พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. ตุทุพรหมสูตร ว่าด้วยตุทุพรหมเข้าไปหาโกกาลิก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36377
อ่าน  343

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 163

๙. ตุทุพรหมสูตร

ว่าด้วยตุทุพรหมเข้าไปหาโกกาลิก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 163

๙. ตุทุพรหมสูตร

ว่าด้วยตุทุพรหมเข้าไปหาโกกาลิก

    [๕๙๖] สาวัตถีนิทาน.

    ก็โดยสมัยนั้นแล พระโกกาลิกภิกษุ เป็นผู้อาพาธ ถึงความลำบากเป็นไข้หนัก.

    ครั้งนั้นแล ตุทุปัจเจกพรหม เมื่อราตรีปฐมยามล่วงไปแล้วมีรัศมีอันงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปหาพระโกกาลิกภิกษุจนถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้ยืนในเวหาส กล่าวคำนี้กะพระโกกาลิกภิกษุว่า

    ข้าแต่ท่านโกกาลิก ท่านจงทำจิตให้เลื่อมใสในพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ เป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก.

    พระโกกาลิกภิกษุถามว่า ผู้มีอายุ ท่านเป็นใคร

    ตุทุปัจเจกพรหมตอบว่า เราคือตุทุปัจเจกพรหม.

    พระโกกาลิกภิกษุกล่าวว่า ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงพยากรณ์ท่านแล้วว่าเป็นพระอนาคามี มิใช่หรือ ไฉนเล่า ท่านจึงยังมาเที่ยวอยู่ในที่นี้ จงเห็นเถิดว่า ก็นี่เป็นความผิดของท่านเพียงไร.

    [๕๙๗] ตุทุปัจเจกพรหมได้กล่าวว่า

    ชนพาลเมื่อกล่าวคำเป็นทุพภาษิต ชื่อว่าย่อมตัดตนด้วยศัสตราใด ก็ศัสตรานั้นย่อมเกิดในปากของบุรุษผู้เกิดแล้ว.

    ผู้ใดสรรเสริญผู้ที่ควรถูกติ หรือติผู้ที่ควรได้รับความสรรเสริญ ผู้นั้นชื่อว่าสั่งสมโทษด้วยปาก เพราะโทษนั้น เขาย่อมไม่ประสบความสุข.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 164

    ความปราชัยด้วยทรัพย์ ในเพราะการพนันทั้งหลาย พร้อมด้วยสิ่งของของตนทั้งหมดก็ดี พร้อมด้วยตนก็ดี ก็เป็นโทษเพียงเล็กน้อย.

    บุคคลใดทำใจให้ประทุษร้ายในท่านผู้ปฏิบัติดีทั้งหลาย ความประทุษร้ายแห่งใจของบุคคลนั้นเป็นโทษใหญ่กว่า บุคคลตั้งวาจาและใจอันลามกไว้ เป็นผู้มักติเตียนพระอริยเจ้า ย่อมเข้าถึงนรก ซึ่งมีปริมาณแห่งอายุถึงแสนสามสิบหกนิรัพพุท กับห้าอัพพุท. (๑)

อรรถกถาตุทุพรหมสูตร

    ในตุทุพรหมสูตรที่ ๙ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    บทว่า อาพาธิโก ความว่า ผู้มีอาพาธด้วยอาพาธอันมาในอนันตรสูตรโดยนัยว่า สาสปมตฺตีหิ ปิฬกาหิ เป็นต้น. บทว่า พาฬฺหคิลาโน ได้แก่มีความป่วยไข้มีประมาณยิ่ง. บทว่า ตุทุ ความว่า พระอุปัชฌาย์ ของภิกษุโกกาลิก ชื่อว่า ตุทุ เถระบรรลุอนาคามิผลแล้วบังเกิดในพรหมโลก. ตุทุพรหมนั้น ได้ทราบข่าวบาปกรรม ของภิกษุโกกาลิกตั้งต้นแต่ภุมมัฏฐกเทวดาโดยเล่าสืบๆ กันจนถึงพรหมโลกว่า ภิกษุโกกาลิกกล่าวตู่พระอัครสาวกด้วยอันติมวัตถุ ทำกรรมอันไม่สมควรแล้ว จึงมาปรากฏต่อหน้าภิกษุโกกาลิกนั้นด้วย


