พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. วัสสการสูตร พระพุทธองค์ทรงตอบปัญหาวัสสการพราหมณ์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  24 ต.ค. 2564
หมายเลข  38980
อ่าน  297

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 456

จตุตถปัณณาสก์

โยธาชีววรรคที่ ๔

๗. วัสสการสูตร

พระพุทธองค์ทรงตอบปัญหาวัสสการพราหมณ์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 456

๗. วัสสการสูตร

พระพุทธองค์ทรงตอบปัญหาวัสสการพราหมณ์

[๑๘๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์ของแคว้นมคธ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อสัตบุรุษจะพึงรู้อสัตบุรุษด้วยกันได้หรือหนอว่าท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ? พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนพราหมณ์

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 457

ข้อที่อสัตบุรุษจะพึงรู้อสัตบุรุษด้วยกันว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ ดังนี้ ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาสที่จะเป็นได้เลย.

วัส. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อสัตบุรุษจะพึงรู้สัตบุรุษได้หรือหนอว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ แม้ข้อที่อสัตบุรุษจะพึงรู้สัตบุรุษว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ดังนี้ ก็ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาสจะพึงเป็นได้.

วัส. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สัตบุรุษพึงรู้สัตบุรุษด้วยกันได้หรือหนอแลว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ ข้อที่สัตบุรุษพึงรู้สัตบุรุษด้วยกันว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ดังนี้ เป็นฐานะเป็นโอกาสที่มีได้.

วัส. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สัตบุรุษพึงรู้อสัตบุรุษได้หรือหนอว่าท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ.

พ. ดูก่อนพราหมณ์ แม้ข้อที่สัตบุรุษพึงรู้อสัตบุรุษว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ ดังนี้ ก็เป็นฐานะเป็นโอกาสที่มีได้.

วัส. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้อที่พระโคดมตรัส ชอบแล้วว่า ข้อที่อสัตบุรุษจะพึงรู้อสัตบุรุษด้วยกันว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ ดังนี้ ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาสที่จะเป็นได้ ข้อที่อสัตบุรุษจะพึงรู้สัตบุรุษว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ดังนี้ ก็ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาสที่จะเป็นได้ ข้อที่สัตบุรุษจะพึงรู้สัตบุรุษด้วยกันว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ดังนี้ เป็นฐานะเป็นโอกาสที่มีได้ และข้อที่สัตบุรุษ จะพึงรู้อสัตบุรุษว่าท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ ดังนี้ ก็เป็นฐานะเป็นโอกาสที่มีได้ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมัยหนึ่ง ในบริษัทของโตเทยยพราหมณ์ พวกบริษัทกล่าวติเตียนผู้อื่นว่า พระเจ้าเอเฬายยะผู้ทรงเลื่อมใสยิ่งนักในสมณรามบุตร

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 458

เป็นพาล ทรงกระทำความเคารพอย่างยิ่งเห็นปานนี้ คือ ทรงอภิวาท ทรงลุกรับ ทรงกระทำอัญชลีกรรม และสามีจิกรรมในสมณรามบุตร แม้ข้าราชบริพารของพระเจ้าเอเฬยยะเหล่านี้ คือ ยมกะ โมคคัลละ อุคคะ นาวินากี คันธัพพะ และอัคคิเวสสะ ผู้เลื่อมใสยิ่งนักในสมณรามบุตร ก็เป็นพาล และกระทำความเคารพอย่างยิ่งเห็นปานนี้ คือ อภิวาท ลุกรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรม ในสมณรามบุตร ส่วนโตเทยยพราหมณ์แนะนำบริษัทเหล่านั้น โดยนัยนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระเจ้าเอเฬยยะเป็นบัณฑิต ทรงสามารถเล็งเห็นประโยชน์ยิ่งกว่าผู้สามารถเล็งเห็นประโยชน์ ในกิจที่ควรทำและกิจที่ควรทำอันยิ่ง ในคำที่ควรพูดและคำที่ควรพูดอันยิ่ง? พวกบริวารรับว่าเป็นอย่างนั้น ท่านผู้เจริญ โตเทยยพราหมณ์กล่าวต่อไปว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เพราะเหตุที่สมณรามบุตรเป็นผู้ฉลาดกว่าพระเจ้าเอเฬยยะ เป็นผู้สามารถเล็งเห็นประโยชน์ยิ่งกว่า ฉะนั้น พระเจ้าเอเฬยยะจึงทรงเลื่อมใสยิ่งนักในสมณรามบุตร และทรงกระทำความ เคารพอย่างยิ่งเห็นปานนี้ คือ ทรงอภิวาท ทรงลุกรับ ทรงทำอัญชลีกรรม และสามีจิกรรมในสมณรามบุตร ท่านผู้เจริญทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ข้าราชบริพารของพระเจ้าเอเฬยยะ คือ ยมกะ โมคคัลละ อุคคะ นาวินากี คันธัพพะ อัคคิเวสสะ เป็นผู้ฉลาดสามารถเล็งเห็นประโยชน์ยิ่งกว่า ผู้สามารถเล็งเห็นประโยชน์ ในกิจที่ควรทำและกิจที่ควรทำอันยิ่ง ในคำที่ควรพูดและคำที่ควรพูดอันยิ่ง? พวกบริวารรับว่าเป็นอย่างนั้นท่านผู้เจริญ โตเทยยพราหมณ์กล่าวต่อไปว่า เพราะเหตุที่สมณรามบุตร เป็นบัณฑิตยิ่งกว่าข้าราชบริพารผู้เป็นบัณฑิตของพระเจ้าเอเฬยยะ เป็นผู้สามารถเล็งเห็นประโยชน์ ยิ่งกว่าผู้สามารถเล็งเห็นประโยชน์ ในกิจที่ควรทำและกิจที่ควรทำอันยิ่ง ในคำที่ควรพูดและคำพูดที่ควรพูดอันยิ่ง ฉะนั้น พวกข้าราชบริพารของพระเจ้า-

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 459

เอเฬยยะ จึงเลื่อมใสยิ่งนักในสมณรามบุตร และกระทำความเคารพอย่างยิ่ง เห็นปานนี้ คือ อภิวาท ลุกรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรม ในสมณรามบุตร ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ข้อที่พระโคดมผู้เจริญตรัสนั้นชอบแล้ว ... ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บัดนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายขอทูลลาไป ข้าพระองค์ทั้งหลายมีกิจมาก มีกรณียะมาก

พ. ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจงรู้กาลอันควรในบัดนี้เถิด.

