สติเป็นสภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศล

 
khampan.a
วันที่  2 ก.ย. 2564
หมายเลข  36485
อ่าน  588

หทเย นิเธตพฺพยุตฺตกํ
(ข้อความที่ควรเก็บไว้ในหทัย)
[๕๒๗]

สติเป็นสภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศล


ขณะที่คิดจะให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่นไม่ใช่เรา แต่แทนที่จะคิดเรื่องอื่นตรึกตรองใฝ่หาเรื่องอื่นก็เกิดการระลึกที่จะให้ เพราะฉะนั้นขณะนั้นจึงสามารถที่จะรู้ได้ว่าเพราะสติเกิดจึงกั้นอกุศล อกุศลขณะนั้นจะเกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นกุศลทุกประเภทก็มีสติเป็นสภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศลนั้นๆ เช่น ขณะที่วิรัติ (งดเว้น) ทุจริต แต่ก่อนนี้ก็อาจจะเป็นคนที่กล่าวคำไม่จริงง่ายๆ เลย รู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าฟังธรรมแล้วไม่ใช่มีตัวตนที่จะไปบังคับ แต่เริ่มสังเกตได้ว่าการกล่าวคำจริงง่ายกว่าที่จะกล่าวคำไม่จริงเพราะว่าตรงไปตรงมา ไม่เยิ่นเย้อและก็ชัดเจนและก็มีอะไรก็เปิดเผยได้ นั่นก็คือผู้ที่เห็นว่าสิ่งที่ไม่จริงหรือคำไม่จริงกล่าวยากกว่าความจริง อันนี้ก็เป็นเพราะเหตุว่าได้เริ่มเข้าใจสภาพธรรมซึ่งขณะนั้นเพราะสติเกิดจึงระลึกที่จะวิรัติทุจริต หรือว่าที่จะทำสิ่งที่ดีงามเป็นจาริตศีล ถ้าเป็นการวิรัติสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นวาริตศีลเพราะว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกาย วาจา ซึ่งก็ต้องมาจากใจ แต่ก็ละเอียดขึ้น ระดับที่ว่าแม้เป็นการที่เกิดขึ้นเป็นกุศลทางใจยังไม่ได้ล่วงออกไปทางกาย ทางวาจา ไม่ว่ากุศลหรืออกุศลนั้นก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้

อย่างเวลาที่เกิดขุ่นใจ กายก็ยังไม่ได้ทำอะไร วาจาก็ยังไม่ได้ทำอะไร ก็เกิดอกุศลเพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะขุ่นใจขณะนั้น แต่พอสติเกิดระลึกได้ก็ไม่ใช่เราอีก มีประโยชน์อะไรความโกรธ ลองหาดูว่าประโยชน์อยู่ที่ไหนแก่ใคร แก่คนที่เราแสดงความโกรธ เขาจะได้กลัวหรือเปล่า นั่นก็คือไม่ได้เห็นประโยชน์แท้จริงว่าขณะนั้นเป็นอกุศลจิต แล้วก็จิตของใครก็จิตของคนนั้น แล้วจิตนั้นให้โทษหรือให้คุณ

ไม่โกรธแต่ก็สามารถที่จะมีการกล่าวหรือคำพูดที่เป็นประโยชน์ต่อคนที่ทำสิ่งที่ไม่ดีไม่ถูกต้องก็ได้ แต่ว่าขณะนั้นก็จะเห็นความต่างขณะที่สติไม่เกิดขณะนั้นก็เป็นอกุศล แต่ถ้าสติเกิดก็ไม่มีใครไปบอก แม้แต่จะคิดเองทบทวนเองว่าไม่น่าจะโกรธเลย ขณะนั้นก็คือสติเกิดทำให้เกิดการคิดนึกในเรื่องนั้น คือต้องทราบว่าธรรมมี และธรรมเป็นธรรม กว่าจะรู้จริงๆ ว่าเป็นธรรมก็จะต้องมีการฟังและก็มีการอบรมจนกระทั่งไม่เพียงแต่กล่าวด้วยคำพูดว่าเป็นธรรม แต่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ว่าสภาพธรรมนั้นๆ เป็นธรรม ไม่ว่าเป็นจิต จิตก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) แต่ละประเภทก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็เป็นสติ แม้แต่ขณะนี้ได้ฟังเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง ถ้าจะมีการตามรู้คือไม่ได้ไปไหนเลย สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาปรากฏ ต้องมีจิตที่กำลังเห็น แล้วยังไม่ทันจะเป็นอื่น ขณะนั้นสติก็รู้ลักษณะที่กำลังเห็นโดยค่อยๆ เข้าใจขึ้น แม้เพียงเล็กน้อยแต่ละทวาร (ทาง) คือเป็นปกติเหมือนเดิม แต่ว่ามีความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าเมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็สามารถที่จะปิดกั้นยิ่งกว่าขณะที่เพียงสติเกิด


กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... เก็บไว้ในหทัย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ก.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
lokiya
วันที่ 3 ก.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
petsin.90
วันที่ 3 ก.ย. 2564

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