พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. วชิรสูตร ว่าด้วยผู้มีจิตเหมือนแผลเก่า - ฟ้าแลบ - เพชร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ต.ค. 2564
หมายเลข  38646
อ่าน  333

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 81

ปฐมปัณณาสก์

ปุคคลวรรคที่ ๓

๕. วชิรสูตร

ว่าด้วยผู้มีจิตเหมือนแผลเก่า - ฟ้าแลบ - เพชร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 81

๕. วชิรสูตร

ว่าด้วยผู้มีจิตเหมือนแผลเก่า - ฟ้าแลบ - เพชร

[๔๖๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ นี้ มีอยู่ในโลก บุคคล ๓ เป็นไฉน คือ บุคคลที่มีจิตเหมือนแผล บุคคลมีจิตเหมือนสายฟ้า บุคคลมีจิตเหมือนเพชร

ก็บุคคลมีจิตเหมือนแผลเป็นอย่างไร. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลลางคนในโลกนี้ เป็นคนขี้โกรธ มีความแค้นมาก ถูกเขาว่าหน่อยก็ขัดเคือง ขึ้งเคียด เง้างอด ทำความกำเริบ ความร้าย และความเดือดดาลให้ปรากฏ เหมือนอย่างแผลร้าย ถูกไม้หรือกระเบื้องเข้าก็ยิ่งมีหนองไหลฉันใด บุคคลลางคนในโลกนี้ เป็นคนขี้โกรธ มีความแค้นมาก ถูกเขาว่าหน่อยก็ขัดเคือง ขึ้งเคียด เง้างอด ทำความกำเริบ ความร้าย และความเดือดดาลให้ปรากฏฉันนั้น นี่ เราเรียกว่า บุคคลผู้มีจิตเหมือนแผล

ก็บุคคลมีจิตเหมือนสายฟ้าเป็นอย่างไร. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลลางคนในโลกนี้ รู้ตามจริงว่า นี่ทุกข์ ... นี่เหตุเกิดทุกข์ ... นี่ความดับทุกข์ ... นี่ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เหมือนอย่างคนตาดีพึงเห็นรูปทั้งหลายได้ในระหว่างฟ้าแลบในกลางคืนมืดตื้อฉันใด บุคคลลางคนในโลกนี้ รู้ตามจริงว่า นี่ทุกข์ ฯลฯ นี่ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ฉันนั้น นี่ เราเรียกว่า บุคคลมีจิตเหมือนสายฟ้า

ก็บุคคลมีจิตเหมือนเพชรอย่างไร. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลลางคนในโลกนี้ กระทำให้แจ้งเข้าถึงพร้อมซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย ด้วยความรู้ยิ่งด้วยตนเองอยู่ในปัจจุบันนี่

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 82

เหมือนอย่างแก้วหรือหินที่ไม่ถูกเพชรเจาะเสียเลยย่อมไม่มีฉันใด บุคคลลางคนในโลกนี้ กระทำให้แจ้ง ฯลฯ ในปัจจุบันนี้ฉันนั้น นี้เราเรียกว่า บุคคลมีจิตเหมือนเพชร

นี้แล ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ มีอยู่ในโลก.

จบวชิรสูตรที่ ๕

อรรถกถาวชิรสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในวชิรสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อรุกูปมจิตฺโต ได้แก่ มีจิต เช่นกับแผลเรื้อรัง. บทว่า วิชฺชูปมจิตฺโต ได้แก่ มีจิตเช่นกับสายฟ้า เพราะส่องสว่างชั่วเวลาเล็กน้อย. บทว่า วชิรูปมจิตฺโต ได้แก่ มีจิตเช่นกับเพชร เพราะสามารถทำการโค่นรากเหง้าของกิเลสทั้งหลายได้. บทว่า อภิสชฺชติ แปลว่า ข้องอยู่. บทว่า กุปฺปติ แปลว่า ย่อมกำเริบด้วยสามารถแห่งความโกรธ. บทว่า พฺยาปชฺชติ ความว่า ละสภาพปกติ คือ เป็นของเน่า. บทว่า ปติตฺถิยติ ได้แก่ ย่อมถึงความหงุดหงิด คือ ความกระด้าง. บทว่า โกปํ ได้แก่ ความโกรธมีกำลังทราม. บทว่า โทสํ ได้แก่ โทสะ ที่มีกำลังมากกว่าความหงุดหงิดนั้นด้วยสามารถแห่งความประทุษร้าย. บทว่า อปฺปจฺจยํ ได้แก่ โทมนัส ที่เป็นอาการแห่งความไม่พอใจ.

