พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. อารักขสูตร ว่าด้วยความไม่ประมาทในฐานะ ๔ ประการ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 ต.ค. 2564
หมายเลข  38907
อ่าน  292

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 314

ตติยปัณณาสก์

เกสีวรรคที่ ๒

๗. อารักขสูตร

ว่าด้วยความไม่ประมาทในฐานะ ๔ ประการ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 314

๗. อารักขสูตร

ว่าด้วยความไม่ประมาทในฐานะ ๔ ประการ

[๑๑๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงกระทำความไม่ประมาท คือ มีสติเครื่องรักษาใจโดยสมควรแก่ตน ในฐานะ ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุพึงกระทำความไม่ประมาท คือ มีสติเครื่องรักษาใจโดยสมควรแก่ตนว่า จิตของเราอย่ากำหนัดในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ๑ จิตของเรา อย่าขัดเคืองในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง ๑ จิตของเราอย่าหลงในธรรม เป็นที่ตั้งแห่งความหลง ๑ จิตของเราอย่ามัวเมาในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล จิตของภิกษุไม่กำหนัดในธรรม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เพราะปราศจากความกำหนัด จิตของภิกษุไม่ขัดเคืองในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง เพราะปราศจากความขัดเคือง จิตของภิกษุไม่หลงในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลง เพราะปราศจากความหลง จิตของภิกษุไม่มัวเมาในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา เพราะปราศจากความมัวเมา ในกาลนั้น เธอย่อมไม่หวาดเสียว ไม่หวั่น ไม่ไหว ไม่ถึงความสะดุ้ง และย่อมไม่ไปแม้เพราะเหตุแห่งถ้อยคำของสมณะ.

จบอารักขสูตรที่ ๗

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 315

อรรถกถาอารักขสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอารักขสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อตฺตรูเปน ได้แก่ ตามอนุรูปคือตามควรแก่ตน อธิบายว่า ตามความใคร่ประโยชน์เกื้อกูล. บทว่า รชนีเยสุ ความว่า ในธรรมเป็นปัจจัยแห่งราคะ. บทว่า ธมฺเมสุ ความว่า ในสภาวะ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนา. นัยในบททั้งปวง พึงทราบอย่างนี้. บทว่า นจฺฉมฺภติ ความว่า ย่อมไม่หวาดเสียวด้วยอำนาจทิฏฐิ. แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้. บทว่า น จ ปน สมณวจนเหตุปิ คจฺฉติ ความว่า ย่อมไม่เขวไปแม้เพราะเหตุแห่งถ้อยคำ ของสมณะผู้กล่าววาทะที่เป็นปรปักษ์ คือไม่ละทิฏฐิของตนเขวไปด้วยอำนาจทิฏฐิของสมณะเหล่านั้น. แม้ในที่นี้ก็ประสงค์เอาพระขีณาสพเท่านั้น.

จบอรรถกถาอารักขสูตรที่ ๗