พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. อายุสมโอสัชชนสูตร ว่าด้วยตรัสถึงอิทธิบาท ๔ ประการ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 ส.ค. 2564
หมายเลข  35332
อ่าน  432

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 579

ชัจจันธวรรคที่ ๖

๑. อายุสมโอสัชชนสูตร

ว่าด้วยตรัสถึงอิทธิบาท ๔ ประการ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 579

ชัจจันธวรรคที่ ๖

๑. อายุสมโอสัชชนสูตร

ว่าด้วยตรัสถึงอิทธิบาท ๔ ประการ

[๑๒๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้พระนครเวสาลี ครั้งนั้นแล เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครเวสาลี ครั้นเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครเวสาลี กลับจากบิณฑบาต ในภายหลังภัตแล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงถือผ้านิสีทนะ เราจักเข้าไปยังปาวาลเจดีย์เพื่อพักกลางวัน ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ถือผ้านิสีทนะติดตามพระผู้มีพระภาคเจ้าไปข้างหลังๆ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จเข้าไปยังปาวาลเจดีย์ ประทับนั่งบนอาสนะที่ท่านพระอานนท์จัดถวาย ครั้นแล้ว ได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ พระนครเวสาลีน่ารื่นรมย์ อุเทนเจดีย์น่ารื่นรมย์ โคตมกเจดีย์น่ารื่นรมย์ สัตตัมพเจดีย์น่ารื่นรมย์ พหุปุตตเจดีย์น่ารื่นรมย์ สารันทเจดีย์น่ารื่นรมย์ ปาวาลเจดีย์น่ารื่นรมย์ ดูก่อนอานนท์ อิทธิบาท ๔ ประการ ท่านผู้ใดผู้หนึ่งได้เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน ให้เป็นที่ตั้ง มั่นคงแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ท่านผู้นั้นหวังอยู่ พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัปหนึ่งหรือเกินกว่ากัป. ดูก่อนอานนท์ อิทธิบาท ๔ ประการ ตถาคตได้เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ให้เป็นที่ตั้ง มั่นคงแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตหวังอยู่ พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัปหรือเกินกว่ากัป.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 580

[๑๒๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำนิมิตอันแจ้งชัด กระทำโอภาสอันแจ้งชัดถึงอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ก็ไม่สามารถจะรู้ ไม่ทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำรงอยู่ตลอดกัปเถิด ขอพระสุคตทรงดำรงอยู่ตลอดกัปเถิด เพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์สัตวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะถูกมารเข้าดลจิต.

แม้ครั้งที่ ๒...

แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ พระนครเวสาลีน่ารื่นรมย์ อุเทนเจดีย์น่ารื่นรมย์ โคตมกเจดีย์น่ารื่นรมย์ สัตตัมพเจดีย์น่ารื่นรมย์ พหุปุตตเจดีย์น่ารื่นรมย์ สารันทเจดีย์น่ารื่นรมย์ ปาวาลเจดีย์น่ารื่นรมย์ ดูก่อนอานนท์ อิทธิบาท ๔ ประการ ท่านผู้ใดผู้หนึ่งได้เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ให้เป็นที่ตั้ง มั่นคงแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ท่านผู้นั้นหวังอยู่ พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัปหรือเกินกว่ากัป ดูก่อนอานนท์ อิทธิบาท ๔ ประการ ตถาคตได้เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ให้เป็นที่ตั้ง มั่นคงแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตหวังอยู่ พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัปหรือเกินกว่ากัป เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำนิมิตอันแจ้งชัด กระทำโอภาสอันแจ้งชัดถึงอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ก็ไม่สามารถจะรู้ ไม่ทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำรงอยู่ตลอดกัปเถิด ขอพระสุคตทรงดำรงอยู่ตลอดกัปเถิด เพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่สัตวโลก

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 581

เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะถูกมารเข้าดลจิต.

[๑๒๙] ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงไปเถิด เธอสำคัญกาลอันควรในบัดนี้เถิด ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณแล้ว นั่งอยู่ที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า.

[๑๓๐] ลำดับนั้นแล เมื่อท่านพระอานนท์หลีกไปแล้วไม่นาน มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานเถิด ขอพระสุคตเจ้าเสด็จปรินิพพานเถิด บัดนี้ เป็นกาลควรปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ดูก่อนมารผู้มีบาป ภิกษุผู้เป็นสาวกของเรา จักยังเป็นผู้ไม่ฉลาด ไม่ได้รับแนะนำ ไม่ถึงความแกล้วกล้า ยังไม่ถึงความเกษมจากโยคะ ยังไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ประพฤติตามธรรม ไม่เรียนอาจริยวาทของตนแล้ว บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่าย แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ย่ำยีด้วยดีซึ่งปรัปปวาทที่เกิดขึ้นแล้วโดยชอบธรรมไม่ได้เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ ภิกษุสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ฉลาด ได้รับแนะนำแล้ว ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้าแล้ว ถึงความเกษมจากโยคะ เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรม เรียนอาจริยวาทของตนแล้ว บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 582

