พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. อภยราชกุมารสูตร ว่าด้วยอภัยราชกุมาร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ส.ค. 2564
หมายเลข  36063
อ่าน  920

[เล่มที่ 20] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 202

๘. อภยราชกุมารสูตร

ว่าด้วยอภัยราชกุมาร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 20]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 202

๘. อภยราชกุมารสูตร

ว่าด้วยอภัยราชกุมาร

[๙๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้.

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น พระราชกุมารพระนามว่า อภัย เสด็จเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่ ทรงอภิวาทนิครนถ์นาฏบุตรแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

[๙๒] นิครนถ์นาฏบุตรได้ทูลอภัยราชกุมารว่า ไปเถิด พระราชกุมาร เชิญพระองค์ทรงยกวาทะแก่พระสมณโคดม เมื่อพระองค์ทรงยกวาทะแก่สมณโคดมอย่างนี้แล้ว กิตติศัพท์อันงามของพระองค์จักระบือไปว่า อภัยราชกุมารทรงยกวาทะแก่สมณโคดมผู้มีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้.

อภัยราชกุมารตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ ก็ข้าพเจ้าจะยกวาทะแก่พระสมณโคดม ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ ได้อย่างไร.

นิครนถ์นาฏบุตรทูลว่า ไปเถิด พระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับ แล้วจงทูลถามพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตจะพึงตรัสพระวาจาอันไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่นบ้างหรือหนอ ถ้าพระสมณโคดมถูกถามอย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูก่อนราชกุมาร ตถาคตพึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ดังนี้ไซร้ พระองค์พึงทูลพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น การกระทําของพระองค์จะต่างอะไรจากปุถุชนเล่า เพราะแม้ปุถุชนก็พึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ถ้า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 203

พระสมณโคดมถูกถามอย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูก่อนราชกุมาร ตถาคตไม่พึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ดังนี้ไซร้ พระองค์พึงทูลพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น อย่างไรพระองค์จึงทรงพยากรณ์พระเทวทัตว่า เทวทัตจักเกิดในอบาย จักเกิดในนรก ตั้งอยู่สิ้นกัปหนึ่ง เป็นผู้อันใครๆ เยียวยาไม่ได้ ดังนี้ เพราะพระวาจาของพระองค์นั้น พระเทวทัตโกรธ เสียใจ ดูก่อนพระราชกุมาร พระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามปัญหาสองเงื่อนนี้แล้ว จะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้เลย เปรียบเหมือนกระจับเหล็กติดอยู่ในคอของบุรุษ บุรุษนั้นจะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้ ฉันใด ดูก่อนราชกุมาร พระสมณโคดมก็ฉันนั้น ถูกพระองค์ทูลถามปัญหาสองเงื่อนนี้แล้วจะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้เลย.

อภัยราชกุมารรับคํานิครนถ์นาฏบุตรแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ ทรงอภิวาทนิครนถ์นาฏบุตร ทรงทําประทักษิณแล้วเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ทรงแหงนดูพระอาทิตย์ทรงพระดําริว่า วันนี้มิใช่กาลจะยกวาทะแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า วันพรุ่งนี้เถิด เราจักยกวาทะแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าในนิเวศน์ของเรา ดังนี้แล้ว จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระองค์เป็นที่ ๔ จงทรงรับภัตตาหารของหม่อมฉัน เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับด้วยดุษณีภาพ ลําดับนั้น อภัยราชกุมารทรงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณแล้ว เสด็จหลีกไป ครั้งนั้น พอล่วงราตรีนั้นไป เวลาเช้า พระผู้มี-

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 204

พระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของอภัยราชกุมาร ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ลําดับนั้น อภัยราชกุมารทรงอังคาสพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยขาทนียโภชนียะอันประณีต ให้อิ่มหนําเพียงพอด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยเสร็จ ทรงชักพระหัตถ์จากบาตรแล้ว อภัยราชกุมารทรงถืออาสนะต่ําอันหนึ่ง ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

วาจาที่ไม่เป็นที่รัก

[๙๓] อภัยราชกุมารประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตจะพึงตรัสพระวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่นบ้างหรือหนอ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนราชกุมาร ในปัญหาข้อนี้ จะวิสัชนาโดยส่วนเดียวมิได้.

อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะปัญหาข้อนี้ พวกนิครนถ์ได้ฉิบหายแล้ว.

พ. ดูก่อนราชกุมาร เหตุไฉนพระองค์จึงตรัสอย่างนี้เล่า.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะปัญหาข้อนี้ พวกนิครนถ์ได้ฉิบหายแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส หม่อมฉันเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง นิครนถ์นาฏบุตรได้บอกว่า ไปเถิด พระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จไปยกวาทะแก่พระสมณโคดมเถิด เมื่อพระองค์ยกวาทะแก่พระสมณโคดมอย่างนี้ กิตติศัพท์อันงามของพระองค์จักระบือไปว่า อภัยราชกุมารยกวาทะแก่พระสมณโคดม ผู้มีฤทธิ์มาก

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 205

มีอานุภาพมากอย่างนี้ เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้ หม่อมฉันได้ถามว่า ท่านผู้เจริญ ก็ข้าพเจ้าจะยกวาทะแก่พระสมณโคดมผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ได้อย่างไร. นิครนถ์นาฏบุตรตอบว่า ไปเถิด พระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับ แล้วจงทูลถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตจะพึงตรัสพระวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่นบ้างหรือหนอ ถ้าพระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามอย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูก่อนราชกุมาร ตถาคตพึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ดังนี้ไซร้ พระองค์พึงทูลพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น การกระทําของพระองค์จะต่างอะไรจากปุถุชนเล่า เพราะแม้ปุถุชนก็กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น แต่ถ้าพระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามอย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูก่อนราชกุมาร ตถาคตไม่พึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ดังนี้ไซร้ พระองค์พึงทูลพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น อย่างไรพระองค์จึงทรงพยากรณ์เทวทัตว่า เทวทัตจักเกิดในอบาย จักเกิดในนรก ตั้งอยู่สิ้นกัปหนึ่ง เป็นผู้อันใครๆ เยียวยาไม่ได้ ดังนี้ เพราะพระวาจาของพระองค์นั้น พระเทวทัตโกรธ เสียใจ ดูก่อนพระราชกุมาร พระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามปัญหาสองเงื่อนนี้แล้ว จะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้เลย เปรียบเหมือนกระจับเหล็กติดอยู่ในคอของบุรุษ บุรุษนั้นจะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้ ฉันใด ดูก่อนราชกุมาร พระสมณโคดมก็ฉันนั้น ถูกพระองค์ทูลถามปัญหาสองเงื่อนนี้แล้ว จะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้เลย.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 206

วาจาที่ประกอบด้วยประโยชน์

[๙๔] สมัยนั้นแล เด็กอ่อนได้แต่นอน นั่งอยู่บนตักของอภัยราชกุมาร ลําดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะอภัยราชกุมารว่า ดูก่อนราชกุมาร ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้ากุมารนี้อาศัยความเผลอของพระองค์ หรือของหญิงพี่เลี้ยง พึงนําไม้หรือก้อนกรวดมาใส่ในปาก พระองค์จะพึงทําเด็กนั้นอย่างไร.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจะพึงนําออกเสีย ถ้าหม่อมฉันไม่อาจจะนําออกได้แต่ทีแรก หม่อมฉันก็จะเอามือซ้ายประคองศีรษะแล้วงอนิ้วมือขวา ควักไม้หรือก้อนกรวดแม้พร้อมด้วยเลือดออกเสีย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะหม่อมฉันมีความเอ็นดูในกุมาร.

ดูก่อนราชกุมาร ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น.

อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจาไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น.

อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น.

ตถาคตย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น.

ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น.

อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้และประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น.

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตถาคตมีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งหลาย.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 207

พุทธปฏิภาณ

[๙๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กษัตริย์ผู้บัณฑิตก็ดี พราหมณ์ผู้บัณฑิตก็ดี คฤหบดีผู้บัณฑิตก็ดี สมณะผู้บัณฑิตก็ดี ผูกปัญหาแล้วเข้ามาเฝ้าทูลถามพระตถาคต การพยากรณ์ปัญหาของบัณฑิตเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรึกด้วยพระหฤทัยไว้ก่อนว่า บัณฑิตทั้งหลายจักเข้ามาเฝ้าเราแล้วทูลถามอย่างนี้ เราอันบัณฑิตเหล่านั้นทูลถามอย่างนี้แล้ว จักพยากรณ์อย่างนี้ หรือว่าพยากรณ์นั้นมาปรากฏแจ่มแจ้งกะพระตถาคตโดยทันที.

