พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. ภยสูตร ว่าด้วยอมาตาปุตติกภัย ๓ อย่าง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 ต.ค. 2564
หมายเลข  38688
อ่าน  329

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 295

ทุติยปัณณาสก์

มหาวรรคที่ ๒

๒. ภยสูตร

ว่าด้วยอมาตาปุตติกภัย ๓ อย่าง

อรรถกถา ภยสูตร 297

ภัยที่มารดาและบุตรช่วยไม่ได้ 297

ภัย ๓ อย่าง 299


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 295

๒. ภยสูตร

ว่าด้วยอมาตาปุตติกภัย ๓ อย่าง

[๕๐๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมกล่าวภัย ๓ อย่างนี้ว่าเป็น อมาตาปุตติกภัย ๓ อย่างคืออะไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยที่เกิดไฟไหม้ใหญ่มีอยู่ เมื่อเกิดไฟไหม้ใหญ่ หมู่บ้านบ้าง ตำบลบ้าง นครบ้าง ก็ถูกไฟนั้นไหม้ เมื่อหมู่บ้านบ้าง ตำบลบ้าง นครบ้างไหม้อยู่ มารดาย่อมพลัดบุตรบ้าง บุตรพลัดมารดาบ้าง ในเพราะอัคคีภัยนั้น อัคคีภัยนี่ ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับกล่าวว่าเป็น อมาตาปุตติกภัยข้อหนึ่ง.

อีกข้อหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย สมัยที่เกิดฝนตกใหญ่มีอยู่. เมื่อเกิดฝนตกใหญ่ ก็เกิดน้ำบ่าใหญ่ เมื่อเกิดน้ำบ่าใหญ่ หมู่บ้านบ้าง ตำบลบ้าง นครบ้าง ถูกน้ำนั้นพัดไป เมื่อหมู่บ้านบ้าง ตำบลบ้าง นครบ้างถูกพัดไป มารดาย่อมพลัดบุตรบ้าง บุตรย่อมพลัดมารดาบ้าง ในเพราะอุทกภัยนั้น อุทกภัยนี่ ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับกล่าวว่าเป็น อมาตาปุตติกภัยข้อสอง.

อีกข้อหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย สมัยที่เกิดภัยมีอยู่. คือ โจรป่ากำเริบ (ยกเข้าปล้นบ้านเมือง) ชาวชนบทผู้ขึ้นอยู่ใน (อาณา) จักร แตกกระจัดกระจายกันไป เมื่อเกิดภัย คือ โจรป่ากำเริบ ชาวชนบทผู้ขึ้นอยู่ใน (อาณา) จักร แตกกระจัดกระจายกันไปนั่นแล มารดาย่อมพลัดบุตรบ้าง บุตรพลัดมารดาบ้าง ในเพราะโจรภัยนั้น โจรภัยนี่ ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับกล่าวว่า เป็น อมาตาปุตติกภัยข้อสาม.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 296

ภัย ๓ อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับกล่าวว่าเป็นอมาตาปุตติกภัย

แต่ว่า ภัย ๓ อย่างนี้ ยังเป็นสมาตาปุตติกภัยแท้ๆ ปุถุชนผู้มีได้สดับกล่าวว่าเป็นอมาตาปุตติกภัย ภัย ๓ อย่างคืออะไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีอยู่สมัยที่เกิดไฟไหม้ใหญ่ ฯลฯ เมื่อหมู่บ้านบ้าง ตำบลบ้าง นครบ้างไหม้อยู่ ยังมีคราวที่ลางทีลางหน มารดากลับพบบุตรบ้าง บุตรกลับพบมารดาบ้าง อัคคีภัยนี้ ภิกษุทั้งหลาย ยังเป็นสมาตาปุตติกภัยแท้ๆ ข้อหนึ่ง ปุถุชนผู้มิได้สดับกล่าวว่าเป็นอมาตาปุตติกภัย