กระทำให้ง่าย ย่อมแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ย่ำยีด้วยดีซึ่งปรัปปวาทที่เกิดขึ้นแล้วโดยชอบธรรม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานเถิด ขอพระสุคตเจ้าเสด็จปรินิพพานเถิด บัดนี้เป็นกาลควรปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ดูก่อนมารผู้มีบาป ภิกษุณีสาวิกาของเรา... อุบาสกสาวกของเรา... อุบาสิกาสาวิกาของเรา จักยังเป็นผู้ไม่ฉลาด ไม่ได้รับแนะนำดีแล้ว ยังไม่ถึงความแกล้วกล้า ยังไม่ถึงความเกษมจากโยคะ ไม่ทรงธรรม ไม่เป็นพหูสูต ยังไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ยังไม่ประพฤติตามธรรม ไม่เรียนอาจริยวาทของตนแล้ว บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก จักกระทำให้ง่าย แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ย่ำยีด้วยดีซึ่งปรัปปวาทที่บังเกิดขึ้นแล้วโดยชอบธรรมไม่ได้เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ อุบาสิกาสาวิกาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ฉลาด ได้รับแนะนำดีแล้ว ถึงความแกล้วกล้า ถึงความเกษมจากโยคะ ทรงธรรม เป็นพหูสูต ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรม เรียนอาจริยวาทของตนแล้ว บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ย่อมกระทำให้ง่าย แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ย่ำยีด้วยดีซึ่งปรัปปวาทที่เกิดขึ้นแล้วโดยชอบธรรม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานเถิด ขอพระสุคตเจ้าเสด็จปรินิพพานเถิด บัดนี้เป็นกาลควรปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ดูก่อนมารผู้มีบาป พรหมจรรย์ของเรานี้จักยังไม่เจริญ แพร่หลาย กว้างขวาง คนส่วนมากยังไม่รู้ทั่วถึง ยังไม่แน่นหนา

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 583

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายยังไม่ประกาศดีแล้วเพียงใด เราจักไม่ปรินิพพานเพียงนั้น บัดนี้ พรหมจรรย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเจริญ แพร่หลาย กว้างขวาง คนส่วนมากรู้ทั่วถึง แน่นหนา เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศดีแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานเถิด ขอพระสุคตเจ้าเสด็จปรินิพพานเถิด บัดนี้เป็นกาลควรปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า.

[๑๒๑] เมื่อมารกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะมารผู้มีบาปนั้นว่า ดูก่อนมารผู้มีบาป ท่านจงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด ไม่นานนักตถาคตจักปรินิพพาน แต่นี้ล่วงไป ๓ เดือน ตถาคตจักปรินิพพาน ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระสติสัมปชัญญะทรงปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปลงอายุสังขารแล้ว แผ่นดินใหญ่หวั่นไหว น่าพึงกลัว โลมชาติชูชัน และกลองทิพย์ก็บันลือลั่น.

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรง เปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

มุนีได้ปลงเครื่องปรุงแต่งภพอันเป็นเหตุสมภพ ทั้งที่ชั่งได้และชั่งไม่ได้ ยินดีแล้วในภายใน มีจิตตั้งมั่น ได้ทำลายกิเลสที่เกิดในตน เหมือนทหารทำลายเกราะฉะนั้น.

จบอายุสมโอสัชชนสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 584

ชัจจันธวรรควรรณนาที่ ๖

อรรถกถาอายุสมโอสัชชนสูตร

ชัจจันธวรรค อายุสมโอสัชชนสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทมีอาทิว่า เวสาลิยํ มีอรรถดังกล่าวแล้วในหนหลังนั้นแล.

บทว่า เวสาสึ ปิณฺฑาย ปาวิสิ ความว่า พระองค์เสด็จเข้าไปในกาลไร? ในกาลที่เสด็จออกจากอุกกาเจลวิหาร แล้วเสด็จไปยังกรุงเวสาลี.

ความพิสดารว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำพรรษา ณ เวลุวคามแล้ว เสด็จออกจากเวลุวคามนั้น ถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับแล้ว ประทับอยู่ในพระเชตวัน. ในกาลนั้น พระธรรมเสนาบดีตรวจดูอายุสังขารของตน รู้ว่าจักเป็นไปได้เพียง ๗ วันเท่านั้น จึงขออนุญาตพระผู้มีพระภาคเจ้าไปยังนาลกคาม ให้มารดาดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้วปรินิพพานในที่นั้น. พระศาสดาทรงถือเอาพระธาตุของพระธรรมเสนาบดีที่พระจุนทะนำมา แล้วให้สร้างเจดีย์เป็นที่บรรจุพระธาตุ แวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์. ในกาลเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์นั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะปรินิพพานแล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอา พระธาตุของท่านพระมหาโมคคัลลานะแม้นั้น แล้วให้สร้างเป็นเจดีย์ แล้วเสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ เสด็จไปยังอุกกาเจลวิหารตามลำดับ. ในที่นั้น แวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์ ประทับนั่ง ณ ฝั่งแม่น้ำคงคา แสดงธรรมอันเกี่ยวเนื่องด้วยปรินิพพานของพระอัครสาวกทั้ง ๒ ออกจากอุกกาเจลวิหารแล้ว เสด็จไปยังกรุงเวสาลี. พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปอย่างนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ในเวลาเช้า พระองค์ทรงนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เสด็จไปบิณฑบาตยังกรุงเวลาลี. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อุกฺกาเจลโต

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 585

นิกฺขมิตฺวา เวสาลิคตกาเล ดังนี้เป็นต้น.

