พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. นารทสูตร ว่าด้วยฐานะ ๕ ที่ใครๆ ในโลกไม่พึงได้

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ต.ค. 2564
หมายเลข  39117
อ่าน  340

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 115

ปฐมปัณณาสก์

มุณฑราชวรรคที่ ๕

๑๐. นารทสูตร

ว่าด้วยฐานะ ๕ ที่ใครๆ ในโลกไม่พึงได้


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 115

๑๐. นารทสูตร

ว่าด้วยฐานะ ๕ ที่ใครๆ ในโลกไม่พึงได้

[๕๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระนารทะอยู่ที่กุกกุฎาราม ใกล้พระนครปาตลีบุตร ก็สมัยนั้น พระนางภัททาราชเทวี ผู้เป็นที่รัก เป็นที่พอพระทัยแห่งพระราชา พระนามว่ามุณฑะ ได้ทิวงคต เมื่อพระนางภัททาราชเทวี ผู้เป็นที่รัก เป็นที่พอพระทัย ทิวงคตไปแล้ว พระราชาก็ไม่สรงสนาน ไม่ทรงแต่งพระองค์ ไม่เสวย ไม่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ทรงซบเซาอยู่ที่ พระศพพระนางตลอดคืนตลอดวัน ครั้งนั้น พระราชาได้ตรัสสั่งมหาอำมาตย์ ชื่อว่า โสการักขะ ผู้เป็นที่รักว่า ท่านโสการักขะผู้เป็นที่รัก ท่านจงยกพระศพ พระนางภัททาราชเทวี ลงในรางเหล็กที่เต็มด้วยน้ำมัน แล้วปิดด้วยรางเหล็กอันอื่นอีก เพื่อให้เราได้เห็นพระศพพระนาง นานได้เท่าไรยิ่งดี โสการักขะมหาอำมาตย์ รับสนองพระบรมราชโองการแล้ว ก็ได้จัดการยกพระศพพระนาง ลง ในรางเหล็กที่เต็มด้วยน้ำมัน แล้วปิดด้วยรางเหล็กอันอื่นอีก ครั้งนั้น โสการักขะมหาอำมาตย์จึงคิดว่า เมื่อพระนางภัททาราชเทวี ผู้เป็นที่รัก ที่พอพระทัย แห่งพระเจ้ามุณฑะนี้ ได้ทิวงคตไปแล้ว พระราชาไม่สรงสนาน ไม่ทรงแต่งพระองค์ ไม่เสวย ไม่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ทรงซบเซา อยู่ที่พระศพพระนางตลอดคืน ตลอดวัน พระราชาพึงเสด็จเข้าไปหาสมณะ หรือพราหมณ์รูปใดหนอ ได้ทรงสดับธรรมแล้ว จะพึงทรงละลูกศร คือ ความโศกได้ ลำดับนั้น โสการักขะมหาอำมาตย์จึงคิดว่า ท่านพระนารทะ รูปนี้ อยู่ที่กุกกุฏาราม ใกล้พระนครปาตลีบุตร ก็กิตติศัพท์อันงามของท่าน พระนารทะขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า เป็นบัณฑิตฉลาด มีปัญญา เป็นพหูสูต

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 116

มีถ้อยคำวิจิตร มีปฏิภาณดีงาม เป็นวุฑฒบุคคล และเป็นพระอรหันต์ จึงควรที่พระเจ้ามุณฑะจะเสด็จเข้าไปหา เพื่อบางทีได้ทรงสดับธรรมของท่านแล้ว พึงทรงละลูกศร คือ ความโศกได้.

