พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. เสยยสูตร ว่าด้วยการนอน ๔ อย่าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ต.ค. 2564
หมายเลข  39044
อ่าน  323

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 610

วรรคที่ไม่สงเคราะห์เป็นปัณณาสก์

อาปัตติภยวรรคที่ ๕

๔. เสยยสูตร

ว่าด้วยการนอน ๔ อย่าง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 610

๔. เสยยสูตร

ว่าด้วยการนอน ๔ อย่าง

[๒๔๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไสยา (การนอน) ๔ อย่างนี้ ๔ อย่าง เป็นไฉน คือ เปตไสยา (นอนอย่างคนตาย) ๑ กามโภคีไสยา (นอนอย่างคนบริโภคกาม) ๑ สีหไสยา (นอนอย่างราชสีห์) ๑ ตถาคตไสยา (นอนอย่างตถาคต) ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เปตไสยาเป็นไฉน คนตายโดยมากนอนหงาย นี้เราเรียกว่า เปตไสยา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็กามโภคีไสยาเป็นไฉน คนบริโภคกามโดยมากนอนตะแคงข้างซ้าย เราเรียกว่า กามโภคีไสยา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สีหไสยาเป็นไฉน สีหมฤคราชย่อมสำเร็จการ นอนข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเลื่อมเท้า สอดหางเข้าในระหว่างโคนขา มันตื่นขึ้นแล้ว ยืดกายเบื้องหน้าแล้ว เหลียวดูกายเบื้องหลัง ถ้ามันเห็นความผิดแปลก หรือความละปกติแห่งกาย มันย่อมเสียใจด้วยเหตุนั้น ถ้ามันไม่เห็นอะไรผิดปกติ มันย่อมดีใจด้วยเหตุนั้น นี้เราเรียกว่า สีหไสยา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ตถาคตไสยาเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สลัดจากกาม ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน นี้เราเรียกว่า ตถาคตไสยา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไสยา (การนอน) ๔ อย่างนี้แล.

จบเสยยสูตรที่ ๔

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 611

อรรถกถาเสยยสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในเสยยสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

คนตายแล้ว ท่านเรียกว่า เปตะคนตาย. บทว่า อุตฺตานา เสนฺติ ได้แก่ คนตายเหล่านั้นโดยมากนอนหงาย. อีกอย่างหนึ่ง สัตว์ที่เกิดในปิตติวิสัย ชื่อว่า เปรต. เปรตเหล่านั้น เพราะมีเนื้อและเลือดน้อย มีกระดูกขึ้นระเกะระกะ ไม่สามารถจะนอนตะแคงได้ จึงได้แต่นอนหงายท่าเดียว.

บทว่า อนตฺตมโน โหติ ความว่า ก็สีหมิคราช เพราะเป็นสัตว์มีอำนาจมาก วางสองเท้าหน้าไว้ที่เท้าหลังแห่งหนึ่ง สอดหางไว้ในระหว่างขา กำหนดโอกาสที่เท้าหน้า เท้าหลัง และหางวางอยู่ ทอดศีรษะลงบนเท้าหน้า ทั้งสองแล้วนอนตลอดวัน เมื่อนอนหลับตื่นขึ้นก็ไม่สะดุ้งตื่น แต่ผงกศีรษะขึ้น สังเกตโอกาสที่เท้าหน้าเป็นต้นวางอยู่ หากเคลื่อนที่ไรๆ ไป (ไม่อยู่อย่างเดิม) ก็ไม่พอใจว่า นี้ไม่สมควรแก่ชาติตระกูลของเจ้าไม่สมควรแก่ความเป็นผู้กล้าหาญ ดังนี้ จึงนอนในที่นั้นต่อไม่ออกไปแสวงหาอาหาร. บทว่า อนตฺตมโน โหติ ท่านกล่าวหมายเอาข้อนี้. แต่เมื่ออะไรๆ ไม่เคลื่อนที่ไป สีหมิคราชจึงยินดีว่า นี้สมควรแก่ชาติตระกูลของเจ้า และสมควรแก่ความเป็นผู้กล้าหาญของเจ้า แล้วลุกจากที่นั้นบิดกายสลัดสร้อยคอ บันลือสีหนาท ๓ ครั้งแล้วจึง ออกหาอาหาร. บทว่า อตฺตมโน โหติ ท่านกล่าวด้วยข้อนั้น.

จบอรรถกถาเสยยสูตรที่ ๔