การเว้นขาดกาม

 
pirmsombat
วันที่  2 พ.ค. 2550
หมายเลข  3611
อ่าน  1,940

การเว้นขาดกามด้วยเหตุ ๒ ประการ

[๑๒] คำว่า ผู้ใดย่อมเว้นขาดกามทั้งหลาย มีความว่า คำว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ผู้ประกอบอย่างใด ผู้ตั้งไว้อย่างใด ผู้มีประการอย่างใด ผู้ถึงฐานะใด ผู้ประกอบด้วยธรรมใด เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือเป็นมนุษย์.

คำว่า กาม ในคำว่า ย่อมเว้นขาดกามทั้งหลาย โดยหัวข้อ ได้แก่ กาม ๒ อย่าง คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑.

วัตถุกามเป็นไฉน? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชอบใจ ฯลฯ กามเหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ กามเหล่านั้นเรียกว่า กิเลสกาม.

คำว่า ย่อมเว้นขาดกามทั้งหลาย คือ ย่อมเว้นขาดกามโดยเหตุ ๒ ประการ คือ โดยการข่มไว้ประการ ๑ โดยการตัดขาดประการ ๑.

ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ อย่างไร?

บุคคลผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยโครงกระดูก เพราะอรรถว่า เป็นของมีความยินดีน้อย ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้.

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยชิ้นเนื้อ เพราะอรรถว่า เป็นของสาธารณ์แก่ชนหมู่มาก ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้.

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยคบเพลิงหญ้า เพราะอรรถว่า เป็นของตามเผา ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้.

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง เพราะอรรถว่าเป็นของตามเผา ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้.

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง เพราะอรรถว่า เป็นของให้เร่าร้อนมาก ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้.

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยความฝัน เพราะอรรถว่า เป็นของปรากฏชั่วเวลาน้อย ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้.

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยของขอยืม เพราะอรรถว่า เป็นของเป็นไปชั่วกาลที่กำหนด ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้.

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั่งหลายเปรียบด้วยต้นไม้มีผลดก เพราะอรรถว่า เป็นของทำให้กิ่งหักและให้ต้นล้ม ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้.

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยดาบและมีด เพราะอรรถว่า เป็นของพื้น ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้.

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วย หอก หลาว เพราะอรรถว่า เป็นของทิ่มแทง ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้.

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยหัวงู. เพราะอรรถว่า เป็นของน่าสะพึงกลัว ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้.

ผู้เห็นอยู่ว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยกองไฟ เพราะอรรถว่า เป็นดังไฟกองใหญ่ให้เร่าร้อน ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้.

แม้ผู้เจริญพุทธานุสสติ ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้.

แม้ผู้เจริญธรรมานุสสติย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้.

แม้ผู้เจริญสังฆานุสสติ

แม้ผู้เจริญสีลานุสสติ

แม้ผู้เจริญจาคานุสสติ

แม้ผู้เจริญเทวตานุสสติ

แม้ผู้เจริญอานาปานุสสติ

แม้ผู้เจริญมรณานุสสติ

แม้ผู้เจริญกายคตาสติ

แม้ผู้เจริญอุปสมานุสสติ

แม้ผู้เจริญปฐมฌาน

แม้ผู้เจริญทุติยฌาน

แม้ผู้เจริญตติยฌาน

แม้ผู้เจริญจตุตถฌาน

แม้ผู้เจริญอากาสานัญจายตนสมาบัติ

แม้ผู้เจริญวิญญาณัญจายตนสมาบัติ

แม้ผู้เจริญอากิญจัญญายตนสมาบัติ

แม้ผู้เจริญเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ

ย่อมเว้นขาดกามโดยการข่มไว้อย่างนี้


  ความคิดเห็นที่ 2  
 
อิสระ
วันที่ 3 พ.ค. 2550
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 3 พ.ค. 2550

การละกามด้วยการข่ม ข่มด้วยอำนาจของฌาน หรือข่มชั่วขณะที่กุศลจิตเกิด คนที่ละกามได้ต้องบรรลุเป็นพระอนาคามีค่ะ ขอยกตัวอย่างจากพระไตรปิกฏประกอบค่ะ

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒- หน้าที่ 313

๔. อานันทสูตร ว่าด้วยวิธีแก้จิตกระสัน

[๗๓๕] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ในเวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้วถือบาตรและจีวรเข้าไปเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี มีท่านพระวังคีสะเป็นปัจฉาสมณะ ก็โดยสมัยนั้นแล ความกระสันได้เกิดขึ้น ความกำหนัดย่อมรบกวนจิตของท่านพระวังคีสะ.

[๗๓๖] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ด้วย คาถาว่า ข้าพเจ้าเร่าร้อนเพราะกามราคะ จิตของข้าพเจ้ารุ่มร้อน ขอท่านจงบอกวิธี เป็นเครื่องดับราคะ เพื่ออนุเคราะห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด โคดม.