ในบทว่า นิสีทนํ นี้ ท่านประสงค์เอาท่อนหนัง.

บทว่า ปาวาลเจติยํ ความว่า สถานที่ที่ยักษ์ชื่อว่าปาวาละอาศัยอยู่ในครั้งก่อน ปรากฏว่า ปาวาลเจดีย์. แม้วิหารที่เขาสร้างถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ในที่นั้น เขาก็เรียกว่าปาวาลเจดีย์ โดยคำอันดาษดื่น. แม้ในบทมีอาทิอย่างนี้ว่า อุเทนเจติยํ ก็นัยนี้เหมือนกัน.

บทว่า สตฺตมฺพํ ความว่า ได้ยินว่า พระราชกุมารี ๗ พระองค์ พระธิดาของพระเจ้ากาสีทรงพระนามว่า กิกิ เกิดความสังเวช เสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ เริ่มตั้งความเพียรในที่ใด ที่นั้นชนทั้งหลายพากันเรียกว่า สัตตัมพเจดีย์.

บทว่า พหุปุตฺตํ ความว่า พวกมนุษย์เป็นอันมาก ปรารถนาบุตรกะเทวดาผู้สิ่งอยู่ที่ต้นไทรต้นหนึ่ง ซึ่งมีย่านไทรมาก เพราะอาศัยเหตุนั้น สถานที่นั้นจึงปรากฏว่า พหุปุตตเจดีย์.

บทว่า สารนฺทํ ได้แก่ สถานที่ที่ยักษ์ชื่อว่าสารันทะอาศัยอยู่. ดังนั้น สถานที่ทั้งหมดนั้นนั่นแล เขาเรียกโดยโวหารว่า เจดีย์ เพราะเทวดาครอบครองอยู่ก่อนพุทธกาล. แม้เมื่อสร้างวิหารถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ชนทั้งหลายก็ยังจำได้อย่างนั้นเหมือนกัน.

ในบทว่า รมณียา นี้ พึงทราบว่า กรุงเวสาลีเป็นที่น่ารื่นรมย์ เพราะสมบูรณ์ด้วยภูมิภาคพรั่งพร้อมด้วยบุคคล มีปัจจัยหาได้ง่ายเป็นอันดับแรก. ส่วนวิหารทั้งหลาย พึงทราบว่า เป็นที่น่ารื่นรมย์เพราะไม่ไกลไม่ใกล้นักจากพระนคร สมบูรณ์ด้วยคมนาคม เพราะเป็นสถานที่อยู่ไม่เกลื่อนกล่น สมบูรณ์ด้วยร่มเงา และน้ำ และเป็นสถานที่สมควรแก่ความสงัด.

อรรถแห่งบทว่าอิทธิบาท ในบทว่า จตฺตาโร อิทฺธิปาทา นี้ ท่านกล่าวไว้แล้วในหนหลังแล.

บทว่า ภาวิตา แปลว่า ได้เจริญแล้ว.

บทว่า พหุลีกตา ได้แก่ ทำบ่อยๆ.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 586

บทว่า ยานีกตา ได้แก่ กระทำให้เป็นดุจยานที่เทียมแล้ว.

บทว่า วตฺถุกตา ได้แก่ กระทำให้เป็นดุจวัตถุ เพราะอรรถว่า เป็นที่ตั้งอาศัย.

บทว่า อนุฏฺิตา แปลว่า ตั้งมั่นไว้แล้ว.

บทว่า ปริจิตา ได้แก่ สั่งสมโดยรอบ คือ เจริญด้วยดี.

บทว่า สฺสมารทฺธา ได้แก่ ปรารภด้วยดี คือ ให้สำเร็จโดยชอบอย่างยิ่ง.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงโดยไม่กำหนดด้วยประการดังนี้แล้ว เมื่อจะกำหนดแสดงอีก จึงตรัสคำมีอาทิว่า ตถาคตสฺส โข ดังนี้.

ก็ในบทเหล่านี้ บทว่า กปฺปํ ได้แก่ อายุกัป.

บทว่า ติฏฺเยฺย ได้แก่ พึงดำรงอยู่ คือ พึงทรงไว้ซึ่งประมาณแห่งอายุของมนุษย์ในกาลนั้นให้บริบูรณ์.

บทว่า กปฺปาวเสสํ วา ความว่า ยิ่งกว่าร้อยปี ที่กล่าวว่า อปฺปํ วา ภิยฺโย ดังนี้เป็นต้น.