อีกข้อหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย มีอยู่สมัยที่เกิดฝนตกใหญ่ ฯลฯ เมื่อหมู่บ้านบ้าง ตำบลบ้าง นครบ้างถูกพัดไป ยังมีคราวที่ลางทีลางหน มารดากลับพบบุตรบ้าง บุตรกลับพบมารดาบ้าง อุทกภัยนี้ ภิกษุทั้งหลาย ยังเป็นสมาตาปุตติกภัยแท้ๆ ข้อสอง ปุถุชนผู้มิได้สดับกล่าวว่าเป็นอมาตาปุตติกภัย

อีกข้อหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย มีอยู่สมัยที่เกิดภัย คือ โจรป่ากำเริบ ฯลฯ ชาวชนบทผู้ขึ้นอยู่ใน (อาณา) จักร แตกกระจัดกระจายกันไป ยังมีคราวที่ลางทีลางหน มารดากลับพบบุตรบ้าง บุตรกลับพบมารดาบ้าง โจรภัยนี้ ภิกษุทั้งหลาย ยังเป็นสมาตาปุตติกภัยแท้ๆ ข้อสาม ปุถุชนผู้มิได้สดับกล่าวว่าเป็นอมาตาปุตติกภัย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัย ๓ นี้ เป็นอมาตาปุตติกภัยแท้ อมาตาปุตติกภัย ๓ คืออะไร คือ ชราภัย พยาธิภัย มรณภัย

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุตรแก่ มารดาก็ขอร้องไม่ได้ว่า ข้าพเจ้าจะแก่เอง ขอบุตรข้าพเจ้าอย่าแก่เลย หรือเมื่อมารดาแก่ บุตรก็ขอร้องไม่ได้ว่า ข้าพเจ้าจะแก่เอง ขอมารดาข้าพเจ้าอย่าแก่เลย.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 297

เมื่อบุตรเจ็บ มารดาก็ขอร้องไม่ได้ว่า ข้าฯ จะเจ็บเอง ขอบุตรข้าฯ อย่าเจ็บเลย หรือเมื่อมารดาเจ็บ บุตรก็ขอร้องไม่ได้ว่า ข้าฯ จะเจ็บเอง ขอมารดาข้าฯ อย่าเจ็บเลย

เมื่อบุตรตาย มารดาก็ขอร้องไม่ได้ว่า ข้าฯ จะตายเอง ขอบุตรข้าฯ อย่าตายเลย หรือเมื่อมารดาตาย บุตรก็ขอร้องไม่ได้ว่า ข้าฯ จะตายเอง ขอมารดาข้าฯ อย่าตายเลย

ภัย ๓ นี้แล ภิกษุทั้งหลาย เป็นอมาตาปุตติกภัยแท้

มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย มรรคา มีอยู่ปฏิปทา เป็นไปเพื่อละเสีย เพื่อล่วงเสียซึ่งสมาตาปุตติกภัย ๓ นี้ และอมาตาปุตติกภัย ๓ นี้ด้วย ก็มรรคาไหน ปฏิปทาอะไร เป็นไปเพื่อละเสีย เพื่อล่วงเสียซึ่งสมาตาปุตติกภัย ๓ นี้ และอมาตาปุตติกภัย ๓ นี้ด้วย. อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เท่านั้น คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้แล ภิกษุทั้งหลาย มรรคา นี้ปฏิปทา เป็นไปเพื่อละเสีย เพื่อล่วงเสียซึ่งสมาตาปุตติกภัย ๓ นี้ และอมาตาปุตติกภัย ๓ นี้ด้วย.

จบภยสูตรที่ ๒

อรรถกถาภยสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในภยสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-

ภัยที่มารดาและบุตรช่วยกันไม่ได้

บทว่า อมาตาปุตฺติกานิ ความว่า มารดาและบุตร ชื่อว่ามาตาปุตตะ มารดาและบุตร ชื่อว่าไม่มีในภัยเหล่านี้ โดยสามารถจะป้องกันซึ่งกันและกันได้ เหตุนั้น ภัยเหล่านี้จึงชื่อว่าไม่มีมารดาและบุตร.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 298

บทว่า ยํ คือ ในสมัยใด. บทว่า ตตฺถ มาตาปิ ปุตฺตํ น ปฏิลภติ ความว่า เมื่ออัคคีภัยนั้นเกิดขึ้นแล้ว แม้มารดาก็ไม่ได้เห็นบุตร แม้บุตรก็ไม่ได้เห็นมารดา.