ลำดับนั้น โสการักขะมหาอำมาตย์ จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้ามุณฑะแล้ว กราบทูลว่า ขอเดชะ ท่านพระนารทะรูปนี้ อยู่ที่กุกกุฎาราม ใกล้พระนครปาตลีบุตร ก็กิตติศัพท์อันงามของท่านพระนารทะ ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา เป็นพหูสูต มีถ้อยคำอันวิจิตร มีปฏิภาณดีงาม เป็นวุฑฒบุคคล และเป็นพระอรหันต์ ก็ถ้าพระองค์จะพึงเสด็จเข้าไปหาท่าน แล้วไซร้ บางที่ได้ทรงสดับธรรมของท่านแล้ว พึงทรงละลูกศร คือ ความโศกได้ พระเจ้ามุณฑะจึงตรัสสั่งว่า ท่านโลการักขะ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงไปบอกท่านพระนารทะให้ทราบ เพราะกษัตริย์เช่นเรา พึงเข้าใจว่า สมณะหรือ พราหมณ์ที่อยู่ในราชอาณาจักร ยังไม่ได้แจ้งให้ทราบก่อน จะพึงเข้าไปหาได้อย่างไร โสการักขะมหาอำมาตย์ รับสนองพระบรมราชโองการแล้ว ได้เข้าไป หาท่านพระนารทะอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระนางภัททาราชเทวีผู้เป็นที่รัก ที่พอพระทัยแห่งพระเจ้ามุณฑะนี้ ได้ทิวงคตแล้ว เมื่อพระนางภัททาราชเทวีผู้เป็นที่รัก ที่พอพระทัย ได้ทิวงคตไปแล้ว พระราชาก็ไม่สรงสนาน ไม่ทรงแต่งพระองค์ ไม่เสวย ไม่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ทรงซบเซาอยู่ที่พระศพ แห่งพระนางภัททาราชเทวีตลอดคืน ตลอดวัน ขอท่านพระนารทะ จงแสดงธรรมแก่พระราชา โดยให้พระราชาพึงทรงละลูกศร คือ ความโศกได้ เพราะได้ทรงสดับธรรมของท่านพระนารทะ ท่านพระนารทะจึงกล่าวว่า ดูก่อนมหาอำมาตย์ ขอให้พระราชาทรงทราบเวลาที่ควร ณ บัดนี้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 117

ลำดับนั้น โสการักขะมหาอำมาตย์ลุกจากที่นั่ง อภิวาทท่านพระนารทะ ทำประทักษิณเสร็จแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระเจ้ามุณฑะแล้ว กราบทูลว่า ขอเดชะ ท่านพระนารทะได้เปิดโอกาส ให้เสด็จไปหาได้แล้ว บัดนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบเวลาที่ควรเถิด พระเจ้าข้า พระเจ้ามุณฑะตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงให้พนักงานเทียมพาหนะที่ดีๆ ไว้ โสการักขะมหาอำมาตย์ รับสนองพระบรมราชโองการแล้ว ได้ให้พนักงานเทียมพระราชพาหนะที่ดีๆ ไว้เสร็จแล้ว จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า ได้ให้พนักงานเทียมพระราชพาหนะที่ดีๆ ไว้เสร็จแล้ว ขอพระองค์จงทรงทราบเวลาที่ควรเถิด พระเจ้าข้า ลำดับนั้น พระเจ้ามุณฑะเสด็จขึ้น ทรงพระราชพาหนะที่ดีๆ ไปสู่กุกกุฏาราม เพื่อพบปะกับท่านพระนารทะ ด้วยพระราชานุภาพอย่างใหญ่ยิ่ง เสด็จไปเท่าที่ พระราชพาหนะจะไปได้ เสด็จลงจากพระราชพาหนะแล้ว เสด็จพระราชดำเนินเข้าไปสู่อาราม เข้าไปหาท่านพระนารทะ ทรงอภิวาทแล้ว ประทับ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระนารทะได้ทูลกะ พระเจ้ามุณฑะว่า ขอถวายพระพร ฐานะ ๕ ประการนี้ อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกไม่พึงได้ ฐานะ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ฐานะว่า ขอสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา [ของเรา] อย่าแก่ ๑ ขอสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา [ของเรา] อย่าเจ็บไข้ ๑ ขอสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา [ของเรา] อย่าตาย ๑ ขอสิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา [ของเรา] อย่าสิ้นไป ๑ ขอสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา [ของเรา] อย่าฉิบหายไป ๑ อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกไม่พึงได้ ขอถวายพระพร สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาของปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับ ย่อมแก่ไป เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว เขาย่อมไม่พิจารณา เห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา ของเราผู้เดียวเท่านั้นแก่ไป โดย

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 118

ที่แท้ สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาของสัตว์ทั้งปวง ที่มีการมา การไป การจุติ การอุปบัติ ย่อมแก่ไปทั้งสิ้น ส่วนเราเอง ก็เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา แก่ไปแล้ว พึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย แม้อาหารเราก็ไม่อยากรับประทาน แม้กายก็พึงเศร้าหมอง ซูบผอม แม้การงานก็พึงหยุดชะงัก แม้พวกอมิตรก็พึงดีใจ แม้พวกมิตรก็พึงเสียใจ ดังนี้ เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา แก่ไปแล้ว เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย นี้เรียกว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ถูกลูกศร คือ ความโศกที่มีพิษ เสียบแทงเข้าแล้ว ย่อมทำตนให้เดือดร้อน ขอถวายพระพร.