ฝ่ายพระมหาสิวเถระกล่าวว่า ขึ้นชื่อว่าเสียงอันกระหึ่มในที่อันไม่ควร ย่อมไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า ทรงข่มเวทนาปางตายที่เกิดขึ้นในเวลุวคามตลอด ๑๐ เดือน ฉันใด ก็ทรงเข้าสมาบัตินั้นบ่อยๆ แล้วข่มไว้ได้ (ถึง ๑๐ เดือน) พึงดำรงอยู่ตลอดภัททกัปนี้ ฉันนั้น. ถามว่า ก็เพราะเหตุไร จึงไม่ดำรงอยู่? ตอบว่า เพราะขึ้นชื่อว่า ร่างกายอันมีใจครอง ถูกทุกขเวทนามีฟันหักเป็นต้นเข้าครอบงำ ส่วนพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่ถึงภาวะแห่งทุกขเวทนามีฟันหักเป็นต้น ย่อมปรินิพพานเฉพาะในเวลาที่ชนเป็นอันมากพากันรักใคร่ ชอบใจ ในสวนแห่งพระชนมายุส่วนที่ ๕ ก็เมื่อพระอัครสาวก และพระมหาสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว จะพึงดำรงอยู่พระองค์เดียว ไม่มีบริวาร หรือมีภิกษุหนุ่มและสามเณรเป็นบริวารก็ตาม ต่อแต่นั้น

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 587

พึงถึงความเป็นผู้ถูกดูหมิ่นว่า น่าสลดใจ บริษัทของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงไม่ดำรงอยู่. แม้เมื่อท่านกล่าวอย่างนั้น แต่พระองค์ก็ถูกเรียกว่า ไม่ดำรงอยู่. คำว่า อายุกปฺโป นี้แหละ ท่านกำหนดไว้ในอรรถกถา.

บทว่า โอฬาริเก นิมิตฺเต ได้แก่ ให้สัญญาหยาบเกิดขึ้น. จริงอยู่ การให้สัญญาหยาบเกิดขึ้นนี้ คือ การอ้อนวอนการดำรงอยู่ตลอดกัปทั้งสิ้นว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงดำรงอยู่ตลอดกัป คือ เป็นการประกาศความเป็นผู้สามารถตั้งอยู่ตลอดกัป ด้วยอานุภาพแห่งการเจริญอิทธิบาท ๔ ของตนโดยการอ้างข้ออื่น โดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนอานนท์ อิทธิบาท ๔ อันผู้ใดผู้หนึ่งอบรมแล้ว ดังนี้.

บทว่า โอภาเส คือ ในพระดำรัสที่ปรากฏ. จริงอยู่ พระดำรัสที่ปรากฏนี้ คือ การละคำปริยายโดยอ้อมแล้วจึงทรงประกาศความประสงค์ของพระองค์โดยตรงทีเดียว.

บทว่า พหุชนหิตาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่มหาชน.

บทว่า พหุชนสุขาย ได้แก่ เพื่อความสุขแก่มหาชน.

บทว่า โลกนุกมฺปาย ได้แก่ เพราะอาศัยความอนุเคราะห์แก่สัตวโลก. แก่สัตวโลกไหนบ้าง? คือ แก่ผู้ที่สดับพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วแทงตลอด คือ ดื่มน้ำอมฤต. จริงอยู่ พรหม ๑๘ โกฏิ มีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า แทงตลอดธรรมด้วยเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า. สัตว์ผู้แทงตลอดธรรมจนกระทั่งแนะนำสุภัททปริพาชก ด้วยประการอย่างนี้ นับไม่ได้. เหล่าสัตว์ผู้ได้ตรัสรู้ในเวลาที่ทรงแสดงพระสูตรทั้ง ๔ เหล่านี้ คือ มหาสมยสูตร มงคลสูตร จูฬราหุโลวาทสูตร และสมจิตตสูตร ไม่มีเขตกำหนด. สถานที่เกิดมีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 588

เพื่อทรงอนุเคราะห์สัตวโลกหาปริมาณมิได้. นี้ท่านกล่าวโดยประสงค์ว่า แม้ในอนาคตก็จักมีอย่างนี้.

บทว่า เทวมนุสฺสานํ ความว่า สถานที่ย่อมมีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข เฉพาะแก่เทวดาและมนุษย์อย่างเดียวเท่านั้นก็หาไม่ แม้แก่สัตว์ที่เหลือมีนาคและครุฑเป็นต้นก็มี. ก็เพื่อจะแสดงภัพบุคคลผู้ถือปฏิสนธิที่มีเหตุ โดยทำให้แจ้งมรรคและผล จึงตรัสไว้แล้วอย่างนั้น อธิบายว่า เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงพระชนม์อยู่ เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แม้แก่สัตว์เหล่าอื่น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺถาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่สมบัติในโลกนี้.

บทว่า หิตาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลอันเป็นเหตุแห่งสมบัติในโลกหน้า.

บทว่า สุขาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่ความสุขในพระนิพพาน. ก็ศัพท์ว่า หิต และ สุข สำนวนแรก พึงทราบโดยทั่วไปแก่หิตสุขทั้งปวง.

