเช่นนั้น ย่อมได้ยศ ดังนี้ เป็นต้น.

ความสันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ชื่อว่า สันตุฏฐี. สันโดษนั้น มี ๑๒ อย่าง คือ ในจีวร ๓ อย่าง คือยถาลาภสันโดษ สันโดษตามที่ได้. ยถาพลสันโดษ สันโดษตามกำลัง ยถาสารุปปสันโดษ สันโดษตามสมควร. ในบิณฑบาตเป็นต้นก็อย่างนี้.

จะพรรณนาประเภทแห่งสันโดษนั้น ดังนี้. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้จีวรดีหรือไม่ดี ภิกษุนั้น ก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรนั้นเท่านั้น ไม่ประสงค์จีวรอื่น เมื่อได้ก็ไม่รับ นี้ชื่อว่า ยถาลาภสันโดษในจีวรของภิกษุนั้น.

อนึ่งเล่า ภิกษุอาพาธเมื่อห่มจีวรหนัก ย่อมต้องค้อมตัวลง หรือลำบาก เธอจึงเปลี่ยนจีวรนั้นกับภิกษุที่ชอบกัน ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรนั้น ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่ นี้ชื่อว่า ยถาพลสันโดษในจีวรของภิกษุนั้น.

ภิกษุอีกรูปหนึ่ง เป็นผู้ได้ปัจจัยอันประณีต เธอได้จีวรบรรดาจีวรชั้นดีเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีค่ามาก คิดว่าจีวรนี้เหมาะแก่พระเถระ พระผู้บวชมานานและพระพหูสูตจึงถวายแก่พระภิกษุเหล่านั้น ตนเองก็เลือกเอาเศษผ้าจากกองขยะ หรือจากที่ไรๆ อื่น ทำสังฆาฎิครอง ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่นั่นเอง นี้ชื่อว่า ยถาสารุปปสันโดษในจีวรของภิกษุนั้น.

อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้บิณฑบาต ปอนหรือประณีตยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยบิณฑบาตนั้น ไม่ประสงค์บิณฑบาตอื่น. แม้เมื่อได้ก็ไม่รับ นี้ชือว่า ยถาลาภสันโดษในบิณบาตของภิกษุนั้น.

อนึ่งเล่า ภิกษุอาพาธฉันบิณฑบาตเศร้าหมองโรคจะกำเริบหนัก เธอจึงถวายบิณฑบาตนั้นแก่ภิกษุที่ชอบกัน ฉันเนยใส น้ำผึ้ง และนนสดเป็นต้น

 
  ข้อความที่ 84  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 200

จากมือของภิกษุนั้น แม้ทำสมณธรรมอยู่ ก็ยังเป็นผู้สันโดษ นี้เป็น ยถาพลสันโดษในบิณฑบาตของภิกษุนั้น.

ภิกษุอีกรูปหนึ่ง ได้บิณฑบาตอันประณีต เธอคิดว่า บิณฑบาตนี้เหมาะแก่พระเถระ พระผู้บวชมานาน และแม้แก่สพรหมจารีอื่น ผู้เว้น บิณฑบาตอันประณีตเสีย ก็ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ จึงได้ถวายแก่ภิกษุเหล่านั้น ตนเองเทียวบิณฑบาต แม้ฉันอาหารที่ปนกันก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่ นี้ชื่อว่า ยถาสารุปปสันโดษในบิณฑบาตของภิกษุนั้น.

อนึ่ง เสนาสนะมาถึงภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอก็สันโดษด้วยเสนาสนะนั้นนั่นแหละ ไม่ยอมรับเสนาสนะอื่น แม้ดีกว่าที่มาถึงอีก นี้ชื่อว่า ยถาลาภสันโดษในเสนาสนะของภิกษุนั้น.

อนึ่งเล่า ภิกษุอาพาธอยู่ในเสนาสนะที่อับลม ย่อมจะทุรนทุรายอย่างเหลือเกิน ด้วยโรคดีเป็นต้น เธอจึงถวายเสนาสนะแก่ภิกษุที่ชอบกัน แล้วอยู่เสียในเสนาสนะอันเย็น มีลม ที่ถึงแก่ภิกษุนั้น แม้กระทำสมณธรรม ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่ นี้ชื่อว่า ยถาพลสันโดษในเสนาสนะของภิกษุนั้น.

ภิกษุอีกรูปหนึ่ง ไม่ยอมรับเสนาสนะที่ดีแม้มาถึง คิดว่าเสนาสนะดี เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เมื่อภิกษุนั่งในเสนาสนะนั้น ถีนมิทธะย่อมครอบงำ เมื่อหลับแล้วตื่นขึ้นมาอีก กามวิตกย่อมฟุ้งขึ้น เธอจึงปฏิเสธเสนาสนะนั้นเสีย อยู่แต่ในที่แจ้ง โคนไม้และกุฏิมุงบังด้วยใบไม้ แห่งใดแห่งหนึ่ง ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่ นี้ชื่อว่า ยถาสารุปปสันโดษในเสนาสนะของภิกษุนั้น

อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้เภสัชไม่ว่าผลสมอหรือมะขามป้อม เธอก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยเภสัชนั้น. ไม่ประสงค์เภสัชอย่างอื่น มีเนยใส น้ำผึ้ง

 
  ข้อความที่ 85  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 201

น้ำอ้อยเป็นต้นที่ได้แล้ว แม้เมื่อได้ก็ไม่รับ นี้ชื่อว่า ยถาลาภสันโดษในคิลานปัจจัยของภิกษุนั้น.