ดูก่อนราชกุมาร ถ้าอย่างนั้น ในข้อนี้ อาตมภาพจักกลับถามพระองค์บ้าง ข้อนี้ควรแก่พระองค์อย่างใด พระองค์พึงพยากรณ์ข้อนั้นอย่างนั้น ดูก่อนราชกุมาร พระองค์จะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระองค์เป็นผู้ฉลาดในส่วนน้อยใหญ่ของรถหรือ.

อย่างนั้น พระเจ้าข้า หม่อมฉันเป็นผู้ฉลาดในส่วนน้อยใหญ่ของรถ.

พ. ดูก่อนราชกุมาร พระองค์จะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ชนทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระองค์แล้วพึงทูลถามอย่างนี้ว่า ส่วนน้อยใหญ่ของรถอันนี้ ชื่ออะไร การพยากรณ์ปัญหาของชนเหล่านั้น พระองค์ตรึกด้วยใจไว้ก่อนว่า ชนทั้งหลายเข้ามาหาเราแล้ว จักถามอย่างนี้ เราอันชนเหล่านั้นถามอย่างนี้ จักพยากรณ์อย่างนี้ หรือว่าการพยากรณ์นั้นพึงแจ่มแจ้งกะพระองค์โดยทันที.

อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะหม่อมฉันเป็นทหารรถ รู้จักดี ฉลาดในส่วนน้อยใหญ่ของรถ ส่วนน้อยใหญ่ของรถทั้งหมด หม่อมฉันทราบดีแล้ว ฉะนั้น การพยากรณ์ปัญหานั้น แจ่มแจ้งกะหม่อมฉันโดยทันทีทีเดียว.

ฉันนั้นเหมือนกันแล ราชกุมาร กษัตริย์ผู้บัณฑิตก็ดี พราหมณ์ผู้บัณฑิตก็ดี คฤหบดีผู้บัณฑิตก็ดี สมณะผู้บัณฑิตก็ดี ผูกปัญหาแล้วจักเข้ามาถามตถาคต

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 208

การพยากรณ์ปัญหานั้น ย่อมแจ่มแจ้งกะตถาคตโดยทันที ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความที่ธรรมธาตุนั้น ตถาคตแทงตลอดดีแล้ว การพยากรณ์ปัญหานั้น จึงแจ่มแจ้งกะตถาคตโดยทันที.

อภัยราชกุมารแสดงตนเป็นอุบาสก

[๙๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว อภัยราชกุมารได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ํา เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจําหม่อมฉัน ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนี้แล.

จบอภยราชกุมารสูตรที่ ๘

๘. อรรถกถาอภัยราชกุมารสูตร (๑)

อภัยราชกุมารสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.

ในบรรดาคําเหล่านั้น คําว่า อภยะ เป็นพระนามของพระราชกุมารพระองค์นั้น.

คําว่า ราชกุมาร คือ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร.


(๑) อรรถกถาเรียก อภยสูตร.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 209

บทว่า วาทํ อาโรเปหิ คือ จงยกโทษในวาทะ.

คําว่า เนรยิโก แปลว่า ผู้บังเกิดในนรก.

คําว่า กปฺปฏโ แปลว่า ตั้งอยู่ตลอดกัป.

คําว่า อเตกิจฺโฉ คือ แม้พระพุทธเจ้าพันพระองค์ก็ไม่อาจแก้ไขได้.

คําว่า โอคฺคิลิตุํ คือ พระตถาคต เมื่อไม่อาจกล่าวแก้ปัญหาสองเงื่อนได้ ก็ไม่อาจคาย คือ นําออกข้างนอกได้.

คําว่า อุคฺคิลิตุํ คือ เมื่อไม่อาจให้นําโทษแห่งคําถาม (ปัญหา) ออกไปเสีย ก็ไม่อาจกลืน คือ เอาเข้าไปข้างในได้.