บทว่า ตํ ในบทว่า ยถาตํ มาเรน ปริยฏฺิตจิตฺโต นี้ เป็นเพียงนิบาต อธิบายว่า ปุถุชนบางคนแม้อื่น ผู้ถูกมารเข้าดลจิต คือ ถูกมารครอบงำจิต ไม่อาจจะรู้แจ้งได้ ฉันใด พระอานนท์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่อาจจะรู้แจ้งได้. จริงอยู่ มารย่อมครอบงำจิตของผู้ที่ยังละวิปลาสบางอย่างยังไม่ได้. ส่วนในบุคคลผู้ยังละวิปลาส ๑๒ อย่างโดยประการทั้งปวงยังไม่ได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงเลย. เพราะพระเถระละวิปลาส ๔ ยังไม่ได้ ฉะนั้น จิตของท่านจึงถูกมารครอบงำ. ถามว่า ก็มารเมื่อจะครอบงำจิต ทำอย่างไร? ตอบว่า แสดงรูปารมณ์ที่น่ากลัว หรือให้ได้ยินสัททารมณ์ที่น่ากลัว. ต่อแต่นั้น สัตว์ทั้งหลาย ได้เห็นหรือว่าได้ยินอารมณ์ที่น่ากลัวนั้นแล้ว ปล่อยสติ (ตกตะลึง) อ้าปาก. มารสอดมือเข้าไปทางปากของสัตว์

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 589

เหล่านั้น แล้วบีบหัวใจ. แต่นั้น สัตว์ก็ถึงวิสัญญีสลบลง. ส่วนมารจักสามารถสอดมือเข้าไปทางปากของพระเถระได้อย่างไร แต่แสดงอารมณ์ที่น่ากลัวได้. พระเถระครั้นได้เห็นดังนั้นแล้ว จึงไม่รู้แจ้งนิมิตโอภาส. พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ทรงทราบอยู่แล เพื่อประโยชน์อะไร จึงตรัสเรียกถึง ๓ ครั้ง? คือ ต่อไปข้างหน้า เพื่อกระทำความเศร้าโศกให้เบาบาง โดยยกโทษขึ้นว่า ข้อนั้นเป็นการทำไม่ดีของท่าน ข้อนั้นเป็นความผิดของท่าน ในเมื่อท่านอ้อนวอนว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงพระชนม์อยู่เถิดพระเจ้าข้า. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นว่า อานนท์นี้มีใจสนิทในเราอย่างเหลือเกิน ต่อไปข้างหน้า เธอได้ฟังเหตุแผ่นดินไหว และการปลงอายุสังขาร จักอาราธนาให้เราดำรงอยู่ตลอดกาลนาน เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจักให้โทษตกลงบนศีรษะของเธอเท่านั้นว่า เพราะอะไร เธอจึงไม่ขอเสียก่อนเล่า. ก็เพราะโทษของตน สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่เดือดร้อนเช่นนั้น เพราะเหตุนั้น ความเศร้าโศกของเธอก็จักเบาบาง.

บทว่า คจฺฉ ตฺวํ อานนฺท ความว่า เพราะเหตุที่ท่านมาในที่นี้ เพื่อพักผ่อนตอนกลางวัน ฉะนั้น ไปเถอะอานนท์ ไปยังสถานที่ตามที่ชอบใจ เพื่อพักผ่อนกลางวัน. ด้วยเหตุนั้นนั่นแล พระองค์จึงตรัสว่า เธอจงสำคัญกาลอันสมควรแก่กรณียกิจบัดนี้เถิด ดังนี้เป็นต้น.

ในบทว่า มาโร ปาปิมา นี้ มีวิเคราะห์ดังต่อไปนี้ ชื่อว่ามาร เพราะประกอบเหล่าสัตว์ไว้ในความฉิบหาย ทำให้ตาย. บทว่า ปาปิมา นี้ เป็นไวพจน์ของบทว่า มาร นั้นนั่นแล. จริงอยู่ มารนั้น ท่านเรียกว่า ปาปิมา เพราะประกอบด้วยธรรมฝ่ายชั่ว.

บทว่า ภาสิตา โข ปเนสา ความว่า จริงอยู่ มารนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธ

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 590

ผ่านไป ๗ วัน ณ โพธิมณฑล ธิดาทั้งหลายของตนพากันมา ถูกกำจัดความปรารถนาเสียแล้วก็พากันไป มารนี้คิดว่า อุบายนี้ใช้ได้ จึงมากล่าวว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์บำเพ็ญบารมีมาเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นพระองค์บรรลุแล้วโดยลำดับ สัพพัญญุตญาณพระองค์ก็ตรัสรู้แล้ว พระองค์จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่ในโลก ดังนี้แล้ว จึงทูลอาราธนาว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงปรินิพพาน ณ บัดนี้เถิด พระเจ้าข้า เหมือนกับในวันนี้เหมือนกัน. ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามมารนั้นมีอาทิว่า เรายังไม่นิพพานก่อน ดังนี้ ซึ่งท่านหมายกล่าว ไว้ในบัดนี้ว่า ภาสิตา โข ปน ดังนี้เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิยตฺตา ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญ โดยการบรรลุอริยมรรค.

บทว่า วินีตา ได้แก่ ผู้ได้รับการแนะนำ โดยการกำจัดกิเลสอย่างนั้นนั่นแล.

บทว่า วิสารทา ได้แก่ ผู้ถึงความแกล้วกล้า เพราะการละทิฏฐิและวิจิกิจฉาเป็นต้น อันกระทำความกำหนัด.

บทว่า พหุสฺสุตา ความว่า ชื่อว่าเป็นพหูสูต เพราะมีพระพุทธพจน์อันสดับแล้วมาก ด้วยอำนาจปิฎก ๓. ชื่อว่า ธรรมธรา เพราะทรงไว้ซึ่งธรรมนั้นนั่นแล. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า พหุสฺสุตา ได้แก่ เพราะมีพระปริยัติอันสดับแล้วมาก และเพราะมีปฏิเวธอันสดับแล้วมาก. พึงทราบ อรรถในบทว่า ธมฺมธรา นี้ แม้ด้วยอาการอย่างนี้ว่า ชื่อว่าธรรมธรา เพราะทรงไว้ซึ่งพระปริยัติธรรม และปฏิเวธธรรม.