อนึ่ง ภิกษุอาพาธ ต้องการน้ำมัน แต่ได้น้ำอ้อย เธอก็ถวายน้ำอ้อยนั้นแก่ภิกษุที่ชอบกัน แต่ทำยาด้วยน้ำมันจากมือของภิกษุนั้น แม้กระทำสมณธรรม ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่ นี้ชื่อว่า ยถาพลสันโดษในคิลานปัจจัย ของภิกษุนั้น.

ภิกษุอีกรูปหนึ่ง ใส่สมอดองกับมูตรเน่าลงในภาชนะใบหนึ่ง ใส่ของมีรสอร่อย ๔ อย่างลงในภาชนะใบหนึ่ง เมื่อถูกเพื่อนภิกษุบอกว่า ท่านต้องการสิ่งใด ก็ถือเอาเถิดท่าน ถ้าว่า อาพาธของภิกษุนั้น ระงับไปด้วยสมอดองน้ำมูตรเน่าและของรสอร่อยทั้งสองนั้น อย่างใดอย่างหนึ่งไซร้ เมื่อเป็นดังนั้นเธอคิดว่า ธรรมดาว่าสมอดองด้วยมูตรเน่า พระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงสรรเสริญแล้ว และพระพุทธเจ้าตรัสว่า บรรพชาอาศัยมูตรเน่าเป็นเภสัช พึง ทำความอุตสาหะในมูตรเน่าเป็นเภสัชนั้น จนตลอดชีวิต ปฏิเสธของมีรสอร่อย เป็นเภสัช แม้กระทำเภสัชด้วยสมอดองด้วยมูตรเน่า ก็เป็นผู้สันโดษอย่างยิ่ง นี้ชื่อว่า ยถาสารุปปสันโดษในคิลานปัจจัยของภิกษุนั้น.

สันโดษแม้ทั้งหมดนั้น มีประเภทอย่างนี้ ก็เรียกว่า สันตุฏฐี สันตุฏฐีนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบการละบาปธรรมทั้งหลาย มีความปรารถนาเกินส่วน ความมักมาก และความปรารถนาลามกเป็นต้น เพราะเป็นเหตุแห่งสุคติ เพราะเป็นเครื่องอบรมอริยมรรค และเพราะเป็นเหตุแห่งความเป็นผู้อยู่ได้สบายในทิศทั้ง ๔ ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

จาตุทฺทิโส อปฺปฏิโฆ จ โหติ สนฺตุสฺสมาโน อิตรีตเรน.

 
  ข้อความที่ 86  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 202

ผู้สันโดษด้วยปัจจัยตามมีความได้ ย่อมเป็นผู้อยู่สบายในทิศทั้ง ๔ และไม่มีปฏิฆะเลย ดังนี้เป็นต้น

ความรู้จักอุปการคุณที่ผู้ใดผู้หนึ่งทำมาแล้ว ไม่ว่ามากหรือน้อย โดยการระลึกถึงเนืองๆ ชื่อว่า กตัญญุตา. อนึ่ง บุญทั้งหลายนั่นแล มีอุปการะมากแก่สัตว์ทั้งหลายเพราะป้องกันทุกข์มีทุกข์ในนรกเป็นต้นได้. ดังนั้น การระลึกถึงอุปการะของบุญแม้เหล่านั้น ก็พึงทราบว่าเป็น กตัญญุตา. กตัญญุตานั้นตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบผลวิเศษมีประการต่างๆ มีเป็นผู้อันสัตบุรุษทั้งหลายพึงสรรเสริญเป็นต้น. ทั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๒ จำพวกเหล่านี้ หาได้ยากในโลก คือ บุพพการี ๑ กตัญญูกตเวที ๑.

การฟังธรรม เพื่อบรรเทาความวิตกในกาลที่จิตประกอบด้วยอุทธัจจะ หรือจิตถูกวิตกทั้งหลายมีกามวิตกเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งครอบงำ ชื่อว่าการ ฟังธรรมตามกาล. อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า การฟังธรรมทุกๆ ๕ วัน ชื่อ ว่าการฟังธรรมตามกาล เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวว่า ท่านพระอนุรุทธะ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญพวกข้าพระองค์นั่งประชุมกันด้วยธรรมมีกถาคืนยังรุ่ง ทุก ๕ วันแล.

