พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. มนาปทายีสูตร ว่าด้วยผู้ให้ของที่พอใจย่อมได้ของที่พอใจ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ต.ค. 2564
หมายเลข  39111
อ่าน  421

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 100

ปฐมปัณณาสก์

มุณฑราชวรรคที่ ๕

๔. มนาปทายีสูตร

ว่าด้วยผู้ให้ของที่พอใจย่อมได้ของที่พอใจ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 100

๔. มนาปทายีสูตร

ว่าด้วยผู้ให้ของที่พอใจย่อมได้ของที่พอใจ

[๔๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปสู่นิเวศน์ แห่งอุคคคฤหบดี ชาวเมืองเวสาลี ประทับนั่งบนอาสนะ ที่เขาตกแต่งไว้ ครั้งนั้น อุคคคฤหบดีได้เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับ รับมาเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ดังนี้ ก็ขาทนียาหาร ชื่อ สาลปุบผกะ ของข้าพระองค์เป็นที่พอใจ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัย ความอนุเคราะห์รับขาทนียาหาร ของข้าพระองค์นั้นเถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัย ความอนุเคราะห์รับแล้ว อุคคคฤหบดี ได้กราบทูลอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับ รับมาเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ดังนี้ ก็เนื้อสุกรอย่างดีของข้าพระองค์ เป็นที่พอใจ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัย ความอนุเคราะห์ รับเนื้อสุกรอย่างดี ของข้าพระองค์นั้นเถิด พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอาศัย ความอนุเคราะห์รับแล้ว อุคคคฤหบดีได้กราบทูลอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับ รับมาเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ดังนี้ ก็นาลิยสากะขาทนียาหาร ซึ่งทอดด้วยน้ำมันของข้าพระองค์ เป็นที่พอใจ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัย ความอนุเคราะห์รับนาลิยสากะขาทนียาหาร ของข้าพระองค์นั้นเถิด พระ-

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 101

ผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัย ความอนุเคราะห์รับแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับ รับมาเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ดังนี้ ก็ข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่ขาวสะอาด มีกับมาก มีพยัญชนะมาก ของข้าพระองค์ เป็นที่พอใจ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัย ความอนุเคราะห์รับข้าวสุก แห่งข้าวสาลี ของข้าพระองค์นั้นเถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัย ความอนุเคราะห์รับแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ดังนี้ ก็ผ้าที่ทำในแคว้นกาสี ของข้าพระองค์ เป็นที่พอใจ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัย ความอนุเคราะห์รับผ้า ของข้าพระองค์นั้นเถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัย ความอนุเคราะห์รับแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับ รับมาเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ดังนี้ ก็เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย ลาดด้วยผ้าโกเชาว์ ลาดด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาดอย่างดี ทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดใหญ่ มีหมอนข้างทั้งสองของข้าพระองค์ เป็นที่พอใจ และข้าพระองค์ก็ย่อมทราบดีว่า สิ่งเหล่านี้ ไม่ควรแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า เตียงไม้จันทน์ของข้าพระองค์นี้ มีราคาเกินกว่าแสนกหาปณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัย ความอนุเคราะห์รับเตียง ของข้าพระองค์นั้นเถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอนุโมทนา ด้วยอนุโมทนียกถา ดังต่อไปนี้

ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ใดย่อมให้เครื่องนุ่งห่ม ที่นอน ข้าว น้ำ และปัจจัยมีประการต่างๆ ด้วยความพอใจ ในท่านผู้ประพฤติตรง สิ่งของ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 102

ที่ให้ไปแล้วนั้น ย่อมเป็นของที่บริจาคแล้ว สละแล้ว ไม่คิดเอาคืน ผู้นั้นเป็นสัปบุรุษ ทราบชัดว่า พระอรหันต์เปรียบด้วยนาบุญ บริจาคสิ่งที่บริจาคได้ยากแล้ว ชื่อว่า ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ดังนี้.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงอนุโมทนา ด้วยอนุโมทนียกถากะอุคคคฤหบดี ชาวเมืองเวสาลีแล้ว จึงเสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป ต่อมาไม่นาน อุคคคฤหบดีชาวเมืองเวสาลี ก็ได้ทำกาละ และเมื่อทำกาละแล้ว เข้าถึงหมู่เทพ ชื่อ มโนมยะหมู่หนึ่ง ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น อุคคเทพบุตรมีวรรณะงาม เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้น ให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถามว่า ดูก่อนอุคคะ ตามที่ท่านประสงค์สำเร็จแล้วหรือ อุคคเทพบุตร กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตามที่ข้าพระองค์ประสงค์สำเร็จแล้ว พระเจ้าข้า ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสกะอุคคเทพบุตร ด้วยพระคาถาความว่า

ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ ผู้ให้ของที่ดีย่อมได้ของที่ดี และผู้ให้ของที่ประเสริฐ ย่อมเข้าถึงสถานที่ประเสริฐ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 103

นรชนใดให้ของที่เลิศ ให้ของที่ดี และให้ของที่ประเสริฐ นรชนนั้นจะบังเกิด ณ ที่ใดๆ ย่อมมีอายุยืน มียศ ดังนี้.

