พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. ทุพพัณณิยสูตร ว่าด้วยความโกรธทําให้ผิวพรรณทราม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36468
อ่าน  337

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 518

๒. ทุพพัณณิยสูตร

ว่าด้วยความโกรธทําให้ผิวพรรณทราม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 518

๒. ทุพพัณณิยสูตร

ว่าด้วยความโกรธทำให้ผิวพรรณทราม

[๙๔๖] สาวัตถีนิทาน.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ยักษ์ตนหนึ่งมีผิวพรรณทรามต่ำเตี้ยพุงพลุ้ย นั่งอยู่บนอาสนะแห่งท้าวสักกะจอมเทพ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ในที่นั้น พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์พากันยกโทษตำหนิติเตียนว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย น่าอัศจรรย์หนอ ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย ไม่เคยมีมาแล้วหนอ ยักษ์นี้มีผิวพรรณทราม ต่ำเตี้ย พุงพลุ้ย นั่งอยู่บนอาสนะแห่งท้าวสักกะจอมเทพ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ยกโทษตำหนิติเตียนด้วยประการใดๆ ยักษ์นั้นยิ่งเป็นผู้มีรูปงามทั้งน่าดูน่าชมและน่าเลื่อมใสยิ่งขึ้นกว่าเดิมด้วยประการนั้นๆ.

[๙๔๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์พากันเข้าไปเฝ้าท้าวสักกะจอมเทพถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอประทานโอกาสต่อพระองค์ ยักษ์ตนหนึ่งมีผิวพรรณทราม ต่ำเตี้ย พุงพลุ้ย นั่งอยู่บนอาสนะของพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้ทราบว่า ณ ที่นั้นพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์พากันยกโทษตำหนิติเตียนว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย น่าอัศจรรย์หนอ ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ไม่เคย

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 519

มีมาหนอ ยักษ์นี้มีผิวพรรณทราม ต่ำเตี้ย พุงพลุ้ย นั่งอยู่บนอาสนะของท้าวสักกะจอมเทพ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ยกโทษตำหนิติเตียนด้วยประการใดๆ ยักษ์นั้นยิ่งเป็นผู้มีรูปงามทั้งน่าดูน่าชมและน่าเลื่อมใสยิ่งกว่าเดิม ด้วยประการนั้นๆ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ยักษ์นั้นจักเป็นผู้มีความโกรธเป็นอาหารเป็นแน่เทียว ขอเดชะ.

[๙๔๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพเสด็จเข้าไปหายักษ์ผู้มีความโกรธเป็นอาหารนั้นจนถึงที่อยู่ ครั้นแล้วทรงห่มผ้าเฉวียงพระอังสาข้างหนึ่ง ทรงคุกพระชานุมณฑลเบื้องขวาลง ณ พื้นดิน ทรงประนมอัญชลีไปทางที่ยักษ์ตนนั้นอยู่ แล้วประกาศพระนาม ๓ ครั้งว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ เราคือท้าวสักกะจอมเทพ... ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ เราคือท้าวสักกะจอมเทพ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพทรงประกาศพระนามด้วยประการใดๆ ยักษ์ตนนั้นยิ่งมีผิวพรรณทรามและต่ำเตี้ยพุงพลุ้ยยิ่งกว่าเดิม ยักษ์นั้นเป็นผู้มีผิวพรรณทรามและต่ำเตี้ยพุงพลุ้ยยิ่งกว่าเดิมแล้ว ได้หายไป ณ ที่นั้นนั่นเอง.

[๙๔๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพประทับนั่งบนอาสนะของพระองค์แล้ว เมื่อจะทรงยังพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ให้ยินดี จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ไว้ในเวลานั้นว่า

เราเป็นผู้มีจิตอันโทสะไม่กระทบกระทั่ง เป็นผู้อันความหมุน (มาร) นำไปไม่ได้ง่าย เราไม่โกรธมานานแล ความโกรธ ย่อมไม่ตั้งอยู่ในเรา ถึงเราโกรธ ก็ไม่กล่าวคำหยาบ และไม่กล่าวคำไม่ชอบธรรม เห็นประโยชน์ของตนจึงข่มตนไว้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 520

อรรถกถาทุพพัณณิยสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในทุพพัณณิยสูตรที่ ๒ ต่อไปนี้ :-

บทว่า ทุพฺพณฺโณ ได้แก่ มีผิวเหมือนตอถูกไฟเผา. บทว่า โอโกฏิมโก ได้แก่ ต่ำเตี้ยพุงพลุ้ย. บทว่า อาสเน ได้แก่ บัณฑุกัมพลศิลา. บทว่า โกธภกฺโข ยกฺโข นี้ เป็นชื่อที่ท้าวสักกะตั้งให้. ก็ยักษ์ตนหนึ่งนั้นเป็นรูปาวจรพรหม. นัยว่า ท้าวสักกะสดับมาว่า ยักษ์ถึงพร้อมด้วยกำลังคือขันติ จึงเสด็จมาเพื่อทดลองดู. ก็อวรุทธกยักษ์ ไม่อาจเข้าไปยังที่ที่อารักขาไว้เห็นปานนี้ได้. บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า ท้าวสักกะฟังพวกเทวดาแล้วคิดว่า ไม่สามารถให้ยักษ์นี้หวั่นไหวได้ ด้วยถ้อยคำหยาบ อันผู้ประพฤติถ่อมตนตั้งอยู่ในขันติ จึงจะสามารถให้ยักษ์หนีไปได้ดังนี้ มีพระประสงค์จะให้ยักษ์นั้นหนีไปด้วยประการนั้น จึงเสด็จเข้าไปหา. บทว่า อนฺตรธายิ ความว่า เมื่อท้าวสักกะทรงดำรงอยู่ในขันติ ทำความเคารพอย่างแรงกล้าให้ปรากฏแสดงความถ่อมตน ยักษ์นั้น ไม่อาจจะอยู่บนอาสนะของท้าวสักกะได้ จึงหนีไป. คำว่า สุ ในบทนี้ว่า น สุปหตจิตฺโตมฺหิ เป็นเพียงนิบาต. ท่านกล่าวว่า เราเป็นผู้มีจิตอันโทสะไม่กระทบแล้ว. บทว่า นาวฏฺเฏน สุวานโย ท่านกล่าวว่า เราเป็นผู้อันความหมุนไปด้วยความโกรธนำไปไม่ได้ง่าย คือเราเป็นผู้ไม่กระทำง่ายเพื่อเป็นไปในอำนาจด้วยความโกรธ. คำว่า โว ในบทว่า น โว จิราหํ เป็นเพียงนิบาต. ท่านกล่าวว่า เราไม่โกรธมานานแล้ว.

จบอรรถกถาทุพพัณณิยสูตรที่ ๒