บทว่า ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺนา ได้แก่ ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาธรรม อันเป็นธรรมสมควรแก่อริยธรรม.

บทว่า สามีจิปฏิปนฺนา ได้แก่ ผู้ปฏิบัติปฏิปทาอันสืบๆ กันมาโดยวิสุทธิ อันสมควรแก่ญาณทัสสนวิสุทธิ.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 591

บทว่า อนุธมฺมจาริโน ได้แก่ ผู้มีปกติประพฤติธรรม มีความมักน้อยเป็นต้น อันขัดเกลาอย่างยิ่ง คือ อันสมควรแก่ปฏิปทานั้น.

บทว่า สกํ อาจริยกํ ได้แก่ ซึ่งอาจริยวาทของตน.

บทว่า อาจิกฺขิสฺสนฺติ ได้แก่ จักแสดงแต่เบื้องต้น อธิบายว่า จักให้ผู้อื่นเล่าเรียน โดยทำนองที่ตนเรียนมา.

บทว่า เทเสสฺสนฺติ ได้แก่ จักบอก อธิบายว่า จักบอกบาลีโดยชอบ.

บทว่า ปฺเปสฺสนฺติ แปลว่า จักให้รู้ชัด อธิบายว่า จักประกาศ.

บทว่า ปฏฺเปสฺสนฺติ แปลว่า จักตั้งไว้ โดยประการทั้งหลาย.

บทว่า วิวริสฺสนฺติ แปลว่า จักกระทำความเปิดเผย.

บทว่า วิภชิสฺสนฺติ แปลว่า จักทำการจำแนก.

บทว่า อุตฺตานีกริสฺสนฺติ ได้แก่ จักกระทำอรรถที่ไม่ตื้น คือ ที่ลึกซึ้ง ให้ตื้น คือ ให้ปรากฏ.

บทว่า สหธมฺเมน ได้แก่ ด้วยคำอันเป็นไปกับด้วยเหตุ คือ อันเป็นไปด้วยการณ์.

บทว่า สปฺปาฏิหาริยํ ได้แก่ ทำจนให้ออกจากทุกข์.

บทว่า ธมฺมํ เทเสสฺสนฺติ ความว่า จักยังหมู่สัตว์ให้ตรัสรู้ คือ จักประกาศโลกุตรธรรม ๙. ก็ในบทเหล่านั้น ด้วยบท ๖ บท มีอาทิว่า ปญฺเปสฺสนฺติ ท่านแสดงถึงบทที่เป็นอรรถ ๖ บท. ก็ด้วย ๒ บทข้างต้น ท่านแสดงถึงบทที่เป็นพยัญชนะ ๖ บทแล. ด้วยลำดับคำเพียงเท่านี้ พระพุทธพจน์ คือ พระไตรปิฎก เป็นอันท่านสงเคราะห์แสดงโดยนัยแห่งสังวรรณนา. สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ในเนตติปกรณ์ว่า บท ๑๒ บท จัดเป็นสูตร สูตรทั้งหมดนั้น เป็นพยัญชนะ ๑ เป็นอัตถะ ๑.

บทว่า พฺรหฺมจริยํ ได้แก่ ศาสนพรหมจรรย์ทั้งสิ้นที่สงเคราะห์ด้วยไตรสิกขา.

บทว่า อิทฺธํ ได้แก่ สำเร็จโดยยังฌานให้เกิดขึ้น.

บทว่า ผีตํ ได้แก่ ถึงความเจริญ คือ เผล็ดผลแพร่หลาย โดยเพียบพร้อมด้วยอภิญญา.

บทว่า วิตฺถาริกํ ได้แก่ กว้างขวาง โดยการประดิษฐานอยู่ในทิศาภาคนั้นๆ.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 592

บทว่า พหุชญฺํ ได้แก่ ชนเป็นอันมากรู้กัน คือ รู้กันตลอด โดยอำนาจการตรัสรู้ของชนเป็นอันมาก.

บทว่า ปุถุภูตํ ได้แก่ ถึงความแน่นหนาโดยอาการทั้งปวง. อย่างไร? คือ ตราบเท่าที่เทวดาและมนุษย์ประกาศดีแล้ว อธิบายว่า เทวดาและมนุษย์ผู้มีชาติแห่งวิญญูชนมีประมาณเท่าใด เทวดาและมนุษย์เหล่านั้นทั้งหมดประกาศดีแล้ว.

บทว่า อปฺโปสฺสุกฺโก ได้แก่ หมดความอุตสาหะ คือ ปราศจากความห่วงใย. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนมารผู้มีบาป ก็ตั้งแต่ ๗ สัปดาห์ล่วงไป เธอเที่ยวร้องอยู่ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงปรินิพพาน ณ บัดนี้เถิด ขอพระสุคตเจ้าจงปรินิพพาน ณ บัดนี้เถิด บัดนี้ ตั้งแต่วันนี้ไป เธอจงปราศจากความพยายามเถิด จงอย่าทำความพยายามเพื่อให้เราปรินิพพานเลย.

