พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. ปฐมสังวาสสูตร ว่าด้วยความอยู่ร่วมเป็นสามีภรรยา ๔

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 ต.ค. 2564
หมายเลข  38843
อ่าน  340

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 184

ทุติยปัณณาสก์

ปุญญาภิสันทวรรคที่ ๑

๓. ปฐมสังวาสสูตร

ว่าด้วยความอยู่ร่วมเป็นสามีภรรยา ๔


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 184

๓. ปฐมสังวาสสูตร

ว่าด้วยความอยู่ร่วมเป็นสามีภรรยา ๔

[๕๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จพระพุทธดำเนินทางไกล อยู่ในระหว่างเมืองมธุรากับเมืองเวรัญชา ฝ่ายคฤหบดีและคฤหปตานี จำนวนมากก็เดินทางไกลอยู่ในระหว่างนั้นด้วย คราวนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จแวะไปประทับพักอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง คฤหบดีและคฤหปตานีเหล่านั้น ได้เห็นพระองค์ประทับอยู่ ก็พากันไปเฝ้า ถวายอภิวาทแล้ว ต่างนั่งลง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง พระองค์จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า

คฤหบดีและคฤหปตานีทั้งหลาย สังวาส (ความอยู่ร่วมเป็นสามีภริยากัน) ๔ ประเภทนี้ สังวาส ๔ ประเภทคืออะไรบ้าง คือ ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงผี ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงเทวดา ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงผี ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงเทวดา.

ก็ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงผีเป็นอย่างไร? สามีเป็นคนทำปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร พูดมุสา ดื่มสุราเมรัย เป็นคนทุศีลมีธรรมลามก มีใจกลุ้มไปด้วยมลทินคือความตระหนี่อยู่ครองเรือน มักด่าว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ฝ่ายภริยาก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน อย่างนี้ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงผี.

ก็ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงเทวดาเป็นอย่างไร? สามีเป็นคนทำปาณาติบาต ฯลฯ มักด่าว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ฝ่ายภริยาเป็นผู้เว้นจากปาณาติบาต เว้นจากอทินนาทาน เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นจากมุสาวาท เว้นจากการดื่มสุราเมรัย เป็นคนมีศีลมีธรรมงาม มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่อยู่ครองเรือน ไม่ด่าว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย อย่างนี้ ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงเทวดา.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 185

ก็ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงผีเป็นอย่างไร? สามีเป็นผู้เว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ไม่ด่าว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ฝ่ายภริยาเป็นผู้ทำปาณาติบาต ฯลฯ คำว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย อย่างนี้ ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงผี.

ก็ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงเทวดาเป็นอย่างไร? สามีเป็นผู้เว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ไม่ด่าว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ฝ่ายภริยาก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน อย่างนี้ ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงเทวดา.

คฤหบดีและคฤหปตานีทั้งหลาย นี้แล สังวาส ๔ ประเภท

ทั้งคู่เป็นคนทุศีล ตระหนี่ และด่าว่าสมณพราหมณ์ หญิงชายคู่นั้นเป็นภริยา และสามีผีอยู่ร่วมกัน.

สามีเป็นคนทุศีล ตระหนี่และด่าว่าสมณพราหมณ์ ภริยาเป็นคนมีศีล ใจบุญ ไม่ตระหนี่ นางนั้นเป็นหญิงเทวดา อยู่ร่วมกับสามีผี.

สามีเป็นคนมีศีล ใจบุญ ไม่ตระหนี่ ภริยาเป็นคนทุศีล ตระหนี่และด่าว่าสมณพราหมณ์ นางนั้นเป็นหญิงผี อยู่ร่วมกับสามีเทวดา.

ทั้งคู่เป็นผู้มีศรัทธา รู้ความประสงค์ของผู้ขอ สำรวมในศีล เลี้ยงชีพโดยชอบ หญิงชายคู่นั้นเป็นภริยาสามีพูดคำอ่อนหวานต่อกัน ย่อมบังเกิดความเจริญมาก อยู่ ด้วยกันเป็นผู้มีความผาสุก พวกศัตรูของ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 186

คู่ภริยาสามีที่มีความประพฤติดีสมกัน ย่อมเสียใจ กามกามี (ผู้ยังมีความใคร่ในกาม) ทั้งคู่ ผู้มีศีลและพรตเสมอดัน ครั้นประพฤติชอบในโลกนี้แล้ว (ละโลกนี้ไป) ย่อมยินดีบันเทิงใจในเทวโลก.

จบปฐมสังวาสสูตรที่ ๓

อรรถกถาปฐมสังวาสสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปฐมสังวาสสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า สมฺพหุลาปิ โข คหปตี จ คหปตานิโย จ ความว่า คฤหบดีและคฤหปตานีเป็นอันมาก เมื่อไปทำอาวาหมงคลหรือวิวาหมงคล ก็ได้เดินไปทางนั้นเหมือนกัน. บทว่า สํวาสา ความว่า การอยู่ร่วมกันการอยู่ร่วมเป็นอันเดียวกัน. บทว่า ฉโว ฉวาย ความว่า ชื่อว่าชายผี เพราะตายด้วยความตายแห่งคุณอยู่ร่วมกับหญิงผี เพราะตายด้วยความตายแห่งคุณเหมือนกัน. บทว่า เทวิยา สทฺธึ ความว่า ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงเทวดา โดยคุณทั้งหลาย. บทว่า ทุสฺสีโล คือสามีเป็นคนไม่มีศีล. บทว่า ปาปธมฺโม คือมีธรรมลามก. บทว่า อกฺโกสกปริภาสโก ความว่า ด่าด้วยเรื่องสำหรับด่า ๑๐ ด่าว่าด้วยแสดงภัยคุกคาม. บัณฑิตพึงทราบเนื้อความในบททั้งปวงอย่างนี้.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 187

บทว่า กทริยา ได้แก่ ตระหนี่เหนียวแน่น. บทว่า ชานิปตโย แปลว่า ภริยาสามี. บทว่า วทญฺญู ได้แก่ รู้อยู่ซึ่งความหมายคำของยาจก. บทว่า สญฺตา ได้แก่ประกอบด้วยความสำรวมในศีล. บทว่า ธมฺมชีวิโน ได้แก่ ชื่อว่าธรรมชีวี เพราะตั้งอยู่ในธรรมเลี้ยงชีพ. บทว่า อตฺถา สมฺปจุรา โหนฺติ ความว่า พวกคนเหล่านั้น ย่อมได้ประโยชน์กล่าวคือความเจริญเป็นอันมาก. บทว่า ผาสุกํ อุปชายติ ความว่า เกิดอยู่ด้วยกันอย่างผาสุก บทว่า กามกามิโน ได้แก่ ผู้ยังมีความใคร่ในกามอยู่.

จบอรรถกถาปฐมสังวาสสูตรที่ ๓