พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. เมตตาสูตร ว่าด้วยธาตุเครื่องสลัดออก ๕ ประการ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ต.ค. 2564
หมายเลข  39360
อ่าน  396

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 548

ปฐมปัณณาสก์

สาราณิยาทิวรรคที่ ๒

๓. เมตตาสูตร

ว่าด้วยธาตุเครื่องสลัดออก ๖ ประการ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 548

๓. เมตตาสูตร *

ว่าด้วยธาตุเครื่องสลัดออก ๖ ประการ

[๒๘๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธาตุเป็นเครื่องสลัดออก ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน? คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า เมตตาเจโตวิมุตติ ข้าพเจ้าเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ตั้งมั่นแล้ว อบรมแล้ว ปรารภดีแล้ว ก็แต่ว่าพยาบาทยังครอบงำ จิตของข้าพเจ้าอยู่ เธออันภิกษุทั้งหลาย พึงกล่าวตักเตือนว่า ท่านผู้มีอายุอย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะการกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ดี เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่พึงตรัสอย่างนี้ ดูก่อนอาวุโส ข้อนั้นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ตั้งมั่นแล้ว อบรมแล้ว ปรารภดีแล้ว ก็แต่ว่า พยาบาทจักครอบงำจิตของเธออยู่ เพราะฉะนั้น ข้อนั้นจึงไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ เพราะเมตตาเจโตวิมุตตินี้ เป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งพยาบาท.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า กรุณาเจโตวิมุตติ ข้าพเจ้าเจริญแล้ว... ปรารภดีแล้ว ก็แต่ว่าวิหิงสายังครอบงำจิต ของข้าพเจ้าอยู่ เธออันภิกษุทั้งหลาย พึงกล่าวตักเตือนว่า ท่านผู้มีอายุอย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะการกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ดี เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่พึงตรัสอย่างนี้ ดูก่อนอาวุโส ข้อนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ เมื่อกรุณาเจโตวิมุตติ อันภิกษุเจริญแล้ว... ปรารภดีแล้ว ก็แต่ว่าวิหิงสาจักครอบงำจิตของเธออยู่ เพราะฉะนั้น ข้อนั้น จึงไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ เพราะกรุณาเจโตวิมุตติ เป็นเครื่องสลัดออกซึ่งวิหิงสา


* พม่าเป็น นิสสารณียสูตร

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 549

อีกประการหนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า มุทิตาเจโตวิมุตติ ข้าพเจ้าเจริญแล้ว... ปรารภดีแล้ว ก็แต่ว่าอรติ (ความไม่ยินดีด้วย) ยังครอบงำจิตของข้าพเจ้าอยู่ เธออันภิกษุทั้งหลาย พึงว่ากล่าวตักเตือนว่า ท่านผู้มีอายุอย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะการกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ดี เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่พึงตรัสอย่างนี้ ดูก่อนอาวุโส ข้อนั้นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ เมื่อมุทิตาเจโตวิมุตติ อันภิกษุเจริญแล้ว... ปรารภดีแล้ว ก็แต่ว่าอรติจักครอบงำจิตของเธออยู่ เพราะฉะนั้น ข้อนั้นจึงไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ เพราะมุทิตาเจโตวิมุตตินี้ เป็นเครื่องสลัดออกซึ่งอรติ.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อุเบกขาเจโตวิมุตติ ข้าพเจ้าเจริญแล้ว... ปรารภดีแล้ว ก็แต่ว่าราคะยังครอบงำจิต ของข้าพเจ้าอยู่ เธออันภิกษุทั้งหลาย พึงว่ากล่าวตักเตือนว่า ท่านผู้มีอายุอย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะการกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ดี เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่พึงตรัสอย่างนี้ ดูก่อนอาวุโส ข้อนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ เมื่ออุเบกขาเจโตวิมุตติ อันภิกษุเจริญแล้ว... ปรารภดีแล้ว ก็แต่ว่าราคะจักครอบงำของเธออยู่ เพราะฉะนั้น ข้อนั้น จึงไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ เพราะอุเบกขาเจโตวิมุตตินี้ เป็นเครื่องสลัดออกซึ่งราคะ.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อนิมิตตาเจโตวิมุตติ (เจโตวิมุตติไม่มีนิมิต) ข้าพเจ้าเจริญแล้ว... ปรารภดีแล้ว ก็แต่ว่า วิญญาณของข้าพเจ้ายังแส่หานิมิตอยู่ เธออันภิกษุทั้งหลาย พึงว่ากล่าวตักเตือนว่า ท่านผู้มีอายุอย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะการกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ดี เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่พึงตรัสอย่างนี้

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 550

ดูก่อนอาวุโส ข้อนั้นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ เมื่ออนิมิตตาเจโตวิมุตติ อันภิกษุเจริญแล้ว... ปรารภดีแล้ว ก็แต่ว่าวิญญาณของเธอ จักแส่หานิมิตอยู่ เพราะฉะนั้น ข้อนั้นจึงไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ เพราะอนิมิตตาเจโตวิมุตตินี้ เป็นเครื่องสลัดออกซึ่งนิมิตทั้งปวง.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อัสมิมานะ ของข้าพเจ้าหมดไปแล้ว และข้าพเจ้าย่อมไม่ตามเห็นว่า นี่เป็นเรา ก็แต่ว่าลูกศร คือ ความสงสัยเคลือบแคลง ยังครอบงำจิตของข้าพเจ้าอยู่ เธออันภิกษุทั้งหลาย พึงว่ากล่าวตักเตือนว่า ท่านผู้มีอายุอย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะการกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ดี เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่พึงตรัสอย่างนี้ ดูก่อนอาวุโส ข้อนั้นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ เมื่ออัสมิมานะของภิกษุหมดไปแล้ว และเมื่อภิกษุไม่ตามเห็นอยู่ว่า นี้เป็นเรา ก็แต่ว่าลูกศร คือ ความสงสัยเคลือบแคลงจักครอบงำจิตของเธออยู่ เพราะฉะนั้น ข้อนั้นจึงไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ เพราะอรหัตมรรคที่ถอนอัสมิมานะ ได้แล้วนี้ เป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งลูกศร คือ ความสงสัยเคลือบแคลง.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธาตุเป็นเครื่องสลัดออก ๖ ประการ นี้แล.