บทว่า สโต สมฺปชาโน อายุสงฺขารํ โอสฺสชฺชิ ความว่า พระองค์ทรงดำริสติมั่นแล้วกำหนดด้วยญาณปลง คือ ละอายุสังขาร. ในการปลงอายุสังขารนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงปลงอายุสังขารเหมือนเอามือวางก้อนดิน แต่พระองค์เกิดพระดำริขึ้นว่า ตลอดเวลาเพียง ๓ เดือนเท่านั้น เราจักเข้าสมาบัติ หลังจากนั้นจักไม่เข้า ซึ่งท่านหมายกล่าวไว้ว่า พระองค์ทรงปลงแล้ว. บาลีว่า โวสฺสชฺชิ ดังนี้ก็มี.

ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีภาคเจ้าสามารถดำรงอยู่ตลอดกัปหรือเกินกัป จึงไม่ดำรงอยู่ตลอดกาลเพียงเท่านั้น ทรงปลงอายุสังขารตามที่มารขอร้องเพื่อให้ปรินิพพาน? เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงปลงอายุสังขารตามมารขอร้อง จักไม่ปลงอายุสังขารตามที่พระเถระขอร้องก็หามิได้ แต่ว่าหลังจาก ๓ เดือนไป พระองค์ทรงปลงอายุสังขาร เพราะพุทธเวไนยไม่มี.

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 593

ธรรมดาว่า การดำรงอยู่แห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็เพียงเพื่อจะแนะนำเวไนยสัตว์ เมื่อเวไนยชนไม่มี พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายจักดำรงอยู่ด้วยเหตุอะไร ก็ถ้าว่าพระองค์จะพึงปรินิพพานตามที่มารขอร้อง ก็จะพึงปรินิพพานก่อนหน้านั้นทีเดียว. อนึ่ง ท่านกล่าวความนี้ไว้ว่า จริงอยู่ แม้ที่โพธิมณฑล มารก็ขอร้องไว้แล้ว ถึงการทำนิมิตโอภาสก็เพื่อทำความโศกของพระเถระให้เบาบาง. อีกอย่างหนึ่ง การทำนิมิตโอภาสก็เพื่อแสดงพลังของพระพุทธเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายผู้มีอานุภาพมากอย่างนี้ แม้ดำรงอยู่ ก็ดำรงอยู่ตามความพอพระทัยของพระองค์เท่านั้น. แม้เมื่อจะปรินิพพาน ก็ย่อมปรินิพพานตามความพอพระทัยของพระองค์เหมือนกันแล.

บทว่า มหาภูมิจาโล ได้แก่ แผ่นดินไหวอย่างใหญ่หลวง. ได้ยินว่า ในกาลนั้น หมื่นโลกธาตุหวั่นไหวแล้ว.

บทว่า ภึลนโก แปลว่า ให้เกิดความกลัว.

บทว่า เทวทุนฺทุภิโย จ ผลึสุ ความว่า กลองทิพย์ก็บันลือลั่น. ฟ้าก็คะนอง สายฟ้าอันเกิดในเวลามิใช่ฤดูกาลก็แลบแปลบปลาบ อธิบายว่า ฝนตกชั่วขณะ.

บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงรู้อาการทั้งปวงถึงอรรถนี้ กล่าวคือ ความพิเศษแห่งสังขารและวิสังขาร.

บทว่า อิมํ อุทานํ ความว่า ทรงเปล่งอุทาน อันแสดงถึงการที่พระองค์ทรงสละสังขารไม่มีเหลือแล้ว ถึงวิสังขาร.

เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงเปล่งอุทาน? เพราะชื่อว่าใครๆ จะพึงกล่าวว่า พระองค์ถูกมารติดตามไปข้างหลังๆ แล้วรบกวนว่า จงปรินิพพานเถิด จงปรินิพพานเถิด พระเจ้าข้า จึงทรงสละอายุสังขารเพราะกลัวมาร

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 594

เพื่อจะแสดงความนี้ว่า มารนั้นจงอย่ามีโอกาส เพราะธรรมดาว่า ผู้กล่าวย่อมไม่มีการเปล่งอุทาน พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวไว้ในอรรถกถาว่า ทรงเปล่งอุทานอันเกิดจากปีติ. ก็โดยที่พุทธกิจจะเสร็จโดยเวลาเพียง ๓ เดือนเท่านั้น เมื่อพระองค์ทรงเห็นว่า เราบริหารภาระคือทุกข์นี้มานานอย่างนี้ ไม่นานนักก็จักปล่อยวาง ดังนี้ ปีติและปราโมทย์อันยิ่งจึงเกิดขึ้น โดยการพิจารณาคุณแห่งพระนิพพาน ดูเหมือนควรจะกล่าวว่า ทรงเปล่งด้วยกำลังปีติ. จริงอยู่ พระศาสดาทรงน้อมไปในวิสังขาร คือ มีพระนิพพานเป็นอัธยาศัยโดยส่วนเดียว จึงทรงดำรงอยู่ในโลกตลอดกาลนาน เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ด้วยพระมหากรุณา เหมือนดำรงอยู่โดยพลการ. จริงอย่างนั้น พระองค์ทรงใช้สมาบัตินับได้สองล้านสี่แสนโกฏิทุกวัน บัดนี้ พระองค์บ่ายพระพักตร์ต่อพระนิพพาน เพราะอธิการอันกอปรด้วยพระมหากรุณาสำเร็จแล้ว จึงเสวยปีติและโสมนัสมิใช่น้อย. ก็เพราะเหตุนั้นนั่นแล รัศมีแห่งพระรูปโฉมของพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงผ่องใส บริสุทธิ์ผุดผ่องเป็นพิเศษ แม้ในวันดับขันธปรินิพพาน เหมือนในวันดับกิเลส.

