รู้กาย ..ลักษณะของกายเป็นอย่างไร

 
kchat
วันที่  26 พ.ค. 2550
หมายเลข  3804
อ่าน  963

ผู้ฟัง เข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคคงจะสอนกับบุรุษผู้มาใหม่ เพื่อให้รู้กายตามความเป็นจริง อยากจะเรียนถาม อาจารย์ว่า รู้กาย ลักษณะของกาย เป็นอย่างไร

อ. ต้องไม่ลืมว่า ทางรู้อารมณ์ มีกี่ทางคะ?

ผู้ฟัง มี ๕ ทางครับ ... ๖ ทางครับ

อ. อะไรบ้างคะ?

ผู้ฟัง หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ

อ.ดยมากจะตั้งต้นหูก่อนเพราะว่าก่อนจะศึกษาธรรมนี่หูทั้งนั้นเลย แต่พอศึกษาธรรม ก็เปลี่ยนใหม่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ไม่สำคัญค่ะ จะอะไรก่อนไม่สำคัญเลยค่ะ เพราะว่าขณะนี้เสียงปรากฏก่อนก็ได้ หรือสิ่งที่ปรากฏทางตาก่อนก็ได้ อะไรปรากฏทางตา อะไรปรากฏทางหู อะไรปรากฏทางกาย และใจรับรู้ทุกอย่างสืบต่อ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ ที่ปรากฏทางตา ไม่รู้เลยนะคะ ว่าหลังจากที่ธรรมนี้ดับแล้ว ทางใจเกิดขึ้น รับรู้ต่อหลายวาระ เวลาเสียงปรากฏนิดหนึ่ง ดับหมดแล้ว ทางใจก็เกิดขึ้นรู้สืบต่อหลายวาระ วันนี้ไม่ปรากฏเลย ด้วยเหตุนี้จึงรวมทุกอย่าง และเข้าใจว่า มีร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ถูกต้องไหมคะ แต่ถ้าจะปรากฏทางกายจริงๆ อะไรปรากฏ? สิ่งที่สามารถกระทบกายปสาทได้ เท่านั้น จึงจะปรากฏทางกายได้

ด้วยเหตุนี้ ทรงแสดงสภาพธรรม ตามความเป็นจริงไม่ใช่ตามความคิดที่จำไว้ว่า มีทุกคนก่อนศึกษาธรรม มีกายเป็นของตัวเอง ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แต่ทรงแสดงว่า ธรรมแต่ละอย่าง แต่ละลักษณะมีปัจจัยจึงเกิด ไม่ใช่มาเกิดรวมกันอยู่นะคะ ตั้งแต่เกิดมาแล้ว วันนี้พรุ่งนี้ เดี๋ยวนั่งบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง ไม่ใช่อย่างนั้นเลยค่ะ แต่ทุกธรรมที่เกิดขึ้น มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิด แล้วดับเร็วมาก แต่ว่าสืบต่อ เพราะฉะนั้นที่กายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ขณะนี้ ตรงไหนปรากฏ มีลักษณะของธรรมะที่ปรากฏ หรือว่าจำไว้ว่า " มี กาย” ที่กำลังนั่ง แล้วศีรษะจรดเท้านี้ยังมีอยู่ ซึ่งความจริงไม่มี ถ้ายังพอมีอยู่ แล้วจะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเราหรือ “ของเรา” ไม่ได้ เพราะว่าตราบใดยังรวมเป็นเรา ก็คือไม่รู้ความจริงว่า “ไม่มีเรา”ค่ะ แม้แต่ การที่เคยเป็นเรา หัวใจ ปอด ม้าม ตับ ลมหายใจ หรืออะไรทั้งหมด ก็ เป็นแต่สภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ แล้วก็ปรากฏทีละอย่าง แล้วก็ทีละทางด้วย ด้วยเหตุนี้ เราตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าไม่เหลือ เป็นเพียงแต่ธรรมะ ที่มี ลักษณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่รูปจากความเป็นเรา ใหญ่โตเป็นก้อนเป็นแท่ง ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า คือไม่มีอะไรเลยนอกจากรูป แต่ละรูปซึ่งปรากฏ แล้วก็หมดไป ถึงทางใจจะจำไว้ก็ชั่วขณะที่จิตเกิดขึ้นคิดนึกแล้วก็หมดไป นี่แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมเป็นธรรม นามธรรมเป็นนามธรรม รูปธรรมเป็นรูปธรรม ทั้งนามธรรมและรูปธรรม เกิดขึ้นและดับไป และปรากฏทีละลักษณะ เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่รู้ตามความเป็นจริงอย่างนี้ จะดับการยึดถือ ว่าเป็นเรา หรือมีเราไม่ได้เลยค่ะจนกว่าจะถึงชั่วขณะซึ่งไม่เหลือเลย แล้ว ก็มีสภาพธรรมเพียงอย่างเดียวซึ่งปรากฏแต่ละลักษณะ เพราะไม่รู้เมื่อฟังแล้ว ก็จะรู้ลักษณะที่ปรากฏที่กาย จึงจะรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วนี่ ขณะใดที่สภาพธรรมปรากฏ ขณะนั้น ไม่มีอิริยาบถ เพราะว่าไม่มี มีแต่ลักษณะของธรรม อย่างแข็งกำลังปรากฏ นั่งอยู่ที่ไหน ในเมื่อกำลังรู้ตรงแข็ง มีแต่แข็งที่ปรากฏ

จาก การสนทนา ... โกสลสูตร ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 382 เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๐


  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 27 พ.ค. 2550

ถ้าขณะนั้น กำลังศึกษาลักษณะที่เป็นนามธรรม คือ เป็นสภาพรู้ และรู้ว่าต่างจากลักษณะของรูปธรรม ต้องแยก ๒ อย่างนี้ออก สติระลึก น้อมที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม นั่นจึงเป็นไตรสิกขาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 19 มี.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