พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. อุโปสถสูตร ว่าด้วยธรรมอันน่าอัศจรรย์ ๘

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 ส.ค. 2564
หมายเลข  35326
อ่าน  578

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 521

๕. อุโปสถสูตร

ว่าด้วยธรรมอันน่าอัศจรรย์ ๘


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 521

๕. อุโปสถสูตร

ว่าด้วยธรรมอันน่าอัศจรรย์ ๘

[๑๑๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ปุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ประทับนั่งอยู่ในวันอุโบสถ ลำดับนั้นแล เมื่อราตรีล่วงไปแล้ว ปฐมยามสิ้นไปแล้ว ท่านพระอานนท์ลุกจากอาสนะ กระทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีล่วงไปแล้ว ปฐมยามสิ้นไปแล้ว ภิกษุสงฆ์นั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 522

ปาติโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลายเถิด เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงนิ่งอยู่ แม้ครั้งที่ ๒ เมื่อราตรีล่วงไปแล้ว มัชฌิมยามสิ้นไปแล้ว ท่านพระอานนท์ลุกจากอาสนะ กระทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีล่วงไปแล้ว มัชฌิมยามสิ้นไปแล้ว ภิกษุสงฆ์นั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงปาติโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลายเถิด แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงนิ่งอยู่ แม้ครั้งที่ ๓ เมื่อราตรีล่วงไปแล้ว ปัจฉิมยามสิ้นไปแล้ว อรุณขึ้นไปแล้ว จวนสว่างแล้ว ท่านพระอานนท์ลุกจากอาสนะ กระทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีล่วงไปแล้ว ปัจฉิมยามสิ้นไปแล้ว อรุณขึ้นไปแล้ว จวนสว่างแล้ว ภิกษุสงฆ์นั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงปาติโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลายเถิด

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ บริษัทยังไม่บริสุทธิ์ ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ว่า ดูก่อนอานนท์ บริษัทยังไม่บริสุทธิ์ ดังนี้ ทรงหมายถึงใครหนอแล ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะกำหนดใจของภิกษุสงฆ์ทุกหมู่เหล่าด้วยใจของตน แล้วได้พิจารณาเห็นบุคคลนั้นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก มีความประพฤติไม่สะอาด น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่เป็นสมณะ ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่เป็นพรหมจารี ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี ผู้เน่าใน ผู้อันราคะรั่วรดแล้ว ผู้เป็นดุจหยากเยื่อ นั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ครั้นแล้ว

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 523

ท่านพระมหาโมคคัลลานะลุกจากอาสนะเข้าไปหาบุคคลนั้น แล้วได้กล่าวกะบุคคลนั้นว่า จงลุกขึ้นเถิดผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นท่านแล้ว ท่านไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมกับภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล บุคคลนั้นได้นิ่งเสีย แม้ครั้งที่ ๒... แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ได้กล่าวกะบุคคลนั้นว่า จงลุกขึ้นเถิดผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นท่านแล้ว ท่านไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมกับภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๓ บุคคลนั้นก็ได้นิ่งเสีย ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะจับบุคคลนั้นที่แขน ฉุดให้ออกไปจากภายนอกซุ้มประตู ใส่กลอนแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ให้บุคคลนั้นออกไปแล้ว บริษัทบริสุทธิ์แล้ว ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงปาติโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลายเถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนโมคคัลลานะ น่าอัศจรรย์ ดูก่อนโมคคัลลนะ ไม่เคยมีมาแล้ว โมฆบุรุษนี้อยู่จนกระทั่งต้องจับแขนฉุดออกไป ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ ตั้งแต่นี้ไป เราจักไม่กระทำอุโบสถ แสดงปาติโมกข์ ตั้งแต่นี้ไป เธอทั้งหลายนั่นแลพึงกระทำอุโบสถ แสดงปาติโมกข์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่ตถาคตจะพึงกระทำอุโบสถ แสดงปาติโมกข์ ในเมื่อบริษัทไม่บริสุทธิ์นั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส.

[๑๑๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในมหาสมุทร มีธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ๘ ประการนี้ ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ พากันยินดีอยู่ในมหาสมุทร ๘ ประการเป็นไฉน?

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 524

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาสมุทรลาดลุ่มลึกลงไปตามลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนเหว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่มหาสมุทรลาดลุ่มลึกลงไปตามลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนเหว นี้เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๑ มีอยู่ในมหาสมุทร ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ พากันยินดีอยู่ในมหาสมุทร.

อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่ง นี้ก็เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๒...

อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรย่อมไม่เกลื่อนกล่นด้วยซากศพ เพราะคลื่นย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่งให้ขึ้นบก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อที่มหาสมุทรไม่เกลื่อนกล่นด้วยซากศพ เพราะคลื่นย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่งให้ขึ้นบก นี้ก็เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๓...

อีกประการหนึ่ง แม่น้ำสายใหญ่ๆ คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิมหมด ถึงการนับว่ามหาสมุทรนั่นเอง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อที่แม่น้ำสายใหญ่ๆ คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิมหมด ถึงการนับว่ามหาสมุทรนั่นเอง นี้ก็เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการ ที่ ๔...

อีกประการหนึ่ง แม่น้ำทุกสายในโลกย่อมไหลไปรวมลงในมหาสมุทร และสายฝนก็ตกลงสู่มหาสมุทร มหาสมุทรก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มเพราะน้ำนั้นๆ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อที่แม่น้ำทุกสายในโลกไหลไปรวมลงในมหาสมุทร และสายฝนก็ตกลงสู่มหาสมุทร แต่มหาสมุทร

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 525

ก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มเพราะน้ำนั้นๆ นี้ก็เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๕...

อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อที่มหาสมุทรทั้งหลายมีรสเดียว คือ รสเค็ม นี้ก็เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๖...

อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรมีรัตนะมากมายหลายชนิด ในมหาสมุทรนั้นมีรัตนะเหล่านั้น คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม แก้วมรกต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อที่มหาสมุทรมีรัตนะมากมายหลายชนิด... นี้ก็เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๗...

อีกประการหนึ่ง มหาสมุทรเป็นที่พำนักอาศัยของสิ่งที่มีชีวิตใหญ่ๆ สิ่งมีชีวิตใหญ่ๆ ในมหาสมุทรนั้น คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคละ ปลาติมิติมิงคละ พวกอสูร นาค คนธรรพ์ แม้ที่ร่างกายใหญ่ประมาณร้อยโยชน์ สองร้อยโยชน์ สามร้อยโยชน์ สี่ร้อยโยชน์ ห้าร้อยโยชน์ ก็มีอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อที่มหาสมุทรเป็นที่พำนักของสิ่งที่มีชีวิตใหญ่... นี้ก็เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๘ ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ พากันยินดีอยู่ในมหาสมุทร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในมหาสมุทรมีธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ๘ ประการนี้แล ที่พวกอสูรเห็นแล้วๆ พากันยินดีในมหาสมุทร.

[๑๑๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้ ก็มีธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ๘ ประการ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ พากันยินดีอยู่ในธรรมวินัย ฉันนั้นเหมือนกัน ๘ ประการเป็นไฉน?

