พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. อักโกสกสูตร ว่าด้วยพระพุทธเจ้าไม่รับคําของพราหมณ์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36385
อ่าน  399

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 201

๒. อักโกสกสูตร

ว่าด้วยพระพุทธเจ้าไม่รับคําด่าของพราหมณ์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 201

๒. อักโกสกสูตร

ว่าด้วยพระพุทธเจ้าไม่รับคำด่าของพราหมณ์

    [๖๓๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวันอันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต กรุงราชคฤห์.

    อักโกสกภารทวาชพรหมณ์ได้สดับมาว่า ได้ยินว่า พราหมณภารทวาชโคตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในสำนักของพระสมณโคดมแล้ว ดังนี้ ก็โกรธ ขัดใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ด่าบริภาษพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยวาจาอันหยาบคาย มิใช่ของสัตบุรุษ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 202

    [๖๓๒] เมื่ออักโกสกภารทวาชพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะอักโกสกภารทวาชพราหมณ์ว่า ดูก่อนพราหมณ์ ท่านย่อมสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน มิตรและอำมาตย์ ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกของท่าน ย่อมมาบ้างไหม.

    อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ตอบว่า พระโคดมผู้เจริญ มิตรและอำมาตย์ ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกของข้าพระองค์ย่อมมาเป็นบางคราว.

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ท่านย่อมสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านจัดของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่มต้อนรับมิตรและอำมาตย์ ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกเหล่านั้นบ้างหรือไม่.

    อ. พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์จัดของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่มต้อนรับมิตรและอำมาตย์ ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกเหล่านั้นบ้างในบางคราว.

    พ. ดูก่อนพราหมณ์ ก็ถ้าว่ามิตรและอำมาตย์ ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกเหล่านั้นไม่รับ ของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่มนั้นจะเป็นของใคร.

    อ. พระโคดมผู้เจริญ ถ้าว่ามิตรและอำมาตย์ ญาติสาโลหิต ผู้เป็นแขกเหล่านั้นไม่รับ ของเคี้ยวของบริโภคหรือของดื่มนั้น ก็เป็นของข้าพระอย่างเดิม.

    พ. ดูก่อนพราหมณ์ ข้อนี้ก็อย่างเดียวกัน ท่านด่าเราผู้ไม่ด่าอยู่ ท่านโกรธเราผู้ไม่โกรธอยู่ ท่านหมายมั่นเราผู้ไม่หมายมั่นอยู่ เราไม่รับเรื่องมีการด่าเป็นต้นของท่านนั้น ดูก่อนพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นก็เป็นของท่านผู้เดียว ดูก่อนพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นก็เป็นของท่านผู้เดียว แล้วตรัสต่อไปว่า ดูก่อนพราหมณ์ ผู้ใดด่าตอบบุคคลผู้ด่าอยู่ โกรธตอบบุคคลผู้โกรธอยู่ หมายมั่นตอบบุคคลผู้หมายมั่นอยู่ ดูก่อนพราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 203

ย่อมบริโภคด้วยกัน ย่อมกระทำตอบกัน เรานั้นไม่บริโภคร่วม ไม่กระทำตอบด้วยท่านเป็นอันขาด ดูก่อนพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นเป็นของท่านผู้เดียว ดูก่อนพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้นเป็นของท่านผู้เดียว.

    อ. บริษัทพร้อมด้วยพระราชา ย่อมทราบพระโคดมผู้เจริญ อย่างนี้ว่าพระสมณโคดมเป็นพระอรหันต์ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนพระโคดมผู้เจริญจึงยังโกรธอยู่เล่า.

    [๖๓๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

    ผู้ไม่โกรธ ฝึกฝนตนแล้ว มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้ชอบ สงบ คงที่อยู่ ความโกรธจักมีมาแต่ที่ไหน ผู้ใดโกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ผู้นั้นเป็นผู้ลามก กว่าบุคคลนั้นแหละ เพราะการโกรธตอบนั้น บุคคลไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ชื่อว่าย่อมชนะสงครามอันบุคคลชนะได้โดยยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้วเป็นผู้มีสติสงบเสียได้ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือแก่ตนและแก่บุคคลอื่น เมื่อผู้นั้นรักษาประโยชน์อยู่ทั้งสองฝ่าย คือของตนและของบุคคลอื่น ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรมย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่า เป็นคนเขลา ดังนี้.

