พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. ปมาทสูตร ว่าด้วยพรหมผู้ประมาท

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ส.ค. 2564
หมายเลข  36374
อ่าน  332

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 156

๖. ปมาทสูตร

ว่าด้วยพรหมผู้ประมาท


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 156

๖. ปมาทสูตร

ว่าด้วยพรหมผู้ประมาท

    [๕๘๖] สาวัตถีนิทาน.

    ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับพักกลางวัน. หลีกเร้นอยู่.

    ครั้งนั้นแล สุพรหมปัจเจกพรหม และสุทธาวาสปัจเจกพรหมเข้าไปใกล้ที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นแล้วได้ยืนพิงบานประตูองค์ละข้าง.

    ลำดับนั้นแล สุพรหมปัจเจกพรหมได้กล่าวกะสุทธาวาสปัจเจกพรหมว่า แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ ไม่ใช่กาลอันควรที่จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าก่อน พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับพักกลางวันหลีกเร้นอยู่ ก็พรหมโลกโน้นบริบูรณ์และเบิกบานแล้ว แต่พรหมในพรหมโลกนั้น ย่อมอยู่ด้วยความประมาท แน่ะท่านผู้นิรทุกข์มาไปด้วยกัน เราทั้งหลายจักเข้าไปยังพรหมโลกนั้น ครั้นแล้วพึงยังพรหมนั้นให้สลดใจ.

    สุทธาวาสปัจเจกพรหมได้รับคำของสุพรหมปัจเจกพรหมแล้ว.

    ครั้งนั้นแล สุพรหมปัจเจกพรหมและสุทธาวาสปัจเจกพรหม ได้หายไปจากเบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปรากฏแล้วในพรหมโลกนั้นปานดังบุรุษมีกำลัง ฯลฯ ฉะนั้น.

    พรหมนั้นได้เห็นแล้วแลซึ่งพรหมทั้งหลายเหล่านั้น ผู้มาอยู่แต่ที่ไกลเทียว ครั้นแล้ว ได้กล่าวคำนี้กะพรหมเหล่านั้นว่า แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลายเชิญเถิด พวกท่านมาแต่ที่ไหนหนอ.

    พรหมเหล่านั้น กล่าวว่า แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ พวกเรามาแต่สำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น แน่ะท่านผู้นิรทุกข์

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 157

ก็ท่านจะไปสู่ที่บำรุงของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้างหรือ.

    [๕๘๗] เมื่อพรหมเหล่านั้นกล่าวแล้วเช่นนี้แล พรหมนั้นอดกลั้นคำนั้นไม่ได้ จึงนิรมิตตนเป็นพันตน แล้วได้กล่าวคำนี้กะสุพรหมปัจเจกพรหมว่า

    แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเห็นอิทธานุภาพเห็นปานดังนี้ ของเราหรือไม่.

    สุพรหมปัจเจกพรหมกล่าวว่า แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ เราเห็นอยู่แลซึ่งอิทธานุภาพเห็นปานดังนี้ของท่าน.

    พรหมนั้นกล่าวว่า แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ เรานั้นแลเป็นผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ จักไปสู่ที่บำรุงของสมณะหรือพราหมณ์อื่นทำไม.

    [๕๘๘] ลำดับนั้นแล สุพรหมปัจเจกพรหมนิรมิตตนเป็นสองพันตนแล้วได้กล่าวคำนี้กะพรหมว่า.

    แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเห็นอิทธานุภาพ เห็นปานดังนี้ ของเราหรือไม่.

    พรหมนั้นกล่าวว่า แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ เราเห็นอยู่แลซึ่งอิทธานุภาพเห็นปานดังนี้ของท่าน.

    สุพรหมปัจเจกพรหมกล่าวว่า แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเท่านั้นเป็นผู้มีฤทธิ์มากกว่า และมีอานุภาพใหญ่กว่าท่านและเราด้วย.

    แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ ท่านพึงไปสู่ที่บำรุงของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.

    [๕๘๙] ครั้งนั้นแล พรหมนั้นได้กล่าวกะสุพรหมปัจเจกพรหมด้วยคาถาว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 158

    แน่ะพรหม ครุฑ ๓๐๐ หงส์ ๔๐๐ เหยี่ยวปากตะไกร ๕๐๐ และวิมานของเราผู้มีฌานนี้นั้นย่อมรุ่งโรจน์ส่องสว่างอยู่ในทิศอุดร.