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 526

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้ มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการกระทำไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ มิใช่ว่าจะมีการบรรลุอรหัตผลโดยตรง เปรียบเหมือนมหาสมุทรลาดลุ่มลึกไปตามลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนเหวฉะนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ในธรรมวินัยนี้ มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการกระทำไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ มิใช่ว่าจะมีการบรรลุอรหัตผลโดยตรง นี้เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๑ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ พากันยินดีอยู่ในธรรมวินัยนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สาวกทั้งหลายของเรา ไม่ล่วงสิกขาบทที่เราบัญญัติแล้วแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต เปรียบเหมือนมหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่ง ฉะนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อที่สาวกทั้งหลายของเรา ไม่ล่วงสิกขาบทที่เราบัญญัติแล้ว นี้ก็เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๒...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ทุศีล มีบาปธรรม มีความประพฤติไม่สะอาด น่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว ไม่ใช่สมณะ ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ปฏิญาณว่าประพฤติพรหมจรรย์ เสียใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นดุจหยากเยื่อ สงฆ์ไม่ยอมอยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ประชุมกันยกวัตรเธอเสียทันที แม้เขาจะนั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ แต่เขาก็ชื่อว่าห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเขา เปรียบเหมือนมหาสมุทรไม่เกลื่อนกล่นด้วยซากศพ เพราะคลื่นย่อมซัดเอาซากศพในมหาสมุทรเข้าฝั่งให้ขึ้นบกฉะนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อที่บุคคลผู้ทุศีล มีบาปธรรม...

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 527

และสงฆ์ที่ห่างไกลจากเขา นี้ก็เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๓...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วรรณะ ๔ จำพวก คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิม ถึงการนับว่าพระสมณศากยบุตรทั้งนั้น เปรียบเหมือนแม่น้ำใหญ่ๆ คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิมหมด ถึงการนับว่ามหาสมุทรนั่นเอง ฉะนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อที่วรรณะ ๔ จำพวก คือ กษัตริย์ พราหมณ์... ถึงการนับว่าพระสมณศากยบุตรทั้งนั้น นี้ก็เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๔...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุเป็นอันมากจะปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุก็มิได้ปรากฏว่าพร่องหรือเต็มด้วยภิกษุนั้น เปรียบเหมือนแม่น้ำทุกสายในโลกย่อมไหลไปรวมลงในมหาสมุทร และสายฝนก็ตกลงสู่มหาสมุทร มหาสมุทรก็ไม่ปรากฏว่าพร่องหรือเต็ม ฉะนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อที่ภิกษุทั้งหลายจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุก็มิได้ปรากฏว่าพร่องหรือเต็มด้วยภิกษุนั้น นี้เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๕...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมวินัยนี้มีรสเดียว คือ วิมุตติรส เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม ฉะนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อที่ธรรมวินัยนี้มีรสเดียว คือ วิมุตติรส นี้ก็เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๖...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมวินัยนี้มีรัตนะมากมายหลายชนิด

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 528

ในธรรมวินัยนั้น รัตนะเหล่านี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรัตนะมากมายหลายชนิด ในมหาสมุทรนั้นมีรัตนะเหล่านี้ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม แก้วมรกต ฉะนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อที่ธรรมวินัยนี้มีรัตนะมากมายหลายชนิด... อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ ก็เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๗...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมวินัยนี้เป็นที่พำนักอาศัยสิ่งมีชีวิตใหญ่ๆ ในธรรมวินัยนั้น มีสิ่งที่มีชีวิตใหญ่ๆ เหล่านี้ คือ พระโสดาบัน ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล พระสกทาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล พระอนาคามี ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล พระอรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ เปรียบเหมือนมหาสมุทรเป็นที่พำนักอาศัยของสิ่งมีชีวิตใหญ่ๆ ในมหาสมุทรนั้น มีสิ่งที่มีชีวิตใหญ่ๆ เหล่านี้ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคละ ปลาติมิติมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์ แม้มีร่างกายใหญ่ประมาณร้อยโยชน์ สองร้อยโยชน์ สามร้อยโยชน์ สี่ร้อยโยชน์ ห้าร้อยโยชน์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อที่ธรรมวินัยนี้เป็นที่พำนักอาศัยสิ่งที่มีชีวิตใหญ่ๆ... ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ นี้ก็เป็นธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ประการที่ ๘ ในธรรมวินัยนี้ ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ พากันยินดีอยู่ในธรรมวินัย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้มีธรรมอันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ๘ ประการนี้แล ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วๆ พากันยินดีอยู่ในธรรมวินัยนี้.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 529

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ฝน คือ กิเลส ย่อมรั่วรดสิ่งที่ปกปิด ย่อมไม่รั่วรดสิ่งที่เปิด เพราะฉะนั้น พึงเปิดสิ่งที่ปกปิดไว้เสีย ฝน คือ กิเลส ย่อมไม่รั่วรดสิ่งที่เปิดนั้นอย่างนี้.

จบอุโปสถสูตรที่ ๕

อรรถกถาอุโปสถสูตร

อุโปสถสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ตทหุ ได้แก่ ในวันนั้น คือ ในกลางวันนั้น.

ในคำว่า อุโปสเถ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้. วัน ชื่อว่าอุโบสถ เพราะเป็นที่เข้าจำของคนทั้งหลาย.

บทว่า อุปวสนฺติ ความว่า เป็นผู้เข้าจำอยู่ด้วยศีล หรือ ด้วยการอดอาหาร.

จริงอยู่ ศัพท์ว่า อุโบสถ นี้ มาในศีล ในประโยคมีอาทิว่า เราเข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘. มาในวินัยกรรม มีปาติโมกข์อุเทศเป็นต้น ในประโยคมีอาทิว่า อุโบสถหรือปวารณา. มาในอุปวาส ในประโยคมีอาทิว่า อุโบสถของนายโคปาล อุโบสถของนิครนถ์. มาในบัญญัติ ในประโยคมีอาทิว่า พญานาค ชื่อว่าอุโบสถ. มาในวัน ในประโยคมีอาทิว่า วันนี้เป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ. แม้ในที่นี้ พึงเห็นว่า มาในวันนั้นเอง. เพราะฉะนั้น บทว่า ตทหุโปสเถ ความว่า ในวันอันเป็นวันอุโบสถนั้น.

บทว่า นิสินฺโน โหติ ความว่า พระองค์แวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประทับนั่งเพื่อทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 530

ก็แล ครั้นประทับนั่งแล้ว ทรงตรวจดูจิตของภิกษุเหล่านั้น ทรงเห็นคนทุศีลผู้หนึ่ง ทรงพระดำริว่า ถ้าเราจักแสดงปาติโมกข์ ในเมื่อบุคคลนี้นั่งอยู่ในที่นี้นั่นแหละ ศีรษะของผู้นั้นจักแตก ๗ เสี่ยง ดังนี้แล้ว จึงทรงดุษณีภาพเพื่ออนุเคราะห์ผู้นั้นนั่นแล.

ก็ในที่นี้ บทว่า อุทฺธสฺตํ อรุณํ ความว่า ครั้นถึงอรุณขึ้น พระเถระวิงวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระปาติโมกข์ด้วยคำว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงแสดงปาติโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า. เพราะในเวลานั้น ยังไม่ได้ทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ควรทำอุโบสถในวันมิใช่อุโบสถ.

บทว่า อปริสุทฺธา อานนฺท ปริสา ความว่า เพราะพระองค์ถูกพระเถระวิงวอนให้ทรงแสดงพระปาติโมกข์ถึง ๓ ครั้ง เมื่อจะตรัสบอกเหตุการณ์ที่ไม่ทรงแสดง ไม่ตรัสว่า บุคคลโน้นไม่บริสุทธิ์ แต่ตรัสว่า อานนท์ บริษัทไม่บริสุทธิ์.

ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงให้ ๓ ยามแห่งราตรีล่วงไปอย่างนั้น?

เพราะจำเดิมแต่นั้น พระองค์มีพระประสงค์จะไม่แสดงโอวาทปาติโมกข์ เพื่อกระทำวัตถุแห่งการไม่ทรงแสดงนั้นให้ปรากฏ.

บทว่า อทฺทส ได้แก่ ได้เห็นอย่างไร. พระเถระกำหนดรู้จิตของภิกษุทั้งหลายในบริษัทนั้นด้วยเจโตปริยญาณของตน จึงเห็นจิตคือความเป็นผู้ทุศีลของโมฆบุรุษนั้น. ก็เพราะเหตุที่เมื่อเห็นจิตแล้ว ก็เป็นอันชื่อว่าเห็นบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยจิตนั้น ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า ท่านมหาโมคคัลลานะได้เห็นแล้วแล ซึ่งบุคคลผู้ทุศีลนั้น. เหมือนอย่างท่านผู้ได้เจโตปริยญาณ ย่อมรู้จิตของบุคคลเหล่าอื่นที่เป็นไปใน ๗ วัน ในอนาคตฉันใด แม้ในอดีตก็ฉันนั้นเหมือนกัน.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 531

บทว่า ทุสฺสีลํ แปลว่า ผู้ไม่มีศีล อธิบายว่า ผู้เว้นจากศีล.

บทว่า ปาปธมฺมํ ได้แก่ ผู้มีธรรมอันลามกเป็นสภาวะ เพราะเป็นผู้มีอัธยาศัยเลว เหตุเป็นผู้ทุศีลนั่นเอง.

บทว่า อสุจึ ได้แก่ ชื่อว่าผู้ไม่สะอาด เพราะประกอบด้วยกายกรรมเป็นต้นอันไม่บริสุทธิ์.

บทว่า สงฺกสฺสรสมาจารํ ความว่า ชื่อว่าผู้มีสมาจารอันพึงระลึกโดยความรังเกียจ เพราะคนอื่นเห็นกรรมอันไม่สมควรบางอย่างแล้วรังเกียจอย่างนี้ว่า นี้ชะรอยว่าจักเป็นกรรมอันผู้นี้กระทำแล้ว. อีกอย่างหนึ่ง เพราะได้เห็นภิกษุทั้งหลายปรึกษากันด้วยกรณียกิจบางอย่าง ผู้มีสมาจารอันพึงระลึกด้วยความรังเกียจของตนเองว่า ภิกษุเหล่านี้ รู้กรรมที่เราทำ จึงปรึกษากันกระมังหนอ.

ชื่อว่า ผู้มีการงานซ่อนเร้น เพราะเธอมีการงานปิดบังไว้ โดยกระทำกรรมที่พึงปกปิด เหตุเป็นกรรมที่พึงละอาย.

ชื่อว่า ผู้ไม่ใช่เป็นสมณะ เพราะไม่ใช่สมณะ เหตุทรงไว้ซึ่งเพศแห่งสมณะอันน่าเกลียด.

ชื่อว่า ผู้ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ในการนับ ว่าสมณะมีจำนวนเท่าไร ในการจับฉลากเป็นต้น และในการปฏิญญาผิดๆ ว่า แม้เราก็เป็นสมณะ.

ชื่อว่า ผู้ไม่ใช่พรหมจารี เพราะเป็นผู้มีความประพฤติไม่ประเสริฐ.

ชื่อว่า ผู้ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี เพราะผู้ไม่เป็นพรหมจารี เห็นเพื่อนพรหมจารีเหล่าอื่นผู้นุ่งห่มเรียบร้อย อุ้มบาตรเรียบร้อย กำลังเที่ยวบิณฑบาตในคามและนิคมเป็นต้นเลี้ยงชีพ แม้ตนเองก็ปฏิบัติโดยอาการเช่นนั้น และปรากฏในวันอุโบสถเป็นต้น เป็นเหมือนให้ปฏิญญาว่า แม้เราก็เป็นพรหมจารี.

ชื่อว่า ผู้เน่าใน เพราะกรรมเสียคือศีลวิบัติเข้าอยู่ในภายใน.

ชื่อว่า ผู้อันราคะรั่วรด เพราะชุ่มด้วยกิเลสเป็นเครื่องไหลออกมา มีราคะเป็นต้น ทางทวาร ๖.

ชื่อว่า ผู้เป็นดุจหยากเยื่อ เพราะเกิดมีหยากเยื่อ คือ ราคะเป็นต้น และเพราะถูกผู้มีศีลทั้งหลายทอดทิ้ง.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 532

บทว่า มชฺฌิเม ภิกฺขุสงฺฆสฺส นิสินฺนํ ความว่า ผู้นั่งในภายในภิกษุสงฆ์ เหมือนนับเนื่องในสงฆ์.

บทว่า ทิฏฺโสิ ความว่า เป็นผู้อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นแล้วว่า ผู้นี้ ไม่ใช่เป็นภิกษุตามปกติ. ก็ในข้อนี้ พึงเห็นการประกอบบทอย่างนี้ว่า เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นเธอ ฉะนั้น เธอ คือ ท่านไม่มีธรรมเครื่องอยู่ร่วมด้วยกรรมอันเดียวกันกับภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเหตุที่เธอไม่มีธรรมเครื่องอยู่ร่วมนั้น ฉะนั้น เธอจงลุกขึ้นเถิดอาวุโส.

บทว่า ตติยมฺปิ โส ปุคฺคโล ตุณฺหี อโหสิ ความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้นิ่งเสียด้วยความประสงค์ว่า พระเถระแม้พูดบ่อยๆ ก็จะเบื่อหน่ายงดเว้นไปเอง หรือว่า บัดนี้ เราจักรู้การปฏิบัติของภิกษุเหล่านี้.

บทว่า พาหายํ คเหตฺวา ความว่า บุคคลผู้ทุศีลนั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าและเราเห็นตามความเป็นจริงแล้ว และเราก็กล่าวว่า ท่านจงลุกขึ้น ถึงครั้งที่ ๓ ก็ไม่ลุกขึ้น จึงจับแขนบุคคลผู้ทุศีลนั้น ด้วยคิดว่า บัดนี้ เป็นเวลาที่ฉุดเธอออกไป อันตรายอุโบสถอย่าได้มีแก่สงฆ์เลย. ครั้นจับอย่างนั้นแล้ว บทว่า พหิ ทฺวารโกฏฺกา นิกฺขาเมตฺวา ความว่า จึงให้ออกไปภายนอกซุ้มประตู คือ จากประตูศาลา. ก็บทว่า พหิ เป็นบทแสดงที่ที่ฉุดให้ออกไป. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า พหิ ทฺวารโกฏฺกา ความว่า ให้ออกไปจากภายนอกซุ้มประตู ไม่ใช่ให้ออกไปจากภายในซุ้มประตู อธิบายว่า กระทำให้อยู่ภายนอกวิหาร แม้โดยประการทั้งสอง ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า สุจิฆฏิกํ ทตฺวา ความว่า ใส่กลอนและลิ่มสลักไว้ข้างบน อธิบายว่า กั้นไว้ด้วยดี.

