พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. สาตถสูตร ว่าด้วยตรัสองค์แห่งสมณธรรม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ต.ค. 2564
หมายเลข  38991
อ่าน  324

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 500

จตุตถปัณณาสก์

มหาวรรคที่ ๕

๖. สาตถสูตร

ว่าด้วยตรัสองค์แห่งสมณธรรม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 500

๖. สาตถสูตร

ว่าด้วยตรัสองค์แห่งสมณธรรม

[๑๙๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กูฎาคาร ศาลาป่ามหาวัน ใกล้นครเวสาลี ครั้งนั้นแล เจ้าลิจฉวีพระนามว่าสาฬหะและอภัย เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ทรงถวายอภิวาทแล้ว ประทับ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว เจ้าสาฬหลิจฉวีได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติการรื้อถอนโอฆะ เพราะเหตุ ๒ อย่าง คือ เพราะเหตุสีลวิสุทธิ ๑ เพราะเหตุเกลียดตบะ ๑ ส่วนในธรรมวินัยนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างไร พระเจ้าข้า.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 501

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนสาฬหะ เรากล่าวสีลวิสุทธิแลว่า เป็นองค์แห่งสมณธรรมอย่างหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใด มีวาทะยกย่องการเกลียดตบะ ถือการเกลียดตบะเป็นสาระ ติดอยู่ในการเกลียดตบะ สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่ควร เพื่อจะรื้อถอนโอฆะออกได้ อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดมีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางใจไม่บริสุทธิ์ มีอาชีพไม่บริสุทธิ์ สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่ควรเพื่อญาณทัศนะ เพื่อความตรัสรู้ชั้นเยี่ยม ดูก่อนสาฬหะ เปรียบเหมือนบุรุษใคร่จะข้ามแม่น้ำ พึงถือผึ่งอันคมเข้าไปสู่ป่า เขาพบต้นรังใหญ่ในป่านั้น ลำต้นตรง ยังหนุ่ม ไม่มีที่น่ารังเกียจ เขาพึงตัดที่โคนตัดที่ปลาย ริดกิ่งและใบเรียบร้อยดีแล้ว ถากด้วยผึ่ง แล้วเกลาด้วยมีด ขีดลงพอเป็นรอย ขัดด้วยลูกหินแล้วปล่อยลงแม่น้ำ ดูก่อนสาฬหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นควรจะข้ามแม่น้ำนั้นได้หรือ.

สาฬหะ. ข้อนั้นเป็นไม่ได้ พระเจ้าข้า.

พ. ข้อนั้น เพราะเหตุไร.

สาฬหะ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะต้นรังนั้นเขาแต่งเกลี้ยงเกลาในภายนอกไม่เรียบร้อยในภายใน บุรุษนั้นพึงหวังข้อนี้ได้ว่า ไม้รังจะต้องจม และบุรุษนั้นจักถึงความพินาศ พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนสาฬหะ ฉันนั้นเหมือนกันแล สมณพราหมณ์เหล่าใดมีวาทะยกย่องการเกลียดตบะ ถือการเกลียดตบะเป็นสาระ ติดอยู่ในการเกลียดตบะ สมณพราหมณ์เหล่านั้น ไม่ควรเพื่อรื้อถอนโอฆะออก อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดมีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางใจไม่บริสุทธิ์ มีอาชีพไม่บริสุทธิ์ สมณพราหมณ์เหล่านั้น ไม่ควรเพื่อญาณทัศนะ เพื่อความตรัสรู้ชั้นเยี่ยม ส่วนสมณพราหมณ์เหล่าใด

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 502

ไม่เป็นผู้มีวาทะยกย่องการเกลียดตบะ ไม่ถือการเกลียดตบะเป็นสาระ ไม่ติดอยู่ในการเกลียดตบะ สมณพราหมณ์เหล่านั้นควรเพื่อรื้อถอนโอฆะออกได้ อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดมีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ มีความประพฤติทางใจบริสุทธิ์ มีอาชีพบริสุทธิ์ สมณพราหมณ์เหล่านั้นควรเพื่อญาณทัศนะ เพื่อความตรัสรู้ชั้นเยี่ยม เปรียบเหมือนบุรุษใคร่จะข้ามแม่น้ำ ถือเอาผึ่งอันคมเข้าไปสู่ป่า เขาเห็นต้นรังใหญ่ในป่านั้น ลำต้นตรง ยังหนุ่ม ไม่มีที่น่ารังเกียจ เขาพึงตัดมันที่โคน แล้วตัดปลาย ริดกิ่งและใบเรียบร้อยดีแล้ว ถากด้วยผึง เกลาด้วยมีด ขัดแต่งด้วยสิ่ว ทำ ภายในให้เรียบร้อย ขุดเป็นร่อง แล้วขัดด้วยลูกหิน กระทำให้เป็นเรือ ติดกรรเชียงและหางเสือ แล้วปล่อยลงแม่น้ำ ดูก่อนสาฬหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นควรข้ามแม่น้ำได้หรือไม่.

