พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. ปฐมโรหิตัสสสูตร ว่าด้วยโรหิตัสสเทวบุตรทูลถามปัญหา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 ต.ค. 2564
หมายเลข  38835
อ่าน  299

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 163

ปฐมปัณณาสก์

โรหิตัสสวรรคที่ ๕

๕. ปฐมโรหิตัสสสูตร

ว่าด้วยโรหิตัสสเทวบุตรทูลถามปัญหา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 163

๕. ปฐมโรหิตัสสสูตร

ว่าด้วยโรหิตัสสเทวบุตรทูลถามปัญหา

[๔๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคฤหบดี กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เมื่อราตรีล่วง (ปฐมยาม) แล้ว เทวบุตรชื่อโรหิตัสสะ มีฉวีวรรณงดงาม (ฉายรัศมี) ยังพระเชตวันให้สว่างไปทั่ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปถึงแล้ว ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง แล้ว กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในที่สุดโลกใด สัตว์ไม่เกิดไม่แก่ไม่ตาย

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 164

ไม่จุติไม่อุปบัติ บุคคลอาจรู้หรือเห็นหรือไปถึงซึ่งที่สุดนั้นด้วยการเดินทางไปได้หรือ.

พ. ตรัสตอบว่า อาวุโส ในที่สุดโลกใดแล สัตว์ไม่เกิดไม่แก่ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุปบัติ เรากล่าวว่าที่สุดโลกนั้น บุคคลไม่พึงรู้ไม่พึงเห็นไม่พึงไป ถึงได้ด้วยการเดินทางไป.

โร. น่าอัศจรรย์จริง พระพุทธเจ้าข้า ข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ถูกต้องตามที่ตรัส ว่า ในที่สุดโลกใดแล สัตว์ไม่เกิดไม่แก่ไม่ตายไม่จุติ ไม่อุปบัติ เรากล่าวว่าที่สุดโลกนั้น บุคคลไม่พึงรู้ไม่พึงเห็นไม่พึงไป ถึงได้ด้วยการเดินทางไป ดังนี้ เมื่อก่อนข้าพระพุทธเจ้าเป็นฤษีชื่อโรหิตัสสะ เป็นบุตรนายบ้าน มีฤทธิ์ไปในอากาศได้ ความเร็วของข้าพระพุทธเจ้านั้นเปรียบได้กับนายขมังธนูผู้กำยำ ได้ฝึกหัดธนูศิลป์แล้วอย่างดีจนชำนิชำนาญสำเร็จการยิงแล้ว และยิงลูกธนูอันเบาอันมีการปะทะน้อย ให้ผ่านเงาต้นตาลทางขวางไปฉะนั้น การย่างเท้าก้าวหนึ่งของข้าพระพุทธเจ้าระยะเท่ากับจากสมุทร เบื้องตะวันออกถึงสมุทรเบื้องตะวันตก ข้าพระพุทธเจ้าผู้มีความเร็วและก้าวเท้าเห็นปานนี้ มีความปรารถนาเกิดขึ้นว่าจักไปให้ถึงที่สุดโลก เว้นการกิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ นอนและหยุดพักเหนื่อย ข้าพระพุทธเจ้า มีอายุ ๑๐๐ ปี ดำรงชีวิตอยู่ตลอด ๑๐๐ ปี เดินทางไปจนสิ้น ๑๐๐ ปี ก็หาถึงที่สุดโลกไม่ ตายเสียในระหว่างนั้นเอง น่าอัศจรรย์จริง พระพุทธเจ้าข้า ข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถูกต้องดังที่ตรัสว่า ในที่สุดโลกใด สัตว์ไม่เกิดไม่แก่ไม่ตายไม่จุติไม่อุปบัติ เรากล่าวว่าที่สุดโลกนั้น บุคคลไม่พึงรู้ไม่พึงเห็นไม่พึงไปถึงได้ด้วยการเดินทางไป ดังนี้.

พ. ตรัสย้ำความและไขความว่า อาวุโส ในที่สุดโลกใดแล ไม่เกิดไม่แก่ไม่ตายไม่จุติไม่อุปบัติ เรากล่าวว่าที่สุดโลกนั้น บุคคลไม่พึงรู้ไม่พึงเห็น

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 165

ไม่พึงไปถึงได้ด้วยการเดินทางไป แต่เราก็ไม่กล่าวว่า เมื่อยังไม่ถึงที่สุดโลก แล้วจะทำที่สุดทุกข์ได้ เออ นี่แน่ะอาวุโส เราบัญญัติโลก และโลกสมุทัย โลกนิโรธ โลกนิโรธคามินีปฏิปทา ในกเลวระ (ร่างกาย) อันยาวประมาณ ๑ วา ซึ่งมีสัญญาและมีใจ.

ที่สุดโลก บุคคลไม่พึงถึงได้ด้วยการเดินทางไป แต่ไหนๆ มา แต่ว่ายังไม่ถึงที่สุดโลกแล้วจะพ้นทุกข์ได้เป็นไม่มี เพราะเหตุนั้น ผู้มีปัญญาดีรู้จักโลก ถึงที่สุดโลก อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว รู้ที่สุดโลก สงบบาปแล้ว ย่อมไม่ปรารถนาทั้งโลกนี้ ทั้งโลกอื่น.

