พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. ภัททิยสูตร ว่าด้วยไม่ควรเชื่อถือโดยอาการ ๑๐ อย่าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ต.ค. 2564
หมายเลข  38988
อ่าน  349

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 480

จตุตถปัณณาสก์

มหาวรรคที่ ๕

๓. ภัททิยสูตร

ว่าด้วยไม่ควรเชื่อถือโดยอาการ ๑๐ อย่าง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 480

๓. ภัททิยสูตร

ว่าด้วยไม่ควรเชื่อถือโดยอาการ ๑๐ อย่าง

[๑๙๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กูฎาคารศาลาป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้นแล ภัททิยลิจฉวีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมา ดังนี้ว่า พระสมณโคดมทรงมีมายา ย่อมทรงรู้มายาเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ให้มานับถือ พวกเขาเหล่านั้นพากันกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมทรงมีมายา ย่อมทรงรู้มายาเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ให้มานับถือ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนเหล่านั้นเป็นอันกล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแลหรือ ไม่ได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคำไม่เป็นจริง ย่อมพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม และการคล้อยตามวาทะอันชอบแก่เหตุไรๆ ย่อมไม่มาถึงฐานะอันควรติเตียนแลหรือ แท้จริง ข้าพระองค์ไม่ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าเลย.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภัททิยะ ท่านจงมาเถิด ท่านทั้ง หลายอย่าได้ถือโดยฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยสืบต่อกันมา อย่าได้

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 481

ถือโดยตื่นข่าว อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยนึกเดาเอาเอง อย่าได้ถือโดยคาดคะเน อย่าได้ถือโดยตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่าถูกกับลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเห็นว่าผู้พูดเป็นคนควรเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยเชื่อว่าสมณะเป็นครูของเรา ดูก่อนภัททิยะ เมื่อใด ท่านพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้อันวิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านี้อันบุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูลเพื่อทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายพึงละเสียเถิด ดูก่อนภัททิยะ ท่านจะพึงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความโลภเมื่อเกิดขึ้นภายในบุคคล ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อมิใช่ประโยชน์?

ภัท. เพื่อมิใช่ประโยชน์ พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภัททิยะ ก็บุคคลผู้โลภมาก ถูกความโลภครอบงำย่ำยีจิต ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ ย่อมชักชวนผู้อื่น เพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานหรือ?

ภัท. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน โทสะ... โมหะ... การแข่งดี เมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อมิใช่ประโยชน์

ภัท. เพื่อมิใช่ประโยชน์ พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภัททิยะ บุคคลผู้แข่งดี ถูกความแข็งดีครอบงำย่ำยีจิต ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ ชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานหรือ?

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 482

ภัท. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมเหล่านี้ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล?

ภัท. เป็นอกุศล พระเจ้าข้า.

พ. มีโทษหรือไม่มีโทษ?

ภัท. มีโทษ พระเจ้าข้า.

พ. วิญญูชนติเตียนหรือวิญญูชนสรรเสริญ?

ภัท. วิญญูชนติเตียน พระเจ้าข้า.

พ. บุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ หรือมิใช่ หรือว่าท่านมีความเห็นอย่างไรในข้อนี้.

ภัท. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมเหล่านี้ บุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ ข้าพระองค์มีความเห็นอย่างนี้ ในข้อนี้พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภัททิยะ เราได้กล่าวคำใดกะท่านว่า ท่านทั้งหลายอย่าถือ โดยฟังตามกันมา... เมื่อใด ท่านพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่าธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล... ท่านทั้งหลายควรละเสียเถิด ดังนี้ คำนั้นเรากล่าวเพราะอาศัยข้อนี้ ดูก่อนภัททิยะ ท่านทั้งหลายอย่าได้ถือโดยฟังตามกันมา.... เมื่อใด ท่าน ทั้งหลายพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านี้บุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายพึงเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่เถิด ดูก่อนภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความไม่โลภเมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อมิใช่ประโยชน์?

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 483

ภัท. เพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภัททิยะ ก็บุคคลผู้ไม่โลภนี้ ไม่ถูกความโลภครอบงำย่ำยีจิต ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ และชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนานหรือ?

ภัท. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความไม่ โกรธ... ความไม่หลง... ความไม่แข่งดี เกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูล หรือเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล?

ภัท. เพื่อประโยชน์เกื้อกูล พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภัททิยะ ก็บุคคลผู้ไม่แข่งดีนี้ ไม่ถูกความแข็งดีครอบงำย่ำยีจิต ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ และชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนานหรือ?

ภัท. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน ธรรมเหล่านี้ เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล?

ภัท. เป็นกุศล พระเจ้าข้า.

พ. มีโทษหรือหาโทษมิได้?

ภัท. หาโทษมิได้ พระเจ้าข้า.

พ. วิญญูชนติเตียนหรือสรรเสริญ?

ภัท. วิญญูชนสรรเสริญ พระเจ้าข้า.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 484

พ. ธรรมเหล่านี้อันบุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขหรือมิใช่ หรือท่านมีความเห็นอย่างไรในข้อนี้.