สาฬหะ. ได้ พระเจ้าข้า.

พ. ข้อนั้น เพราะเหตุไร.

สาฬหะ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะต้นรังนั้นเขาแต่งเกลี้ยงเกลาดีในภายนอก เรียบร้อยในภายใน ทำเป็นเรือ ติดกรรเชียงและหางเสือ บุรุษนั้นพึงหวังข้อนี้ได้ว่า เรือจักไม่จม บุรุษจักถึงฝั่งได้โดยสวัสดี พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนสาฬหะ ฉันนั้นเหมือนกันแล สมณพราหมณ์เหล่าใด ไม่มีวาทะยกย่องการเกลียดตบะ ไม่ถือการเกลียดตบะเป็นสาระ ไม่ติดอยู่ในการเกลียดตบะ สมณพราหมณ์เหล่านั้นควรเพื่อรื้อถอนโอฆะออกได้ อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใด มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ มีความประพฤติทางใจบริสุทธิ์ มีอาชีพบริสุทธิ์ สมณพราหมณ์ เหล่านั้นควรเพื่อญาณทัศนะ เพื่อความตรัสรู้ชั้นเยี่ยม ดูก่อนสาพหะ เปรียบ เหมือนนักรบ ถึงแม้จะรู้กระบวนลูกศรเป็นอันมาก ถึงกระนั้น เขาจะได้

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 503

ชื่อว่าเป็นนักรบคู่ควรแก่พระราชา เป็นผู้ควรที่พระราชาใช้สอย ย่อมถึงการนับว่าเป็นองค์ของพระราชาทีเดียว ก็ด้วยสถาน ๓ ประการ ๓ ประการเป็นไฉน คือ เป็นผู้ยิงได้ไกล ๑ ยิงได้ไว ๑ ทำลายข้าศึกหมู่ใหญ่ได้ ๑ ดูก่อนสาฬหะ นักรบผู้ยิงได้ไกล แม้ฉันใด อริยสาวกผู้มีสัมมาสมาธิก็ฉันนั้น อริยสาวกผู้มีสัมมาสมาธิ ย่อมเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ใกล้หรือไกล รูปทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ย่อมเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง... สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง... สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง... วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอน หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ใกล้หรือไกล วิญญาณทั้งหมดนี้ไม่ใช่ชองเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้ ดูก่อนสาฬหะ นักรบผู้ยิงได้ไวฉันใด อริยสาวกผู้มีสัมมาทิฏฐิก็ฉันนั้น อริยสาวกผู้มีสัมมาทิฏฐิย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดูก่อนสาฬหะ นักรบผู้ทำลายข้าศึกหมู่ใหญ่ได้ ฉันใด อริยสาวกผู้มีสัมมาวิมุตติก็ฉันนั้น อริยสาวกผู้มีสัมมาวิมุตติย่อมทำลายกองอวิชชาอันใหญ่เสียได้.

จบสาตถสูตรที่ ๖

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 504

อรรถกถาสาตถสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสาตถสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ทฺวเยน คือ เพราะส่วนสอง. บทว่า โอฆสฺส นิตฺถรณํ ได้แก่ การรื้อถอนโอฆะ ๔. บทว่า ตโปชิคุจฺฉาเหตุ ได้แก่ เพราะเหตุเกลียดบาปด้วยตบะ กล่าวคือการทำทุกรกิริยา. บทว่า อญฺตรํ สามญฺงฺคํ ได้แก่ ส่วนแห่งสมณธรรมอย่างหนึ่ง. ในบทมีอาทิว่า อปริสุทฺธกายสมาจารา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงศีล ความประพฤติทางกาย วาจา และใจไม่บริสุทธิ์ ด้วยสามบทนี้ แล้วจึงทรงแสดงถึงความเป็นผู้มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ด้วยบทหลัง. บทว่า าณทสฺสนาย ได้แก่ ทัสสนะอันได้แก่ มรรคญาณ. บทว่า อนุตฺตราย สมฺโพธาย ได้แก่พระอรหัต. ท่านอธิบายว่า ไม่ควรเพื่อสัมผัสด้วยญาณผัสสะ คือ อรหัต.