อนึ่ง ในกาลใด ภิกษุเข้าไปหากัลยาณมิตรแล้วอาจฟังธรรมบรรเทาความสงสัยของตนเสียได้ การฟังธรรมแม้ในกาลนั้น ก็พึงทราบว่าการฟังธรรมตามกาล เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุเข้าไปหากัลยาณมิตรเหล่านั้น สอบถามไล่เลียงตลอดกาล ตามกาล. การฟังธรรมตามกาลนั้นนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบผลวิเศษนานาประการมีการละนีวรณ์ได้อานิสงส์ ๔ และบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะเป็นต้น. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า.

 
  ข้อความที่ 87  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 203

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในสมัยใด พระอริยสาวกใส่ใจทำให้เป็นประโยชน์ รวบรวมทุกอย่างไว้ด้วยใจ เงี่ยโสตฟังธรรม ในสมัยนั้น นีวรณ์ ๕ ของพระ อริยสาวกนั้นย่อมไม่มี.

และว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พึงหวังอานิสงส์ ๔ ประการ แห่งธรรมทั้งหลายที่คุ้นโสต ฯลฯ ที่แทงตลอดด้วย ดีแล้ว.

และว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ เหล่านี้ อันภิกษุอบรมโดยชอบ หมุนเวียนไปโดยชอบ ตลอดกาลตามกาล ย่อมให้ถึงธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะโดยลำดับ ธรรม ๔ ประการ คือ การฟังธรรมตามกาล.

อย่างนี้เป็นต้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๕ มงคล คือ ความเคารพ ๑ การถ่อมตน ๑ สันโดษ ๑ กตัญญุตา ๑ และการฟังธรรมตามกาล ๑ ด้วยประการฉะนี้. ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ก็ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล.

จบพรรณนาความแห่งคาถานี้ว่า คารโว จ

 
  ข้อความที่ 88  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 204

พรรณนาคาถาว่า ขนฺตี จ

บัดนี้ จะพรรณนาในคาถาว่า ขนฺตี จ นี้. ความอดทนชื่อว่าขันติ ชื่อว่าสุวจะ เพราะมีความว่าง่าย เพราะเป็นผู้ถือเอาโดยเบื้องขวา กรรมของผู้ว่าง่าย ชื่อว่า โสวจัสสะ. ความเป็นแห่งกรรมของผู้ว่าง่าย ชื่อว่า โสวจัสสตา. ชื่อว่าสมณะ เพราะระงับกิเลสทั้งหลายได้. บทว่า ทสฺสนํ ได้แก การเพ่งดู. การสนทนาธรรม ชื่อว่า ธรรมสากัจฉา. คำที่เหลือมีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้นแล. นี้เป็นการพรรณนาบท.

ส่วนการพรรณนาความ พึงทราบดังนี้.

อธิวาสนขันติ ชื่อว่า ขันติ ที่ภิกษุผู้ประกอบด้วยขันตินั้นแล้วย่อมไม่มีอาการผิดปกติเป็นผู้เหมือนไม่ได้ยินบุคคลที่ด่าด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ และเหมือนไม่เห็นบุคคลผู้เบียดเบียนด้วยการฆ่าและการจองจำเป็นต้นเหมือนขันติวาทีดาบสฉะนั้น. เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

อหุ อตีตมทฺธานํ สมโณ ขนฺติทีปโน ตํ ขนฺติยาเยว ิตํ กาสิราชา อเฉทยิ.

สมณะผู้แสดงขันติ ได้มีมาแล้วในอดีตกาล พระเจ้ากาสีได้ทรงทำลายสมณะผู้ตั้งอยู่ในขันตินั่นแล.

หรือย่อมใส่ใจว่าเขาทำดีแล้ว เพราะไม่มีความผิดยิ่งไปกว่านั้น เหมือน ท่านปุณณเถระ ฉะนั้น อย่างที่ท่านกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าผู้คนชาวสุนาปรันตกะ จักด่าจักบริภาษข้าพระองค์ไซร้ ในข้อนั้น ข้าพระองค์จักใส่ใจว่า. ผู้คนชาวสุนาปรันตกะเหล่านี้ เป็นผู้เจริญหนอ ผู้คนชาวสุนาปรันตกะเหล่านี้ เป็นผู้เจริญดีหนอ ผู้คนเหล่านี้ไม่ตีข้าพระองค์ด้วยมือดังนี้ เป็นต้น.

 
  ข้อความที่ 89  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 205

และที่ภิกษุประกอบด้วยขันตินั้นแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่แม้แต่ฤษีทั้งหลายก็พึงสรรเสริญ. อย่าง ท่านสรภังคฤษี กล่าวไว้ว่า

โกธํ วธิตฺวา น กทาจิ โสจติ มกฺขปฺปหานํ อิสโข วณฺณยนฺติ สพฺเพสํ วุตฺตํ ผรุสํ ขเมถ เอตํ ขนฺตึ อุตฺตมมาหุ สนฺโต.

คนฆ่าความโกรธได้แล้วย่อมไม่เศร้าโศกในกาลไหนๆ ฤษีทั้งหลายย่อมสรรเสริญการละความลบหลู่ คนควรอดทนคำหยาบที่คนทั้งปวงกล่าวแล้ว สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญขันตินั้นว่าสูงสุด.