ภัท. ธรรมเหล่านี้อันบุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข ข้าพระองค์มีความเห็นอย่างนี้ในข้อนี้ พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภัททิยะ เราได้กล่าวคำใดกะท่านว่า ท่านทั้งหลายจงมาเถิด ท่านทั้งหลายอย่าได้ถือฟังตามกันมา... ท่านทั้งหลายพึงเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่เถิด ดังนี้ คำนั้นเรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้ ดูก่อนภัททิยะ คนเหล่าใด เป็นคนสงบเป็นสัตบุรุษ คนเหล่านั้นย่อมชักชวนสาวกอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญ ท่านจงมา จงปราบปรามความโลภเสียเถิด เมื่อปราบปรามความโลภได้ จักไม่กระทำกรรมอันเกิดแต่ความโลภด้วยกายวาจาใจ จงปราบปรามความโกรธ เสียเถิด เมื่อท่านปราบปรามความโกรธได้ จักไม่กระทำกรรมอันเกิดแต่ความโกรธด้วยกาย วาจา ใจ จงปราบปรามความหลงเสียเถิด เมื่อปราบปราม ความหลงได้ จักไม่กระทำกรรมอันเกิดแต่ความหลงด้วยกาย วาจา ใจ จงปราบปรามความแข่งดีเสียเถิด เมื่อปราบปรามความแข่งดีได้ จักไม่กระทำกรรมอันเกิดแต่ความแข่งดีด้วยกาย วาจา ใจ.

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ภัททิยลิจฉวีได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

พ. ดูก่อนภัททิยะ ก็เราได้กล่าวชักชวนท่านอย่างนี้ว่า ดูก่อนภัททิยะ ขอท่านจงมาเป็นสาวกของเราเถิด เราจักเป็นศาสดาของท่าน ดังนี้ หรือ?

ภัต. มิใช่เช่นนั้น พระเจ้าข้า.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 485

พ. ดูก่อนภัททิยะ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวตู่เราผู้มีปกติกล่าวอย่างนี้ มีปกติบอกอย่างนี้ ด้วยคำอันไม่แน่นอน เป็นคำเปล่า คำเท็จ คำไม่จริง ว่าพระสมณโคดมมีมายา รู้จักมายาเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ให้นานับถือ.

ภัต. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มายาเครื่องกลับใจนี้ดีนัก งามนัก ถ้าญาติสาโลหิตอันเป็นที่รักของข้าพระองค์ พึงกลับใจมาด้วยมายาเป็นเครื่องกลับ ใจชนิดนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข แก่บรรดาญาติสาโลหิตอันเป็นที่รักของข้าพระองค์ ตลอดกาลนาน ถ้าแม้กษัตริย์ทั้งปวงจะพึง กลับใจมาด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจชนิดนี้ ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข แก่กษัตริย์ทั้งปวงตลอดกาลนาน ถ้าพราหมณ์ทั้งปวง... แพศย์... ศูทรทั้งปวงจะพึงกลับใจมาด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจชนิดนี้ ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข แก่ศูทรแม้ทั้งปวงตลอดกาลนาน.

ดูก่อนภัททิยะ คำที่ท่านกล่าวนี้เป็นอย่างนั้นๆ ถ้าแม้กษัตริย์ทั้งปวง พึงทรงกลับใจมาเพื่อละอกุศลธรรม บำเพ็ญกุศลธรรม ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข แก่กษัตริย์ทั้งปวงตลอดกาลนาน ถ้าแม้พราหมณ์... แพศย์... ศูทรพึงกลับใจมาเพื่อละอกุศลธรรม บำเพ็ญกุศลธรรม ข้อนั้น ก็พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข แก่ศูทรทั้งปวง ตลอดกาลนาน ถ้าแม้โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ พึงกลับใจมาเพื่อละอกุศลธรรม บำเพ็ญกุศลธรรม ข้อนั้น ก็พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขแก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก แก่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ตลอดกาลนาน ดูก่อนภัททิยะถ้าแม้พวกมหาศาลเหล่านี้ จะพึงกลับใจมาด้วยมายาเครื่องกลับใจ

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 486

นี้ เพื่อละอกุศลธรรม บำเพ็ญกุศลธรรม ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข แก่พวกมหาศาลเหล่านี้ตลอดกาลนาน ถ้ามหาศาลเหล่านี้ พึงตั้งใจ จะป่วยกล่าวไปไยถึงผู้ที่เป็นมนุษย์เล่า.

จบภัททิยสูตรที่ ๓

อรรถกถาภัททิยสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในภัททิยสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า เจ้าภัททิยลิจฉวี ผู้บริโภคอาหารเช้าเสร็จแล้ว ถือดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ เข้าไปเฝ้าด้วยคิดว่า เราจักถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้. ในบทว่า มา อนุสฺลเวน เป็นอาทิ พึงทราบเนื้อความโดยนัยนี้ว่า ท่านทั้งหลายอย่าถือคำของเราด้วยอำนาจการฟังตามกันมา. บทว่า สารมฺโภ ได้แก่ ความคิดแข่งดีกันเป็นลักษณะแข่งกันเกินกว่าเหตุ. ธรรมมีอโลภะเป็นต้น พึงทราบโดยนัยที่ตรงกันข้ามกับความโลภ เป็นต้น. บทว่า กุสลธมฺมูปสมฺปทาย ได้แก่ เพื่อบำเพ็ญกุศลธรรมให้ถึงพร้อม ท่านอธิบายว่า เพื่อให้ได้กุศลธรรม. บทว่า อิเม เจปิ ภทฺทิย มหาสาลา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงต้นสาละที่ยืนต้นอยู่ข้างหน้า จึงตรัสอย่างนี้. บทที่เหลือในสูตรนี้ พึงรู้ได้ง่ายเพราะมีนัยอันกล่าวแล้วในหนหลัง และเพราะมีอรรถง่าย. แต่เมื่อพระศาสดาทรงยักเยื้องเทศนา เจ้าภัททิยะก็เป็นโสดาบันบุคคลแล.

จบอรรถกถาภัททิยสูตรที่ ๓