พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๔. ปทุมปุปผสูตร ว่าด้วยภิกษุขโมยกลิ่นปทุม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36434
อ่าน  346

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 380

๑๔. ปทุมปุปผสูตร

ว่าด้วยภิกษุขโมยกลิ่นปทุม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 380

๑๔. ปทุมปุปผสูตร

ว่าด้วยภิกษุขโมยกลิ่นปทุม

[๗๙๕] สมัยหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่ง พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล สมัยนั้นแล ภิกษุนั้นกลับจากบิณฑบาตภายหลังเวลาฉัน ลงสู่สระโบกขรณีแล้วสูคดมดอกปทุม.

[๗๙๖] ครั้งนั้นแล เทวดาผู้สิงอยู่ในแนวป่านั้น มีความเอ็นดู ใคร่ประโยชน์แก่ภิกษุนั้น หวังจะให้เธอสลด จึงเข้าไปหาถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะเธอด้วยคาถาว่า

ท่านสูดดมดอกไม้ที่เกิดในน้ำซึ่งใครๆ ไม่ได้ให้แล้ว นี้เป็นองค์อันหนึ่งแห่งความเป็นขโมย ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นผู้ขโมยกลิ่น.

[๗๙๗] ภิกษุกล่าวว่า

เราไม่ได้นำไป เราไม่ได้หัก เราดมดอกไม้ที่เกิดในน้ำห่างๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจะเรียกว่าเป็นผู้ขโมยกลิ่นด้วยเหตุดังรือ ส่วนบุคคลที่ขุดเง่าบัว หักดอกบัวบุณฑริก เป็นผู้มีการงานอันเกลื่อนกล่นอย่างนี้ ไฉนท่านจึงไม่เรียกเขาว่าเป็นขโมย.

[๗๙๘] เทวดากล่าวว่า

บุรุษผู้มีบาปหนา แปดเปื้อนด้วยราคาทิกิเลสเกินเหตุ เราไม่พูดถึงคนนั้น

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 381

แต่เราควรจะกล่าวกะท่าน บาปประมาณเท่าปลายขนทราย ย่อมปรากฏประดุจเท่าก้อนเมฆในนภากาศแก่บุรุษผู้ไม่มีกิเลสดังว่าเนิน ผู้มักแสวงหาไตรสิกขาอันสะอาดเป็นนิจ.

[๗๙๙] ภิกษุกล่าวว่า

ดูก่อนเทวดา ท่านรู้จักเราแน่ละ และท่านเอ็นดูเรา ดูก่อนเทวดา ท่านเห็นกรรมเช่นนี้ในกาลใด ท่านพึงกล่าวอีก [ในกาลนั้น] เถิด.

[๘๐๐] เทวดากล่าวว่า

เราไม่ได้อาศัยท่านเป็นอยู่เลย และเราไม่ได้มีความเจริญเพราะท่าน ดูก่อนภิกษุ ท่านพึงไปสุคติได้ด้วยกรรมที่ท่านพึงรู้.

ลำดับนั้นแล ภิกษุนั้นเป็นผู้อันเทวดานั้นให้สลด ถึงซึ่งความสังเวชแล้วแล.

จบปทุมปุปผสูตร

วนสังยุต จบบริบูรณ์

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 382

อรรถกถาปทุมปุปผสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปทุมปุปผสูตร ที่ ๑๔ ต่อไปนี้ :-

บทว่า อชฺฌภาสิ ความว่า เทวดานั้นเห็นภิกษุนั้นจับก้านดอกบัวน้อมมา (ดม) จึงคิดว่า ภิกษุนี้ เรียนกัมมัฏฐานในสำนักของพระศาสดาแล้วเข้าป่า เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม จะพิจารณาเอากลิ่นเป็นอารมณ์ ภิกษุนี้นั้นวันนี้ ดมกลิ่นแล้ว แม้ในวันพรุ่งนี้ แม้ในวันมะรืนนี้ก็จักดมกลิ่น ตัณหาในกลิ่นนั้นของภิกษุนั้น เพิ่มพูนขึ้นแล้ว จักยังประโยชน์ในชาตินี้และในชาติหน้าให้พินาศ เมื่อเราเห็นอยู่ ภิกษุนี้อย่าพินาศเลย เราจักเตือนท่าน ดังนี้แล้วจึงเข้าไปพูด.