    [๕๙๐] สุพรหมปัจเจกพรหมกล่าวว่า

    วิมานของท่านนั้นถึงจะรุ่งโรจน์ส่องสว่างอยู่ในทิศอุดรก็จริง ถึงเช่นนั้นเพราะเห็นโทษในรูป [และ] เพราะเห็นรูปอันหวั่นไหวด้วยความหนาวเป็นต้นอยู่เป็นนิจ ฉะนั้น พระศาสดาผู้มีเมธาดีจึงไม่ยินดีในรูป.

    [๕๙๑] ครั้งนั้นแล สุพรหมปัจเจกพรหมและสุทธาวาสปัจเจกพรหมยังพรหมนั้นให้สลดใจแล้วหายไปในที่นั้นเอง.

    ก็พรหมนั้น โดยสมัยต่อมาได้ไปสู่ที่บำรุงของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วแล.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 159

อรรถกถาปมาทสูตร

    ในปมาทสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    บทว่า ปจฺเจกํ ทฺวารพาหํ ความว่า ได้ยืนพิงบานประตูองค์ละบานเหมือนคนเฝ้าประตู. บทว่า อิทฺโธ ความว่า พรั่งพร้อมด้วยความสุขใจฌาน. บทว่า ผีโต ได้แก่ บานสะพรั่งด้วยดอกไม้คืออภิญญา. บทว่า อนธิวาเสนฺโต ได้แก่ อดกลั้นไม่ได้. บทว่า เอตทโวจ ความว่า นั่งในท่ามกลางพรหมเนรมิตเหล่านั้น ได้กล่าวคำนี้ว่า ปสฺสสิ เม เป็นต้น

    ในคาถาว่า ตโย สุปณฺณา เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้. บทว่า สตะ ในบทว่า ปญฺจสตา พึงประกอบโดยรูปหรือโดยแถว. จะว่าโดยรูปก่อน บทว่า ตโย สุปณฺณา ได้แก่ รูปครุฑ ๓๐๐. บทว่า จตุโร จ หํสา ได้แก่รูปหงส์ ๔๐๐. บทว่า พยคฺฆินิสา ปญฺจสตา ได้แก่ มฤคบางเหล่าเช่นกับเสือโคร่ง ชื่อว่า พยัคฆินิสา. รูปมฤคที่เหมือนเสือโคร่งเหล่านั้นมีจำนวน ๕๐๐. ว่าโดยแถว บทว่า ตโย สุปณฺณา ได้แก่ครุฑ ๓๐๐ แถว. บทว่า จตุโร หํสา ได้แก่หงส์ ๔๐๐ แถว. บทว่า พยคฺฆินิสา ปญฺจสตา ได้แก่มฤคเหมือนเสือโคร่ง ๕๐๐ แถว. ด้วยบทว่า ฌายิโน พรหมแสดงว่า ในวิมานของเราผู้ได้ฌานมีความรุ่งโรจน์ขนาดนี้. บทว่า โอภาสยํ ได้แก่ สว่างไสว. บทว่า อุตฺตรสฺสํ ทิสายํ ความว่า ได้ยินว่า วิมานทองใหญ่นั้น ปรากฏในทิศอุดร แต่ที่ๆ มหาพรหมเหล่านั้นสถิตอยู่ เพราะฉะนั้น จึงกล่าวอย่างนี้. ก็พรหมนั้นมีความประสงค์ดังนี้ว่า เราอยู่ในวิมานทองเห็นปานนี้ จักไปสู่ที่บำรุงใครอื่นเล่า. บทว่า รูเป รณํ ทสฺวา

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 160

ได้แก่ เห็นโทษกล่าวคือเกิด แก่ และแตกดับในรูป. บทว่า สทา ปเวธิตํ ความว่า เห็นรูปที่หวั่นไหวและถูกวิโรธิปัจจัยมีความหนาวเป็นต้น กระทบอยู่เป็นนิตย์. บทว่า ตสฺมา น รูเป รมตี สุเมโธ ความว่า เห็นโทษในรูปและเห็นรูปที่หวั่นไหวอยู่ทุกเมื่อ เพราะฉะนั้น พระศาสดาผู้มีเมธาดี คือ ผู้มีปัญญาดี จึงไม่ยินดีในรูป.

    จบอรรถกถาปมาทสูตรที่ ๖