ถ้าชวนะจิตไม่เกิดจะเกิดจุติจิตได้ไหม

 
lokiya
วันที่  28 ต.ค. 2564
หมายเลข  39280
อ่าน  431

แล้วถ้าจุติจิตเกิดได้โดยไม่มีชวนจิต การจะเกิดในสุคติทุกข์คติมาจากเหตุใด


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 29 ต.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า จุติจิต หมายถึงอะไร จุติจิต หมายถึง จิตดวงสุดท้ายของชาตินี้ ที่ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ เมื่อดับแล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไป คือ ปฏิสนธิจิตในชาติต่อไปเกิดสืบต่อทันที (สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์) จุติจิต เรียกตามกิจของจิต เพราะจิตที่กระทำจุติกิจได้

เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว มี ๑๙ ดวง ตามสมควรแก่แต่ละบุคคล คือ มหาวิบาก ๘ (ดวงใดดวงหนึ่ง) อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ อุเบกขาสันตีรณ อกุศลวิบาก ๑ รูปาวจรวิบาก ๕ และอรูปาวจรวิบาก ๔ อย่างเช่น ผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ที่ไม่พิการตั้งแต่กำเนิดนั้น ต้องเป็นมหาวิบาก ๘ ดวงหนึ่งดวงใด ที่กระทำจุติกิจในชาตินั้น และจุติจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย กล่าวคือ จุติจิต ไม่ใช่วิถีจิต ดังนั้น จุติจิตจะเกิดในขณะที่เป็นวิถีจิต ไม่ได้

แต่ก่อนตายต้องมีวิถีจิตเกิดขึ้น มีชวนจิตเกิด ๕ ขณะอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นจิตที่มีกำลังอ่อนมากแล้ว ก่อนที่จุติจะเกิดขึ้น และประการที่สำคัญ จุติจิต เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ไม่สามารถบังคับบัญชาหรือยับยั้งได้เลย เมื่อสิ้นสุดวิถีจิตทางตา หรือ ทางหูเป็นต้นแล้ว จุติจิตสามารถเกิดได้ หรือ สิ้นสุดวีถีจิตทางหนึ่งทางใดแล้ว ภวังคจิตเกิดจุติจิตก็สามารถเกิดต่อจากภวังคจิต ได้

ขอเชิญอ่านคำบรรยาย ท่าน อ.สุจินต์ในประเด็นที่ถาม ดังนี้ครับ

ขอยกคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ ครับ

"จุติจิตจะเกิดหลังการสิ้นสุดวิถีหนึ่งวิถีใดย่อมได้ คือ หลังจักขุทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว จุติจิตเกิดก็ได้ หรือ หลังจากที่จักขุทวารวิถีจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏดับไปหมดแล้ว แล้วภวังคจิตยังไม่เกิด จุติจิตเกิดก็ได้ หรือ จะเป็นในขณะที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ โสตทวารวิถีจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงทางโสตทวาร ดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิด แล้วจุติจิตเกิดก็ได้ หรือว่าเมื่อได้ยินเสียงแล้ว โสตทวารวิถีจิตเกิดดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตยังไม่เกิด จุติจิตเกิดก็ได้ หรือว่า บางท่านในขณะนี้กำลังคิดนึกเรื่องหนึ่งเรื่องใด แล้วมโนทวารวิถีจิตดับหมดแล้ว จุติจิตเกิดก็ได้

นี่แสดงให้เห็นว่า จุติจิตซึ่งกระทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ จะเกิดในขณะไหนได้ทั้งสิ้น หลังจากวิถีจิตทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ได้ หรือหลังจากภวังคจิตก็ได้" ดังนั้น จากประเด็นคำถามที่ว่า จุติจิต สามารถเกิดได้ทุกขณะ เช่น จิตเห็น เห็นแล้ว สิ้นชีวิต หรืออาจจะสิ้นชีวิตลงในวิถีใดวิถีหนึ่ง ใช่หรือไม่อย่างไร หรือ เกิดใน ชวนวิถีจิตหรือไม่

ก็ควรจะได้เข้าใจตั้งแต่เบื้องต้นว่า ขณะที่เห็น เป็นวิถีจิต ยังไม่ตาย จุติจิตยังไม่เกิด แต่เมื่อสิ้นสุดวิถีจิตทางตาแล้ว จุติจิต สามารถเกิดได้ จุติจิตจะไม่เกิดใน ขณะที่เป็นวิถีจิต ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 29 ต.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 29 ต.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้า ๔๙๔

คำว่าในฐานะนี้ หมายถึง มรณาสันนวิถี (วิถีใกล้ความตาย) ประเภทใดประเภทหนึ่งใน ๔ อย่าง เหล่านี้คือ

ประเภทที่ ๑ จิตเสพชวนะ ๕ ครั้ง มีตทารัมมณะ ๒ ครั้ง แล้วจุติ

ประเภทที่ ๒ จิตเสพชวนะ ๕ ครั้ง แล้วจุติ

ประเภทที่ ๓ จิตเสพชวนะ ๕ ครั้ง มีตทารัมมณะ ๒ ครั้ง แล้วมีภวังค์ แล้วจุติ

ประเภทที่ ๔ จิตเสพชวนะ ๕ ครั้ง มีภวังค์ แล้วจุติ



พระธรรม คิดเองไม่ได้เลยจริงๆ ต้องฟัง ต้องศึกษาเท่านั้น จึงจะมีความเข้าใจถูกเห็นถูก

ขอเชิญอ่านคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพิ่มเติม ดังนี้

"ก่อนจุติจริงๆ ชวนวิถีจะเกิดเพียง ๕ ขณะ เพราะมีกำลังอ่อนลง ใกล้ที่จะถึงการดับจากภพนี้ ชาตินี้ ความเป็นบุคคลนี้

เพราะฉะนั้น ก่อนจุติจิตจะเกิด ไม่มีใครสามารถรู้ได้เลยว่าชวนวิถีสุดท้าย จะเป็นกุศลหรือจะเป็นอกุศล จะเป็นการรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ"



เมื่อกล่าวถึงการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือ ทางใจ นั้น เป็นวิถีจิต ในแต่ละทาง ซึ่งแน่นอนว่า ชวนจิต ก็เป็นวิถีจิตที่เกิดขึ้นเป็นไป เมื่อสิ้นสุดวิถีจิตทางหนึ่งทางใดแล้ว จะมีภวังค์หรือไม่มีภวังค์ คั่น ก็ตาม จุติจิตจึงเกิดได้ ซึ่งหมายความว่า ก่อนจะถึงจุติจิต ก็ต้องมีชวนจิต ๕ ขณะเกิดก่อน ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 29 ต.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
lokiya
วันที่ 29 ต.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