พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. ปฐมเจโตวิมุตติสูตร ว่าด้วยธรรมที่อํานวยผลให้บรรลุวิมุตติ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ต.ค. 2564
หมายเลข  39139
อ่าน  312

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 162

ทุติยปัณณาสก์

โยธาชีววรรคที่ ๓

๑. ปฐมเจโตวิมุตติสูตร

ว่าด้วยธรรมที่อํานวยผลให้บรรลุวิมุตติ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 162

โยธาชีววรรคที่ ๓

๑. ปฐมเจโตวิมุตติสูตร

ว่าด้วยธรรมที่อำนวยผลให้บรรลุวิมุตติ

[๗๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีเจโตวิมุตติเป็นผล และมีเจโตวิมุตติเป็นผลานิสงส์ ย่อมมีปัญญาวิมุตติเป็นผล และมีปัญญาวิมุตติเป็นผลานิสงส์ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นว่า ไม่งามในกาย ๑ ย่อมมีความสำคัญว่า เป็นของปฏิกูลในอาหาร ๑ ย่อมมีความสำคัญว่า ไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง ๑ ย่อมพิจารณาเห็นว่า ไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง ๑ ย่อมเข้าไปตั้งมรณสัญญาไว้ในภายใน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการ นี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีเจโตวิมุตติเป็นผล และมีเจโตวิมุตติเป็นผลานิสงส์ ย่อมมีปัญญาวิมุตติเป็นผล และมีปัญญาวิมุตติเป็นผลานิสงส์ เมื่อใดภิกษุเป็นผู้มีเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ เมื่อนั้นภิกษุ นี้เรียกว่า เป็นผู้ถอนลิ่มสลักขึ้นได้ดังนี้ บ้างว่าเป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อมได้ ดังนี้ บ้างว่าเป็นผู้ถอนเสาระเนียดขึ้นได้ ดังนี้ บ้างว่าเป็นผู้ไกลจากข้าศึก ปลดธงลงได้ ปลงภาระลงได้ ไม่ประกอบด้วยวัฏฏะ ดังนี้บ้าง.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ถอนลิ่มสลักขึ้นได้อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละอวิชชาเสียได้ ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ถอนลิ่มสลักขึ้นได้ อย่างนี้แล.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 163

ภิกษุเป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อมได้อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละชาติสงสาร ที่เป็นเหตุนำให้เกิดในภพใหม่ต่อไป ได้ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อมได้ อย่างนี้แล.

ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ถอนเสาระเนียดขึ้นได้อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละตัณหาเสียได้ ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ถอนเสาระเนียดขึ้นได้ อย่างนี้แล.

ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ถอนกลอนออกได้อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการเสียได้ ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ภิกษุ ชื่อว่า เป็นผู้ถอดกลอนออกได้อย่างนี้แล.

ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ไกลจากข้าศึก ปลดธงลงได้ ปลงภาระลงได้ ไม่ประกอบด้วย วัฏฏะอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละอัสมิมานะเสียได้ ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ไกลจากข้าศึก ปลดธงลงได้ ปลงภาระลงได้ ไม่ประกอบด้วยวัฏฏะใดๆ อย่างนี้แล.

จบปฐมเจโตวิมุตติสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 164

โยธาชีววรรควรรณนาที่ ๓

อรรถกถาปฐมเจโตวิมุตติสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในปฐมเจโตวิมุตติสูตรที่ ๑ แห่งโยธาชีววรรคที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