บทว่า ภยํ โหติ ความว่า มีภัย คือ ความหวาดสะดุ้งแห่งจิต. บทว่า อฏวีสงฺโกโป ได้แก่ ความกำเริบของโจรผู้ซุ่มซ่อนอยู่ในดง. ก็ในบทว่า อฏวี นี้ พึงทราบว่า ได้แก่ โจรที่ซุ่มซ่อนอยู่ในดง. อธิบายว่า เมื่อใดโจรเหล่านั้นออกจากดงลงสู่ชนบท เที่ยวปล้นทำลาย คาม นิคม และราชธานี เมื่อนั้น ชื่อว่ามีความกำเริบของโจรอยู่ในดง. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงความกำเริบของโจรที่อยู่ในดงนั้น จึงตรัสคำนี้ว่า อฏวีสงฺโกโป.

คนขึ้นล้อ

ในบทว่า จกฺกสมารุฬฺหา นี้ มีอธิบายว่า หมุนไปทั้งจักรคืออิริยาบถ ทั้งจักรคือยาน. เพราะว่าเมื่อภัยมาถึง คนเหล่าใดมียาน คนเหล่านั้นก็ยกสิ่งของบริขารของตนขึ้นยานเหล่านั้นแล้วขับหนีไป คนเหล่าใดไม่มี คนเหล่านั้นก็ใช้หาบ หรือใช้ศีรษะเทินหนีไปจนได้. คนเหล่านั้นชื่อว่าขึ้นล้อ. บทว่า ปริยายนฺติ ได้แก่ ไปข้างโน้น ข้างนี้.

บทว่า กทาจิ คือ ในกาลบางครั้งนั่นแล. บทว่า กรหจิ เป็นไวพจน์ของบทว่า กทาจิ นั่นเอง. บทว่า มาตาปิ ปุตฺตํ ปฏิลภติ ความว่า (แม้มารดา) ย่อมได้เห็นบุตรผู้มาอยู่ ผู้ไปอยู่ หรือผู้หลบแอบอยู่ในที่แห่งหนึ่ง. บทว่า อุทกวาหโก คือ เต็มแม่น้ำ. บทว่า มาตาปิ ปุตฺตํ ปฏิลภติ ความว่า บุตรลอยน้ำติดอยู่บนทุ่นหรือแพ ในภาชนะดินหรือบนท่อนไม้ มารดาก็ได้เห็น. ก็หรือว่า มารดาได้เห็นบุตรว่ายข้ามไปโดยปลอดภัยแล้วยืนอยู่ในหมู่บ้านหรือในป่า.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 299

ภัย ๓ อย่าง

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงภัยที่มารดาและบุตรไม่ได้พบกัน ที่ทรงประสงค์เอาอันมาโดยอ้อมอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงภัยโดยตรง จึงตรัสคำว่า ติณีมานิ เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชราภยํ ได้แก่ ภัยที่อาศัยชราเกิดขึ้น. แม้ในภัย ๒ อย่างนอกนี้ ก็มีนัยนี้แล. สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า ภัย สิ่งที่น่ากลัว ความหวาดเสียว ขนชูชัน ความสะดุ้งกลัวแห่งจิตเกิดขึ้น เพราะอาศัยชรา ... เพราะอาศัยพยาธิ ภัย สิ่งที่น่ากลัว ความหวาดเสียว ขนชูชัน ความสะดุ้งกลัวแห่งจิตเกิดขึ้น เพราะอาศัยมรณะ. บทที่เหลือในทุกแห่งง่ายทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถาภยสูตรที่ ๒