ย่อมเป็นผู้ที่แม้แต่เทวดาทั้งหลายก็พึงสรรเสริญ อย่างที่ท้าวสักกะจอมทวยเทพตรัสไว้ว่า

โย หเว พลวา สนฺโต ทุพฺพลสฺส ติติกฺขติ ตมาหุ ปรมํ ขนฺตึ นิจฺจํ ขมติ ทุพฺพโล.

ผู้ใดเป็นคนแข็งแรง อดทนต่อคนอ่อนแอ สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญขันตินั้นของผู้นั้นว่าเป็นเยี่ยม คนอ่อนแอย่อมต้องอดทนอยู่เป็นประจำ.

ย่อมเป็นผู้ที่แม้แต่พระพุทธะทั้งหลายก็พึงสรรเสริญ. อย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

อกฺโกสํ วธพนฺธญฺจ อทุฏฺโ โย ติติกฺขติ ขนฺตีพลํ พลาณีกํ ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ.

 
  ข้อความที่ 90  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 206

ผู้ใดไม่โกรธ อดกลั้นการด่าการฆ่าและการจองจำได้ เราเรียกผู้นั้น ซึ่งมีขันติเป็นกำลังมีกองกำลังว่า พราหมณ์.

ก็ขันตินั่นนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบคุณเหล่านั้น และคุณอื่นๆ ที่ทรงสรรเสริญในที่นี้.

เมื่อถูกเพื่อนสพรหมจารีว่ากล่าวโดยธรรม ก็ไม่ถึงความฟุ้งซ่าน ความนิ่งงันหรือคิดถึงคุณและโทษ วางความเอื้อเฟื้อ ความเคารพ และความมีใจตกลงต่ำเป็นเบื้องหน้าอย่างยิ่งแล้วเปล่งถ้อยคำว่า ดีละขอรับ ดังนี้ ชื่อว่า โสวจัสสตา ความว่าง่าย. โสวจัสสตานั้น ตรัสว่า เป็นมงคล เพราะเป็นเหตุได้โอวาทและอนุศาสนี จากสำนักเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย และเพราะเป็นเหตุละโทษและบรรลุคุณ.

การเข้าไปหาการบำรุง การระลึก การฟังและการเห็นนักบวชทั้งหลายผู้ระงับกิเลสแล้ว อบรมกายวาจาจิตและปัญญาแล้ว ประกอบด้วยความสงบอย่างสูง ชื่อว่า การเห็นสมณะทั้งหลาย. การเห็นสมณะแม้ทั้งหมด ท่านกล่าวว่าทัสสนะ โดยเทศนาอย่างต่ำ. การเห็นสมณะนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล. เพราะเหตุไร. เพราะมีอุปการะมาก จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าการเห็นภิกษุเหล่านั้น มีอุปการะมาก เพราะบุญอันใด กุลบุตรผู้ต้องการประโยชน์ เห็นภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลมาถึงประตูเรือน ผิว่าไทยธรรมมีอยู่ ก็พึงนับถือด้วยไทยธรรมตามกำลัง ผิว่าไม่มี ก็พึงไหว้ อย่างเบญจางคประดิษฐ์ เมื่อการไหว้อย่างเบญจางคประดิษฐ์ยังไม่พร้อม ก็พึงประคองอัญชลีนมัสการ เมื่อการนอบน้อม ยังไม่พร้อม ก็มีจิตผ่องใส แลดูด้วยจักษุที่น่ารัก ด้วยบุญที่มีการแลดูเป็นมูลอย่างนี้ โรคหรือโทษ ฝ้าหรือต่อมจะไม่มีในจักษุ ตลอดหลายพันชาติ จักษุทั้งสองก็จะผ่องใส มีสิริ มี

 
  ข้อความที่ 91  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 207

วรรณะ ๕ เสมือนบานประตูแก้วมณีที่เปิดในรัตนวิมาน เขาจะได้สมบัติในเทวดาและมนุษย์ ประมาณแสนกัป ข้อที่เขาเกิดเป็นมนุษย์เป็นคนมีปัญญา พึงเสวยวิปากสมบัติเห็นปานนี้ ก็ด้วยบุญที่สำเร็จมาแต่การเห็นสมณะ ซึ่งเขาประพฤติมาโดยชอบ ไม่น่าอัศจรรย์เลย แม้สำหรับสัตว์เดียรัจฉาน บัณฑิตทั้งหลาย ก็พรรณนาวิบากสมบัติของการเห็นสมณะที่เพียงทำศรัทธาให้เกิดแล้วอย่างเดียวไว้อย่างนี้ ในบาลีประเทศใด บาลีประเทศนั้นมีว่า

นกฮูก ตากลม อาศัยอยู่ที่เวทิยกบรรพตมาตลอดกาลยาวนาน นกฮูกตัวนี้สุขแท้หนอ เห็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ซึ่งลุกขึ้นแต่เช้า.

มันทำจิตให้เลื่อมใสในตัวเรา และภิกษุสงฆ์ผู้ยอดเยี่ยม ไม่ต้องไปทุคติถึงแสนกัป มันจุติจากเทวโลก อันกุศลกรรมตักเตือนแลัวจักเป็นพระพุทธะ ผู้มีอนันตญาณ ปรากฏพระนามว่า โสมนัสสะ ดังนี้.

