พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. อาชีวกสูตร ว่าด้วยความดี ๓ อย่าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 ต.ค. 2564
หมายเลข  38699
อ่าน  264

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 410

ทุติยปัณณาสก์

อานันทวรรคที่ ๓

๒. อาชีวกสูตร

ว่าด้วยความดี ๓ อย่าง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 410

๒. อาชีวกสูตร

ว่าด้วยความดี ๓ อย่าง

[๕๑๒] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ที่วัดโฆสิตาราม กรุงโกสัมพี ครั้งนั้น คฤหบดีสาวกของอาชีวกผู้หนึ่งเข้าไปหาท่านพระอานนท์ ครั้นเข้าไปถึงแล้ว อภิวาทท่านพระอานนท์ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง คฤหบดีนั้นแล นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่งแล้วถามท่านพระอานนท์ว่า ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ เราสองพวก ธรรมของพวกใครเป็นสวากขาตะ (กล่าวดี) พวกใครเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วในโลก พวกใครเป็นผู้ดำเนินดีแล้วในโลก

ท่านคฤหบดี ถ้าเช่นนั้น อาตมาจักย้อนถามท่านในข้อนี้ ท่านพอใจอย่างใด พึงตอบอย่างนั้น ท่านสำคัญข้อนี้ว่ากระไร บุคคลเหล่าใดแสดงธรรมเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ ธรรมของบุคคลเหล่านั้นเป็นสวากขาตะหรือไม่ หรือว่าท่านมีความเห็นอย่างไรในข้อนี้.

ท่านผู้เจริญ บุคคลเหล่าใดแสดงธรรมเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ ธรรมของบุคคลเหล่านั้นเป็นสวากขาตะ ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ในข้อนี้.

ท่านสำคัญข้อนี้ว่ากระไร ท่านคฤหบดี บุคคลเหล่าใดปฏิบัติเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วในโลกหรือไม่ หรือว่าท่านมีความเห็นอย่างไรในข้อนี้.

ท่านผู้เจริญ บุคคลเหล่าใดปฏิบัติเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วในโลก ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ในข้อนี้.

ท่านสำคัญข้อนี้ว่ากระไร ท่านคฤหบดี ราคะ โทสะ โมหะ บุคคลเหล่าใดละได้แล้ว มีมูลอันขาดแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 411

ทำไม่ให้มีในภายหลังแล้ว มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ดำเนินดีแล้วในโลกหรือไม่ หรือว่าท่านมีความเห็นอย่างไรในข้อนี้.

ท่านผู้เจริญ ราคะ โทสะ โมหะ บุคคลเหล่าใดละได้แล้ว ... บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ดำเนินดีแล้วในโลก ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ในข้อนี้.

นี่แหละ ท่านคฤหบดี ข้อนี้ท่านก็ตอบเองแล้วว่า ท่านผู้เจริญ บุคคลเหล่าใดแสดงธรรมเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ ธรรมของบุคคลเหล่านั้นเป็นสวากขาตะ ข้อนี้ท่านก็ตอบเองแล้วว่า ท่านผู้เจริญ บุคคลเหล่าใดปฏิบัติเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วในโลก ข้อนี้ท่านก็ตอบเองแล้วว่า ราคะ โทสะ โมหะ บุคคลเหล่าใดละได้แล้ว ... บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ดำเนินดีแล้วในโลก.

ประหลาดจริงๆ ท่านผู้เจริญ (การแสดงธรรมอย่างนี้) ไม่ชื่อว่าเป็นการยกธรรมฝ่ายตน และไม่เป็นการรุกรานธรรมฝ่ายอื่นเลย เป็นการแสดงอยู่ในเขตแดนแท้ กล่าวแต่เนื้อความ ไม่นำตนเข้าไป (ปะปน) ด้วย ท่านอานนท์ผู้เจริญ ท่านทั้งหลายแสดงธรรมเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ ธรรมของท่านทั้งหลายเป็นสวากขาตะ ท่านทั้งหลายปฏิบัติเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ ท่านทั้งหลายเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วในโลก ราคะ โทสะ โมหะ ท่านทั้งหลายละได้แล้ว ... ท่านทั้งหลายเป็นผู้ดำเนินดีแล้วในโลก ดีจริงๆ ท่านผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้าอานนท์บอกพระธรรมหลายปริยาย เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปกปิด บอกทางแกคนหลง ส่องตะเกียงในที่มืดเพื่อให้คนตาดีเห็นรูปต่างๆ ฉะนั้น ข้าพเจ้าถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า กับพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้เป็นเจ้าอานนท์จงจำข้าพเจ้าไว้ว่า เป็นอุบาสก ถึงสรณะแล้วตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้ไป.

จบอาชีวกสูตรที่ ๒

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 412

อรรถกถาอาชีวกสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอาชีวกสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า เตนหิ คหปติ ความว่า ได้ยินว่า พระเถระคิดว่า อาชีวกนี้ เมื่อมาในที่นี้ ก็มิได้ประสงค์จะมาเพื่ออยากจะรู้ แต่มาเพื่อจะพิสูจน์ เราจะตอบปัญหาที่พราหมณ์นี้ถามแล้ว ด้วยการย้อนถามนี้แหละ พระเถระประสงค์จะให้พราหมณ์นั้นตอบปัญหานั้นเสียเอง ด้วยอุบายนี้ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า เตนหิ ดังนี้.

ในคำว่า เตนหิ เป็นต้นนั้น ศัพท์ว่า เตนหิ เป็นการอ้างถึงเหตุ. อธิบายว่า เพราะเหตุที่ท่านถามอย่างนี้ ข้าพเจ้าจึงขอย้อนถามท่านในข้อนี้. บทว่า เกสํ โน ความว่า แก่ใครหนอแล. บทว่า สธมฺมุกฺกํสนา ความว่า ยกลัทธิของตนขึ้นตั้งไว้. บทว่า ปรธมฺมาปสาทนา ความว่า ไม่กระทบกระเทียบ ข่มขู่ เสียดสีลัทธิของผู้อื่น. บทว่า อายตเนว ธมฺมเทสนา ความว่า แสดงธรรมมีเหตุ. บทว่า อตฺโถ จ วุตฺโต ความว่า และชี้แจงเนื้อความแห่งปัญหาที่เราถามแล้ว. บทว่า อตฺตา จ อนุปนีโต ความว่า และไม่อวดอ้างตนอย่างนี้ว่า พวกเราเป็นอย่างนี้ ปาฐะว่า นุปนีโต ดังนี้ก็มี.

จบอรรถกถาอาชีวกสูตรที่ ๒