จบปฐมโรหิตัสสสูตรที่ ๕

อรรถกถาปฐมโรหิตัสสสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปฐมโรหิตัสสสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ยตฺถ ความว่า แผ่นดินให้โอกาสแห่งหนึ่งของโลกในจักรวาล. บทว่า น จวติ น อุปปชฺชติ นี้ ทรงถือแล้วด้วยอำนาจจุติติและปฏิสนธิ สืบๆ กันไป. บทว่า คมเนน คือด้วยการใช้เท้าเดินไป. บทว่า โลกสฺส อนฺตํ ความว่า พระศาสดาตรัสหมายถึงที่สุดของสังขารโลก. ในบทว่า าเตยฺยํ เป็นต้น ความว่า อันบุคคลพึงรู้ พึงเห็น พึงถึง. ด้วยเหตุนั้น เทพบุตร

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 166

ทูลถามที่สุดของโลกในจักรวาล พระศาสดาก็ตรัสตอบที่สุดของสังขารโลก. ฝ่ายเทพบุตรนั้นร่าเริงในปัญหาว่า การกล่าวแก้ของพระศาสดาสมกับปัญหาของตน ดังนี้ จึงทูลว่า อจฺฉริยํ ดังนี้เป็นต้น.

บทว่า ทฬฺหธมฺโม ได้แก่ ผู้สอดธนูไว้มั่น คือประกอบด้วยธนู มีขนาดเยี่ยม. บทว่า ธนุคฺคโห ได้แก่อาจารย์ผู้ฝึกหัดธนู. บทว่า สุสิกฺขิโต คือ ผู้ได้ศึกษาธนูศิลป์มา ๑๒ ปี. บทว่า กตหตฺโถ ความว่า มีฝีมือชำนาญแล้ว โดยสามารถยิงปลายขนเนื้อทราย ในระยะประมาณอุสภะหนึ่งได้. บทว่า กตูปาสโน ได้แก่ ยิงธนูชำนาญได้แสดง (ประลอง) ศิลปธนูมาแล้ว. บทว่า อสเนน คือลูกธนู. บทว่า อติปาเตยฺย คือผ่านไป. เทพบุตร แสดงสมบัติ คือความเร็วของตนว่า เราจักผ่านจักรวาลหนึ่งไปเท่ากับลูกธนู นั้น ผ่านเงาตาลไป.

บทว่า ปุรตฺถิมา สมุทฺทา ปจฺฉิโม ความว่า เทวบุตรกล่าวว่า การย่างเท้าก้าวหนึ่งไปได้ในที่ไกล เหมือนสมุทรเบื้องตะวันตกไกลจากสมุทรเบื้องตะวันออกฉะนั้น. ได้ยินว่า ฤษีนั้น ยืนอยู่ที่ขอบปากแห่งจักรวาลเบื้องตะวันออก เหยียดเท้าผ่านขอบปากแห่งจักรวาลเบื้องตะวันตก เหยียดเท้าที่สองไปอีก ก็ผ่านขอบปากจักรวาลอื่น. บทว่า อิจฺฉาคตํ แปลว่า ความปรารถนานั้นเอง. บทว่า อญฺตฺเรว คือ ท่านแสดงความไม่ชักช้า. ได้ยินว่าในเวลาภิกขาจาร ฤษีนั้นสีไม้สีฟันนาคลดา ล้างหน้าในสระอโนดาต เมื่อได้เวลาก็เที่ยวบิณฑบาตในอุตตรกุรุทวีป นั่งที่ขอบปากจักรวาล ทำภัตกิจ. หยุด พัก ณ ที่นั้นครู่หนึ่ง ก็โลดแล่นไปอีก. บทว่า วสฺสตายุโภ ความว่า ยุคนั้น เป็นสมัยที่คนมีอายุยืน. ส่วนฤษีนี้เริ่มเดินเมื่ออายุเหลือ ๑๐๐ ปี. บทว่า วสฺสสตชีวี ความว่า เขามีชีวิตอยู่ ๑๐๐ ปี โดยไม่มีอันตราย. บทว่า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 167

อนฺตราเยว กาลกโต ความว่า ยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลกในจักรวาล. ก็ตายเสียก่อนในระหว่าง. แต่เขาทำกาละในที่นั้นแล้ว จึงมาเกิดในจักรวาลนี้.

บทว่า อปฺปตฺวา ความว่า ยังไม่ถึงที่สุดแห่งสังขารโลก. บทว่า ทุกฺขสฺส คือ วัฏฏทุกข์. บทว่า อนฺตกิริยํ คือ ทำที่สุด. บทว่า กเฬวเร คือในอัตภาพ. บทว่า สสญฺมฺหิ สมนเก คือ มีสัญญามีใจ. บทว่า โลกํ คือ ทุกขสัจ. บทว่า โลกสมุทยํ คือ สมุทยสัจ. บทว่า โลกนิโรธํ คือ นิโรธสัจ. บทว่า ปฏิปทํ คือ มรรคสัจ. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรง แสดงว่า ผู้มีอายุ เราย่อมไม่บัญญัติสัจจะ ๔ เหล่านี้ลงในหญ้าและไม้เป็นต้น แต่เราย่อมบัญญัติลงในกายนี้ที่มีมหาภูต ๔ เท่านั้น. บทว่า สมิตาวี ได้แก่ ผู้มีบาปสงบแล้ว. บทว่า นาสึสติ คือ ย่อมไม่ปรารถนา.

จบอรถกถาปฐมโรหิตัสสสูตรที่ ๕