พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. คังเคยยชาดก ว่าด้วยผู้ชอบโอ้อวด

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 ส.ค. 2564
หมายเลข  35619
อ่าน  330

[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 296

๕. คังเคยยชาดก

ว่าด้วยผู้ชอบโอ้อวด


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 57]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 296

๕. คังเคยยชาดก

ว่าด้วยผู้ชอบโอ้อวด

[๒๕๙] ปลาชื่อคังเคยยะก็งาม และปลาชื่อยมุนาก็งาม แต่บุรุษ ๔ เท้า มีปริมณฑลเพียงดังต้นไทร มีคอยาวหน่อยหนึ่ง ผู้นี้ ย่อมรุ่งเรืองยิ่งกว่าใครทั้งหมด. [๒๖๐] ท่านไม่บอกเหตุที่เราถาม เราถามอย่างหนึ่ง ท่านบอกเสียอย่างหนึ่ง คนสรรเสริญตนเองนี้ ไม่ชอบใจเราเลย.

จบ คังเคยยชาดกที่ ๕

อรรถกถาคังเคยยชาดกที่ ๕

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้เป็นสหายสองรูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า โสภนฺติ มจฺฉา คงฺเคยฺยา ดังนี้.

ได้ยินว่า ภิกษุทั้งสองนั้นเป็นกุลบุตรชาวเมืองสาวัตถี บวชในศาสนาแล้ว มิได้บำเพ็ญอสุภภาวนา ชอบสรรเสริญรูป เที่ยวพร่ำเพ้อแต่เรื่องรูป. วันหนึ่งภิกษุทั้งสองนั้นเกิดทุ่มเถียงกันเรื่องรูปว่า ท่านงาม เราก็งาม เห็นพระเถระแก่รูปหนึ่งนั่ง

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 297

อยู่ไม่ไกล พูดว่า พระเถระรูปนี้จักรู้ว่าเรางามหรือไม่งาม จึงเข้าไปหาท่านถามว่า ท่านขอรับ ผมทั้งสองนี้ใครงาม. พระเถระตอบว่า เรานี้แหละงามกว่าพวกท่าน. ภิกษุหนุ่มทั้งสองรูปคิดว่า หลวงตาแก่รูปนี้ไม่ตอบคำที่เราถาม กลับตอบคำที่เราไม่ได้ถาม จึงบริภาษแล้วหลีกไป. กิริยาของภิกษุสองรูปนั้น ได้ปรากฏในหมู่สงฆ์.

อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันในโรงธรรมว่า ได้ข่าวว่า พระเถระผู้เฒ่าได้ทำให้ภิกษุหนุ่มอวดรูปโฉมทั้งสองนั้นได้อาย. พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อกราบทูลให้ทรงทราบแล้วจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหนุ่มสองรูปนี้มิใช่ยกยอรูปแต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อน เธอทั้งสองก็เที่ยวพร่ำเพ้อรูปเหมือนกัน แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นรุกขเทวดาอยู่ที่ฝั่งคงคา. ครั้งนั้นมีปลาสองตัวอยู่แม่น้ำคงคาตัวหนึ่ง อยู่แม่น้ำยมุนาตัวหนึ่ง ทุ่มเถียงกันเรื่องรูป ณ ที่แม่น้ำคงคาและยมุนามาบรรจบกันว่า เรางาม ท่านซิไม่งาม เห็นเต่าเกาะอยู่ที่แม่น้ำคงคา ไม่ไกลจากที่นั้นเท่าไร คิดกันว่า เต่านี้คงจักรู้ว่า พวกเรางามหรือไม่งาม จึงเข้าไปหาเต่านั้น แล้วถามว่า เต่าผู้เป็นสหาย ปลาตัวที่อยู่แม่น้ำคงคางามหรือปลาตัวที่อยู่แม่น้ำยมุนางาม. เต่าตอบว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 298

ปลาตัวที่อยู่แม่น้ำคงคาก็งาม ตัวที่อยู่แม่น้ำยมุนาก็งาม แต่เรางามยิ่งกว่าเจ้าทั้งสองเสียอีก เมื่อจะประกาศความนี้ จึงกล่าวคาถาแรกว่า :-

ปลาชื่อ คังเคยยะก็งาม และปลาชื่อว่า ยมุนาก็งาม แต่บุรุษ ๔ เท้ามีปริมณฑลเพียงดังต้นไทร มีคอยาวหน่อยหนึ่งผู้นี้ ย่อมรุ่งเรืองกว่าใครทั้งหมด.

ในบทเหล่านั้น บทว่า จตุปฺปทายํ พระเถระกล่าวหมายถึงตัวท่านเองว่า บุรุษผู้นี้มี ๔ เท้า. บทว่า นิโคฺรธปริมณฺฑโล คือ มีปริมณฑลเพียงดังต้นไทรที่เกิดดีแล้ว. บทว่า อีสกายตคีโว คือมีคอยาวดุจงอนรถ. บทว่า สพฺเพว อติโรจติ ความว่า เต่าผู้สมบูรณ์ด้วยทรวดทรงกล่าวว่า ผู้นี้ย่อมรุ่งเรืองยิ่งกว่าใครทั้งหมด คือเรานี่แหละงามเกินพวกท่านทั้งหมด.

ปลาฟังคำเต่าแล้วกล่าวว่า เจ้าเต่าชั่วพ่อตัวดี เจ้าไม่ตอบคำที่เราถามกลับไปตอบเป็นอย่างอื่นเสียนี่ แล้วกล่าวคาถา ที่ ๒ ว่า :-

ท่านไม่บอกเหตุที่เราถาม เราถามอย่างหนึ่งท่านบอกเสียอย่างหนึ่ง คนสรรเสริญตนเองนี้ ไม่ชอบใจเราเลย.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อตฺตปฺปสํสโก ได้แก่ คนชอบสรรเสริญตัวเอง คือ ยกย่องตัวเอง. บทว่า นายํ อสฺมาก รุจฺจติ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 299

ความว่า เต่าชั่วตัวนี้ ไม่ชอบใจ คือไม่พอใจเราเลย.

ปลาทั้งสองตัวพ่นน้ำใส่เต่าแล้วก็ได้ไปยังที่อยู่ของตนตามเดิม.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดก. ปลาสองตัวในครั้งนั้นได้เป็นภิกษุหนุ่มสองรูปในครั้งนี้ เต่าได้เป็นภิกษุแก่ ส่วนรุกขเทวดาผู้เกิดที่ฝั่งคงคาผู้เห็นเหตุการณ์โดยตลอด คือ เราตถาคตนี้แล.

จบ อรรถกถาคังเคยยชาดกที่ ๕