คําว่า เอวํ ภนฺเต ความว่า ได้ยินว่า นิครนถ์คิดว่า พระสมณโคดมทําลายสาวกของเราแล้วรับเอาไว้เอง เอาเถิด เราจะแต่งปัญหาข้อหนึ่ง ซึ่งพระสมณโคดมถูกถามแล้วจะต้องนั่งกระโหย่งไม่สามารถลุกได้.

นิครนถ์นั้น รับอาหารมาจากวังของอภัยราชกุมารแล้วฉันโภชนะอันโอชะ แต่งปัญหาไว้เป็นอันมาก คิดว่า พระสมณโคดมเห็นโทษอันนี้ในปัญหานี้ในข้อนั้นก็เป็นเสนียด แล้วละการทั้งปวงเสีย ได้ครุ่นคิดปัญหานี้ในสมองถึง ๔ เดือน.

ครั้งนั้นนิครนถ์คิดว่า พระสมณโคดม ไม่อาจให้โทษในการถามหรือตอบปัญหานี้ได้ ปัญหานี้ชื่อ โอวัฏฏิกสาระ (คือปัญหาวนเวียน) ใครหนอจะรับผูกวาทะแก่พระสมณโคดมได้. ต่อแต่นั้น ก็ตกลงใจว่า อภัยราชกุมารเป็นบัณฑิต เขาจักสามารถ เหตุนั้น เราจะให้อภัยราชกุมารเรียนปัญหานั้นแล้วให้อภัยราชกุมารเรียน.

อภัยราชกุมารนั้น มีอัธยาศัยชอบยกวาทะ จึงรับคํานิครนถ์นั้น ตรัสว่า อย่างนั้นสิ ท่านอาจารย์. ทรงเข้าพระทัยว่าปัญหานี้อาจารย์แต่งใช้เวลา ๔ เดือน เมื่อรับเอาปัญหานี้ไปให้พระสมณโคดมตอบ เวลาคงไม่พอ จึงทรงดําริอย่างนี้ว่า วันนี้ไม่เหมาะ.

คําว่า โสทานิ แยกสนธิว่า เสฺว ทานิ.

บทว่า อตฺตจตุตฺโถ ความว่า เหตุไร อภัยราชกุมาร จึงไม่นิมนต์ภิกษุทั้งหลายให้มากรูป.

ได้ยินว่า อภัยราชกุมารนั้น ทรงดําริอย่างนี้ว่า เมื่อภิกษุมากรูปนั่งกันแล้ว พระผู้-

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 210

มีพระภาคเจ้า จะทรงชักพระสูตรอื่น เหตุอื่น หรือเรื่องทํานองนั้นอย่างอื่นมาแสดงแก่เรา ซึ่งถวายของนิดหน่อย กําลังพูดอยู่ เมื่อเป็นดังนั้น ก็จักมีแต่การทะเลาะการวุ่นวายเท่านั้น แม้อย่างนั้น เราจักนิมนต์แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เดียว ก็จักเกิดการติเตียนเราว่า อภัยราชกุมารนี้ ช่างตระหนี่ ทั้งที่เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวบิณฑบาต พร้อมด้วยภิกษุร้อยรูปบ้าง พันรูปบ้างทุกๆ วัน ก็ยังนิมนต์แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เดียว ก็โทษอย่างนั้นจักไม่มี. จึงนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นองค์ที่ ๔ กับภิกษุอื่นอีก ๓ รูป.

คําว่า น เขฺวตฺถ ราชกุมาร เอกํเสน ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนราชกุมาร ในเรื่องนี้ จะไม่มีการตอบปัญหา โดยเงื่อนเดียว.

อธิบายว่า ก็ตถาคตจะพึงกล่าวก็ดี ไม่พึงกล่าวก็ดี ซึ่งวาจาเห็นปานนั้น ตถาคตเห็นประโยชน์โดยปัจจัยแห่งภาษิต จึงกล่าว ไม่เห็นประโยชน์ก็ไม่กล่าว. ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงย่อยปัญหาที่นิครนถ์แต่งมา ๔ เดือน ด้วยพระดํารัสคําเดียวเท่านั้น ประหนึ่งอสนีบาตฟาดยอดบรรพต ฉะนั้น.

สองบทว่า อนสฺสุํ นิคนฺถา แปลว่า นิครนถ์ทั้งหลายฉิบหายแล้ว.

