พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. จัณฑาลสูตร ว่าด้วยธรรมสําหรับอุบาสกดีและอุบาสกชั่ว

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ต.ค. 2564
หมายเลข  39252
อ่าน  328

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 373

จตุตถปัณณาสก์

อุปาสกวรรคที่ ๓

๕. จัณฑาลสูตร

ว่าด้วยธรรมสําหรับอุบาสกดี และอุบาสกชั่ว


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 373

๕. จัณฑาลสูตร

ว่าด้วยธรรมสำหรับอุบาสกดี และอุบาสกชั่ว

[๑๗๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นอุบาสกผู้เลวทราม เศร้าหมอง และน่าเกลียด ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน? คือ อุบาสกเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑ เป็นผู้ทุศีล ๑ เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อมงคล ไม่เชื่อกรรม ๑ แสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนานี้ ๑ ทำการสนับสนุนในศาสนานั้น ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ นี้แล เป็นอุบาสกผู้เลวทราม เศร้าหมอง และน่าเกลียด.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นอุบาสกแก้ว อุบาสกปทุม อุบาสกบุณฑริก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน? คือ อุบาสกย่อมเป็นผู้มีศรัทธา ๑ เป็นผู้มีศีล ๑ เป็นผู้ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรมไม่เชื่อมงคล ๑ ไม่แสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนานี้ ๑ ทำการสนับสนุนในศาสนานี้ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ นี้แล เป็นอุบาสกแก้ว อุบาสกปทุม อุบาสกบุณฑริก.

จบจัณฑาลสูตรที่ ๕

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 374

อรรถกถาจัณฑาลสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในจัณฑาลสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อุปาสกปฏิกิฏฺโ ได้แก่ เป็นอุบาสกชั้นต่ำ. บทว่า โกตุหลมงฺคลิโก คือ เป็นผู้ประกอบด้วยอารมณ์ที่ได้เห็น ได้ฟัง ได้ลิ้ม เป็นมงคล ได้แก่ ตื่นข่าว เพราะเป็นไปได้อย่างนี้ว่า สิ่งนี้จักมีได้ด้วยเหตุนี้ ดังนี้. บทว่า มงฺคลํ ปจฺเจติ โน กมฺมํ ได้แก่ มองดูแต่เรื่องมงคล ไม่มองดูเรื่องกรรม. บทว่า อิโต จ พหิทฺธา ได้แก่ ภายนอกจากศาสนานี้. บทว่า ปุพฺพการํ กโรติ ได้แก่ กระทำกุศลกิจ มีทาน เป็นต้นก่อน.

จบอรรถกถา จัณฑาลสูตรที่ ๕