พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. สารีปุตตสูตร ว่าด้วยผู้ตัดตัณหาได้

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ต.ค. 2564
หมายเลข  38655
อ่าน  298

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 113

ปฐมปัณณาสก์

เทวทูตวรรคที่ ๔

๓. สารีปุตตสูตร

ว่าด้วยผู้ตัดตัณหาได้


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 113

๓. สารีปุตตสูตร

ว่าด้วยผู้ตัดตัณหาได้

[๔๗๒] ครั้งนั้น ท่านสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปถึงแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะท่านสารีบุตรผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่งแล้วว่า สารีบุตร เราพึงแสดงธรรมโดยย่อบ้าง ... โดยพิสดารบ้าง ... ทั้งโดยย่อทั้งโดยพิสดารบ้าง แต่ผู้รู้ทั่วถึงธรรมหาได้ยาก

ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นกาละ ข้าแต่พระสุคต เป็นกาละ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าจะพึงทรงแสดงธรรมโดยย่อบ้าง ... โดยพิสดารบ้าง ... ทั้งโดยย่อทั้งโดยพิสดารบ้าง ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี

เพราะเหตุนั้น สารีบุตร ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกในข้อนี้อย่างนี้ว่า อหังการ มมังการ และมานานุสัย จักไม่มีในกายอันมีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอก อนึ่ง เมื่อภิกษุเข้าถึงเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันใดอยู่ อหังการ มมังการ และมานานุสัย ย่อมไม่มี เราทั้งหลายจักเข้าถึง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตตินั้นอยู่ สารีบุตร ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล

สารีบุตร เมื่ออหังการ มมังการ และมานานุสัย ไม่มีในกายอันมีวิญญาณนี้ของภิกษุ และในสรรพนิมิตภายนอก อนึ่ง เมื่อเข้าถึง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันใดอยู่ อหังการ มมังการ และมานานุสัย ย่อมไม่มี ภิกษุเข้าถึงเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันนั้นอยู่ สารีบุตร เรากล่าวว่า ภิกษุนี้ตัดตัณหาแล้ว รื้อสังโยชน์แล้ว กระทำที่สุดทุกข์ได้ เพราะละมานะได้โดยชอบแล้ว ก็แล เราหมายเอาข้อนี้ ได้กล่าวในอุทยปัญหา ในปารายนวรรคว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 114

เรากล่าวการละกามสัญญา (ความหมายในกาม) และโทมนัส (ความเสียใจ) ทั้ง ๒ เสียได้ การบรรเทาถีนะ (ความท้อแท้ใจ) เสียได้ การสกัดกั้น กุกกุจจะ (ความรำคาญใจ) เสียได้ ว่าเป็นอัญญาวิโมกข์ (ความพ้นด้วยความรู้) อันหมดจดดี ด้วยอุเบกขาและสติ มีความตรึกในธรรมนำหน้า เป็นเครื่องทำลายอวิชชา ดังนี้.

จบสารีปุตตสูตรที่ ๓

อรรถกถาสารีปุตตสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสารีปุตตสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า สงฺขิตฺเตน ได้แก่ ด้วยการตั้งเป็นบทมาติกาไว้. บทว่า วิตฺถาเรน ได้แก่ การจำแนกมาติกาที่ตั้งไว้แล้วออกไป. บทว่า สงฺขิตฺตวิตฺถาเรน ได้แก่ บางครั้งก็ย่อ บางครั้งก็พิสดาร. บทว่า อญฺาตาโร จ ทุลฺลภา ความว่า ก็บุคคลผู้จะแทงตลอดหาได้ยาก.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำนี้กะพระสารีบุตรเถระ โดยมีพระพุทธประสงค์ว่า เราตถาคตจะต่อญาณให้พระสารีบุตร. พระเถระครั้นได้สดับพระพุทธดำรัสนั้นแล้ว ถึงแม้จะไม่กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์จักเข้าใจเองก็จริง แต่โดยมีประสงค์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 115

จงทรงวางพระทัย (แสดงธรรมเถิด) ข้าพระองค์จักแทงตลอดธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้วได้โดยร้อยนัย พันนัย ข้อนั้นขอให้เป็นภาระของข้าพระองค์เถิด ดังนี้ เมื่อจะยังพระศาสดาให้อุตสาหะในการแสดงธรรม จึงได้ทูลคำมีอาทิว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นเวลาที่พระองค์จะทรงแสดงธรรมแล้ว. ลำดับนั้น พระศาสดาจึงทรงเริ่มเทศนาแก่พระสารีบุตรว่า ตสฺมาติห ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิมสฺมิญฺจ สวิญฺาณเก เป็นต้น มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

บทว่า อจฺเฉชฺชิ ตฺณหํ ได้แก่ ตัดตัณหาด้วยศาสตรา คือ มัคคญาณ. บทว่า วิวฏฺฏยิ สํโยชนํ ได้แก่ ถอนสัญโญชน์ทั้ง ๑๐ อย่างพร้อมทั้งรากทิ้งไป. บทว่า สมฺมามานาภิสมยา อนฺตมกาสิ ทุกฺขสฺส ความว่า ได้กระทำที่สุดแห่งวัฏทุกข์โดยการตรัสรู้ เพราะละมานะ ๙ อย่างได้ด้วยอุบายอันชอบ ด้วยข้อปฏิบัติชอบ. บทว่า อิทญฺจ ปน เมตํ สารีปุตฺต สนฺธาย ภาสิตํ ความว่า ดูก่อนสารีบุตร เราตถาคตกล่าวคำนั้นไว้ หมายเอาผลสมาบัตินี้แหละในอุทยปัญหา ในปารายนวรรค.

บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว จึงปรารภคำมีอาทิว่า ปหานํ กามสญฺานํ ดังนี้. ก็บทว่า ปหานํ กามจฺฉนฺทานํ นี้ มีมาแล้วในอุทยปัญหา. แต่ในพระสูตรนี้ พระอาจารย์ผู้รจนาอังคุตตรนิกายยกขึ้นตั้งไว้ว่า กามสญฺานํ ดังนี้. ในสองบทนั้น ต่างกันเพียงพยัญชนะ ส่วนเนื้อความก็เป็นอย่างเดียวกันนั่นแหละ. บทว่า กามสญฺานํ ได้แก่ สัญญาที่เกิดขึ้นปรารภกาม หรือ ได้แก่ สัญญาที่เกิดกับจิตที่สหรคตด้วยโลภะ ๘ ดวง. บทว่า โทมนสฺสาน จูภยํ ความว่า เราตถาคตกล่าวการ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 116

ละอกุศลเจตสิกแม้ทั้งสองคือกามสัญญาเหล่านี้ ๑ โทมนัสสเจตสิก ๑ คือ อรหัตผลกล่าวคือการละด้วยปฏิปัสสัทธิ (วิมุตติ) ว่าเป็นอัญญาวิโมกข์.

ส่วนในนิทเทสพระองค์ตรัสไว้ว่า (เราตถาคตกล่าว) การละ ความสงบ การสละคืน ความสงบระงับอกุศลเจตสิกทั้งสองอย่าง คือ กามฉันทะ และโทมนัส ว่าเป็นอมตมหานิพพาน. คำนั้นพระองค์ตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งการยกเอาผล. ด้วยว่า ความสงบระงับ กล่าวคือ อาการที่กิเลสสิ้นไป เรียกว่าปหานะบ้าง มรรคที่สละคืนกิเลสอยู่ก็เรียกว่าปหานะบ้าง ผลกล่าวคือความสงบระงับกิเลสได้ก็เรียกว่าปหานะบ้าง. กิเลสทั้งหลายอันพระโยคาวจรละได้เพราะมาถึงพระนิพพานใด พระนิพพานนั้น ชื่อว่าอมตนิพพาน. เพราะฉะนั้น บทเหล่านี้จึงมาแล้วในนิทเทสนั้น.

ก็เพราะพระพุทธพจน์ว่า อญฺาวิโมกฺขํ ปพฺรูมิ จึงเป็นอันทรงพระประสงค์เอาเฉพาะพระอรหัตผล. และเพราะพระพุทธพจน์ว่า ถีนสฺส จ ปนูทนํ เป็นอันพระองค์ทรงประสงค์เอาเฉพาะพระอรหัตผล เพราะถีนะ (นิวรณ์) เกิดขึ้นในตอนท้ายของการบรรเทา. เพราะพระพุทธพจน์ว่า กุกฺกุจฺจานํ นิวารณํ เป็นอันทรงประสงค์เอาผลเท่านั้น เพราะผลเกิดขึ้นในลำดับแห่งมรรคที่เป็นเหตุห้ามกุกกุจจนิวรณ์. บทว่า อุเปกฺขาสติสํสุทฺธํ ความว่า หมดจดดีด้วยอุเบกขา และสติที่เกิดขึ้นในผลที่เป็นไปในฌาณที่ ๔. สัมมาสังกัปปะ ท่านเรียกว่า ธัมมตักกะ ในบทว่า ธมฺมตกฺกปุเรชวํ.

สัมมาสังกัปปะ นั้น ชื่อว่า ธัมมตักกปุเรชวะ เพราะมีมาแต่ต้น คือ มีมาก่อน ได้แก่ ถึงก่อนแห่งอัญญาวิโมกข์. เราตถาคตกล่าวซึ่งอัญญาวิโมกข์นั้น ที่มีความตรึกในธรรมนำหน้า.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 117

วิโมกข์ที่เกิดขึ้นในที่สุดแห่งอัญญินทรีย์ ชื่อว่า อัญญาวิโมกข์ หรือวิโมกข์ที่เกิดขึ้นแก่พระอรหัตผล ชื่อว่า อัญญาวิโมกข์ อธิบายว่า ได้แก่ ปัญญาวิมุตติ (๑). บทว่า อวิชฺชาย ปเภทนํ ความว่า เป็นเครื่องทำลายอวิชชา เพราะเกิดขึ้นในที่สุดแห่งการทำลายอวิชชา อีกอย่างหนึ่ง อรหัตผลนั่นแหละ ที่ได้นามอย่างนี้ เพราะปรารภพระนิพพานที่สงบแล้วเกิดขึ้น. พระอรหัตผลนั้นแหละพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศแล้วด้วยบททั้งหลายเหล่านี้แม้ทั้งหมด มีบทว่า ปหานํ เป็นต้น ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้.

จบอรรถกถาสารีปุตตสูตรที่ ๓


(๑) ปาฐะว่า อญฺาย วา วิโมกฺขํ อญฺาวิมุตฺตนฺติ อตฺโถ ฉบับพม่าเป็น อญฺาย วา วิโมกฺขํ ปญฺาวิมุตฺตนฺติ อตฺโถ แปลตามฉบับพม่า