ครั้งนั้นแล วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์ของแคว้นมคธ ชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ลุกจากอาสนะแล้วหลีกไป.

จบวัสสการสูตรที่ ๗

อรรถกถาวัสสการสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในวัสสการสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า โตเทยฺยสฺส คือพราหมณ์ชาวตุทิคาม. บทว่า ปริสติ ได้แก่ ในบริษัทผู้ประชุมพร้อมกันแล้ว. บทว่า ปรูปารมฺภํ วตฺเตนฺติ ความว่า ประพฤติแล้วติเตียนผู้อื่น. บทว่า พาโล อยํ ราชา เป็นอาทิ ท่านกล่าวเพื่อแสดงคำติเตียน ซึ่งชนเหล่านั้นประพฤติกัน. บทว่า สมเณ รามปุตฺเต ได้แก่ อุททกดาบสรามบุตร. บทว่า อภิปฺปสนฺโน ได้แก่ เลื่อมใสเหลือเกิน. บทว่า ปรมนิปจฺจการํ ได้แก่ กิริยาที่อ่อนน้อมอย่างยิ่งยวด คือประพฤติถ่อมตน. บทว่า ปริหารกา ได้แก่ บริวาร. บท เป็นต้น ว่า ยมโก เป็นชื่อของบริวารชนเหล่านั้น จริงอยู่ บรรดาบริวารชน เหล่านั้น คนหนึ่งชื่อยมกะ คนหนึ่งชื่อโมคคัลละ คนหนึ่งชื่ออุคคะ คนหนึ่ง

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 460

ชื่อนาวินากี คนหนึ่งชื่อคันธัพพะ คนหนึ่งชื่ออัคคิเวสสะ. บทว่า อสฺสุทํ ในบทว่า ตฺยาสฺสุทํ นี้ เป็นเพียงนิบาต. อธิบายว่า ซึ่งบริวารชนเหล่านั้น ผู้นั่งในบริษัทของตน. บทว่า อิมินา นเยน เนติ ความว่า โตเทยยพราหมณ์กลับแนะนำ คือ ให้เขารู้ด้วยเหตุนี้.

บทว่า กรณียาธิกรณีเยสุ ความว่า ในกิจอันบัณฑิตควรทำ และกิจที่ควรทำอันยิ่ง. บทว่า วจนียาธิวจนีเยสุ ความว่า ในถ้อยคำควรกล่าว และถ้อยคำควรกล่าวอันยิ่ง. ในบทว่า อลมตฺถทสตเรหิ นี้ ความว่า ผู้สามารถเห็นประโยชน์ทั้งหลาย ชื่อว่า อลมัตถวาส ผู้สามารถเห็นประโยชน์เกินบริวารชนเหล่านั้น ชื่อว่าอลมัตถทัสตระกว่าชนเหล่านั้น ผู้สามารถเห็นประโยชน์. บทว่า อลมตฺถทสตโร ความว่า พระเจ้าเอเฬยยะ เป็นผู้ยิ่งกว่า เพราะสามารถเห็นประโยชน์. โตเทยยพราหมณ์ เมื่อถามว่า สมณรามบุตรเป็นผู้ฉลาดกว่าผู้ฉลาดทั้งหลาย เป็นบัณฑิตกว่าบัณฑิตทั้งหลาย จึงกล่าวอย่างนี้. เมื่อเป็นเช่นนั้น บริวารเหล่านั้น เมื่อจะย้อนถาม จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า เอวํ โภ แก่โตเทยยพราหมณ์นั้น. ดังนั้น พราหมณ์สรรเสริญพระเจ้าเอเฬยยะบ้าง บริวารของพระเจ้าเอเฬยยะนั้นบ้าง อุททกดาบสรามบุตรบ้าง เพราะตนเป็นสัตบุรุษ. อสัตบุรุษเป็นเหมือนคนบอด สัตบุรุษเป็นเหมือนคนมีจักษุ. คนบอดย่อมมองไม่เห็นทั้งคนไม่บอด ทั้งคนบอดด้วยกัน ฉันใด อสัตบุรุษย่อมไม่รู้จักทั้งสัตบุรุษ ทั้งอสัตบุรุษฉันนั้น. คนมีจักษุ ย่อมเห็นทั้งคนบอด ทั้งคนไม่บอดฉันใด สัตบุรุษ ย่อมรู้จักทั้งสัตบุรุษ ทั้งอสัตบุรุษ ฉันนั้น. พราหมณ์ได้อาศัยอำนาจประโยชน์นี้ว่า แม้โตเทยยพราหมณ์ ได้รู้แล้วซึ่งอสัตบุรุษทั้งหลาย เพราะเป็นสัตบุรุษ ดังนี้ จึงมีใจยินดีกล่าวคำ เป็นอาทิว่า อจฺฉริยํ โภ โคตม ดังนี้ อนุโมทนาภาษิตของพระตถาคตแล้วทำสักการะก็กลับไป.

จบอรรถกถาวัสสการสูตรที่ ๗