พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. สนังกุมารสูตร ว่าด้วยคําสุภาษิตของพรหม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36379
อ่าน  324

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 176

ทุติยวรรคที่ ๒

๑. สนังกุมารสูตร

ว่าด้วยคําสุภาษิตของพรหม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 176

ทุติยวรรคที่ ๒

๑. สนังกุมารสูตร

ว่าด้วยคำสุภาษิตของพรหม

    [๖๐๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำสัปปินี กรุงราชคฤห์.

    ครั้งนั้นแล สนังกุมารพรหม เมื่อราตรีปฐมยามล่วงไปแล้ว มีรัศมีอันงดงามยิ่ง ยังฝั่งแม่น้ำสัปปินีทั้งสิ้นให้สว่างแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

    [๖๐๗] สนังกุมารพรหม ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้กล่าวคาถานี้ในสำนักแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่ชน ผู้รังเกียจด้วยโคตร แต่ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในเทวดาและมนุษย์.

    [๖๐๘] สนังกุมารพรหมได้กราบทูลคำนี้แล้ว พระศาสดาได้ทรงพอพระทัย.

    ครั้งนั้นแล สนังกุมารพรหมทราบว่า พระศาสดาทรงพอพระทัยต่อเรา ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณแล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 177

อรรถกถาสนังกุมารสูตร

    ทุติยวรรคสนังกุมารสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    บทว่า สปฺปินีตเร ความว่า ที่ฝั่งแม่น้ำชื่อสัปปินี. บทว่า สนงฺกุมาโร ความว่า ได้ยินว่า สนังกุมารพรหมนั้น ในเวลาเป็นปัญจสิขกุมารเจริญฌานบังเกิดในพรหมโลก เที่ยวไปด้วยเพศกุมารนั่นเอง. เหตุนั้น คนทั้งหลายจึงจำเขาได้ว่ากุมาร. แต่เพราะเป็นคนเก่า จึงเรียกกันว่า สนังกุมาร. บทว่า ชเนตสฺมึ ได้แก่ในประชุมชน อธิบายว่า ในหมู่ชน. บทว่า เย โคตฺตปฏิสาริโน ความว่า ในชุมชนผู้รังเกียจกันนี้เรื่องโคตรเหล่านั้น ในโลกกษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐที่สุด. บทว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน ความว่า ประกอบด้วยวิชชา ๓ มีบุพเพนิวาสานุสสติญาณเป็นต้น โดยปริยายแห่งภยเภรวสูตรหรือวิชชา ๘ คือ วิปัสสนาญาณ มโนมยิทธิอภิญญา ๖ โดยปริยายแห่งอัมพัฏฐสูตร และด้วยจรณะ ๑๕ ประเภท อย่างนี้ คือ ความเป็นผู้การทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ชาคริยานุโยค สัทธรรม ๗ รูปฌาน ๔. บทว่า โส เสฏฺโ เทวมานุเส ความว่า พราหมณ์ผู้เป็นขีณาสพนั้น เป็นผู้ประเสริฐที่สุดคือสูงสุด ในหมู่เทพและหมู่มนุษย์.

    จบอรรถกถาสนังกุมารสูตรที่ ๑