บทว่า สาลลฏฺึ ได้แก่ ต้นสาละ. บทว่า นวํ คือ หนุ่ม. บทว่า อกุกฺกุจฺจกชาตํ คือ ไม่เกิดความรังเกียจว่า ควรหรือไม่ควร. บทว่า เลขณิยา ลิเขยฺย ได้แก่ ขีดพอเป็นรอย. บทว่า โธเปยฺย ได้แก่ ขัด. บทว่า อนฺโตอวิสุทฺธา ได้แก่ ไม่เรียบในภายใน คือ ไม่เอาแก่นออก. ในบทว่า เอวเมว โข นี้ เทียบด้วยอุปมาดังนี้. จริงอยู่ อัตภาพพึงเห็นเหมือนต้นสาละ กระแสสงสารเหมือนกระแสน้ำ คนยึดถือทิฏฐิ ๖๒ เหมือนคนที่ต้องการจะไปฝั่งโน้น เวลาที่ยึดมั่นในอารมณ์ภายนอก เหมือนเวลาที่ทำต้นสาละให้เรียบดีในภายนอก เวลาที่ศีลในภายในไม่บริสุทธิ์ เหมือนเวลาที่ไม่ทำข้างในของต้นสาละให้เรียบ การที่คนถือทิฏฐิจมลงไปในกระแสสงสารวัฏ พึงทราบเหมือนการที่ต้นสาละจมลงไปข้างล่าง.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 505

บทว่า ชิยาริตฺตํ พนฺเธยฺย ได้แก่ ติดกรรเชียงและหางเสือ. บทว่า เอวเมว โข เทียบด้วยอุปมาดังนี้ อัตภาพเหมือนต้นสาละหนุ่ม. กระแสสงสารวัฏเหมือนกระแสน้ำ พระโยคาวจร เหมือนคนผู้ประสงค์จะไปฝั่งโน้น เวลาที่ความสำรวมตั้งมั่นในทวาร ๖ เหมือนเวลาที่ทำภายนอกให้เรียบศีลอาจาร บริสุทธิ์ในภายใน เหมือนความที่ทำภายในให้เรียบ การทำความเพียรทางกายและใจ เหมือนการติดกรรเชียงและหางเสือ การบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา โดยลำดับ แล้วถึงนิพพาน พึงเห็นเหมือนการไปถึงฝั่งโน้นได้โดยสวัสดี.

บทว่า กณฺฑจิตฺตกานิ ได้แก่ กระบวนการที่ควรทำด้วยลูกศร มีไม่น้อย เป็นต้นว่า คันศร เชือกศร รางศร ฉากศร สายศร ดอกศร. บทว่า อถโข โส ตีหิ าเนหิ ความว่า เขาแม้รู้กระบวนการลูกศรมากอย่างนี้ ก็ไม่คู่ควรแก่พระราชา แต่จะคู่ควรโดยฐานะ ๓ เท่านั้น.

บทว่า สมฺมาสมาธิ โหติ ในบทนี้มีความว่า เป็นผู้ตั้งมั่นแล้วด้วยมรรคสมาธิ และผลสมาธิ. บทว่า สมฺมาทิฏฺิ ได้แก่ ประกอบแล้ว ด้วยมรรคสัมมาทิฏฐิ. ท่านกล่าวมรรค ๔ ผล ๓ ด้วยสัจจะ ๔ มีอาทิว่า อิทํ ทุกขํ ดังนี้. พึงทราบความว่า ก็ผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐินี้ พึงทราบว่า ชื่อว่า ยิงไม่พลาดด้วยมรรคเท่านั้น. บทว่า สมฺมาวิมุตฺติ ได้แก่ ประกอบแล้วด้วยวิมุตติ คือ อรหัตผล. บทว่า อวิชฺชากฺขนฺธํ ปทาเลติ ความว่า ผู้ประกอบด้วยสัมมาวิมุตติ ท่านกล่าวว่า ชื่อว่าทำลายกองอวิชชาด้วยอรหัตมรรค. จริงอยู่ กองอวิชชาถูกทำลายด้วยอรหัตมรรคนี้ในภายหลัง แต่ในที่นี้ ควรกล่าวว่า ย่อมทำลายอาศัยกองอวิชชาที่ถูกทำลายแล้ว.

จบอรรถกถาสาตถสูตรที่ ๖