พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. พหุการสูตร ว่าด้วยผู้มีอุปการะมาก ๓ จําพวก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ต.ค. 2564
หมายเลข  38645
อ่าน  341

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 78

ปฐมปัณณาสก์

ปุคคลวรรคที่ ๓

๔. พหุการสูตร

ว่าด้วยผู้มีอุปการะมาก ๓ จําพวก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 78

๔. พหุการสูตร

ว่าด้วยผู้มีอุปการะมาก ๓ จำพวก

[๔๖๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล (อาจารย์) ๓ นี้ เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคล (ศิษย์) บุคคล (อาจารย์) ๓ นี้คือใคร คือ บุคคล (ศิษย์) อาศัยบุคคล (อาจารย์) ใด จึงได้ถึงพระพุทธเจ้า ... พระธรรม ... พระสงฆ์เป็นสรณะ บุคคล (อาจารย์) นี่ เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคล (ศิษย์) นี้

อนึ่งอีก ภิกษุทั้งหลาย บุคคล (ศิษย์) อาศัยบุคคล (อาจารย์) ใด จึงรู้ตามจริงว่า นี่ทุกข์ ... นี่เหตุเกิดทุกข์ ... นี่ความดับทุกข์ ... นี่ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ บุคคล (อาจารย์) นี่ เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคล (ศิษย์) นี้

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 79

อนึ่งอีก ภิกษุทั้งหลาย บุคคล (ศิษย์) อาศัยบุคคล (อาจารย์) ใด จึงกระทำให้แจ้งเข้าถึงพร้อมซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย ด้วยความรู้ยิ่งด้วยตนเองอยู่ในปัจจุบันนี่ บุคคล (อาจารย์) นี่ เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคล (ศิษย์) นี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า บุคคลอื่นจะมีอุปการะมากแก่บุคคล (ศิษย์) นี้ ยิ่งกว่าบุคคล ๓ นี่ไม่มี อนึ่ง เรากล่าวว่า บุคคล (ศิษย์) นี้ จะทำการสนองคุณแก่บุคคล (อาจารย์) ๓ นี้ไม่ได้ง่ายเลย แต่เพียงด้วยการกราบ ลุกรับ ทำอัญชลี สามีจิกรรม และคอยให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยาแก้ไข้.

จบพหุการสูตรที่ ๔

อรรถกถาพหุการสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในพหุการสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ตโยเม ภิกฺขเว ปุคฺคลา ได้แก่ บุคคลผู้เป็นอาจารย์ ๓ จำพวก. บทว่า ปุคฺคลสฺส พหุการา ได้แก่ ผู้มีอุปการะมากแก่คนผู้เป็นอันเตวาสิก บทว่า พุทฺธํ ได้แก่ พระสัพพัญญูพุทธเจ้า. บทว่า สรณํ คโต โหติ ความว่า ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง. บทว่า ธมฺมํ ได้แก่ นวโลกุตรธรรม พร้อมทั้งแบบแผน (พระปริยัติธรรม). บทว่า สํฆํ ได้แก่ ชุมนุมพระอริยบุคคล ๘ จำพวก.

ก็การถึงสรณะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งบุคคลผู้ไม่เคยถึงสรณะ คือ ผู้ไม่เคยทำความเชื่อมั่น. เป็นอันว่า อาจารย์ ๓ จำพวก

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 80

คือ ผู้ให้สรณะ ๑ ผู้ให้ถึงโสดาปัตติมรรค ๑ ผู้ให้ถึงพระอรหัตมรรค ๑ มาแล้วในพระสูตรนี้ ว่ามีอุปการะมาก. อาจารย์ ๕ จำพวก คือ อาจารย์ผู้ให้บรรพชา ๑ อาจารย์ผู้ให้ (บอก) พุทธพจน์ ๑ กรรมวาจาจาริย์ ๑ อาจารย์ผู้ให้บรรลุสกทาคามิมรรค ๑ อาจารย์ผู้ให้บรรลุอนาคามิมรรค ๑ ไม่ได้มาแล้วในสูตรนี้.

ถามว่า อาจารย์เหล่านั้นไม่มีอุปการะมากหรือ.

ตอบว่า ไม่ใช่ไม่มีอุปการะมาก แต่พระธรรมเทศนานี้กำหนดไว้ ๒ ส่วน เพราะฉะนั้น อาจารย์เหล่านี้แม้ทั้งหมด ชื่อว่ามีอุปการะมาก. ในบรรดาคุณธรรมเหล่านั้น ผู้ไม่ได้ทำอภินิเวส (บุญญาธิการ) ไว้ ย่อมเหมาะในการถึงสรณคมน์เท่านั้น. ส่วนจตุปาริสุทธิศีล กสิณบริกรรม และวิปัสสนาญาณ เป็นคุณธรรมที่อาศัยปฐมมรรค. (ส่วน) มรรคและผลเบื้องสูงทั้ง ๒ อย่าง พึงทราบว่า อาศัยอรหัตมรรค.

บทว่า อิมินา ปุคฺคเลน ได้แก่ บุคคลผู้เป็นอันเตวาสิกนี้. บทว่า น สุปฺปฏิการํ วทามิ ความว่า เราตถาคตกล่าวการทำการตอบแทนว่า ไม่ใช่เป็นของที่ทำได้ง่าย. พึงทราบอธิบายอย่างนี้ว่า จริงอยู่ บรรดาอภิวาทนกรรมเป็นต้น อันเตวาสิกเมื่อหมอบลงไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์หลายร้อยครั้ง หลายพันครั้ง ลุกจากอาสนะไปต้อนรับ (อาจารย์) ในขณะที่เห็นทุกครั้ง ประนมมือ ทำสามีจิกรรมที่สมควร ถวายจีวร ๑๐๐ ผืน ๑,๐๐๐ ผืน ถวายบิณฑบาต ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง ทุกวัน สร้างที่อยู่ล้วนไปด้วยแก้ว ๗ ประการ โดยมีจักรวาลเป็นขอบเขต (และ) ถวายเภสัชนานัปการ มีเนยใสเนยข้นเป็นต้นเป็นประจำ ชื่อว่ายังไม่สามารถจะทำการตอบแทนอุปการะที่อาจารย์ทำแล้ว (ให้หมด) ได้.

จบอรรถกถาพหุการสูตรที่ ๔