พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. สารีปุตตสูตร ว่าด้วยการสรรเสริญพระสารีบุตร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36413
อ่าน  372

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 322

๖. สารีปุตตสูตร

ว่าด้วยการสรรเสริญพระสารีบุตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 322

๖. สารีปุตตสูตร

ว่าด้วยการสรรเสริญพระสารีบุตร

    [๗๔๑] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี.

    ก็สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตรชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลาย เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา ด้วยวาจาของชาวเมือง สละสลวย ไม่มีโทษ ไม่เคลื่อนคลาด อาจยังผู้ฟังให้รู้เนื้อความได้แจ่มแจ้ง.

    ส่วนภิกษุเหล่านั้นก็ทำธรรมนั้นให้เป็นประโยชน์ ใส่ใจกำหนดด้วยจิตทั้งปวง เงี่ยโสตลงฟังธรรม.

    [๗๔๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะมีความคิดดังนี้ว่า ท่านพระสารีบุตรนี้ แนะนำชักชวนภิกษุทั้งหลายให้อาจหาญ รื่นเริงด้วยธรรมีกถา ด้วยวาจาของชาวเมือง สละสลวย ไม่มีโทษ ไม่เคลื่อนคลาด อาจยังผู้ฟังให้รู้เนื้อความได้แจ่มแจ้ง.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 323

    ส่วนภิกษุเหล่านั้นเล่า ก็ทำธรรมนั้นให้เป็นประโยชน์ ใส่ใจกำหนดด้วยจิตทั้งปวง เงี่ยโสตลงฟังธรรม อย่ากระนั้นเลย เราควรสรรเสริญท่านพระสารีบุตรด้วยคาถาทั้งหลายอันสมควรในที่เฉพาะหน้าเถิด.

    ลำดับนั้นแล ท่านพระวังคีสะลุกจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้ว ประนมอัญชลีไปทางท่านพระสารีบุตรแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า ท่านสารีบุตร เนื้อความนี้ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพเจ้า ท่านสารีบุตร เนื้อความนี้ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพเจ้า.

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวกะท่านพระวังคีสะว่า เนื้อความนั้นจงแจ่มแจ้งกะท่านเถิด ท่านวังคีสะ.

    [๗๔๓] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะได้สรรเสริญท่านพระสารีบุตรต่อหน้าด้วยคาถาทั้งหลายอันสมควรว่า

    ท่านสารีบุตรเป็นนักปราชญ์ มีปัญญาลึกซึ้ง ฉลาดในทางและมิใช่ทาง มีปัญญามาก ย่อมแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย แสดงโดยย่อก็ได้ แสดงโดยพิสดารก็ได้ เสียงของท่านไพเราะดังก้องเหมือนเสียงนกสาริกา ปฏิภาณเกิดขึ้นโดยไม่รู้สิ้นสุด เมื่อท่านแสดงธรรมอยู่ ภิกษุทั้งหลายย่อมฟังเสียงอันไพเราะ เป็นผู้ปลื้มจิตยินดีด้วยเสียงอันเพราะ น่ายินดี น่าฟัง เงี่ยโสตอยู่ ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 324

อรรถกถาสารีปุตตสูตร

    ในสารีปุตตสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    บทว่า โปริยา ได้แก่บริบูรณ์ด้วยอักขระและบท. บทว่า วิสฏฺาย ได้แก่ อันโรคไม่เกี่ยวเกาะไม่พัวพัน. ก็เมื่อพระธรรมเสนาบดีกล่าว ย่อมมีถ้อยคำไม่พัวพันด้วยโรคดีเป็นต้น ย่อมเปล่งเสียง เหมือนเสียงจากกังสดาลที่ถูกเคาะด้วยท่อนเหล็ก. บทว่า อเนลคฬาย ได้แก่ไม่มีโทษไม่คลาดเคลื่อนคือปราศจากโทษและมีบทพยัญชนะไม่คลาดเคลื่อน. จริงอยู่ เมื่อพระเถระพูดบทหรือพยัญชนะไม่เสื่อมเสีย. บทว่า อตฺถสฺส วิญฺาปนิยา ได้แก่สามารถทำผู้ฟังให้รู้เนื้อความแจ่มแจ้ง. บทว่า ภิกฺขุนํ คือ แก่ภิกษุทั้งหลาย.

    บทว่า สงฺขิตฺเตนปิ ความว่า พระสารีบุตรเถระแสดงโดยย่ออย่างนี้บ้างว่า อาวุโส อริยสัจ ๔ เหล่านี้ อริยสัจ ๔ คืออะไรบ้าง คือทุกขอริยสัจ ฯลฯ อาวุโส อริยสัจ ๔ เหล่านี้แล เพราะเหตุนั้นแหละ อาวุโส เธอพึงทำความเพียรว่า นี้ทุกขอริยสัจ. บทว่า วิตฺถาเรนปิ ความว่า พระสารีบุตรเมื่อจะจำแนกอริยสัจ ๔ เหล่านั้น จึงกล่าวแม้โดยพิสดารโดยนัยมีอาทิว่า อาวุโส ทุกขอริยสัจเป็นไฉน ดังนี้. แม้ในเทศนาขันธ์เป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน. บทว่า สาลิกา วิย นิคฺโฆโส ความว่า เมื่อพระเถระแสดงธรรมย่อมมีเสียงไพเราะกังวาน เหมือนเสียงของนางนกสาลิกาที่ลิ้มมะม่วงสุกมีรสหวานกระพือปีกเปล่งเสียงไพเราะ. บทว่า ปฏิภาณํ มุทีริยิ ความว่า ปฏิภาณเกิดขึ้นไม่สิ้นสุด เหมือนลูกคลื่นเกิดจากทะเล. บทว่า โอเธนฺติ ได้แก่ภิกษุเหล่านั้นย่อมเงี่ยโสตสดับ.

    จบอรรถกถาสารีปุตตสูตรที่ ๖