ด้วยบทว่า ยาว พาหาคหณาปิ นาม นี้ ท่านแสดงว่า ก็เพราะได้ฟังพระดำรัสว่า อานนท์ บริษัทไม่บริสุทธิ์ ดังนี้

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 533

ก็เมื่อเป็นอย่างนั้น เธอพึงหลีกไปเสีย ครั้นไม่หลีกไปอย่างนั้น โมฆบุรุษนั้น จักคอยอยู่จนถูกจับแขนฉุดออกไป ดังนั้น ข้อนี้จึงน่าอัศจรรย์. พึงทราบว่า แม้ข้อนี้ ก็เป็นอัศจรรย์ที่น่าติเตียนทีเดียว.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า บัดนี้ เสนียดเกิดขึ้นในภิกษุสงฆ์แล้ว พวกบุคคลไม่บริสุทธิ์มายังอุโบสถ และพระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่แสดงอุโบสถแก่บริษัทผู้ไม่บริสุทธิ์ และเมื่อไม่แสดงอุโบสถ อุโบสถของภิกษุสงฆ์ก็ขาด ถ้ากระไร ตั้งแต่นี้ไป เราพึงอนุญาตปาติโมกขุทเทศ (สวดปาติโมกข์) เฉพาะแก่ภิกษุทั้งหลาย ก็แล ครั้นทรงพระดำริอย่างนี้แล้ว จึงทรงอนุญาตปาติโมกขุทเทศเฉพาะแก่ภิกษุทั้งหลาย. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถ โข ภควา ฯเปฯ ปาฏิโมกฺขํ อุทฺทิเสยฺยาถ ดังนี้เป็นต้น.

ในบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า นทานาหํ นี้ เชื่อมด้วย น อักษร เฉพาะบทว่า บัดนี้ เราจักไม่ทำอุโบสถ จักไม่สวดพระปาติโมกข์.

ก็พระปาติโมกข์มี ๒ อย่าง คือ อาณาปาติโมกข์ ๑ โอวาทปาติโมกข์ ๑. ใน ๒ อย่างนี้ คำมีอาทิว่า สุณาตุ เม ภนฺเต ชื่อว่า อาณาปาติโมกข์. อาณาปาติโมกข์เท่านั้น พระสาวกทั้งหลายเท่านั้น ย่อมสวด ซึ่งสวดกันทุกกึ่งเดือน พระพุทธเจ้าทั้งหลายหาสวดไม่. ก็สามคาถาเหล่านี้ คือ ขนฺติ ปรมํ ฯเปฯ สพฺพปาปสฺส อกรณํ ฯเปฯ อนูปวาโท อนูปฆาโต ฯเปฯ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ดังนี้ ชื่อว่า โอวาทปาติโมกข์. โอวาทปาติโมกข์นั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้นย่อมแสดง สาวกหาแสดงไม่. โดยล่วงไป ๖ พรรษาจึงทรงแสดง. จริงอยู่ ในเวลาที่พระพุทธเจ้าผู้มีพระชนมายุยืนนานยังทรงอยู่ ก็ปาติโมกขุทเทศนี้แหละ

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 534

สำหรับพระพุทธเจ้าผู้มีพระชนมายุน้อย ในปฐมโพธิกาลเท่านั้น ก็ปาติโมกขุทเทศนี้ ต่อแต่นั้นก็เป็นอย่างอื่น. ก็ปาติโมกข์นั่นแล เฉพาะภิกษุทั้งหลายเท่านั้น ย่อมสวด พระพุทธเจ้าทั้งหลายหาสวดไม่ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ของเราทั้งหลาย จึงทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ เพียง ๒๐ ปี พอเห็นอันตรายนี้แล้ว หลังจากนั้น ก็ไม่ทรงแสดง.

บทว่า อฏฺานํ แปลว่า เหตุอันไม่สมควร.

บทว่า อนวกาโส เป็นไวพจน์ของเหตุอันไม่สมควรนั้นเหมือนกัน. จริงอยู่ เหตุท่านเรียกว่า ฐานะ เพราะเป็นที่ตั้งอยู่แห่งผล เหตุมีความเป็นไปเนื่องกับผลนั้น ฉันใด เหตุอันไม่สมควรนั้น ท่านจึงเรียกว่า อนวกาโส ดังนี้ก็มี ฉันนั้นแล.

บทว่า ยํ เป็นกิริยาปรามาส. บทว่า ยํ นั้น พึงประกอบโดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลัง.

ถามว่า ในบทว่า อฏฺิเม ภิกฺขเว มหาสมุทฺเท นี้ มีอนุสนธิอย่างไร?

ตอบว่า การไม่แสดงพระปาติโมกข์แก่บริษัทผู้ไม่บริสุทธิ์ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วนั้น จัดเป็นอัจฉริยอัพภูตธรรมในพระธรรมวินัยนี้ เพราะฉะนั้น พระศาสดามีพระประสงค์จะจำแนกแสดงการไม่สวดพระปาติโมกข์นั้น พร้อมกับอัจฉริยอัพภูตธรรม ๗ ประการ นอกนี้ อันดับแรกเมื่อจะทรงแสดงอัจฉริยอัพภูตธรรม ๘ ประการ ในมหาสมุทร โดยความเป็นอุปมาแก่ภิกษุเหล่านั้นก่อน จึงตรัสพระดำรัส มีอาทิว่า อฏฺิเม ภิกฺขเว มหาสมุทฺเท ดังนี้.

บทว่า อสุรา ความว่า ชื่อว่าอสุระ เพราะไม่เล่น คือ ไม่รื่นเริง ได้แก่ ไม่ไพโรจน์เหมือนเทพ (ปกติ) อีกอย่างหนึ่ง เทพ ชื่อว่า อสูร

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 535

เพราะเป็นข้าศึกต่อเทพผู้ชื่อว่าสุระเหล่านั้น ได้แก่ เทพผู้ให้การประหารต่อเทพเวปจิตติอสูรเป็นต้น. ภพของอสูรเหล่านั้น มีในส่วนภายใต้ภูเขาสิเนรุ. เทพเหล่านั้น กำลังเข้าออกในภพแห่งอสูรเหล่านั้นๆ เนรมิตมณฑปเป็นต้น ณ เชิงเขาสิเนรุ เล่นอภิรมย์อยู่. เพราะเห็นคุณเหล่านี้ ด้วยความยินดียิ่งของเทพเหล่านั้นในภพนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เทพอสูรเหล่าใด พอได้เห็น ได้เห็นเข้า จึงอภิรมย์ในมหาสมุทร ดังนี้ เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิรมนฺติ แปลว่า ย่อมประสบความยินดี อธิบายว่า ไม่เบื่อหน่ายอยู่.

บททั้งหมดมีอาทิว่า อนุปุพฺพนินฺโน เป็นไวพจน์แห่งความเป็นสถานที่ลาดลุ่มตามลำดับนั้นแล.

บทว่า นายตเกเนว ปปาโต ความว่า ไม่ใช่เหวแต่ก่อนมาทีเดียว เหมือนบึงใหญ่ที่โกรกชัน. จริงอยู่ เหวนั้น จำเดิมแต่ส่วนแห่งฝั่งไป เป็นส่วนที่ลุ่มลึก โดยองคุลีหนึ่ง สององคุลี คืบหนึ่ง ศอกหนึ่ง ไม้เส้าหนึ่ง ชั่วโคอุสภหนึ่ง กึ่งคาวุต คาวุตหนึ่ง และโยชน์หนึ่งเป็นต้น ลึกไป ลึกไป จนถึงขนาดลึก ๘,๔๐๐ โยชน์ ณ เชิงสิเนรุบรรพต ท่านแสดงไว้ดังนี้.