อีกประการหนึ่ง สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมเจ็บไข้ ... สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา ของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมตายไป ... สิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา ของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมสิ้นไป ... สิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา ของปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมฉิบหายไป เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาฉิบหายไปแล้ว เขาย่อมไม่พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่สิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาของเราผู้เดียวเท่านั้น ฉิบหายไป โดยที่แท้ สิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาของสัตว์ทั้งปวง ที่มีการมา การไป การจุติ การอุปบัติ ย่อมฉิบหายไปทั้งสิ้น ส่วนเราเอง ก็เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็นธรรมดา ฉิบหายไปแล้ว พึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย แม้อาหารเราก็ไม่อยากรับประทาน แม้กายก็พึงเศร้าหมอง ซูบผอม แม้การงานก็พึงหยุดชะงัก แม้พวกอมิตร ก็พึงดีใจ แม้พวกมิตรก็พึงเสียใจ ดังนี้ เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา ฉิบหายไปแล้ว เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย นี้เรียกว่าปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ถูกลูกศร คือ ความโศกที่มีพิษ เสียบแทงเข้าแล้ว ย่อมทำตนให้เดือดร้อน ขอถวายพระพร.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 119

ส่วนว่า สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมแก่ไป เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว อริยสาวกนั้นย่อมพิจารณาเห็น ดังนี้ว่า ไม่ใช่สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาของเราผู้เดียวเท่านั้นแก่ไป โดย ที่แท้ สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาของสัตว์ทั้งปวง ที่มีการมา การไป การจุติ การอุปบัติ ย่อมแก่ไปทั้งสิ้น ส่วนเราเอง ก็เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา แก่ไปแล้ว พึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย แม้อาหารเราก็ไม่อยากรับประทาน แม้กายก็พึงเศร้าหมอง ซูบผอม แม้การงานก็พึงหยุดชะงัก แม้พวกอมิตรก็พึงดีใจ แม้พวกมิตรก็พึงเสียใจ ดังนี้ เมื่อสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาแก่ไปแล้ว อริยสาวกนั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่หลงงมงาย นี้เรียกว่าอริยสาวก ผู้ได้สดับ ถอนลูกศร คือ ความโศกที่มีพิษอันเป็นเครื่องเสียบแทงปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับ ทำคนให้เดือดร้อน อริยสาวกผู้ไม่มีความโศก ปราศจากลูกศร ย่อมดับทุกข์ร้อนได้ด้วยตนเอง ขอถวายพระพร.

อีกประการหนึ่ง สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมเจ็บไข้ ... สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา ของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมตายไป ... สิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา ของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมสิ้นไป ... สิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา ของอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมฉิบหายไป เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็นธรรมดา ฉิบหายไปแล้ว อริยสาวกนั้น ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ไม่ใช่สิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาของเรา ผู้เดียวเท่านั้นฉิบหายไป โดยที่แท้สิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาของสัตว์ทั้งปวง ที่มีการมา การไป การจุติ การอุปบัติ ย่อมฉิบหายไปทั้งสิ้น ส่วน เราเอง ก็เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา ฉินหายไปแล้ว พึงเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย แม้อาหารเราก็ไม่อยากรับ-

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 120

ประทาน แม้กายก็พึงเศร้าหมอง ซูบผอม แม้การงานก็พึงหยุดชะงัก แม้พวกอมิตรก็พึงดีใจ แม้พวกมิตรก็พึงเสียใจ ดังนี้ เมื่อสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา ฉินหายไปแล้ว อริยสาวกนั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่หลงงมงาย นี้เรียกว่า อริยสาวกผู้ได้สดับ ถอนลูกศร คือ ความเศร้าโศกที่มีพิษ ซึ่งเสียบแทงปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ทำตนให้เดือดร้อน อริยสาวกผู้ไม่มีความโศก ปราศจากลูกศร ย่อมดับทุกข์ร้อนได้ด้วยตนเอง ขอถวายพระพร ฐานะ ๕ ประการนี้แล อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกนี้ไม่พึงได้.