[๗๓๗] ท่านพระอานนท์จึงกล่าวว่า จิตของท่านรุ่มร่อน เพราะสัญญาอันวิปลาส ท่านจงละเว้นนิมิตอันสวยงาม อันเกี่ยวด้วยราคะเสีย ท่านจงเห็นสังขารทั้งหลาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยเป็นทุกข์ และอย่าเห็นโดยความเป็นตน ท่านจงดับราคะอันแรงกล้า ท่านจงอย่าถูกราคะเผาผลาญบ่อยๆ ท่านจงเจริญจิตในอสุภกัมมัฏฐาน ให้เป็นจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวตั้งมั่นด้วยดีเถิด ท่านจงมีกายคตาสติ ท่านจงเป็นผู้มากด้วยความหน่าย ท่านจงเจริญความไม่มีนิมิต และจงถอนมานานุสัยเสีย เพราะการรู้เท่าถึงมานะ ท่านจักเป็นผู้สงบระงับเที่ยวไป

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แวะเข้ามา
วันที่ 3 พ.ค. 2550

การเว้นขาดกามโดยการข่มไว้ ผู้นั้นจะต้องเห็นโทษของกาม และยังต้องรู้หนทางอันนำไปสู่ข้อปฏิบัติ คือ ข่มไว้ด้วยกำลังของฌาน เป็นมหัคคตจิตที่เป็นมหากุศลญานสัมปยุตต์ ผู้นั้นจะต้องมีปัญญาและรู้ด้วยว่าอารมณ์ใดทำให้จิตสงบ จึงเจริญอบรมกรรมฐานนั้นๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 3 พ.ค. 2550

พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 297

อรรถกถาพรหมจริยกถา

ว่าด้วยการประพฤติพรหมจรรย์

บัดนี้ ชื่อว่า เรื่องประพฤติพรหมจรรย์ ในปัญหานั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์มี ๒ อย่าง คือ

การเจริญมรรค ๑

การบรรพชา ๑

การบรรพชา ย่อมไม่มีในเทพทั้งหลาย

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
แวะเข้ามา
วันที่ 3 พ.ค. 2550

ต่อเนื่องจาก ความคิดเห็นที่ 4

ขออธิบายเพิ่มเติมอีกนิดนึงว่า...

ฌานจิตเป็นมหัคคตกุศล แต่การอบรมที่จะให้จิตสงบแนบแน่นถึงขั้นขั้นอัปปนา เป็นมหากุศลญานสัมปยุตต์

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 3 พ.ค. 2550

การละกิเลส ด้วยปัญญา ซึ่งก็ละด้วยปัญญาที่ต่างระดับ การละกามก็ด้วยปัญญาที่ต่างระดับกัน การละกามในที่นี้หมายถึงด้วยอำนาจความยินดีพอใจ ละกามด้วยการข่มไว้ เปรียบเหมือนหินที่ทับหญ้าเมื่อยกหินออก หญ้าก็งอกขึ้นมาอีก ขณะที่ทับ หญ้าก็ไม่งอกขึ้นมา ฉันใด การละกามด้วยการข่มไว้ก็เช่นกัน ยังไม่ได้ละกิเลสกามหมดจริงๆ ซึ่งขณะข่มไว้ก็คือขณะที่จิตเป็นกุศลเห็นโทษขงอกามจนถึงระดับ ฌาณขั้นต่างๆ การละกามด้วยการตัดขาด คือละความยินดีพอใจในรูป...ไม่มีเหลือเลย เปรียบเหมืนอตัดรากของต้นไม้ และเผาทิ้ง ต้นไม้นั้นก็ไม่มีทางงอกขึ้นมาอีก การละกามโดยตัดขาดต้องเป็นปัญญาขั้นอนาคามีมรรค และบรรลุเป็นพระอนาคามีซึ่งก่อนจะเป็นพระอนาคามีก็ต้องเป็นพระโสดาบันก่อน และก่อนจะเป็นพระโสดาบันก็ต้อง อบรมสติปัฏฐาน รู้ว่าขณะนี้เป็นธัมมะไม่ใช่เราหนทางเดียวที่จะดับกิเลคือ สติปัฏฐาน ซึ่งจะนำมาซึ่งการละกามโดยตัดขาด แตการอบรมสมถภาวนา จนถึงฌาณไม่สามารถดับกิเลสได้แค่ละกามด้วยการข่มไว้ครับ จะขอยก ต.ย ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้ละความยึดถอว่าเป็นสัตว์บุคคลก่อน ไม่ใช่ละกามด้วยการข่มไว้ด้วยฌาณ หรือสมถภาวนา ลองอ่านดูครับ

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 123

๑. สัตติสูตร

ผู้ปฏิบัติควรทำตัวเหมือนถูกหอก

[๕๖] เทวดานั้น ครั้งยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ภิกษุพึงมีสติ เว้นรอบเพื่อการละกาม ราคะ เหมือนบุรุษที่ถูกประหารด้วยหอก มุ่งถอนเสีย และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้ บนศีรษะ มุ่งดับไฟ ฉะนั้น.

[๕๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระคาถาว่า ภิกษุพึงมีสติ เว้นรอบเพื่ออันละสักกายทิฏฐิ (ความยึดถือว่าเป็นสัตว์บุคคล ตัวตน) เหมือนบุรุษถูกประหารด้วยหอก และเหมือน บุรุษที่ถูกไฟไหม้บน ศีรษะ.

ข้อความบางตอนจาก อรรถกถาสัตติสูตรที่ ๑

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงดำริว่า คาถาที่เทวดานี้นำมาตั้งไว้ ทำอุปมาไว้มั่นคง แต่ถือเอาประโยชน์ได้นิดหน่อย แม้จะกล่าวซ้ำซาก เพราะเขากล่าวถึงการละโดยการข่มกามราคะอย่างเดียว ก็กามราคะอันมรรคยังไม่ถอนขึ้น ตราบใด ตราบนั้น ก็ยังมีการตามผูกพันเรื่อยไป เพราะฉะนั้นเมื่อจะทรงถือเอาคำอุปมานั้น นั่นแหละแล้ว ทรงเปลี่ยนแสดงด้วยสามารถแห่งมรรค จึงตรัสพระคาถาที่ ๒ (ข้อที่ ๕๗) . เนื้อความแห่งคาถานั้น พึงทราบโดยทำนองที่กล่าวแล้วนั่นแหละ.

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pornpaon
วันที่ 31 พ.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