บทว่า ทุฏฺารุโก ได้แก่ แผลเรื้อรัง. บทว่า กฏเน ได้แก่ ปลายไม้เท้า. บทว่า กถเลน ได้แก่ กระเบื้อง. บทว่า อาสวํ เนติ ได้แก่ ไหลติดต่อกันไป. อธิบายว่า แผลเรื้อรังจะหลั่งออกซึ่งของ ๓ อย่างนี้ คือ หนอง เลือด และเยื่อ ตามธรรมดาของตนอยู่แล้ว แต่เมื่อถูกกระทบเข้า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 83

จะหลั่งสิ่งเหล่านั้นออกยิ่งขึ้น. ในบทว่า เอวเมว โข นี้ มีข้อเปรียบเทียบดังต่อไปนี้ ก็คนมักโกรธ พึงเห็นเหมือนแผลร้าย. จรณะ (พฤติกรรม) ของคนมักโกรธ พึงเห็นเหมือนการหลั่ง (ของไม่สะอาด) ของแผลร้ายนั้นออกไปตามธรรมดาของตนบ้าง จรณะ (พฤติกรรม) ของเขาผู้ดุร้าย พึงเห็นเหมือนการหลั่ง (ของไม่สะอาด) ของซากศพที่ขึ้นพองออกไปตามธรรมดาของตนบ้าง คำพูดเล็กน้อย ก็พึงเห็นเหมือนถูกกระทบด้วยไม้หรือกระเบื้อง ภาวะที่เขาจะลำพองมากยิ่งขึ้นว่า คนผู้นี้ (กล้า) พูดเช่นนี้กับคนเช่นเรา พึงเห็นเหมือนการไหลออกมากยิ่งขึ้นแห่งแผลเรื้อรัง.

บทว่า รตฺตนฺธการติมิสฺสาย ความว่า ในยามราตรี คือ ในเวลาที่มืดสนิท เพราะกระทำความมืด โดยห้ามไม่ให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น. บทว่า วิชฺชนฺตริกาย ได้แก่ ในขณะที่ฟ้าแลบ. แม้ในข้อนี้ ก็มีข้อเปรียบเทียบดังต่อไปนี้ ก็พระโยคาวจร พึงเห็นเหมือนบุรุษผู้มีตาดี. กิเลสที่โสดาปัตติมรรคฆ่า พึงเห็นเหมือนความมืด กาลเวลาที่พระโสดาปัตติมรรคเกิดขึ้น พึงเห็นเหมือนการแลบของสายฟ้า การเห็นพระนิพพานในขณะแห่งโสดาปัตติมรรค พึงเห็นเหมือนการเห็นรูปได้รอบด้านของบุรุษผู้มีจักษุในระหว่างฟ้าแลบ กิเลสที่สกทาคามิมรรคฆ่า พึงเห็นเหมือนการกำจัดความมืดได้อีกครั้ง การบังเกิดขึ้นแห่งสกทาคามิมัคคญาณ พึงเห็นเหมือนการแลบของสายฟ้าอีกครั้งหนึ่ง การเห็นพระนิพพานในขณะแห่งสกทาคามิมรรค พึงเห็นเหมือนการเห็นรูปได้โดยรอบแห่งบุรุษผู้มีตาดีในระหว่างฟ้าแลบ กิเลสที่อนาคามิมรรคฆ่า เหมือนการกำจัดความมืดมนอันธการอีกครั้ง ความเกิดขึ้นแห่งอนาคามิมัคคญาณ พึงเห็นเหมือนการแลบของสายฟ้าอีกครั้ง. การเห็นพระนิพพานในขณะแห่งอนาคามิมรรค พึงเห็นเหมือนการเห็นรูปโดยรอบด้านแห่งบุรุษผู้มีตาดีในระหว่างฟ้าแลบ.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 84

แม้ในภาวะที่บุคคลมีจิตเปรียบด้วยเพชร ก็มีข้อเปรียบเทียบดังต่อไปนี้ จริงอยู่ อรหัตมัคคญาณ พึงเห็นเหมือนเพชร. กิเลสทั้งหลายที่พระอรหัตมัคคญาณตัดแล้ว พึงเห็นเหมือนกระเปาะแก้วมณีหรือกระเปาะหิน ภาวะที่กิเลสทั้งหลาย ที่พระอรหัตมัคคญาณจะตัดไม่ขาด ไม่มี พึงเห็นเหมือนภาวะที่เพชรจะไม่ตัดกระเปาะแก้วหรือกระเปาะหินไปไม่มี การที่กิเลสที่พระอรหัตมัคคญาณตัดได้แล้ว จะไม่กลับเกิดขึ้นอีก พึงเห็นเหมือนการที่กระเปาะแก้วหรือกระเปาะหินที่ถูกเพชรตัดแล้ว จะไม่กลับเต็มขึ้นมาอีก ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาวชิรสูตรที่ ๕