ท่านพระนารทะ ครั้นกล่าวไวยากรภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้กล่าว คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

ประโยชน์แม้เล็กน้อยในโลกนี้ อันใครๆ ย่อมไม่ได้เพราะการเศร้าโศก เพราะการคร่ำครวญ พวกอมิตรทราบว่า เขาเศร้าโศก เป็นทุกข์ ย่อมดีใจ ก็คราวใด บัณฑิตพิจารณารู้เนื้อความ ไม่หวั่นไหว ในอันตรายทั้งหลาย คราวนั้น พวก อมิตรเห็นหน้า อันไม่ผิดปกติของบัณฑิตนั้น ยิ้มแย้มตามเคย ย่อมเป็นทุกข์ บัณฑิตพึงได้ประโยชน์ในที่ใดๆ ด้วยประการใดๆ เพราะการสรรเสริญ เพราะความรู้ เพราะกล่าวคำสุภาษิต เพราะการบำเพ็ญทาน หรือเพราะประเพณีของตน ก็พึง

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 121

บากบั่นในที่นั้นๆ ด้วยประการนั้นๆ ถ้าพึงทราบว่า ความต้องการอย่างนี้ อันเรา หรือผู้อื่น ไม่พึงได้ไซร้ ก็ไม่ควรเศร้าโศก ควรตั้งใจทำงานโดยเด็ดขาดว่า บัดนี้เรา ทำอะไรอยู่ ดังนี้.

เมื่อท่านพระนารทะทูลจบแล้วอย่างนี้ พระเจ้ามุณฑะได้ตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ ธรรมปริยายนี้ชื่ออะไร ท่านพระนารทะตอบว่า ขอถวายพระพร ธรรมปริยายนี้ชื่อโสกสัลลหรณะ พระเจ้ามุณฑะตรัสชมว่า ท่านผู้เจริญ โสกสัลลหรณธรรมปริยายดีนัก โสกสัลลหรณธรรมปริยายดีนัก ท่านผู้เจริญ เพราะได้ฟังธรรมปริยายนี้ ข้าพเจ้าจึงละลูกศร คือ ความโศกได้ ครั้งนั้น พระเจ้ามุณฑะได้ตรัสสั่ง โสการักขะมหาอำมาตย์ว่า ท่านจงถวายพระเพลิงพระศพ พระนางภัททาราชเทวี แล้วจงทำเป็นสถูปไว้ ตั้งแต่วันนี้ไป เราจักอาบน้ำ แต่งตัว บริโภคอาหาร และประกอบการงานดังนี้.

จบนารทสูตรที่ ๑๐

จบมุณฑราชวรรคที่ ๕

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 122

อรรถกถานาทสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในนารทสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อชฺโฌมุจฺฉิโต แปลว่า ทรงสลบแน่นิ่ง คือ ทรงประกอบด้วยความรักอันดื่มด่ำยิ่งนัก มีสภาพกล้ำกลืนจนลมจับ. บทว่า มหจฺจราชานุภาเวน มีใจความว่า ทรงมีแม่ทัพ ๑๘ นาย ห้อมล้อมแล้วด้วยพระราชานุภาพยิ่งใหญ่ เสด็จออกไปด้วยพระราชฤทธิ์อันใหญ่ยิ่ง. ศัพท์ว่า ตคฺฆ เป็น นิบาตลงในอรรถว่า จริงโดยส่วนเดียว (แน่นอน). อธิบายว่า เป็นเครื่องนำออก ซึ่งความโศกศัลย์โดยส่วนเดียว พระราชาทรงสดับโอวาทนี้แล้ว ทรงดำรงอยู่ในโอวาทนั้น ทรงครอบครองราชสมบัติโดยธรรมโดยชอบแล้ว ได้เป็นผู้มีสวรรค์เป็นเบื้องหน้าแล้ว ด้วยประการฉะนี้.

จบอรรถกถา นารทสูตรที่ ๑๐

จบมุณฑราชวรรควรรณนาที่ ๕

จบปฐมปัณณาสก์

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อาทิยสูตร ๒. สัปปุริสสูตร ๓. อิฏฐสูตร ๔. มนาปทายีสูตร ๕. อภิสันทสูตร ๖. สัมปทาสูตร ๗. ธนสูตร ๘. ฐานสูตร ๙. โกสลสูตร ๑๐. นารทสูตร และอรรถกถา.