พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. สุปปวาสสูตร ว่าด้วยนางสุปปวาสาอังคาสพระผู้มีพระภาคเจ้า

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 ต.ค. 2564
หมายเลข  38847
อ่าน  409

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 191

ทุติยปัณณาสก์

ปุญญาภิสันทวรรคที่ ๑

๗. สุปปวาสสูตร

ว่าด้วยนางสุปปวาสาอังคาสพระผู้มีพระภาคเจ้า


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 191

๗. สุปปวาสสูตร

ว่าด้วยนางสุปปวาสาอังคาสพระผู้มีพระภาคเจ้า

[๕๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่นิคมของชาวโกลิยะ ชื่อปัชชเนลนิคม ในโกลิยชนบท ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงครองสบงแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จพระพุทธดำเนินไปนิเวศน์ของนางสุปปวาสา ธิดาของเจ้าโกลิยะ ประทับ ณ อาสนะที่เขาจัดถวาย นางสุปปวาสาอังคาสพระผู้มีพระภาคเจ้า บริบูรณ์พอเพียงด้วยขาทนียโภชนียาหารด้วยตนเอง ครั้นพระองค์เสวยเสร็จ นำพระหัตถ์จากบาตรแล้ว นั่งเฝ้าอยู่ในที่สมควรส่วนหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนสุปปวาสา อริยสาวิกา เมื่อให้โภชนาหารเป็นทาน ชื่อว่าให้สถาน ๙ แก่ปฏิคาหกทั้งหลาย ให้สถาน ๔ คืออะไรบ้าง คือ ให้อายุ ให้วรรณะ ให้สุขะ ให้พละ ครั้นให้อายุ แล้วย่อมเป็นผู้มีส่วน (ได้รับ) อายุอันเป็นของทิพย์บ้าง ของมนุษย์บ้าง ครั้นให้วรรณะ ... สุขะ ... พละแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วน (ได้รับ) วรรณะ ... สุขะ ... พละ อันเป็นของทิพย์บ้าง ของมนุษย์บ้าง ดูก่อนสุปปวาสา อริยสาวิกาเมื่อให้โภชนาหารเป็นทาน ชื่อว่าให้สถาน ๔ นี้ แก่ปฏิคาหกทั้งหลาย.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 192

บุคคลให้โภชนาหารอันปรุงแต่งแล้วอันสะอาด ประณีต มีรส (แก่ปฏิคาหก) ทักษิณาทานนั้นที่บุคคลให้ในท่านผู้ดำเนินตรง ผู้ประกอบด้วยจรณะ ผู้ถึงความเป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรรเสริญว่าเป็นทักษิณาที่รวบรวมบุญด้วยบุญ มีผลมาก.

บุคคลเหล่าใด ระลึกถึงทักษิณาทาน เช่นนั้น เกิดความยินดี ขจัดเสียซึ่งมลทิน คือความตระหนี่ พร้อมทั้งมูลราก ในโลก ย่อมเป็นผู้ไม่ต้องตำหนิ ย่อมเข้าถึงฐานะ อันเป็นสวรรค์.

จบสุปปวาสสูตรที่ ๗

อรรถกถาสุปปวาสสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสุปปวาสสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-

คำว่า ปัชชเนละ เป็นชื่อนิคมของใคร. บทว่า โกลิยานํ ได้แก่ ของโกลราชตระกูล. บทว่า อายุํ โข ปน ทตฺวา ได้แก่ ครั้นให้อายุทานแล้ว. บทว่า อายุสฺส ภาคินี โหติ ได้แก่ เป็นหญิงได้ลาภคืออายุ หรือเป็นผู้เกิดมีอายุ อธิบายว่า เป็นผู้ได้อายุ. แม้ในบทที่เหลือ ก็นัยนี้เหมือนกัน.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 193

บทว่า รสสา อุเปตํ ได้แก่ โภชนาหารประกอบด้วยรส คือ ถึงพร้อมด้วยรส. บทว่า อุชุคเตสุ ความว่า ในพระขีณาสพผู้ดำเนินตรง เพราะเว้นคดกายเป็นต้นแล้ว. บทว่า จรณูปปนฺเนสุ ความว่า ผู้ประกอบด้วย จรณธรรม ๑๕. บทว่า มหคฺคเตสุ คือผู้ถึงภูมิธรรมสูง. บทนั้นเป็นชื่อของพระขีณาสพ. บทว่า ปุญฺเน ปุญฺํ สํสนฺทมานา แปลว่า การสืบต่อบุญด้วยบุญ. บทว่า มหปฺผลา โลกวิทูน วณฺณิตา ความว่า ทักษิณา กล่าวคือทานเห็นปานนี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ทรงรู้แจ้งโลก ตรัสยกย่องแล้ว อธิบายว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรรเสริญแล้ว เพราะทรงทำโลก ๓ อย่าง ให้แจ้งแล้ว. บทว่า ยญฺมนุสฺสรนฺตา ได้แก่ ระลึกถึงยัญคือทาน. บทว่า เวทชาตา แปลว่า เกิดความยินดีแล้ว.

จบอรรถกถาสุปปวาสสูตรที่ ๗