จบมนาปทายีสูตรที่ ๔

อรรถกถามนาปทายีสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในมนาปทายีสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อุคฺโค ได้แก่ ผู้ได้ชื่ออย่างนี้ เพราะเป็นผู้สูงด้วยคุณทั้งหลาย. บทว่า สาลปุปฺผกํ ขาทนียํ ได้แก่ ของเคี้ยวคล้ายดอกสาละ ทำด้วยแป้งข้าวสาลี ปรุงด้วยของอร่อย ๔ ชนิด จริงอยู่ ของเคี้ยวชนิดนั้น เขาแต่งให้มีสีกลีบ และเกษรแล้ว ทอดในน้ำมันเนย ซึ่งปรุงด้วยเครื่องเทศมียี่หร่าเป็นต้น สุกแล้ว ผึ่งให้สะเด็ดน้ำมัน บรรจุภาชนะมีฝาอบกลิ่นไว้ให้หอม. อุคคคฤหบดีประสงค์จะถวาย ในระหว่างอาหาร จึงกราบทูลอย่างนี้ แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ประทับนั่งดื่มข้าวยาคู. บทว่า ปฏิคฺคเหสิ ภควา นั่นเป็นเพียงเทศนา. ก็อุบาสกได้ถวายขาทนียะนั้น แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุ ๕๐๐ รูป ถวายแม้มังสสุกรเป็นต้น ก็เหมือนขาทนียะนั้น ฉะนั้น. ในบทเหล่านั้น บทว่า สมฺปนฺนวรสุกรมํสํ ความว่า มังสสุกรที่ปรุงด้วยเครื่อง เทศมียี่หร่าเป็นต้น กับพุทราที่มีรสดี ทำให้สุกแล้วเก็บไว้ปีหนึ่งกิน. บทว่า นิพฺพฏฺฏเตลกํ คือ น้ำมันเดือดพล่านแล้ว. บทว่า นาฬิยาสากํ ได้แก่ ฝักนาฬิกะ ที่คลุกกับแป้งสาลี แล้วทอดน้ำมันเนย ปรุงด้วยของอร่อย

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 104

๔ ชนิดแล้วอบเก็บไว้. ในบทว่า เนตํ ภควโต กปฺปติ นี้ ท่านหมายถึง ของเป็นอกัปปิยะว่า แม้เป็นกัปปิยะก็ไม่ควร.

เศรษฐีให้นำของนั้นแม้ทั้งหมดมาแล้ว ทำให้เป็นกอง สิ่งของใดๆ เป็นอกัปปิยะก็ส่งสิ่งของนั้นๆ ไปร้านตลาดแล้ว จึงถวายสิ่งของเครื่องอุปโภค และบริโภคที่เป็นกัปปิยะ แผ่นไม้จันทน์ไม่ใหญ่นัก ยาวประมาณ ๒ ศอกคืบ กว้างประมาณศอกคืบ แต่เป็นของมีราคามาก เพราะเป็นของมีสาระอย่างดี พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับแผ่นไม้จันทน์นั้นแล้ว โปรดให้เกรียกเป็นชิ้นเล็กๆ ตรัสสั่งให้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย เพื่อบดเป็นยาหยอดตา.

บทว่า อุชุภูเตสุ ได้แก่ ในท่านผู้ปฏิบัติตรง ด้วยกาย วาจา ใจ. บทว่า ฉนฺทสา ได้แก่ ความรัก. ในบทว่า จตฺตํ เป็นต้น ชื่อว่า สละ แล้วด้วยอำนาจการบริจาค ชื่อว่าปล่อยแล้วด้วยสละปล่อยไปเลย ชื่อว่า อนัคคหิตะ เพราะจิตไม่คิดจะเอาคืน เพราะมีจิตไม่เสียดาย. บทว่า เขตฺตูปเม คือ เสมือนนาเพราะเป็นที่งอกงาม. บทว่า อญฺตรํ มโนมยํ ได้แก่ หมู่เทพที่บังเกิดด้วยใจ ที่อยู่ในฌานอย่างหนึ่ง ในชั้นสุทธาวาส. บทว่า ยถาธิปฺปาโย คือ ตามอัธยาศัย. ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถามอะไร ด้วยบทนี้. ตอบว่า ได้ยินว่า ท่านมีอัธยาศัยหมายพระอรหัตครั้งเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถามว่า เราจะถามข้อนั้น. แม้เทพบุตร ได้กราบทูลว่า ตคฺฆ เม ภควา ยถาธิปฺปาโย ดังนี้ ก็เพราะท่านบรรลุพระอรหัตแล้ว. บทว่า ยตฺถ ยตฺถูปปชฺชติ ความว่า เขาย่อมเกิดในกุลสมบัติ ๓ หรือในสวรรค์ชั้นกามาวจร ๖ ชั้น ณ ภพใดๆ ก็เป็นผู้มีอายุยืน มียศ ณ ภพนั้นๆ.

จบอรรถกถา มนาปทายีสูตรที่ ๔