จบเมตตาสูตรที่ ๓

อรรถกถาเมตตาสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในเมตตาสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้:-

บทว่า นิสฺสาราณียา ธาตุโย ได้แก่ ธาตุที่เป็นทางออกไป. ในบทว่า เมตฺตา หิ โข เม เจโตวิมุตติ นี้ มีอธิบายว่า เมตตานั่นแหละ ที่เป็นไปในฌาน หมวด ๓ หรือ หมวด ๔ ชื่อว่า เมตตาเจโตวิมุตติ เพราะหลุดพ้นจากธรรม ที่เป็นข้าศึกทั้งหลาย.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 551

บทว่า ภาวิตา คือให้เจริญแล้ว. บทว่า พหุลีกตา คือ กระทำแล้วบ่อยๆ. บทว่า ยานีกตา ทำให้เป็นเช่นกับยานที่เทียมแล้ว. บทว่า วตฺถุกตา คือ ทำให้เป็นที่ตั้ง. บทว่า อนุฏฺิตา คือ ตั้งมั่นแล้ว. บทว่า ปริจิตา ความว่า ก่อตั้ง คือสั่งสม ได้แก่ อบรมแล้วโดยชอบ. บทว่า สุสมารทฺธา ได้แก่ ปรารภด้วยดี โดยกระทำให้ช่ำชองคล่องแคล่ว เป็นอย่างดี. บทว่า ปริยาทาย ติฏฺติ ได้แก่ ยึด คือถือไว้ ดำรงอยู่. บทว่า มา เหวนฺติสฺส วจนีโย ความว่า เพราะเหตุที่ภิกษุนั้น พยากรณ์ ข้อพยากรณ์ที่ไม่เป็นจริง ฉะนั้น เธอจึงถูกภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า เธออย่าพูดอย่างนี้.

บทว่า ยทิทํ เมตฺตาเจโตวิมุตฺติ ได้แก่ เมตตาเจโตวิมุตติ นี้ใด คำว่า เมตตาเจโตวิมุตตินี้ เป็นทางออกไปแห่งพยาบาท อธิบายว่า เป็นการสลัดพยาบาทออกไป. ก็ผู้ใดออกจากฌานหมวด ๓ หมวด ๔ ด้วยเมตตา (ภาวนา) แล้ว พิจารณาสังขารทั้งหลาย บรรลุมรรคที่ ๓ รู้ว่าพยาบาท จะไม่มีอีกดังนี้ ย่อมเห็นพระนิพพานด้วยตติยผล จิตของผู้นั้น เป็นทางออกไปโดยส่วนเดียวแห่งพยาบาท. ในทุกๆ บท พึงทราบอธิบาย โดยอุบายนี้.

บทว่า อนิมิตฺตาเจโตวิมุตฺติ ได้แก่ วิปัสสนาที่มีกำลัง ส่วนอาจารย์ผู้กล่าวคัมภีร์ทีฆนิกายกล่าวว่า ได้แก่ สมาบัติที่สัมปยุตด้วยอรหัตผล. อรหัตผลสมาบัตินั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า หานิมิตมิได้ เพราะไม่มีเครื่องหมาย คือ ราคะ เป็นต้น เครื่องหมาย คือ รูป เป็นต้น และเครื่องหมายว่า เที่ยง เป็นต้น.

บทว่า นิมิตฺตานุสารี ได้แก่ มีการตามระลึกถึงนิมิต. มีประเภทดังกล่าวแล้ว เป็นสภาพ. บทว่า อสฺมิ ได้แก่ อัสมิมานะ. บทว่า อยมหมสฺมิ ความว่า เราชื่อว่าเป็นสิ่งนี้ (อัตตา) ในขันธ์ ๕. ด้วยคำเพียงเท่านี้แล

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 29 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 552

ชื่อว่าเป็นอันพยากรณ์อรหัตผลแล้ว. บทว่า วิจิกิจฺฉากถํกถาสลฺลํ ได้แก่ ลูกศร คือความสงสัยเคลือบแคลง.

บทว่า มา เหวนฺติสฺส วจนีโย ความว่า ถ้าว่าวิจิกิจฉา ที่ปฐมมรรคจะพึงฆ่า เกิดขึ้นแก่ท่านไซร้ การพยากรณ์อรหัตผล ย่อมผิดพลาด เพราะฉะนั้น ท่านต้องถูกห้ามว่า อย่าพูดเรื่องไม่จริง.

บทว่า อสฺมีติ มานสมุคฺฆาโต ได้แก่ อรหัตมรรค. อธิบายว่า เมื่อเห็นพระนิพพานด้วยอรหัตมรรคแล้ว อัสมิมานะย่อมไม่มีอีก เพราะฉะนั้น อรหัตมรรค พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า ถอนขึ้นได้ซึ่งมานะว่า เรามี. ในพระสูตรนี้ ตรัสให้ชื่อว่า อภูตพยากรณ์ (พยากรณ์เรื่องไม่จริง) ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้.

จบอรรถกถา เมตตาสูตรที่ ๓