บทว่า องฺเก นิสินฺโน โหติ คือ นั่งบนพระเพลา.

แท้จริง นักพูดโดยเลศทั้งหลาย ตั้งวาทะขึ้นมาก็นั่งจับของบางอย่าง เช่น ผลไม้ หรือดอกไม้ หรือคัมภีร์ เมื่อตนชนะก็ทับถมผู้อื่น. เมื่อตนแพ้ก็แสดงกิริยาซัดส่าย (แก้ขวย) ประหนึ่งกินผลไม้ ประหนึ่งดมดอกไม้ ประหนึ่งอ่านคัมภีร์ ฉะนั้น.

ส่วนอภัยราชกุมารนี้ ทรงดําริว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเข้าสงครามย่ํายีวาทะของผู้อื่น ถ้าเราชนะก็ดีไป ถ้าไม่ชนะก็หยิกเด็กให้ร้อง ต่อนั้น เราก็จักพูดว่า ดูซิ ท่านผู้เจริญ เด็กนี่ร้อง ลุกขึ้นก่อน ภายหลังค่อยรู้กัน เพราะฉะนั้น จึงทรงพาเด็กมาประทับนั่ง.

ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นนักพูดประ-

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 211

เสริฐกว่าอภัยราชกุมารพันเท่าแสนเท่า ทรงพระพุทธดําริว่า จักทรงทําเด็กนี้แหละให้เป็นข้ออุปมา ทําลายวาทะของอภัยราชกุมารนั้นเสีย จึงตรัสว่า กิํ มฺสิ ราชกุมาร เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มุเข อาหเรยฺย แปลว่า ตั้งไว้ในปาก.

คําว่า อาหเรยฺยสฺสาหํ แก้เป็น อปเนยฺยํ อสฺส อหํ.

บทว่า อาทิเกเนว แปลว่า ด้วยประโยคแรกเท่านั้น.

บทว่า อภูตํ แปลว่า มีใจความไม่เป็นจริง.

บทว่า อตจฺฉํ แปลว่า ไม่เปล่าประโยชน์.

บทว่า อนตฺถสฺหิตํ แปลว่า ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่อาศัยความเจริญ.

บทว่า อปฺปิยา อมนาปา แปลว่า ไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจ. พึงทราบความในที่ทุกแห่ง โดยนัยนี้นี่แล.

บรรดาวาจาสองฝ่ายนั้น ในฝ่ายวาจาไม่เป็นที่รัก วาจาแรกที่เป็นไป ตู่คนที่ไม่ใช่โจรว่าโจร ตู่คนที่ไม่ใช่ทาสว่าทาส ตู่คนที่ไม่ใช่ผู้ประกอบกรรมชั่วว่า คนประกอบกรรมชั่ว ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น.

วาจาที่สองเป็นไปด้วยอํานาจวาจาที่ชี้ผู้เป็นโจรเท่านั้นว่า ผู้นี้โจร ดังนี้เป็นต้น ตถาคตไม่กล่าววาจาแม้นั้น.

บัดนี้พึงทราบวาจาที่สาม คือ วาจาที่กล่าวด้วยมุ่งประโยชน์เป็นเบื้องหน้า ด้วยมุ่งธรรมเป็นเบื้องหน้า ด้วยมุ่งสั่งสอนเป็นเบื้องหน้าแก่มหาชนอย่างนี้ว่า เพราะความที่ท่านไม่ได้ทําบุญไว้ ท่านจึงยากจน มีผิวพรรณทราม มีอํานาจน้อย แม้ดํารงอยู่ในโลกนี้แล้วก็ยังไม่ทําบุญอีก ในอัตภาพที่สอง ท่านจะพ้นจากอบาย ๔ ได้อย่างไร.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาลฺู ตถาคโต ความว่า ตถาคตเป็นผู้รู้กาล เพื่อประโยชน์แก่การพยากรณ์วาจานั้น ในการพยากรณ์ที่สามนั้น อธิบายว่า ตถาคตรู้กาลที่ถือเอาของที่ควรถือกาลที่ยอมรับของมหาชนแล้วจึงพยากรณ์ ในฝ่ายวาจาเป็นที่รักวาจาแรกชื่อว่า ถ้อยคําที่ไม่ควรตั้งไว้ ถ้อยคําที่ไม่ควรตั้งไว้นั้นพึงทราบอย่างนี้.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 212