บทว่า เอกงฺคเมตํ เถยฺยานํ ความว่า นี้เป็นองค์หนึ่ง คือเป็นส่วนหนึ่งแห่ง ๕ ส่วน มีรูปารมณ์เป็นต้นที่พึงลักเอา. บทว่า น หรามิ แปลว่าไม่ถือเอาไป. บทว่า อารา คือภิกษุกล่าวว่า เราจับก้านในที่ไกลน้อมมายืนดมอยู่ในที่ไกล. บทว่า วณฺเณน แปลว่า เพราะเหตุ. บทว่า ยฺวายํ ตัดบทว่า โย อยํ (แปลว่า นี้ ใด). ได้ยินว่า เมื่อภิกษุนั้นกำลังพูดกับเทวดา ดาบสคนหนึ่งก็ลงไปขุดเหงาบัวเป็นต้น. ท่านกล่าวหมายเอาความนั้น. บทว่า อากิณฺณกมฺมนฺโต คือมีการงานไม่บริสุทธิ์อย่างนี้. บาลีว่า อขีณกมฺมนฺโต บ้าง ความว่า มีการงานหยาบคาย. บทว่า น วุจฺจติ ความว่า เพราะเหตุไรจึงไม่กล่าวว่า ขโมยกลิ่น หรือว่าขโมยดอกไม้. บทว่า อากิณฺณลุทฺโธ คือมีความชั่วมาก หรือว่ามีความชั่วช้า. บทว่า อติเวลํว มกฺขิโต ความว่า บุรุษนี้ผู้เปื้อนด้วยกิเลสมีราคะและโทสะเป็นต้น เหมือนอย่างผ้าเศร้าหมองที่แม่นมนุ่งแล้ว เปื้อนด้วยอุจจารปัสสาวะ ฝุ่นเขม่า และเปือกตมเป็นต้น.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 383

บทว่า อรหามิ วตฺตเว แปลว่า ควรกล่าว. ได้ยินว่า การเตือนของเทวดาก็เช่นกับคำสอนของพระสุคต. บุคคลเลวน้อมไปเลว และปฏิบัติผิด ย่อมไม่ได้รับการเตือนนั้น. ส่วนบุคคลควรแก่มรรคผลในอัตภาพนั้น ย่อมได้การเตือนนั้น. เพราะฉะนั้น จึงกล่าวอย่างนี้. บทว่า สุจิคเวสิโน คือ ผู้แสวงหาศีลสมาธิและญาณที่สะอาด. บทว่า อพฺภามตฺตํว คือเหมือนสักว่าก้อนเมฆ บทว่า ชานาสิ ได้แก่ รู้ว่าผู้นี้บริสุทธิ์. บทว่า วชฺชาสิ แปลว่า พึงกล่าว. บทว่า เนว ตํ อุปชีวามิ ความว่า ได้ยินว่า ภิกษุนี้คิดว่า มีเทวดาผู้หวังดีแก่เราจักเตือนจักชี้แจงเอง ดังนี้ จึงประกอบความประมาทว่า เราจักไม่รับคำของเขา เพราะฉะนั้น เทวดาจึงกล่าวอย่างนี้. บทว่า ตฺวเมว แปลว่า ท่านเอง. บทว่า ชาเนยฺย แปลว่า พึงรู้. บทว่า เยน คือด้วยกรรมใด. ความว่า ท่านจะพึงไปสู่สุคติ ท่านเองจะพึงรู้กรรมนั้น.

จบอรรถกถาปทุมปุปผสูตร ที่ ๑๔

จบอรรถกถาวนสังยุต ด้วยประการฉะนี้.

รวมพระสูตรแห่งวนสังยุต มี ๑๔ สูตร คือ

๑. วิเวกสูตร ๒. อุปัฏฐานสูตร ๓. กัสสปโคตตสูตร ๔. สัมพหุลสูตร ๕. อานันทสูตร ๖. อนุรุทธสูตร ๗. นาคทัตตสูตร ๘. กุลฆรณีสูตร ๙. วัชชีปุตตสูตร ๑๐. สัชฌายสูตร ๑๑. อโยนิโสมนสิการสูตร ๑๒. มัชฌันติกสูตร ๑๓. ปากตินทริยสูตร ๑๔. ปทุมปุปผสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา