พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. วิโรจนอสุรินทสูตร จอมอสูรกับท้าวสักกะแสดงคําสุภาษิต

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36454
อ่าน  358

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 482

๘. วิโรจนอสุรินทสูตร

จอมอสูรกับท้าวสักกะแสดงคําสุภาษิต


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 482

๘. วิโรจนอสุรินทสูตร

จอมอสูรกับท้าวสักกะแสดงคำสุภาษิต

[๘๙๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังเสด็จเข้าที่พักกลางวัน ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทวดากับท้าววิโรจนะจอมอสูร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ยืนพิงบานพระทวารองค์ละข้าง.

[๘๙๑] ลำดับนั้นแล ท้าววิโรจนะจอมอสูรได้ตรัสคาถานี้ ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

เป็นชายควรพยายามไปจนกว่าประโยชน์สำเร็จ ประโยชน์งดงามอยู่ที่ความสำเร็จ นี้เป็นถ้อยคำของวิโรจนะ.

[๘๙๒] ท้าวสักกะจอมเทวดาตรัสว่า

เป็นชายควรพยายามไปจนกว่าประโยชน์สำเร็จ ประโยชน์ทั้งหลายงดงามอยู่ที่ความสำเร็จ ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติไม่มี.

[๘๙๓] ท้าววิโรจนะจอมอสูรตรัสว่า

สรรพสัตว์ย่อมเกิดความต้องการในสิ่งนั้นๆ ตามควร ส่วนการบริโภคของสรรพสัตว์มีการปรุงประกอบเป็นอย่างยิ่ง ประโยชน์ทั้งหลายงดงามอยู่ที่ความสำเร็จ นี้เป็นถ้อยคำของวิโรจนะ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 483

[๘๙๔] ท้าวสักกะจอมเทวดาตรัสว่า

สรรพสัตว์ย่อมเกิดความต้องการในสิ่งนั้นๆ ตามควร ส่วนการบริโภคของสรรพสัตว์ มีการปรุงประกอบเป็นอย่างยิ่ง ประโยชน์ทั้งหลายงดงามอยู่ที่ความสำเร็จ ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติไม่มี.

อรรถกถาวิโรจนอสุรินทสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในวิโรจนอสุรินทสูตรที่ ๘ ต่อไปนี้ :-

บทว่า อฏฺํสุ ได้แก่ ยืนดุจรูปคนเฝ้าประตู. บทว่า นิปฺปทา แปลว่า ความสำเร็จ. ท่านอธิบายว่า เป็นชายควรพยายามไปจนกว่าประโยชน์จะสำเร็จทีเดียว. คาถาที่ ๒ เป็นของท้าวสักกะ. ในบทเหล่านั้น บทว่า ขนฺตฺยา ภิยฺโย ความว่า บรรดาประโยชน์ทั้งหลายงามอยู่ที่ความสำเร็จ ไม่มีประโยชน์ยิ่งกว่าขันติ. บทว่า อตฺถชาตา ได้แก่ มีกิจเกิดแล้ว. จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่า สัตว์ ที่ไม่มีกิจเกิดแล้ว แม้กระทั่งสุนัขบ้านและสุนัขจิ้งจอกเป็นต้น ย่อมไม่มี. แม้เพียงเดินไปข้างนี้ ข้างโน้น ก็เป็นกิจเหมือนกัน. บทว่า สํโยคปรมาเตฺวว สมฺโภคา สพฺพปาณินํ แปลว่า การบริโภคของสัตว์ทั้งปวงมีการปรุงเป็นอย่างยิ่ง อธิบายว่า เพราะข้าวค้างคืนเป็นต้น ไม่ควรบริโภค. แต่ข้าวเหล่านั้น อุ่นให้ร้อน กระจายออกปรุงด้วยเนยใส

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 484

น้ำผึ้งน้ำอ้อยเป็นต้น เป็นของควรบริโภค. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สํโยคปรมาเตฺวว สมฺโภคา สพฺพปาณินํ ดังนี้. บทว่า นิปฺผนฺนโสภิโน อตฺถา ความว่า ชื่อว่าประโยชน์เหล่านี้สำเร็จแล้ว จึงงาม. คาถาที่ ๔ ก็เป็นของท้าวสักกะอีก แม้ในคาถาที่ ๔ นั้น พึงทราบความโดยนัยที่กล่าวแล้ว.

จบอรรถกถาวิโรจนอสุรินทสูตรที่ ๘