[คำที่ ๕๒๙] นิธิอาจิกฺขนก

 
Sudhipong.U
วันที่  8 ต.ค. 2564
หมายเลข  37792
อ่าน  446

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “นิธิอาจิกฺขนก

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

นิธิอาจิกฺขนก อ่านตามภาษาบาลีว่า นิ- ทิ- อา - จิก - ขะ - นะ - กะ มาจากคำว่า นิธิ (ขุมทรัพย์, สิ่ง ที่มีค่า) กับคำว่า อาจิกฺขนก (บุคคลผู้บอก, บุคคลผู้ชี้) รวมกันเป็น นิธิอาจิกฺขนก แปลว่า บุคคลผู้บอก ขุมทรัพย์, บุคคลผู้ชี้ขุมทรัพย์ เป็นอีกคำหนึ่งที่มีความหมายที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง เปรียบเทียบว่าบุคคลผู้ที่ชี้ให้ ผู้อื่นได้เห็นโทษของอกุศลธรรมตามความเป็นจริง มุ่งประโยชน์ต่อผู้อื่นให้ได้ถอยกลับจากสิ่งที่ผิดแล้วน้อม ประพฤติในสิ่งที่ถูก เป็นเหมือนบุคคลผู้บอกขุมทรัพย์คือบอกสิ่งที่มีค่าให้ ที่ควรจะได้น้อมรับในความหวังดี ของผู้นั้นจริงๆ ควรเห็นบุคคลผู้ให้โอวาทพร่ำสอนว่า เป็นเหมือนบุคคลผู้บอกขุมทรัพย์ให้ ตามข้อความใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ดังนี้

“บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญาใด ซึ่งเป็นผู้กล่าวชี้โทษ ว่า เป็นเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ให้ พึงคบผู้มีปัญญาเช่นนั้น ซึ่งเป็นบัณฑิต เพราะว่าเมื่อคบท่านผู้เช่นนั้น มีแต่คุณอย่าง ประเสริฐ ไม่มีโทษที่ต่ำทราม”

ดังข้อความในธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท :

คนเข็ญใจถูกผู้อื่นคุกคามก็ดีตีก็ดีแต่ชี้ขุมทรัพย์ให้ว่า “เจ้าจงถือเอาทรัพย์นี้” ย่อมไม่ทำความ โกรธ มีแต่ปราโมทย์อย่างเดียว ฉันใด; เมื่อบุคคลเห็นปานดังนั้น เห็นมารยาทมิบังควรก็ดีความพลั้ง พลาดก็ดีแล้วบอกอยู่ผู้รับบอก ไม่ควรทำความโกรธ แต่ควรเป็นผู้ยินดีอย่างเดียว ฉันนั้น ควรปวารณา (เปิดโอกาสให้ตักเตือนได้) ทีเดียวว่า “ท่านเจ้าข้า กรรมอันใหญ่ อันท่านผู้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นอาจารย์ เป็นอุปัชฌาย์ของกระผมแล้ว สั่งสอนอยู่กระทำแล้ว แม้ต่อไป ท่านพึงโอวาทกระผมอีก”


ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลสประการต่างๆ ยังมีกิเลสอยู่ครบทั้งโลภะ ความติดข้อง ยินดีพอใจ โทสะความโกรธความขุ่นเคืองใจไม่พอใจ โมหะความหลงความไม่รู้เป็นต้น ย่อมเป็นไปได้ที่จะมี ความประพฤติที่ไม่ดีทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจเป็นธรรมดา เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคลไม่ ว่าจะอยู่ในเพศบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็ตาม ถ้าเป็นบรรพชิตก็มีการล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัม พุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เช่น รับเงินทอง พูดตลกคะนอง เป็นต้น ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็มีการล่วงศีล ทำทุจริตกรรม ประการต่างๆ เช่น ฆ่าสัตว์ลักทรัพย์เป็นต้น ทั้งหมด เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นอกุศล เป็นโทษ

ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิด ที่สำคัญทำผิดแล้วจะรู้สึกตัวหรือเปล่าว่าเป็นผู้ทำผิด บุคคลผู้ที่มีปัญญาเข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง พร้อมทั้งมีเมตตา ความเป็นมิตรเป็นเพื่อนหวังดี เพื่อที่จะให้รู้ถึงโทษนั้นตามความเป็นจริงว่า โทษ เป็นโทษ มีจิตอนุเคราะห์เกื้อกูลต่อบุคคลผู้หลงผิดผู้กระทำ ผิดประการต่างๆ เพื่อให้เป็นผู้ถอยกลับจากอกุศล แล้วตั้งมั่นในกุศล เมื่อคนอื่นไม่รู้ว่าเป็นโทษ บุคคลผู้มุ่ง ประโยชน์เพื่อผู้อื่น จึงเสียสละเวลาเพื่อที่จะแนะนำตักเตือน ชี้แนวทางที่ถูกต้องให้ กล่าวให้ได้เข้าใจตาม ความเป็นจริง เป็นการกล่าวให้ได้รู้ถึงโทษของความประพฤติที่ไม่ดีนั้นตามความเป็นจริง กระจายความจริง ให้ได้รู้ในทุกที่ทุกสถาน เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ที่เห็นประโยชน์จากคำแนะนำ จากคำเตือนที่เป็นประโยชน์ย่อมทำ ให้เป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลที่เกิดขึ้น แล้วมีความจริงใจที่จะน้อมประพฤติปฏิบัติตามขัดเกลากิเลสของ ตนเอง โดยเป็นผู้กลับตัวกลับใจเสียใหม่ ละทิ้งสิ่งที่ไม่ดีสะสมแต่สิ่งที่ดีงามต่อไป และอีกประการหนึ่ง ถ้า ไม่ใช่ผู้กระทำผิดโดยตรง แต่เมื่อได้เข้าใจความจริง แล้ว ก็จะไม่ส่งเสริมในสิ่งที่ผิดไม่เห็นดีเห็นงามไปกับสิ่งที่ ผิดนั้น เช่น เมื่อได้เข้าใจแล้วว่า พระภิกษุรับเงินทองไม่ได้เงินทองไม่ควรแก่เพศบรรพชิตโดยประการทั้งปวง ก็ไม่ถวายเงินให้แก่พระภิกษุ เพราะการถวายเงินแก่พระภิกษุ เป็นเหตุให้พระภิกษุล่วงละเมิดพระวินัย เท่ากับผลักพระภิกษุให้ลงอบายภูมิหรือแม้กระทั่ง ในกรณีที่ภิกษุพูดตลกคะนอง เมื่อตนเองได้เข้าใจถูกต้อง แล้ว ก็ไม่เห็นด้วย ไม่ส่งเสริมในสิ่งที่ผิด และยังสามารถเกื้อกูลให้บุคคลอื่นได้เข้าใจถูกต้องด้วยว่า พระภิกษุ จะพูดตลกคะนอง ไม่ได้โดยประการทั้งปวง เพราะขณะที่พูดตลก ใจสกปรกด้วยอกุศล ไม่ใช่ความประพฤติ ของพระภิกษุในพระธรรมวินัย ไม่ได้ขัดเกลากิเลสของตนเองเลยแม้แต่น้อย

โดยปกติถ้าเป็นผู้ที่มีเหตุมีผล ในเมื่อตนทำผิด พูดผิด เมื่อมีบุคคลอื่นคอยตักเตือน คอยชี้ให้เห็นถึง ความผิด ก็ย่อมจะเป็นผู้มีปกติชอบใจต่อผู้คอยตักเตือนนั้น เปรียบเสมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ให้เพราะถ้าไม่ เตือนด้วยพระธรรมแล้วใครจะเตือน บุคคลผู้ที่คอยตักเตือนนั้นเป็นบัณฑิต เมื่อคบกับบัณฑิตเช่นนี้ย่อมจะ พบแต่คุณอันประเสริฐอย่างเดียว จะไม่พบกับความเสื่อมเลย เพราะเป็นผู้เกื้อกูลให้ห่างไกลจากความ ประพฤติที่ผิดทั้งหลาย ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นผู้ที่ว่ายากสอนยาก ย่อมจะไม่รับฟังคำพร่ำสอน มีความขัด เคือง เมื่อโกรธแล้วก็ย่อมห่างเหินไปจากคำสอนที่ถูกต้อง หรืออาจจะจากไปตลอดชีวิต ซึ่งจะไม่เป็นเหตุให้ ละคลายกิเลสเลย เพราะไม่ยอมที่จะรู้จักอกุศลของตนเอง และไม่เห็นความหวังดีของผู้ที่พร่ำสอน ย่อมจะ เป็นผู้ทำผิดต่อไป หมักหมมพอกพูนสิ่งสกปรกลงในจิตต่อไปอีก ยากที่จะแก้ไขได้

ข้อที่น่าพิจารณาอีกประการหนึ่งคือ บุคคลผู้ที่ฉลาด ย ่อมเป็นผู้ค้นหากุศลของคนอื ่นเพื ่อที ่จะได้ อนุโมทนาชื่นชมยินดีด้วยกับความดีของผู้นั้น และค้นหาโทษของตนเองว่าตนเองมีโทษอะไรบ้าง ถ้าเป็น อย่างนี้ทุกวันๆ กุศลจิตย่อมเจริญ เพราะว่าได้อนุโมทนาชื่นชมยินดีในกุศลของคนอื่น และได้เห็นโทษของ ตนเองว่าเป็นโทษ เพื่อที่จะได้ขัดเกลาละคลายโทษนั้นยิ่งขึ้น

จึงแสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นที่พึ่งในชีวิตอย่างแท้จริง นำไป ในกิจทั้งปวงที่เป็นกุศลโดยตลอด รากฐานที่สำคัญที่จะทำให้ปัญญาค่อยๆ เกิดขึ้น ค่อยๆ เจริญขึ้นไป ตามลำดับ คือ ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว ด้วยความเคารพ ละเอียด รอบคอบ ให้เวลากับสิ่งที่ประเสริฐที่สุดนี้ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 9 ต.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
petsin.90
วันที่ 9 ต.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