ในเวลาพลบค่ำ หรือในเวลาย่ำรุ่ง ภิกษุฝ่ายพระสูตร ๒ รูป ย่อมสนทนาพระสูตรกัน ฝ่ายพระวินัยก็สนทนาพระวินัยกัน ฝ่ายพระอภิธรรมก็สนทนาพระอภิธรรมกัน ฝ่ายชาดกก็สนทนาชาดกกัน ฝ่ายอรรถกถาก็สนทนาอรรถกถากันหรือสนทนากันในกาลนั้นๆ เพื่อชำระจิตที่ถูกความหดหู่ ความฟุ้งซ่านและความสงสัยชักนำไป การสนทนาตามกาลนี้ ชื่อว่า การสนทนาธรรมตามกาล การสนทนาธรรมตามกาลนั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งคุณทั้งหลายมีความฉลาดในอาคมคือนิกายทั้ง ๕ เป็นต้นแล.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๔ มงคล คือ ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การเห็นสมณะ ๑ และการสนทนาธรรมตามกาล ๑ ด้วยประการฉะนี้. ก็ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล.

จบพรรณนาความแห่งคาถาว่า ขนฺตี จ

 
  ข้อความที่ 92  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 208

พรรณนาคาถาว่า ตโป จ

บัดนี้ จะพรรณนาในคาถาว่า ตโป จ นี้. ชื่อว่า ตปะ เพราะเผาบาปธรรม. ความประพฤติอย่างพรหม หรือความประพฤติของพรหม ชื่อว่า พรหมจรรย์ ท่านอธิบายว่า ความประพฤติอย่างประเสริฐ. การเห็นอริยสัจทั้งหลาย ชื่อว่า อริยสจฺจาน ทสฺสนํ. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า อริยสจฺจานิ ทสฺสนํ ดังนี้ก็มี. ชื่อว่า นิพพาน เพราะออกจากวานะตัณหาเครื่องร้อยรัด การทำให้แจ้งชื่อว่า สัจฉิกิริยา. การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ชื่อว่านิพพานสัจฉิกิริยา. คำที่เหลือ มีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้นแล นี้เป็นการพรรณนาบท

ส่วนการพรรณนาความ พึงทราบดังนี้ อินทรียสังวรชื่อว่า ตปะ เพราะเผาอภิชฌาและโทมนัสเป็นต้น หรือความเพียรชื่อว่า ตปะ เพราะเผาความเกียจคร้าน บุคคลผู้ประกอบด้วยตปะเหล่านั้น ท่านเรียกว่า อาตาปี ตปะนี้นั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุละอภิชฌาเป็นต้น และได้ฌานเป็นอาทิ.

ชื่อว่าพรหมจรรย์เป็นชื่อของ เมถุนวิรัติ สมณธรรม ศาสนาและ มรรค. จริงอย่างนั้น เมถุนวิรัติ ท่านเรียกว่า พรหมจรรย์ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า พฺรหฺมจริยํ ปหาย พฺรหฺมจารี โหติ ละเมถุนวิรัติ เป็นพรหมจารี. สมณธรรม เรียกว่าพรหมจรรย์ ได้ในประโยค เป็นต้น อย่างนี้ว่า ภควติ โน อาวุใส พฺรหฺมจริยํ วุสฺสติ ผู้มีอายุ เราอยู่ประพฤติสมณธรรม ในพระผู้มีพระภาคเจ้า.

ศาสนา เรียกว่าพรหมจรรย์ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า น ตาวาหํ ปาปิม ปรินิพฺพายิสฺสามิ ยาว เม อิทํ พฺรหฺมจริยํ น อิทฺธญฺเจว ภวิสฺสติ ผีตญฺจ วิตฺถาริกํ พาหุชญฺํ ดูก่อนมาร ตราบ

 
  ข้อความที่ 93  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 209

ใดศาสนานี้ของเรา จักยังไม่มั่นคงเจริญแพร่หลายรู้กันมากคน เราก็จักยังไม่ปรินิพพานตราบนั้น.

มรรคเรียกว่า พรหมจรรย์ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า อยเมว โข ภิกฺขุ อริโย อฏฺงฺคิโก มคฺโค พฺรหฺมจริยํ เสยฺยถีทํ สมฺมาทิฏิ ดูก่อนภิกษุ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิเป็นต้น เป็นพรหมจรรย์. แต่ในที่นี้ พรหมจรรย์แม้ทุกอย่างไม่เหลือ ย่อมควร เพราะมรรคท่านสงเคราะห์ด้วยอริยสัจจานทัสสนะข้างหน้าแล้ว. ก็พรหมจรรย์นั่นนั้น พึง ทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบผลวิเศษนานาประการชั้นสูงๆ.

การเห็นมรรค โดยตรัสรู้อริยสัจ ๔ ที่กล่าวไว้แลัวในกุมารปัญหา ชื่อว่า อริยสัจจานทัสสนะ. อริยสัจจานทัสสนะนั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุล่วงทุกข์ในสังสารวัฎ.