บทว่า ิตธมฺโม ได้แก่ มีความตั้งอยู่เป็นสภาวะ คือ มีความตั้งลงเป็นสภาวะ.

บทว่า มเตน กุณเปน ได้แก่ ด้วยซากช้างและม้าเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง.

บทว่า วาเหติ แปลว่า ลอยไป.

บทว่า ถลํ อุสฺสาเทติ ความว่า ซัดขึ้นบนบก ด้วยคลื่นกระทบคราวเดียวเท่านั้น เหมือนเอามือจับโยนไปฉะนั้น.

บทว่า คงฺคา ยมุนา ความว่า แม่น้ำที่ไหลออกจากทางด้านทิศใต้แห่งสระอโนดาต จัดเป็นแม่น้ำ ๕ สาย ถึงการนับโดย ๕ สาย มีแม่น้ำคงคาเป็นต้น ในที่ที่ไหลไป.

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 536

ในข้อนั้น มีกถาแสดงการเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นแห่งแม่น้ำ ๕ สาย เหล่านี้ ดังต่อไปนี้ จริงอยู่ ชมพูทวีปนี้ มีปริมาณหมื่นโยชน์. ในชมพูทวีปนั้น ประเทศมีประมาณ ๔,๐๐๐ โยชน์ ถูกน้ำเซาะ ถึงการนับว่าสมุทร. พวกคนอาศัยอยู่ในที่ประมาณ ๓,๐๐๐ โยชน์. ภูเขาหิมพานต์ตั้งจรดในที่ประมาณ ๓,๐๐๐ โยชน์ สูง ๕๐๐ โยชน์ ประดับไปด้วยยอด ๘๔,๐๐๐ ยอด วิจิตรไปด้วยแม่น้ำใหญ่ ๕ สาย อันไหลมาโดยรอบ อันเป็นที่ที่ว่า โดยส่วนยาวกว้างและลึก มีประมาณ ๕๐ โยชน์ วัดโดยกลมประมาณ ๑๕๐ โยชน์ อันเป็นที่ตั้งอยู่แห่งสระใหญ่ ๗ สระ คือ สระอโนดาต สระกัณณมุณฑะ สระรถการะ สระฉัททันตะ สระกุณาละ สระมันทากินิ และสระสีหัปปปาตะ. ในสระใหญ่ ๗ สระนั้น สระอโนดาตล้อมรอบไปด้วยยอดบรรพต ๕ ยอดเหล่านี้ คือ ยอดเขาสุทัสสนะ ยอดเขาจิตตะ ยอดเขากาฬะ ยอดคันธมาทน์ และยอดเขาไกลาส. ในยอดเขา ๕ ยอด เหล่านั้น ยอดเขาสุทัสสนะ ล้วนแล้วด้วยทองคำ สูง ๓๐๐ โยชน์ ภายในคด มีทรวดทรงคล้ายปากกา ตั้งปิดบังสระนั้นนั่นแหละไว้. ยอดเขาจิตตะ ล้วนแล้วด้วยแก้ว ๗ ประการ. ยอดเขากาฬะ ล้วนแล้วด้วยดอกอัญชัน. ยอดเขาคันธมาทน์ ล้วนแล้วด้วยเพชรตาแมว ภายในมีสีเหมือนถั่วเขียว ตั้งโชติช่วงเหมือนถ่านเพลิงที่ลุกโพลง ในวันอุโบสถข้างแรม อันดาดาษไปด้วยโอสถนานัปการ มากไปด้วยกลิ่น ๑๐ กลิ่นเหล่านี้ คือ กลิ่นที่ราก กลิ่นที่แก่น กลิ่นที่กระพี้ กลิ่นที่เปลือก กลิ่นที่สะเก็ด กลิ่นที่ลำต้น กลิ่นที่รส กลิ่นที่ดอก กลิ่นที่ผล และกลิ่นที่ใบ. ยอดเขาไกลาศ ล้วนแล้วไปด้วยเงิน. ยอดเขาทั้งหมดนั้น มีทรวดทรงสูงเสมอกันกับเขาสุทัสสนะ ตั้งปิดบังสระนั้นนั่นแลไว้. ในยอดเขา

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 537

เหล่านั้น ฝนตกด้วยเทวานุภาพ และน้ำไหลด้วยนาคานุภาพ. น้ำทั้งหมดนั้นไหลเข้าไปยังสระอโนดาตเท่านั้น. พระจันทร์และพระอาทิตย์ โคจรทางด้านทิศใต้หรือทางด้านทิศเหนือ ทำแสงสว่างในที่นั้น โดยระหว่างแห่งภูเขา. แต่เมื่อโคจรไปโดยตรงๆ หาทำไม่. ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ สระนั้นจึงเกิดการนับว่า อโนดาต.

ในสระอโนดาตนั้น พื้นแห่งมโนศิลาไม่มีปลาและเต่า เสมือนแก้วผลึกที่ปราศจากมลทิน น้ำไม่ขุ่นมัว บังเกิดแต่กรรมทีเดียว เป็นท่าสำหรับอาบของเหล่าสัตว์ผู้ใช้น้ำนั้น เป็นที่ที่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวก ทั้งฤาษีผู้มีฤทธิ์ ทำการอาบเป็นต้น ฝ่ายเทพและยักษ์เป็นต้น ก็พากันเล่นน้ำ. ในข้างทั้ง ๔ ของสระอโนดาตนั้น มีทางน้ำไหลอยู่ ๔ ทาง คือ ทางราชสีห์ ทางช้าง ทางม้า และทางโคอุสภะ อันเป็นเหตุให้แม่น้ำทั้ง ๔ ไหลไป. ในฝั่งแม่น้ำที่ไหลออกจากทางราชสีห์ มีสีหไกรสรอยู่เป็นอันมาก. โดยทางช้างเป็นต้นก็เหมือนกัน มีช้าง ม้า และโคอุสภะเป็นจำนวนมาก. แม่น้ำที่ไหลออกจากทิศตะวันออก ไหลวนขวา ๓ รอบสระอโนดาต ไม่ไหลไปยังแม่น้ำ ๓ สาย นอกนี้ ไหลไปทางที่ไม่มีคน ด้านภูเขาหิมพานต์ทิศตะวันออกนั้นเอง แล้วไหลเข้ามหาสมุทร. ฝ่ายแม่น้ำที่ไหลออกจากทิศตะวันตกและทิศเหนือ ไหลวนขวาอย่างนั้นเหมือนกัน ไหลไปทางที่ไม่มีคน ด้านภูเขาหิมพานต์ทิศตะวันตกและทิศเหนือเหมือนกัน แล้วไหลเข้ามหาสมุทร.

ส่วนแม่น้ำที่ไหลจากทางทิศใต้ แล้วไหลวนขวา ๓ รอบสระอโนดาตนั้น ไหลตรงไปทางทิศใต้หลังศิลาดาดนั้นเองได้ ๖๐ โยชน์ แล้วกระทบภูเขาพุ่งขึ้น เป็นสายน้ำประมาณ ๓ คาวุตโดยรอบ ไหลไปทางอากาศ ๖๐ โยชน์ แล้วก็ตกลงที่ศิลาดาด ชื่อติยังคละ.