ดังได้ยินมา ชายแก่ชาวบ้านคนหนึ่งมายังพระนคร ดื่มเหล้าอยู่ในโรงเหล้า พวกนักเลงเหล้าเป็นอันมากต้องการจะลวงแก จึงยืนใกล้ที่แกดื่มเหล้า แล้วก็ดื่มเหล้ากับแก คิดในใจว่า จะเอาทั้งผ้านุ่งผ้าห่มของชายแก่คนนี้ ทั้งสิ่งของในมือให้หมด จึงทํากติกาสัญญากันว่าเราจะเล่าเรื่องที่ประจักษ์แก่ตนคนละเรื่อง ผู้ใดพูดว่าไม่จริงหรือไม่เชื่อเรื่องที่พูด เราจะเอาผู้นั้นไปเป็นทาส. จึงถามชายแก่คนนั้นว่า ถูกใจไหมล่ะ พ่อลุง. ชายแก่ตอบว่า ตกลงพ่อหนุ่ม.

นักเลงเหล้าคนหนึ่งจึงเล่าว่า พ่อมหาจําเริญ เมื่อข้าอยู่ในท้องแม่ข้า แม่แพ้ท้องอยากจะกินลูกมะขวิด แม่หาคนนําลูกมะขวิดมาไม่ได้ จึงสั่งข้าไป ข้าขึ้นต้นไม้ไม่ได้ก็จับเท้าตัวเองโยนขึ้นไปบนต้นไม้เหมือนกับโยนค้อน แล้วก็ไต่จากกิ่งโน้นมากิ่งนี้เก็บลูกมะขวิด แต่แล้วก็เกิดลงไม่ได้ ต้องกลับไปบ้าน เอาบันไดมาพาดจึงลงได้ แล้วไปหาแม่ให้ลูกมะขวิดแก่แม่ แต่ว่าเจ้าลูกมะขวิดเหล่านั้นมันใหญ่โตขนาดตุ่ม แต่นั้น แม่ข้าก็นั่งบนที่นั่งอันหนึ่ง กินลูกมะขวิดเข้าไปตั้ง ๖๐ ลูกถ้วน ในจํานวนลูกมะขวิดที่ข้านํามาด้วยสะเอวข้างเดียว ลูกมะขวิดที่เหลือๆ ก็เป็นของเด็กของคนแก่ในบ้าน ของตระกูล เรือนของเราขนาด ๑๖ ศอก ขนสิ่งของเครื่องใช้ที่เหลือออกไป ลูกมะขวิดก็เต็มไปจนถึงหลังคา ส่วนที่เกินไปจากหลังคา ก็กองไว้ใกล้ประตูเรือน มันสูง ๘๐ ศอก เหมือนภูเขาเลากา ท่านผู้เจริญ เชื่อเรื่องเช่นนี้ไหม.

ชายแก่ชาวบ้านนั่งนิ่ง ถูกพวกนักเลงถาม เมื่อจบเรื่องก็ตอบว่า มันเป็นได้อย่างนั้น พ่อหนุ่ม แว่นแคว้นออกใหญ่โต ข้าเชื่อซิ เพราะแว่นแคว้นมันใหญ่ เมื่อเหล่านักเลงเหล้าที่เหลือเล่าเรื่องที่ปราศจากเหตุคล้ายๆ กัน เหมือนที่นักเลงเหล้าคนนั้นเล่าแล้ว ชายแก่ชาวบ้านก็บอกว่า ฟังข้าบ้างพ่อหนุ่ม ตระกูลของพวกเจ้ายังไม่ใหญ่ดอก ตระกูลของข้าสิใหญ่จริงๆ ไร่ของข้าก็ใหญ่