อรหัตผล ท่านประสงค์เอาว่า นิพพาน ในที่นี้. ชื่อว่า นิพพานสัจฉิกิริยา กระทำให้แจ้งในพระนิพพาน. จริงอยู่อรหัตผลแม้นั้น ท่านกล่าวว่านิพพาน เพราะออกจากตัณหา ที่เข้าใจกันว่า วานะ เพราะร้อยไว้ใน คติ ๕. การถึงหรือการพิจารณาพระนิพพานนั้น เรียกว่า สัจฉิกิริยา แต่การทำให้แจ้งพระนิพพานนอกนี้สำเร็จได้ด้วยการเห็นอริสัจ ๔ นั่นแล ด้วยเหตุนั้น การเห็นอริยสัจนั้น ท่านจึงไม่ประสงค์ในที่นี้. การทำให้แจ้งพระนิพพานนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุอยู่เป็นสุขในปัจจุบันเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๔ มงคล คือ ตปะ ๑ พรหมจรรย์ ๑ อริยสัจจานทัสสนะ ๑ และนิพพานสัจฉิกิริยา ๑ ด้วยประการฉะนี้. ก็ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล.

จบพรรณนาความแห่งคาถานี้ว่า ตโป จ

 
  ข้อความที่ 94  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 210

พรรณนาคาถาว่า ผุฏฺสฺส โลกธมฺเมหิ

บัดนี้ จะพรรณนาในคาถาว่า ผุฏฺสฺส โลกธมฺเมหิ บทว่า ผุฏฺสฺส ได้แก่ ถูกแล้ว ต้องแล้ว ประสบแล้ว. ธรรมทั้งหลายในโลก ชื่อว่า โลกธรรม. ท่านอธิบายว่า ธรรมทั้งหลาย จะไม่หวนกลับตราบเท่าที่ โลกยังดำเนินไป. บทว่า จิตฺตํ ได้แก่ มโน มานัส. บทว่า ยสฺส ได้แก่ ของภิกษุใหม่ ภิกษุปูนกลาง หรือภิกษุผู้เถระ. บทว่า น กมฺปติ ได้แก่ ไม่หวั่น ไม่ไหว. บทว่า อโสกํ ได้แก่ ไร้ความโศก ถอนโศกศัลย์เสียแล้ว. บทว่า วรชํ ได้แก่ ปราศจากละอองกิเลส กำจัดละอองกิเลสแล้ว. บทว่า เขมํ ได้แก่ ไม่มีภัย ไร้อุปัทวะ. คำที่เหลือมีนัยที่กล่าวไว้แล้วแล นี้เป็นการพรรณนาบท.

ส่วนการพรรณนาความ พึงทราบดังนี้ จิตของผู้ใด อันโลกธรรม ๘ มี มีลาภ ไม่มีลาภ เป็นต้น ถูกต้องครอบงำแล้ว ย่อมไม่หวั่น ไม่ไหว ไม่กระเทือน ชื่อว่า จิตของผู้ใดอันโลกธรรมกระทบแล้วไม่หวั่นไหว จิตนั้นของผู้นั้นพึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งความเป็นผู้สูงสุดเหนือโลก ซึ่งธรรมไรๆ ให้หวั่นไหวไม่ได้.

ถามว่า ก็จิตของใคร ถูกโลกธรรมเหล่านั้นกระทบแล้วไม่หวั่นไหว. ตอบว่า จิตของพระอรหันตขีณาสพ ไม่ใช่จิตของใครอื่น. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า

เสโล ยถา เอกกฺฆโน เวเตน น สมีรติ เอวํ รูปา รสา สทฺทา คนฺธา ผสฺสา จ เกวลา อิฏฺา ธมฺมา อนิฏฺา จ นปฺปเวเธนฺติ ตาทิโน ิตํ จิตฺตํ วิปฺปมุตฺตํ วยญฺจสฺสานุปสฺสติ.

 
  ข้อความที่ 95  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 211

ภูเขาหิน ทึบแท่งเดียว ย่อมไม่ไหวด้วยลม ฉันใด รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ และธรรมทั้งสิ้น ทั้งส่วนอิฏฐารมณ์ ทั้งส่วนอนิฏฐารมณ์ ย่อมทำจิตของท่านผู้คงที่ให้หวั่นไหวไม่ได้ ก็ฉันนั้น ด้วยว่าจิตของท่านที่มั่นคง หลุดพ้นแล้ว ย่อมเห็นความเสื่อมอยู่เนืองๆ.