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 538

ศิลาดาดแตกออก เพราะกำลังสายน้ำ. ในที่นั้น เกิดเป็นสระโปกขรณีใหญ่ ชื่อติยังคละ มีประมาณได้ ๕๐ โยชน์. พังฝั่งสระโปกขรณี ไหลเข้าศิลาดาด ไหลไปได้ ๖๐ โยชน์ แต่นั้นก็พังแผ่นดินทึบเจาะเป็นอุโมงค์ได้ ๖๐ โยชน์ กระทบภูเขาที่ตั้งขวาง ชื่อว่าวิชฌะ เกิดเป็นแม่น้ำ ๕ สาย เช่นกับนิ้ว ๕ นิ้ว ที่ฝ่ามือ. ในที่ที่ไหลไปไหลไป วนเวียนขวาสระอโนดาต แม่น้ำนั้น เรียกว่า อาวัตตคงคา. ในที่ที่ไหลไปตรงทางหลังศิลาดาด ประมาณ ๖๐ โยชน์ เรียกว่า กัณณคงคา. ในที่ที่ไหลไปทางอากาศ ประมาณ ๖๐ โยชน์ เรียกว่า อากาศคงคา. ที่ขังอยู่บนศิลาดาด ชื่อติยังคละ มีโอกาสประมาณได้ ๕๐ โยชน์ เรียกว่า ติยังคลโปกขรณี. ในที่ที่พังฝั่งไหลไปยังศิลาดาด ได้ประมาณ ๖๐ โยชน์ เรียกว่า พหลคงคา. ในที่ที่ไหลไปทางอุโมงค์ ประมาณได้ ๖๐ โยชน์ เรียกว่า อุมมังคคงคา. ในที่ที่กระทบภูเขาที่ตั้งขวาง ชื่อว่า วิชฌะ เกิดเป็น ๕ สาย นับเป็น ๕ สาย คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู และมหี. แม่น้ำ ๕ สายเหล่านี้ ดังว่ามานี้ พึงทราบว่า ไหลออกจากภูเขาหิมพานต์.

บรรดาบทเหล่านั้น คำว่า นที นินฺนคา ดังนี้เป็นต้น จัดเป็นโคตร.

คำว่า คงฺคา ยมุนา ดังนี้เป็นต้น จัดเป็นชื่อ.

บทว่า สวนฺติโย ได้แก่ แม่น้ำใหญ่ หรือแม่น้ำน้อยชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่ไหลไปไหลไป.

บทว่า อปฺเปนฺติ แปลว่า ย่อมไหลไป คือ ย่อมไหลรวมกันไป.

บทว่า ธารา ได้แก่ สายฝน.

บทว่า ปูรตฺตํ แปลว่า ความที่สายฝนขังเต็ม. จริงอยู่ มหาสมุทรเป็นธรรมดาดังต่อไปนี้ ใครๆ ไม่อาจจะกล่าวมหาสมุทรนั้นว่า ในเวลานี้ฝนตกน้อย พวกเราถือเอาเครื่องดักสัตว์ มีข่ายและไซเป็นต้น จับเอาปลาและเต่า หรือว่าในเวลานี้

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 539

ฝนมีมากเกินไป พวกเราไม่ได้สถานที่เป็นที่เหยียดหลัง. จริงอยู่ ตั้งแต่เวลาปฐมกัปมา ฝนตกน้ำขังจรดแดนเขาสิเนรุ แต่นั้นน้ำแม้ประมาณองคุลีหนึ่งก็ไหลลงภายใต้เลย ไม่ไหลขึ้นข้างบน.

บทว่า เอกรโส ได้แก่ มีรสไม่เจือปน.

บทว่า มุตฺตา ได้แก่ แก้วมุกดาหลายชนิด มีชนิดเล็กใหญ่กลมและยาว เป็นต้น.

บทว่า มณิ ได้แก่ แก้วมณีหลายชนิด มีชนิดแดงและเขียว เป็นต้น.

บทว่า เวฬุริโย ได้แก่ แก้วไพฑูรย์หลายชนิด โดยสัณฐาน มีสีไม้ไผ่ และสีดอกซึก เป็นต้น.

บทว่า สงฺโข ได้แก่ สังข์หลายชนิด มีชนิดสังข์ทักษิณาวัฏ สังข์ท้องแดง และสังข์สำหรับเป่า เป็นต้น.

บทว่า สิลา ได้แก่ ศิลาหลายชนิด มีชนิดสีขาว ดำ และสีถั่วเขียว เป็นต้น.

บทว่า ปวาฬํ ได้แก่ แก้วประพาฬหลายชนิด มีชนิดเล็กใหญ่ แดงอ่อน และแดงแก่ เป็นต้น.

บทว่า โลหิตงฺกํ ได้แก่ ทับทิมหลายชนิด มีชนิดปทุมราค เป็นต้น.

บทว่า มสารคลฺลํ ได้แก่ แก้วลาย (เพชรตาแมว). อาจารย์บางพวกกล่าวว่า จิตฺตผลิกํ แก้วผลึกอันไพจิตร ดังนี้ก็มี.

บทว่า มหตํ ภูตานํ ได้แก่ สัตว์ใหญ่. ปลา ๓ ชนิด คือ ปลาติมิ ๑ ปลาติมิงคิละ ๑ ปลาติมิติมิงคิละ ๑. ปลาที่สามารถจะกลืนกินปลาติมิ ชื่อว่าปลาติมิงคิละ. ปลาที่สามารถจะกลืนกินปลาติมิ และปลาติมิงคิละ เขาเรียกว่า ปลาติมิติมิงคิละ.

บทว่า นาคา ได้แก่ นาคที่อยู่บนหลังคลื่นบ้าง นาคที่อยู่ในวิมานบ้าง.

ด้วยบทว่า เอวเมว โข พระศาสดาทรงสามารถเพื่อจะแสดง จำแนก อัจฉริยอัพภูตธรรม ๑๖ บ้าง ๓๒ บ้าง ยิ่งกว่านั้นบ้าง ในพระธรรมวินัยนี้ ก็จริง ถึงกระนั้น เมื่อทรงแสดง จำแนกธรรมที่ควรจะพึง

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 540

อุปมาเหล่านั้น เพียง ๘ อย่าง โดยสมควรแก่อรรถ ที่ถือเอาโดยความเป็นอุปมาในขณะนั้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า อย่างนั้นนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย อัจฉริยอัพภูตธรรม ๘ อย่าง ย่อมมีในธรรมวินัยนี้ ดังนี้.

ในธรรมเหล่านั้น ท่านถือเอาสิกขา ๓ ด้วย อนุปุพพสิกขา การศึกษาไปตามลำดับ. ธุดงค์ธรรม ๑๓ ถือเอาด้วย อนุปุพพกิริยา การทำไปตามลำดับ. อนุปัสสนา ๗ มหาวิปัสสนา ๑๘ การจำแนกอารมณ์ ๓๘ และโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ท่านถือเอาด้วย อนุปุพพปฏิปทา การปฏิบัติไปตามลำดับ.

บทว่า นายตเกเนว อญฺาปฏิเวโธ ความว่า ธรรมดาการไม่ทำศีลเป็นต้นให้บริบูรณ์ตั้งแต่ต้นมา แล้วแทงตลอดพระอรหัต ย่อมไม่มี เหมือนการไปเกิดขึ้นแห่งมัณฑุกเทพบุตร ฉะนั้น ส่วนการทำศีลสมาธิและปัญญาให้บริบูรณ์ไปตามลำดับก่อน แล้วจึงบรรลุพระอรหัตได้ ย่อมมี.