คำว่า ยโต โข ภิกฺขเว เป็นต้นนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่ม ณ บัดนี้ เพื่อทรงสรรเสริญภิกษุผู้เจริญวิปัสสนา แล้วบรรลุพระอรหัต ตามนัยที่ตรัสไว้แล้ว ณ หนหลัง. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยโต โข แปลว่า กาลใดแล. บทว่า อุกฺขิตฺตปลีโฆ ได้แก่ ยกลิ่มสลัก คือ อวิชชาออกไปแล้ว. บทว่า สงฺกิณฺณปริกฺโข ได้แก่ รื้อคู คือสงสารวัฏให้ย่อยยับแล้ว. บทว่า อพฺพุเฬฺหสิโก ได้แก่ ถอนเสาระเนียด คือตัณหาออกไปแล้ว. บทว่า นิรคฺคโฬ ได้แก่ ถอดบานประตู คือนิวรณ์ออกเสียแล้ว. บทว่า ปนฺนทฺธโช ปนฺนภาโร ได้แก่ ลดธงคือมานะ และภาระคือขันธ์ อภิสังขาร และกิเลส ลงเสียแล้ว. บทว่า วิสํยุตฺโต ได้แก่ หลุดพ้นจากวัฏฏะ. คำที่เหลือพึงทราบ ตามนัยแห่งพระบาลี นั่นแล.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เวลาของพระขีณาสพ ผู้ทำกิเลสให้สิ้นไป ด้วยมรรคแล้ว ไปยังที่นอนอันดี คือ นิโรธ เข้าผลสมาบัติ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์อยู่ ด้วยพระดำรัสมีประมาณเท่านี้. เปรียบเหมือนนคร ๒ นคร นครหนึ่งคือโจรนคร นครหนึ่งคือเขมนคร ครั้งนั้น นักรบใหญ่ท่านหนึ่ง คิดว่า ตราบใด โจรนครยังตั้งอยู่ ตราบนั้น เขมนครก็ย่อมไม่พ้นภัย จำเรา จักทำโจรนคร ไม่ให้เป็นนคร แล้วจึงสวมเกราะถือพระขรรค์ [ศัสตราวุธ ๒ คม] เข้าไปยังโจรนคร เอาพระขรรค์ตัดเสาระเนียด ที่เขาตั้งไว้ใกล้ประตูนคร

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 165

พังบานประตู พร้อมทั้งกรอบประตู ยกลิ่มสลักทำลายกำแพง รื้อค่ายคู ลดธง ที่เขายกขึ้น เพื่อความสง่างามแห่งนครลง แล้วเอาไฟเผานครเสีย เข้าไปสู่เขมนครขึ้นปราสาท มีหมู่ญาติห้อมล้อม บริโภคอาหารอันเอร็ดอร่อย ข้ออุปมานี้ฉันใด ข้ออุปมัยก็ฉันนั้น สักกายะเหมือนโจรนคร พระนิพพานเหมือนเขมนคร พระโยคาวจรเหมือนนักรบใหญ่ ท่านมีความคิดอย่างนี้ว่า ตราบใดสักกายะยังเป็นไปอยู่ ตราบนั้น ก็ไม่รอดพ้นจากกรรมกรณ์ ๓๒ โรค ๙๘ และมหาภัย ๒๕ ท่านจึงเป็นเหมือนนักรบใหญ่ สวมเกราะคือศีล ถือพระขรรค์คือปัญญา เอาพระอรหัตมรรคตัดเสาระเนียดคือตัณหา เหมือนเอาพระขรรค์ตัดเสาระเนียด ถอดสลักคือสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ เหมือนนักรบ พังบานประตูนคร พร้อมทั้งกรอบประตู ยกลิ่มสลักคืออวิชชา เหมือนนักรบ ยกลิ่มสลัก ทำลายอภิสังขารคือกรรม รื้อคูคือชาติสงสาร เหมือนนักรบทำลาย กำแพง รื้อค่ายคู ลดธงคือมานะ เหมือนนักรบลดธงที่เขายกขึ้นให้นครโจร สง่างามเสีย เผานครโจรคือสักกายะ แล้วเข้าสู่นครคือกิเลสปรินิพพาน เป็นที่ดับกิเลส เสวยสุขเกิดแต่ผลสมาบัติ อันมีอมตนิโรธเป็นอารมณ์ ยังเวลาให้ ล่วงไปๆ เหมือนนักรบเข้าไปในเขมนคร ขึ้นปราสาทชั้นบน บริโภคอาหาร อันอร่อย ฉะนั้น.

จบอรรถกถา ปฐมเจโตวิมุตติสูตรที่ ๑