จิตของพระขีณาสพเท่านั้น ชื่อว่า อโสกะ ไม่เศร้าโศก. จริงอยู่จิตของพระขีณาสพนั้น ชื่อว่า อโสกะ เพราะไม่มีความเศร้าโศก ที่ท่านกล่าวโดยนัยเป็นต้นว่า ความโศก ความเศร้า ความเป็นผู้เศร้าโศก ความแห้งใจ ความแห้งผากภายใน ความที่ใจถูกความเศร้าโศกแผดเผา. อาจารย์บางพวกกล่าวถึงพระนิพพาน คำนั้น เชื่อมความไม่ได้กับบทต้นๆ. จิตของพระขีณาสพเท่านั้น ชื่อว่า อโสกะ ฉันใด ก็ชื่อว่า วิรชะ เขมะ ฉันนั้น จริงอยู่ จิตของพระขีณาสพนั้น ชื่อว่า วิรชะ เพราะปราศจากละอองกิเลสมีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น และชื่อว่า เขมะ เพราะปลอดจากโยคะทั้ง ๔. เพราะว่า จิตทั้ง ๓ อย่างนั้น โดยที่ท่านถือเอาแล้วในขณะจิตเป็นไปในอารมณ์นั้นๆ โดยอาการนั้นๆ พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งความเป็นผู้สูงสุดเหนือโลกมีความเป็นผู้มีขันธ์อันไม่เป็นไปแล้ว [ไม่เกิดอีก] และเพราะนำมาซึ่งความเป็นอาหุไนยบุคคลเป็นต้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๔ มงคล คือ จิตที่ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมแปด ๑ จิตไม่เศร้าโศก ๑ จิตปราศจากละอองกิเลส ๑ จิตเกษม ๑ ด้วยประการฉะนี้. ก็ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ก็ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล.

จบพรรณนาความแห่งคาถานี้ว่า ผุฏฺสฺส โลกธมฺเมหิ

 
  ข้อความที่ 96  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 212

พรรณนาคาถาว่า เอตาทิสานิ

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัส มหามงคล ๓๘ ประการ ด้วยคาถา ๑๐ คาถา มีว่า อเสวนา จ พาลานํ การไม่คบพาลเป็นอาทิ อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงชมเชยมงคลที่พระองค์ตรัสเหล่านี้แล จึงได้ตรัสคาถาสุดท้ายว่า เอตาทิสานิ กตฺวาน เป็นต้น. พรรณนาความแห่งคาถาสุดท้ายนั้นดังนี้ บทว่า เอตาทิสานิ แปลว่า เช่นนี้ เหล่านี้ คือมีการไม่คบพาล เป็นต้น มีประการที่เรากล่าวมาแล้ว. บทว่า กตฺวาน แปลว่า กระทำ. ความจริงคำนี้ไม่นอกเหนือไปจากความว่า กตฺวาน กตฺวา กริตฺวา [ซึ่งแปลว่ากระทำเหมือนกัน]. บทว่า สพฺพตฺถมปราชิตา ความว่า สัตว์ทั้งหลาย กระทำมงคลเช่นนี้เหล่านี้ อันข้าศึก ๔ ประเภท คือ ขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมารและเทวปุตตมาร แม้แต่ประเภทเดียวทำให้พ่ายแพ้ไม่ได้ ในที่ทั้งปวง ท่านอธิบายว่า ยังมารทั้ง ๔ นั้นให้พ่ายแพ้ด้วยตนเอง. ก็ อักษรในคำว่า สพฺพตฺถมปราชิตา นี้ พึงทราบว่า เพียงทำการต่อบท.

บทว่า สพฺพตฺถ โสตฺถึ คจฺฉนฺติ ความว่า สัตว์ทั้งหลายกระทำมงคลเช่นที่กล่าวมานี้ เป็นผู้อันมารทั้ง ๔ ทำให้พ่ายแพ้ไม่ได้แล้ว ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทั้งปวง คือ ในโลกนี้และโลกหน้า และที่ยืนและที่เดินเป็นต้น อาสวะเหล่าใดที่ทำความคับแค้นและเร่าร้อน พึงเกิดขึ้นเพราะการคบพาลเป็นต้น เหตุไม่มีอาสวะเหล่านั้น จึงถึงความสวัสดี ท่านอธิบายว่า เป็นผู้อันอุปัทวะไม่ขัดขวาง อันอุปสรรคไม่ขัดข้อง เกษมปลอดโปร่ง ไม่มีภัยเฉพาะหน้าไป. ก็นิคคหิต ในคำว่า สพฺพตฺถ โสตฺถึ คจฺฉนฺติ นี้พึงทราบว่า ตรัสเพื่อสะดวกแก่การผูกคาถา.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงจบเทศนาด้วยบทแห่งคาถาว่า ตํ เตสํ มงฺคลมุตฺตมํ. ทรงจบอย่างไร. ทรงจบว่า ดูก่อนเทพบุตร เพราะเหตุที่ชน

 
  ข้อความที่ 97  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 213

ผู้กระทำมงคลเช่นที่กล่าวนี้ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทั้งปวงอย่างนี้ ฉะนั้น ท่านจึงถือว่า มงคลทั้ง ๓๘ ประการ มีการไม่คบพาลเป็นต้นนั้นสูงสุด ประเสริฐสุด ดีที่สุด สำหรับชนเหล่านั้น ผู้กระทำมงคลเช่นที่กล่าวมานี้.