ด้วยบทว่า มม สาวกา พระองค์ตรัสหมายถึงพระอริยบุคคล มีพระโสดาบัน เป็นต้น.

บทว่า น สํวสติ ได้แก่ ย่อมไม่ทำสังวาสด้วยอำนาจอุโบสถกรรมเป็นต้น.

บทว่า อุกฺขิปติ แปลว่า ย่อมผลักออกไป.

บทว่า อารกา ว ได้แก่ ในที่ไกลนั่นแล.

บทว่า น เตน นิพฺพานธาตุยา อูนตฺตํ อูนตฺตํ วา ปูรตฺตํ วา ความว่า ใครๆ ไม่อาจจะกล่าวว่า แม้เมื่อกัปยังไม่สิ้นไป พระพุทธเจ้าทั้งหลายยังไม่เสด็จอุบัติ แม้สัตว์ตนหนึ่งก็ไม่สามารถจะปรินิพพานได้ แม้ในกาลนั้น ก็ไม่อาจจะพูดว่า นิพพานธาตุว่าง แต่ในครั้งพุทธกาล สัตว์ทั้งหลาย แม้นับไม่ถ้วนในสมาคมหนึ่งๆ ก็พากันยินดีอมตธรรม แม้ในกาลนั้น ใครๆ ก็ไม่อาจจะพูดได้ว่า นิพพานธาตุเต็ม.

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 541

บทว่า วิมุตฺติรโส แปลว่า มีการหลุดพ้นจากกิเลสเป็นรส. จริงอยู่ ศาสนสมบัติทั้งสิ้น ย่อมดำรงอยู่เพียงเพื่อจิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น.

บทว่า รตนานิ ความว่า ชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่าให้เกิดความยินดี. จริงอยู่ เมื่อเจริญสติปัฏฐานเป็นต้น ปีติและปราโมทย์มีประมาณไม่น้อยย่อมบังเกิดขึ้นในส่วนเบื้องต้น. ในส่วนเบื้องปลาย ไม่จำต้องทั้งกล่าวถึง สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า

พระโยคีย่อมพิจารณาเห็นความเกิดและความดับแห่งขันธ์ทั้งหลายในกาลใดๆ ในกาลนั้นๆ ท่านย่อมได้ปีติและปราโมทย์ นั้นเป็นอมตะของผู้รู้แจ้ง.

ก็ปีติและปราโมทย์อันมีโลกิยรัตนะเป็นเหตุ ย่อมไม่ถึงส่วนแห่งเสี้ยวของอมตธรรมนั้น อรรถดังว่ามานี้ ท่านแสดงไว้ในหนหลังแล้วแล อีกอย่างหนึ่ง

สิ่งที่ธรรมดาทำให้วิจิตร มีค่ามาก หาที่เปรียบปานมิได้ เห็นได้ยาก เป็นเครื่องใช้สอยของสัตว์ผู้ไม่ต่ำทราม ท่านเรียกว่า รัตนะแล.

ก็ถ้าชื่อว่ารัตนะ ย่อมมีได้โดยภาวะที่ธรรมดาทำให้วิจิตรเป็นต้นไซร้ ถึงอย่างนั้น สติปัฏฐานเป็นต้นนั่นแล ก็เป็นรัตนะได้ เพราะเป็นของมีอยู่จริง จริงอยู่ ภาวะแห่งสติปัฏฐานเป็นต้นนั้น เป็นอานุภาพของโพธิปักขิยธรรม เพราะเป็นเหตุใกล้ซึ่งทำให้พระสาวกบรรลุสาวกบารมีญาณ พระปัจเจกพุทธเจ้าบรรลุปัจเจกโพธิญาณ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ. จริงอยู่ เหตุที่สืบๆ กันมาเป็นอุปนิสัยแห่งทานเป็นต้น รวมความว่า สติปัฏฐานเป็นต้นเป็นรัตนะเป็นความดียิ่งแห่งโพธิปักขิยธรรม

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 542

เพราะอรรถว่า ทำให้เกิดความยินดี และเพราะอรรถว่า เป็นของอันธรรมดาทำให้วิจิตร. ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า ในธรรมเหล่านั้น รัตนะเหล่านี้ คือ สติปัฏฐาน ๔.

บรรดาธรรมเหล่านั้น ชื่อว่าปัฏฐาน เพราะอรรถว่า หยั่งลงปรากฏในอารมณ์ กรรมเริ่มแรก คือ สติ ชื่อว่าสติปัฏฐาน. ก็เพราะอารมณ์มี ๔ อย่างด้วยอำนาจกายเป็นต้น ท่านจึงกล่าวว่า สติปัฏฐาน ๔. จริงอย่างนั้น สติปัฏฐาน ๔ เหล่านั้น ท่านแยกออกเป็นกายานุปัสสนาเป็นต้น เพราะละความสำคัญในกายว่างาม เวทนาว่าเป็นสุข จิตว่าเป็นของเที่ยง และในธรรมว่าเป็นอัตตา และเพราะยึดถือในกายว่าเป็นของไม่งาม ในเวทนาว่าเป็นทุกข์ ในจิตว่าเป็นของไม่เที่ยง และในธรรมว่าเป็นอนัตตา.

ชื่อว่า สัมมัปปธาน เพราะเป็นเหตุให้พระโยคีเริ่มตั้งโดยชอบ หรือว่าตนเองเริ่มตั้งโดยชอบ หรือการเริ่มตั้งที่บัณฑิตสรรเสริญ หรือเป็นความดี. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า สัมมัปปธาน เพราะเป็นเหตุให้บุคคลทำความเพียรโดยชอบนั่นเอง คำว่าสัมมัปปธานนี้ เป็นชื่อของวิริยะ ความเพียร. ก็สัมมัปปธานความเพียรนั้น ก็เรียกว่าสัมมัปปธาน ๔ เพราะทำกิจ ๔ อย่าง คือ ไม่ให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ๑ ละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้น ๑ ทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ๑ ทำกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญ ๑.

ชื่อว่า ฤทธิ์ เพราะอรรถว่า สำเร็จ อธิบายว่า สัมฤทธิ์ คือ เผล็ดผล. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ฤทธิ์ เพราะเป็นเหตุสำเร็จ คือ สัมฤทธิ์ เจริญถึงความสูงสุดแห่งสัตว์ทั้งหลาย.

ด้วยอรรถแรก บาท คือ ความสำเร็จ ชื่อว่า อิทธิบาท อธิบายว่า ส่วนแห่งความสำเร็จ. ด้วยอรรถที่ ๒ บาท คือ

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 543

ที่ตั้ง ได้แก่ อุบายเครื่องบรรลุถึงความสำเร็จ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอิทธิบาท. จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมถึง คือ บรรลุความสำเร็จ กล่าวคือ คุณวิเศษสูงๆ ขึ้นไปด้วยอิทธิบาทนั้น. อิทธิบาทนี้นั้น ท่านเรียกว่า อิทธิบาท ๔ เพราะทำอธิบดีธรรม ๔ มีฉันทาธิบดีเป็นต้นให้เป็นธุระ คือ ให้เป็นใหญ่บังเกิดขึ้น.