    ๑. อัพพุทะ เป็นสงขยา ซึ่งมีจำนวนเลขสูญ ๖๑ สูญ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 165

หมายใจว่า เมื่อเราเห็นอยู่ เธออย่าเป็นคนกำพร้า [ปราศจากพวก] ต้องเสียหายไป. เราจักเตือนเธอเพื่อให้จิตเลื่อมใสในพระเถระ ท่านหมายเอาตุทุพรหมนั้นจึงกล่าวว่า ตุทุปัจเจกพรหม. บทว่า เปสลา แปลว่า ผู้มีศีลเป็นที่รัก. บทว่า โกสิ ตฺวํ อาวุโส ความว่า นอนลืมตาอันฝ้าฟาง จึงกล่าวอย่างนี้. บทว่า ปสฺส ยาวญฺจ เต ความว่า โกกาลิกะกล่าวว่า ท่านจงเห็นข้อที่ท่านผิดเพียงไร ท่านไม่เห็นฝีใหญ่ที่หน้าผากของตน เห็นกระผมที่ควรตักเตือนด้วยเพราะฝีเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด

    ครั้งนั้น ตุทุพรหมรู้ว่า โกกาลิกนี้ได้ประสบสิ่งที่ตนไม่เคยเห็น [ไม่มีประสบการณ์] เป็นคนกำพร้าจักไม่เชื่อคำของใครๆ เหมือนกลืนยาพิษอยู่ในลำคอ จึงกล่าวกะโกกาลิกว่า ปุริสสฺส หิ เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุธารี ได้แก่วาจาหยาบเช่นผึ่ง [ขวาน]. บทว่า ฉินฺทติ ได้แก่ตัดรากกล่าวคือกุศลทีเดียว. บทว่า นินฺทิยํ ได้แก่บุคคลทุศีลที่ควรตำหนิ. ด้วยบทว่า ปุสํสติ ท่านกล่าวสรรเสริญในอรรถอันสูงสุดว่าพระขีณาสพ. บทว่า ตํ วา นินฺทติ โย ปสํสิโย ความว่า อีกอย่างหนึ่ง กล่าวโจทย์พระขีณาสพผู้ที่ควรสรรเสริญ. ด้วยอันติมวัตถุ ว่าผู้นี้เป็นผู้ทุศีล. บทว่า วิจินาติ มุเขน โส กลึ ความว่า ผู้นั้นชื่อว่าก่อความผิดด้วยปาก. บทว่า กลินา เตน ความว่า ย่อมไม่ประสบความสุขเพราะความผิดนั้น. ก็การสรรเสริญผู้ที่ควรติและการติผู้ที่ควรสรรเสริญ มีผลเท่ากันแล.

    บทว่า สพฺพสฺสาปิ สหาปิ อตฺตนา ความว่า ความปราชัยเสียทรัพย์เพราะการพนันทั้งหลาย พร้อมทั้งสิ่งของของตนทั้งหมดก็ดี พร้อมทั้งตนเองก็ดี เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย. บทว่า โย สุคเตสุ ความว่า ก็ผู้ใดพึงมีจิตคิดประทุษร้ายในเหล่าบุคคลผู้ปฏิบัติดี ความประทุษร้ายแห่งจิตของผู้นั้นนี้เป็นโทษมากกว่าโทษในการพนันนั้น.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 166

    บัดนี้ เมื่อจะแสดงความประทุษร้ายแห่งจิตนั้นว่ามีโทษมากกว่า จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า สตํ สหสฺสานํ ดังนี้. บรรดาเหล่านั้น บทว่า สตํ สหสฺสานํ ได้แก่จำนวนแสนนิรัพพุทะ. [นิรัพพุทะ ๑ เท่ากับจำนวน ๑ มีสูญตามหลัง ๖๓ ตัว ถ้าแสนนิรัพพุทะเป็นเท่าไร]. บทว่า ฉตฺตึสติ ได้แก่ อีก ๓๖ นิรัพพุทะ. บทว่า ปญฺจ จ ได้แก่จำนวน ๕ อัพพุทะ. บทว่า ยมริเย ครหี ความว่า ในข้อที่ผู้ติเตียนพระอริยะย่อมตกนรก มีอายุประมาณเท่านี้.

    จบอรรถกถาตุทุพรหมสูตรที่ ๙