ตอนสุดท้าย เทศนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบอย่างนี้ เทวดา แสนโกฎิบรรลุพระอรหัต. จำนวนผู้บรรลุโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล นับไม่ได้. ครั้งนั้น วันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียก พระอานนท์เถระมาตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ เมื่อคืนนี้ เทวดาองค์หนึ่งเข้ามาถามมงคลปัญหา ครั้งนั้นเราได้กล่าวมงคล ๓๘ ประการแก่เทวดาองค์นั้น ดูก่อนอานนท์ เธอจงเรียนมงคลปริยายนี้ ครั้นเรียนแล้วจงสอนภิกษุทั้งหลาย. พระเถระเรียนแล้วก็สอนภิกษุทั้งหลาย. มงคลสูตรนี้นั้น อาจารย์นำสืบๆ กันมาเป็นไปอยู่จนทุกวันนี้ พึงทราบว่า ศาสนพรหมจรรย์นี้มั่นคงเจริญแพร่หลาย รู้กันมากคนหนาาแน่น ตราบเท่าที่เทวดาและมนุษย์ประกาศดีแล้ว.

เพื่อความฉลาดในการสะสมความรู้ในมงคลเหล่านี้นี่เอง บัดนี้ จะประกอบความตั้งแต่ต้นดังนี้.

สัตว์ทั้งหลายผู้ปรารถนาสุขในโลกนี้โลกหน้าและโลกุตรสุขเหล่านี้ ละการคบคนพาลเสีย อาศัยแต่บัณฑิต, บูชาผู้ที่ควรบูชา. อันการอยู่ในปฏิรูปเทส, และความเป็นผู้ทำบุญไว้ในก่อนตักเตือนในการบำเพ็ญกุศล. ตั้งตนไว้ชอบ มีอัตภาพอันประดับด้วยพาหุสัจจะ ศิลปะ และวินัย, กล่าวสุภาษิตอันเหมาะแก่วินัย. ยังไม่ละเพศคฤหัสถ์ตราบใด, ก็ชำระมูลหนี้เก่าด้วยการบำรุงมารดาบิดา, ประกอบมูลหนี้ใหม่ด้วยการสงเคราะห์บุตรและภรรยา ถึงความมั่งคั่งด้วยทรัพย์และข้าวเปลือก ด้วยความเป็นผู้มีการงานไม่อากูล, ยึดสาระแห่งโภคะด้วยทาน และสาระแห่งชีวิตด้วยการประพฤติธรรม, กระทำประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนของตน ด้วยการสงเคราะห์ญาติ และประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนอื่นๆ

 
  ข้อความที่ 98  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 214

ด้วยความเป็นผู้มีการงานอันไม่มีโทษ. งดเว้นการทำร้ายผู้อื่นด้วยการเว้นบาป การทำร้ายตนเอง ด้วยการระวังในการดื่มกินของเมา, เพิ่มพูนฝ่ายกุศลด้วยความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย, ละเพศคฤหัสถ์ด้วยความเป็นผู้เพิ่มพูนกุศลแม้ตั้งอยู่ในภาวะบรรพชิต ก็ยังวัตรสัมปทาให้สำเร็จด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้าและอุปัชฌายาจารย์เป็นต้น และด้วยความถ่อมตน, ละความละโมภในปัจจัยด้วยสันโดษ, ตั้งอยู่ในสัปปุริสภูมิด้วยความเป็นผู้กตัญญู, ละความเป็นผู้มีจิตหดหู่ด้วยการฟังธรรม, ครอบงำอันตรายทุกอย่างด้วยขันติ, ทำตนให้มีที่พึ่ง ด้วยความเป็นผู้ว่าง่าย, ดูการประกอบข้อปฏิบัติ ด้วยการเห็นสมณะ บรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย ด้วยการสนทนาธรรม, ถึงศีลวิสุทธิ ด้วยตปะคืออินทรียสังวร ถึงจิตตวิสุทธิ ด้วยพรหมจรรย์คือสมณธรรม และยังวิสุทธิ ๔ นอกนั้นให้ถึงพร้อม, ถึงญาณทัสสนวิสุทธิอันเป็นปริยายแห่งการเห็นอริยสัจด้วยปฏิปทานี้ กระทำให้แจ้งพระนิพพานที่นับได้ว่าอรหัตผล, ซึ่งครั้น กระทำให้แจ้งแล้ว เป็นผู้มีจิตไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม ๘ เหมือนสิเนรุบรรพต ไม่หวั่นไหวด้วยลมและฝน ย่อมเป็นผู้ไม่เศร้าโศก ปราศจากละอองกิเลส มีความเกษมปลอดโปร่ง และความเกษมปลอดโปร่งย่อมเป็นผู้แม้แต่ศัตรูผู้หนึ่งให้พ่ายแพ้ไม่ได้ในที่ทั้งปวง ทั้งจะถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน.

ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

สัตว์ทั้งหลายกระทำมงคลเช่นที่กล่าวมานี้แล้ว เป็นผู้อันมารให้พ่ายแพ้ไม่ได้ในที่ทั้งปวง ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นั้นเป็นมงคลอุดมของสัตว์เหล่านั้น.

จบพรรณนามงคลสูตร

แห่ง

ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