    [๖๓๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว อักโกสกภารทาวชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 204

ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศพระธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า คนมีจักษุย่อมเห็นรูปฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระโคดมผู้เจริญ.

    อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้บรรพชาได้อุปสมบทแล้วในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ท่านอักโกสกภารทวาชะอุปสมบทแล้วไม่นานแล หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตมั่นคงอยู่ ไม่นานเท่าไรนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษยอดเยี่ยมเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบมีความต้องการ ด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ยิ่งเองในปัจจุบันนี้เข้าถึงอยู่ ได้ทราบว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แหละท่านพระอักโกสกภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล.

อรรถกถาอักโกสกสูตร

    ในอักโกสกสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    บทว่า อกฺโกสกภารทฺวาโช ได้แก่พราหมณ์นั้น ชื่อว่าภารทวาชะ. ก็พราหมณ์นั้นได้มาด่าพระตถาคตด้วยคาถาประมาณ ๕๐๐ เพราะเหตุนั้น พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย จึงตั้งชื่อว่า อักโกสกภารทวาชะ. บทว่า กุปิโต อนตฺตมโน ความว่า โกรธและไม่พอใจด้วยเคืองว่าพระสมณโคดมให้พี่ชายของเราบวช ทำให้เสื่อมเสียให้แตกเป็นฝักฝ่าย. บทว่า อกฺโกสติ ความว่า ด่า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 205

ด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ คือ เจ้าเป็นโจร เป็นคนโง่ เป็นคนหลง เป็นอูฐ เป็นโค เป็นลา เป็นสัตว์นรก เป็นสัตว์เดรัจฉาน เจ้าไม่มีสุคติ เจ้าหวังแต่ทุคติเท่านั้น. บทว่า ปริภาสติ ความว่า เมื่อกล่าวคำเป็นต้นว่า สมณะโล้นข้อนั้นจงยกไว้ เจ้ายังทำว่า ข้าไม่มีโทษ บัดนี้ ข้าไปสู่ราชสกุลแล้วจะบอกเขาให้ลงอาชญาแก่เจ้า ดังนี้ ชื่อว่า บริภาษ.

    บทว่า สมฺภุญฺชติ ได้แก่ บริโภคร่วมกัน. บทว่า วีติหรติ ได้แก่ ทำคืนการที่ทำมาแล้ว. บทว่า ภวนฺตํ โข โคตมํ ถามว่า เพราะเหตุไรพราหมณ์จึงกล่าวอย่างนี้. ตอบว่า เพราะพราหมณ์ได้ฟังคำของพระสมณโคดมนั้นว่า ดูก่อนพราหมณ์ นั่นเป็นของท่านผู้เดียว ดูก่อนพราหมณ์ นั่นเป็นของท่านผู้เดียว โดยได้ฟังกันสืบๆ มาว่า ขึ้นชื่อว่าฤาษีทั้งหลายโกรธแล้ว ย่อมสาบให้เป็นเหมือนลูกโคผอมเป็นต้น จึงเกิดความกลัวแต่คำสาปว่า พระสมณโคดมเห็นทีจะสาปเราก็ได้ เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงได้กล่าวอย่างนี้.

    บทว่า ทนฺตสฺส ได้แก่ผู้หมดพยศ. บทว่า ตาทิโน ได้แก่ผู้ถึงลักษณะผู้คงที่. บทว่า ตสฺเสว เตน ปาปิโย ความว่า บุคคลนั้นแลเป็นผู้เลวกว่าบุคคลผู้โกรธนั้น. บทว่า สโต อุปสงฺกมติ ความว่า บุคคลเป็นผู้ประกอบด้วยสติย่อมอดกลั้นไว้ได้. บทว่า อุภินฺนํ ติกิจฺฉนฺตานํ ได้แก่ผู้อดกลั้นทั้ง ๒ ฝ่าย. อีกอย่างหนึ่ง บาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน บุคคลใดมีสติเข้าไปสงบ ประพฤติประโยชน์อดกลั้นให้สำเร็จประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ชนทั้งหลายย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่าเป็นชนพาล ชนทั้งหลายเป็นเช่นไร คือเป็นผู้ไม่ฉลาดในธรรม. บุทว่า ธมฺมสฺส ได้แก่ธรรมคือ เบญจขันธ์ หรือสัจธรรม ๔. บทว่า อโกวิทา ได้แก่ผู้ไม่ฉลาดในธรรม คือเป็นปุถุชนอันธพาล.

    จบอรรถกถาอักโกสกสูตรที่ ๒