พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. กุลาวกสูตร ท้าวสักกะชนะอสูรโดยชอบธรรม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36452
อ่าน  330

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 478

๖. กุลาวกสูตร

ท้าวสักกะชนะอสูรโดยชอบธรรม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 478

๖. กุลาวกสูตร

ท้าวสักกะชนะอสูรโดยชอบธรรม

[๘๘๔] สาวัตถีนิทาน.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว สงความระหว่างพวกเทวดาและอสูรได้ประชิดกันแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ในสงครามคราวนั้น พวกอสูรเป็นฝ่ายมีชัย พวกเทวดาเป็นฝ่ายปราชัย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเทวดาผู้พ่ายแพ้ต่างพากันหนีไปทางทิศอุดร พวกอสูรได้ชวนกันไล่พวกเทวดาเหล่านั้นไปแล้ว.

[๘๘๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทวดาได้ตรัสกะมาตลีสังคาหกเทพบุตรด้วยคาถาว่า

ดูก่อนมาตลี เธอจงหลีกเลี่ยงรังนกในป่าไม้งิ้ว โดยบ่ายหน้างอนรถกลับ ถึงเราจะต้องเสียสละชีวิตในพวกอสูรก็ตามที นกเหล่านี้อย่าได้ปราศจากรังเสียเลย.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มาตลีสังคาหกเทพบุตรรับพระดำรัสของท้าวสักกะจอมเทวดาว่า ขอความเจริญจงมีแด่พระองค์ ดังนี้แล้ว ให้รถซึ่งเทียมด้วยม้าอาชาไนยพันตัวหันหลังกลับ.

[๘๘๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พวกอสูรคิดว่า บัดนี้รถซึ่งเทียมด้วยม้าอาชาไนยพันตัวของท้าวสักกะจอมเทวดาหันกลับมาแล้ว พวกเทวดาจักทำสงความกับพวกอสูรแม้เป็นครั้งที่สองแล พวกอสูรต่างตกใจกลับเข้าไปสู่อสูรบุรี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชัยชนะโดยธรรมแท้ๆ ได้เป็นของท้าวสักกะจอมเทวดาแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 479

อรรถกถากุลาวกสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในกุลาวกสูตร ที่ ๖ ต่อไปนี้ :-

บทว่า อชฺฌภาสิ ความว่า ได้ยินว่า เสียงรถ เสียงม้าอาชาไนย เสียงธง เหมือนเสียงฟ้าผ่ารอบด้านมีแก่ท้าวสักกะผู้บ่ายหน้าเข้าป่าไม้งิ้วนั้น พวกครุฑผู้มีกำลังในป่างิ้วนั้น ได้ยินเสียงนั้นแล้ว ก็พากันหนี พวกครุฑที่แก่เฒ่า ที่หมดแรงเพราะโรค และลูกนกที่ยังไม่เกิดขนปีก ไม่อาจจะหนีได้กลัวตายตกใจร้องกันระเบ็งเซ็งแซ่. ท้าวสักกะได้ยินเสียงนั้นแล้วจึงตรัสถามสารถีมาตลีว่า เสียงอะไรพ่อ. สารถีมาตลีกราบทูลว่า ข้าแต่เทวะ พวกครุฑได้ยินเสียงรถของพระองค์ ไม่อาจจะหนีได้จึงร้อง. ท้าวสักกะได้ฟังคำนั้นแล้วมีพระทัยประกอบด้วยพระกรุณา จึงตรัส.

บทว่า อีสามุเขน คือ ทางงอนของรถ. รถจะไม่บดขยี้รังนกทางงอน ฉันใด ท่านจงหลีกรังนกนั้นด้วยทางงอนรถ ฉันนั้น. เพราะว่า รถที่เกิดด้วยบุญเป็นปัจจัยมุ่งหน้าไปที่ภูเขาจักรวาลก็ดี ที่ภูเขาสิเนรุก็ดี ย่อมไม่ขัดข้อง ย่อมไปด้วยอำนาจการไปในอากาศ. ถ้าจะพึงไปทางป่างิ้วนั้น เมื่อเกวียนใหญ่ไปกลางป่างาก็ดี กลางป่าละหุงก็ดี ป่าทั้งหมดก็ถูกเหยียบย่ำแหลกฉันใด แม้ป่างิ้วนั้น ก็พึงเป็น ฉันนั้น.

จบอรรถกถกุลาวกสูตรที่ ๖