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 213

กว่าไร่ไหนๆ กลางไร่ฝ้ายที่เนื้อที่หลายร้อยกรีสนั้น มีต้นฝ้ายต้นหนึ่งสูงถึง ๘๐ ศอก ขนาดใหญ่ มันมีกิ่งอยู่ ๕ กิ่ง ทั้ง ๕ กิ่งนั้น กิ่งอื่นๆ ไม่ติดลูก กิ่งที่อยู่ด้านทิศตะวันออกมีอยู่ลูกเดียว ลูกโตเท่าตุ่มขนาดใหญ่ ลูกนั้นมี ๖ พู ฝักฝ้าย ๖ ฝัก ก็ผลิออกในพูทั้ง ๖ นั้น ข้าจึงให้เขาแต่งหนวด แล้วอาบน้ำชะโลมตัวเองแล้วก็ไปไร่ ยืนดูดอกฝ้ายเหล่านั้นผลิแตกออกแล้ว จึงยื่นมือเข้าไปจับ เจ้าฝักฝ้ายเหล่านั้นมีเรี่ยวแรงกลายเป็นทาสไป เจ้าพวกทาสเหล่านั้นก็ผละหนีข้าไปทีละคน ข้าไม่พบทาสเหล่านั้นจนบัดนี้ วันนี้ข้าพบพวกเจ้าแล้ว. ก็ระบุชื่อว่า เจ้าชื่อนันทะ เจ้าชื่อปุณณะ เจ้าชื่อวัฑฒมานะ เจ้าชื่อฉัตตะ เจ้าชื่อมังคละ เจ้าชื่อเหฏฐิยะ แล้วก็ลุกขึ้นจับพวกนักเลงเหล้าที่ผมจุกแล้วยืนขึ้น นักเลงเหล้านั้นไม่สามารถแม้แต่จะปฏิเสธว่า พวกข้าไม่ใช่ทาส. ครั้งนั้น ชายแก่ชาวบ้านคนนั้น ก็คว้าตัวนักเลงเหล่านั้นไปขึ้นโรงศาล ยกลักษณะทาสขึ้นฟ้อง ทําเขาให้ตกเป็นทาสใช้สอยไปตลอดชีวิต. ตถาคตไม่กล่าวถ้อยคําเห็นปานฉะนี้.

วาจาที่สอง เป็นเถนวาจา (วาจาของขโมย) สําหรับคนอื่นมีประการต่างๆ เพราะเห็นแก่อามิส หรือเพราะอํานาจความอยากดื่มเหล้าเป็นต้น และเป็นดิรัจฉานกถา ที่เป็นไปโดยนัยว่า เรื่องโจร เรื่องพระราชา เป็นต้น ตถาคตไม่กล่าววาจาแม้นั้น.

วาจาที่สามเป็นกถาที่อิงอาศัยอริยสัจ ซึ่งเหล่าบัณฑิตฟังแม้ร้อยปีก็ไม่รู้สึกอิ่ม. ดังนั้น ตถาคตจึงไม่กล่าววาจาจริงทั้งที่ไม่เป็นที่รัก ทั้งที่เป็นที่รัก กล่าวแต่วาจาที่สาม. ไม่ให้เวลาที่ควรจะกล่าววาจาที่สามล่วงเลยไป.

พึงทราบว่า ข้ออุปมาด้วยเรื่องเด็กหนุ่มอันมาแล้วแต่หนหลัง. ในที่นั้นหมายเอาวาจาที่ไม่น่ารักวาจาที่สาม.

คําว่า อุทาหุ านโสเวตํ ความว่า อภัยราชกุมารทูลถามว่า หรือว่าข้อนั้นปรากฏแก่พระตถาคตเจ้าในทันที

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 214

ทันใด ด้วยพระญาณที่เกิดขึ้นแล้วฉับพลัน.

คําว่า ปฺาโต แปลว่า เขารู้แล้ว เขารู้กันทั่วแล้ว ปรากฏแล้ว.

คําว่า ธมฺมธาตุ หมายถึง สภาวะแห่งธรรม คํานี้เป็นชื่อของพระสัพพัญุตญาณ.

แท้จริง พระสัพพัญุตญาณนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าแทงตลอดด้วยดีแล้ว คือ อยู่ในพระหัตถ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เพราะฉะนั้น พระองค์ทรงประสงค์ข้อใดๆ ข้อนั้นๆ ทั้งหมดก็แจ่มแจ้งฉับพลันทันที.

คําที่เหลือในที่ทุกแห่งตื้นทั้งนั้น ก็พระธรรมเทศนานี้จบลงด้วยอํานาจแห่งเวไนยบุคคลแล.

จบอรรถกถาอภยราชกุมารสูตรที่ ๘