พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. ฉันนสูตร ว่าด้วยโทษแห่งอกุศลมูล

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 ต.ค. 2564
หมายเลข  38697
อ่าน  295

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 406

ทุติยปัณณาสก์

อานันทวรรคที่ ๓

๑. ฉันนสูตร

ว่าด้วยโทษแห่งอกุศลมูล


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 406

อานันทวรรคที่ ๓

๑. ฉันนสูตร

ว่าด้วยโทษแห่งอกุศลมูล

[๕๑๑] ครั้งนั้น ปริพาชกชื่อฉันนะ เข้าไปหาท่านพระอานนท์ ฯลฯ กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า อาวุโสอานนท์ แม้พวกท่านก็บัญญัติการละราคะ โทสะ โมหะหรือ. (๑)

ท่านพระอานนท์ตอบว่า อาวุโส พวกข้าพเจ้านะสิ บัญญัติการละราคะ โทสะ โมหะ.

ฉ. ก็พวกท่านเห็นโทษในราคะ โทสะ โมหะอย่างไร จึงบัญญัติการละราคะ โทสะ โมหะ.

อา. คนที่เกิดราคะ โทสะ โมหะแล้ว อันราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำแล้ว มีจิตอันราคะ โทสะ โมหะจับเสียรอบแล้ว ย่อมคิดเพื่อทำตนให้ลำบากบ้าง เพื่อทำผู้อื่นให้ลำบากบ้าง เพื่อทำให้ลำบากด้วยกันทั้งสองฝ่ายบ้าง ย่อมรู้สึกทุกข์โทมนัสในใจบ้าง ครั้นละราคะ โทสะ โมหะเสียได้แล้ว เขาย่อมไม่คิดเพื่อทำตนให้ลำบาก ฯลฯ ไม่รู้สึกทุกข์โทมนัสในใจ.

คนที่เกิดราคะ โทสะ โมหะแล้ว ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจ ครั้นละราคะ โทสะ โมหะเสียได้แล้ว เขาย่อมไม่ประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจเลย.


(๑) เป็นทีว่า พวกเขาบัญญัติอยู่แล้วเหมือนกัน หรือบัญญัติมาก่อน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 407

คนที่เกิดราคะ โทสะ โมหะแล้ว ย่อมไม่รู้ประโยชน์ตนบ้าง ประโยชน์ผู้อื่นบ้าง ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายบ้างตามจริง ครั้นละราคะ โทสะ โมหะเสียได้แล้ว เขาย่อมรู้ประโยชน์ตนบ้าง ประโยชน์ผู้อื่นบ้าง ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายบ้างตามจริง.

ราคะ โทสะ โมหะ เป็นเครื่องทำให้มืด ทำให้บอด ทำให้เขลา ปิดปัญญา เป็นฝ่ายขัดขวาง ไม่เป็นทางนิพพาน พวกข้าพเจ้าเห็นโทษในราคะ โทสะ โมหะนี้แล อาวุโส จึงบัญญัติการละราคะ โทสะ โมหะ.

ฉ. มีหรือ อาวุโส มรรคา มีหรือปฏิปทา เพื่อละราคะ โทสะ โมหะนั่น.

อา. มี อาวุโส.

ฉ. คืออะไร.

อา. คือ อริยมรรคที่องค์ ๘ นี้เท่านั้น อะไรบ้าง สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้แล อาวุโส มรรคา นี้ปฏิปทา เพื่อละราคะ โทสะ โมหะนั่น.

ฉ. ดีอยู่ อาวุโส มรรคา ดีอยู่ ปฏิปทา เพื่อละราคะ โทสะ โมหะนั่น ก็ควรแล้ว อาวุโสอานนท์ ที่พวกท่านจะไม่ประมาท.

จบฉันนสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 408

อานันทวรรควรรณนาที่ ๓

อรรถกถาฉันนสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในฉันนสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ฉนฺโน ได้แก่ ปริพาชกผู้มีผ้าปกปิด (ร่างกาย) ผู้มีชื่ออย่างนี้. บทว่า ตุมฺเหปิ อาวุโส ความว่า ฉันนปริพาชกถามว่า ดูก่อน อาวุโส พวกเราบัญญัติการละกิเลส มีราคะเป็นต้นอย่างใด แม้ท่านทั้งหลายก็บัญญัติอย่างนั้นหรือ? ลำดับนั้น พระเถระคิดว่า ปริพาชกนี้กล่าวกะพวกเราว่า เราทั้งหลายบัญญัติการละราคะเป็นต้น แต่การบัญญัติการละราคะเป็นต้นนี้ ไม่มีในลัทธิภายนอก ดังนี้ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า มยํ โข อาวุโส ดังนี้. ศัพท์ว่า โข ในคำว่า มยํ โข อาวุโส นั้น เป็นนิบาตใช้ในความหมายว่าห้าม อธิบายว่า พวกเราเท่านั้นบัญญัติไว้. ลำดับนั้น ปริพาชกคิดว่า พระเถระนี้ เมื่อจะคัดลัทธิภายนอกออกไป จึงกล่าวว่า พวกเราเท่านั้น สมณะเหล่านี้เห็นโทษอะไรหนอจึงบัญญัติการละราคะเป็นต้นเหล่านี้ไว้. ลำดับนั้น ฉันนปริพาชกเมื่อจะเรียนถามพระเถระ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า กึ ปน ตุมฺเห ดังนี้.

พระเถระเมื่อจะพยากรณ์แก่เขา จึงกล่าวคำมีอาทิว่า รตฺโต โข อาวุโส ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺตตฺถํ ความว่า ประโยชน์ของตนทั้งในปัจจุบันและสัมปรายภพ ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ. แม้ในประโยชน์ของผู้อื่น และประโยชน์ทั้งสอง ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า อนฺธกรโณ เป็นต้น ดังต่อไปนี้. ราคะชื่อว่า อนฺธกรโณ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 409

เพราะทำผู้ที่มีราคะเกิดขึ้นให้มืดบอด โดยห้ามการรู้ การเห็นตามความเป็นจริง. ชื่อว่า อจกฺขุกรโณ เพราะไม่ทำให้เกิดปัญญาจักษุ. ชื่อว่า อญฺาณกรโณ เพราะไม่กระทำให้เกิดญาณ. ชื่อว่า ปญฺานิโรธิโก เพราะปัญญาทั้ง ๓ อย่างเหล่านี้ คือ กัมมัสสกตปัญญา (ปัญญาที่รู้ว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน) ฌานปัญญา (ปัญญาที่เกิดจากการเพ่ง) และวิปัสสนาปัญญา (ปัญญาพิจารณาเห็นแจ้ง) ดับไป โดยไม่ทำให้เป็นไป. ชื่อว่า วิฆาตปกฺขิโก เพราะเป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความเดือดร้อน กล่าวคือ ทุกข์เพราะอำนวยผลที่ไม่น่าปรารถนาเท่านั้น. ชื่อว่า อนิพฺพานสํวตฺตนิโก เพราะไม่ยังการดับกิเลสให้เป็นไป. บทว่า อลํ จ ปนาวุโส อานนฺท อปฺปมาทาย ความว่า ฉันนปริพาชกอนุโมทนาถ้อยคำของพระเถระว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ผู้มีอายุ ถ้าหากปฏิปทาแบบนี้มีอยู่ไซร้ ก็เพียงพอเหมาะสมเพื่อท่านทั้งหลายจะไม่ประมาท ท่านทั้งหลายจงบำเพ็ญความไม่ประมาทเถิด ดังนี้ แล้วหลีกไป. ในพระสูตรนี้ พระอานนทเถระเจ้ากล่าวถึงอริยมรรคที่เจือด้วยโลกุตระไว้แล้ว. คำที่เหลือในพระสูตรนี้ มีใจความง่ายทั้งนั้น ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาฉันนสูตรที่ ๑