บทว่า ปญฺจินฺทฺริยานิ ได้แก่ อินทรีย์ ๕ มีสัทธินทรีย์เป็นต้น. ในอินทรีย์ ๕ นั้น ศรัทธาชื่อว่าอินทรีย์ เพราะครอบงำความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา แล้วทำให้เป็นใหญ่ในลักษณะแห่งการน้อมใจเชื่อ. ปัญญาชื่อว่าอินทรีย์ เพราะครอบงำโกสัชชะ แล้วทำให้เป็นใหญ่ในลักษณะแห่งการประคองไว้ ครอบงำปมาทะ แล้วทำให้เป็นใหญ่ในลักษณะปรากฏ ครอบงำความฟุ้งซ่าน แล้วทำให้เป็นใหญ่ในลักษณะแห่งความไม่ฟุ้งซ่าน ครอบงำความไม่รู้ แล้วทำให้เป็นใหญ่ในลักษณะแห่งทัสสนะ อินทรีย์ ๕ เหล่านั้นแหละ พึงทราบว่า พละ เพราะความเป็นธรรมชาติมั่นคงในสัมปยุตธรรมทั้งหลาย ด้วยอรรถว่า ไม่หวั่นไหว โดยที่ความไม่มีศรัทธาเป็นต้นครอบงำไม่ได้.

บทว่า สตฺต โพชฺฌงฺคา ความว่า โพชฌงค์ เพราะอรรถว่าเป็นองค์แห่งธรรมสามัคคีเครื่องตรัสรู้ หรือของบุคคลผู้ตรัสรู้. พระอริยสาวกย่อมตรัสรู้ คือ ออกจากกิเลสนิทรา คือ แทงตลอดอริยสัจ ๔ หรือทำให้แจ้งเฉพาะพระนิพพาน ด้วยธรรมสามัคคีใด กล่าวคือ สติ ธัมมวิจยะ วีริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา อันเป็นปฏิปักษ์ต่ออันตรายเป็นอเนก เช่นการตั้งอยู่และการประมวลมาซึ่งความหดหู่และความฟุ้งซ่าน การประกอบในกามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 544

และการยึดมั่นอุจเฉททิฏฐิและสัสสตทิฏฐิเป็นต้น อันเกิดขึ้นในขณะโลกุตรมรรค เพราะเหตุนั้น ธรรมสามัคคีนั้น ท่านเรียกว่า โพธิ ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งโพธิ กล่าวคือ ธรรมสามัคคีนั้นบ้าง เหมือนองค์ของฌานและองค์ของมรรคเป็นต้น. ชื่อว่าโพชฌงค์ แม้เพราะเป็นองค์แห่งพระอริยสาวกผู้ตรัสรู้ซึ่งเรียกว่า โพธิ เพราะวิเคราะห์ว่า ตรัสรู้ด้วยธรรมสามัคคีมีประการดังกล่าวแล้ว เหมือนองค์ของเสนา และองค์ของรถเป็นต้น. ด้วยเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวว่า ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งบุคคลผู้ตรัสรู้ พึงทราบอรรถแห่งโพชฌงค์ แม้โดยนัยมีอาทิว่า ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นไปเพื่อธรรมสามัคคีเครื่องตรัสรู้ ดังนี้.

บทว่า อริโย อฏฺงฺคิโก มคฺโค ความว่า ชื่อว่าอริยะ เพราะไกลจากกิเลสอันมรรคนั้นๆ พึงฆ่า เพราะกระทำความเป็นพระอริยะ และเพราะให้ได้อริยผล. ชื่อว่าอัฏฐังคิกะ เพราะมรรคนั้นมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น อีกอย่างหนึ่ง องค์ ๘ นั่นแหละ ชื่อว่าอัฏฐังคิกะ. ชื่อว่ามรรค เพราะฆ่ากิเลสทั้งหลายให้ตายไป หรือเพราะผู้ต้องการพระนิพพานแสวงหา หรือตนเองแสวงหาพระนิพพาน. พึงทราบการจำแนกอรรถแห่งสติปัฏฐานเป็นต้นเหล่านั้นอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า โสตาปนฺโน ได้แก่ พระอริยบุคคลผู้ถึงคือบรรลุกระแส กล่าวคือ มรรคดำรงอยู่ อธิบายว่า ผู้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.

บทว่า โสดาปตฺติผลสจฺฉิกิริยาย ปฏิปนฺโน ได้แก่ พระอริยบุคคลผู้ดำรงอยู่ในปฐมมรรค ผู้กำลังปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้ประจักษ์แก่ตน

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 545

ซึ่งเรียกพระอริยบุคคลที่ ๘ ดังนี้ก็มี.

บทว่า สกทาคามี ได้แก่ พระอริยบุคคลผู้ดำรงอยู่ในผลที่ ๒ ผู้จะมาสู่โลกนี้คราวเดียวเท่านั้นโดยการถือปฏิสนธิ.

บทว่า อนาคามี ได้แก่ พระอริยบุคคลผู้ดำรงอยู่ในผลที่ ๓ ผู้มีปกติไม่มาสู่กามโลกโดยการถือปฏิสนธิ.

ก็การจำแนกพระอริยบุคคลมีอาทิอย่างนี้ว่า สัทธานุสารี ๑ ธัมมานุสารี ๑ เอกพีชี ๑ เป็นประเภทของพระอริยบุคคลเหล่านั้นนั่นแหล. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วแล.

บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงทราบความกล่าวคือความไม่มีธรรมเครื่องอยู่ร่วมกันกับบุคคลทุศีล ผู้ประดุจซากสัตว์ตายในพระธรรมวินัยของพระองค์นี้.

บทว่า อิมํ อุทานํ ความว่า ทรงเปล่งอุทานนี้ อันแสดงเหตุแห่งการจำแนกบุคคลผู้ไม่ควรอยู่ร่วมและผู้ควรอยู่ร่วม.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฉนฺนมติวสฺสติ ความว่า ภิกษุต้องอาบัติแล้วปกปิดไว้ ย่อมต้องอาบัติตัวอื่นใหม่อีก ย่อมต้องอาบัติมากขึ้นๆ ฝนคืออาบัติ ได้แก่ ฝนคือกิเลส ย่อมรั่วรดมากขึ้นอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า วิวฏํ นาติวสฺสติ ความว่า ภิกษุผู้ต้องอาบัติแล้วไม่ปกปิดอาบัตินั้นไว้ เปิดเผย ประกาศแก่เพื่อนสพรหมจารี กระทำคืน แสดงออก (จากอาบัติ) ตามธรรมตามวินัย ไม่ต้องอาบัติตัวอื่นใหม่ เพราะเหตุนั้น ฝนคืออาบัติ ฝนคือกิเลส ที่ภิกษุนั้นเปิดเผยแล้ว ย่อมไม่รั่วรดอีก ก็เพราะเหตุที่ข้อนั้นเป็นอย่างนั้น ฉะนั้น ท่านทั้งหลายพึงเปิด คือ ประกาศอาบัติที่ปิด คือ ที่ปกปิดไว้.

บทว่า เอวนฺตํ นาติวสฺสติ ความว่า เมื่อเป็นอย่างนั้น ฝนคือกิเลสย่อมไม่ทำลายอัตภาพแล้วรั่วรด คือ ไม่เปียกบุคคลผู้ต้องอาบัตินั้น. อธิบายว่า บุคคลนั้นไม่ถูกกิเลสรั่วรดอย่างนั้น

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 546

เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีใจมั่น เริ่มตั้งวิปัสสนาพิจารณาอยู่ ย่อมบรรลุถึงพระนิพพานโดยลำดับ.

จบอรรถกถาอุโปสถสูตรที่ ๕