พึงทราบวินิจฉัยในพระคาถาดังต่อไปนี้. กามาวจรกรรม ชื่อว่า ตุละ เพราะชั่งได้ คือ กำหนดได้ โดยภาวะประจักษ์แม้แก่สุนัขบ้านและสุนัขจิ้งจอกเป็นต้น. มหัคคตกรรม ชื่อว่า อตุละ เพราะชั่งไม่ได้ หรือเพราะไม่มีโลกิยกรรมอื่นที่ชั่งได้ คือ เสมอเหมือน. กามาวจรกรรม หรือรูปาวจรกรรม ชื่อ ตุละ อรูปาวจรกรรม ชื่อ อตุละ อนึ่ง กรรมที่มีวิบากน้อย ชื่อ ตุละ ที่มีวิบากมาก ชื่อ อตุละ.

บทว่า สมฺภวํ ความว่า เป็นเหตุแห่งการเกิด คือ ทำอุบัติให้เกิด.

บทว่า ภวสงฺขารํ ได้แก่ ทำสังขารในภพใหม่ให้เกิด.

บทว่า อวสฺสชฺชิ ได้แก่ ปล่อยวาง.

บทว่า มุนิ ได้แก่ พุทธมุนี.

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 595

บทว่า อชฺฌตฺตรโต แปลว่า ยินดีภายในตน.

บทว่า สมาหิโต ได้แก่ มีจิตเป็นสมาธิโดยอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ.

บทว่า อภินฺทิ กวจมิว ความว่า ทำลายไป เหมือนทหารทำลายเกราะฉะนั้น.

บทว่า อตฺตสมฺภวํ ได้แก่ กิเลสที่เกิดในตน ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า มุนีปล่อยวางโลกิยกรรม กล่าวคือ กรรมที่ชั่งได้และชั่งไม่ได้ อันได้นามว่า สัมภวะ เพราะอรรถว่า มีวิบาก และได้นามว่า ภวสังขาร เพราะอรรถว่า ปรุงแต่งภพ และเป็นผู้ยินดีในภายใน มีจิตเป็นสมาธิ ได้ทำลายกิเลสอันมีตนเป็นแดนเกิด เหมือนทหารผู้ใหญ่ทำลายเกราะในสนามรบฉะนั้น.

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ตุลํ ได้แก่ ชั่งอยู่ คือ พิจารณาอยู่.

บทว่า อตุญฺจ สมฺภวํ ได้แก่ พระนิพพานและภพ.

บทว่า ภวสงฺขารํ ได้แก่ กรรมอันนำสัตว์ไปสู่ภพ.

บทว่า อวสฺสชฺชิ มุนิ ความว่า พระพุทธมุนี ทรงพิจารณาโดยนัยมีอาทิว่า เบญจขันธ์ไม่เที่ยง การดับเบญจขันธ์คือพระนิพพานเที่ยง ทรงเห็นโทษในภพและอานิสงส์ในพระนิพพาน ทรงปล่อยวางสังขารกรรมอันเป็นมูลแห่งขันธ์ทั้งหลายนั้นด้วยอริยมรรค อันกระทำความสิ้นไปแห่งกรรม ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม. อย่างไร? คือ ท่านยินดีในภายใน มีจิตเป็นสมาธิ ได้ทำลายกิเลสที่เกิดในตน เหมือนทหารทำลายเกราะ. ก็ท่านยินดีในภายในโดยวิปัสสนา มีจิตเป็นสมาธิโดยสมถะ รวมความว่า ท่านทำลายกิเลสทั้งหมดที่รึงรัดอัตภาพอยู่ อันได้นามว่า อัตตสัมภวะ เพราะเกิดในตน ด้วยพลังแห่งสมถะและวิปัสสนา ตั้งแต่ส่วนเบื้องต้น เหมือนทหารทำลายเกราะฉะนั้น และเมื่อไม่กิเลส เป็นอันชื่อว่าสละกรรมได้เด็ดขาด เพราะไม่มีปฏิสนธิ. ท่านสละกรรมเพราะสละกิเลสด้วยประการฉะนี้.

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 596

ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ปล่อยวางสังขารในภพ ณ ควงแห่งโพธิพฤกษ์นั่นเอง แม้ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยเครื่องซ่อมแซม คือ สมาบัติ เหมือนทำเกวียนเก่าให้ไปได้ด้วยเครื่องซ่อมแซม จึงทรงปล่อยวางอายุสังขารด้วยทำพระหฤทัยให้เกิดขึ้นว่า ถัดจาก ๓ เดือนนี้ไป เราจักไม่ให้เครื่องซ่อมแซมคือสมาบัติแก่สังขารนี้ ดังนี้แล.

จบอรรถกถาอายุสมโอสัชชนสูตรที่ ๑