พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. ราชสูตร ว่าด้วยไม่มีผู้เป็นที่รักกว่าตน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 ส.ค. 2564
หมายเลข  35322
อ่าน  543

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 480

โสณเถรวรรคที่ ๕

๑. ราชสูตร

ว่าด้วยไม่มีผู้เป็นที่รักกว่าตน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 480

โสณเถรวรรคที่ ๕

๑. ราชสูตร

ว่าด้วยไม่มีผู้เป็นที่รักกว่าตน

[๑๑๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับอยู่บนปราสาทอันประเสริฐชั้นบน พร้อมด้วยพระนางมัลลิกาเทวี ลำดับนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามพระนางมัลลิกาเทวีว่า ดูก่อนนางมัลลิกา มีใครอื่นบ้างไหมที่น้องรักยิ่งกว่าตน พระนางมัลลิกากราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า หามีใครอื่นที่หม่อมฉันจะรักยิ่งกว่าตนไม่ ก็ทูลกระหม่อมเล่า มีใครอื่นที่รักยิ่งกว่าพระองค์ เพคะ.

ป. ดูก่อนน้องมัลลิกา แม้ฉันก็ไม่รักใครอื่นยิ่งกว่าตน.

ลำดับนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จลงจากปราสาทแล้ว เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมแล้วประทับนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันอยู่บนปราสาทกับพระนางมัลลิกาเทวี ได้ถามพระนางมัลลิกาเทวีว่า มีใครอื่นที่น้องรักยิ่งกว่าตน เมื่อหม่อมฉันถามอย่างนี้ พระนางมัลลิกาเทวีกล่าวว่า พระพุทธเจ้าข้า หามีใครอื่นที่หม่อมฉันจะรักยิ่งกว่าตนไม่ ก็ทูลกระหม่อมเล่ามีใครอื่นที่รักยิ่งกว่าพระองค์ หม่อมฉันเมื่อถูกถามเข้าอย่างนี้ จึงได้ตอบพระนางมัลลิกาว่า แม้ฉันก็ไม่มีใครอื่นที่จะรักยิ่งกว่าตน.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 481

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ใครๆ ตรวจตราด้วยจิตทั่วทุกทิศแล้ว หาได้พบผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าตนในที่ไหนๆ ไม่เลย สัตว์เหล่าอื่นก็รักตนมากเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น.

จบราชสูตรที่ ๑

มหาวรรควรรณนาที่ ๕ (๑)

อรรถกถาราชสูตร

ราชสูตรที่ ๑ แห่งมหาวรรค มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า มลฺลิกาย เทวิยา สทฺธึ ความว่า กับพระมเหสีของพระองค์ทรงพระนามว่า มัลลิกา.

บทว่า อุปริปาสาทวรคโต ได้แก่ อยู่ชั้นบนปราสาทอันประเสริฐ.

บทว่า โกจญฺโ อตฺตนา ปิยตโร ความว่า ใครๆ อื่นที่เธอจะพึงรักยิ่งกว่าตนมีอยู่หรือ?

เพราะเหตุไร พระราชาจึงตรัสถาม. เพราะพระนางมัลลิกานี้ เป็นธิดาของนายมาลาการผู้เข็ญใจในกรุงสาวัตถี วันหนึ่ง ซื้อขนมจากตลาด ไปสวนดอกไม้คิดว่าจักกิน จึงเดินไปพบพระผู้มีพระภาคเจ้าแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ กำลังเข้าไปภิกษาจารสวนทางมา มีจิตเลื่อมใส ได้ถวายขนมนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระศาสดาทรงแสดงอาการประทับนั่งในที่เห็นปานนั้น


(๑) บาลีเป็นโสณเถรวรรค.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 482

พระอานนท์เถระได้ปูจีวรถวาย. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งในที่นั้น ทรงเสวยขนมนั้นแล้วบ้วนพระโอษฐ์ ทรงทำการแย้มให้ปรากฏ. พระเถระทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วิบากแห่งทานของหญิงนี้จักเป็นเช่นไร. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อานนท์ วันนี้นางได้ถวายโภชนะแก่ตถาคตเป็นครั้งแรก ในวันนี้แหละ นางจักเป็นอัครมเหสี เป็นที่รัก เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าโกศล.

ก็ในวันนั้นนั่นเอง พระราชารบกับหลานในกาสิคาม พ่ายแพ้หนีมาเข้าเมือง หวังจะรอให้หมู่พลมา จึงเสด็จเข้าไปยังสวนดอกไม้นั้น. นางมัลลิกานั้นเห็นพระราชาเสด็จมา จึงปรนนิบัติท้าวเธอ. พระราชาทรงโปรดปรานในการปรนนิบัติของนาง แล้วรับสั่งให้เรียกบิดามา ทรงประทานอิสริยยศเป็นอันมาก แล้วให้นำนางเข้ามายังภายในพระราชวัง ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี. ภายหลัง วันหนึ่ง พระราชาทรงดำริว่า เราให้อิสริยยศเป็นอันมากแก่นาง ถ้ากระไร เราพึงถามนางว่า ใครเป็นที่รักของเธอ นางทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์เป็นที่รักของหม่อมฉัน แล้วจักย้อนถามเรา เมื่อเป็นเช่นนี้เราจักตอบแก่นางว่า เธอเท่านั้นเป็นที่รักของเรา. ดังนั้น พระราชาเมื่อจะทรงทำสัมโมทนียะเพื่อให้เกิดความสนิทสนมกันและกัน จึงตรัสถาม. ก็พระเทวีเป็นบัณฑิต เป็นอุปัฏฐายิกาของพระพุทธเจ้า เป็นอุปัฏฐายิกาของสงฆ์ ทรงดำริว่า ปัญหานี้ไม่ควรเห็นแก่หน้ากราบทูลพระราชา เมื่อจะทูลตามความเป็นจริงนั้นแหละ จึงทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันไม่มีใครอื่นที่จะเป็นที่รักยิ่งไปกว่าตน. พระเทวีแม้ตรัสแล้วประสงค์จะกระทำอรรถที่ตนยืนยันให้ประจักษ์แก่พระราชาด้วยอุบาย จึงทูลถามพระราชาเหมือนที่พระราชาตรัสถามเองว่า

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 483

พระพุทธเจ้าข้า ก็พระองค์มีใครอื่นเป็นที่รักยิ่งกว่าตน. ฝ่ายพระราชาไม่อาจกลับ (ความ) ได้ เพราะพระเทวีตรัสโดยลักษณะพร้อมทั้งกิจ แม้พระองค์เองก็ตรัสโดยลักษณะพร้อมทั้งกิจ จึงตรัสยืนยันเหมือนดังพระเทวีตรัสยืนยัน.

ก็ครั้นตรัสยืนยันแล้ว เพราะความที่พระองค์มีปัญญาอ่อน จึงทรงดำริอย่างนี้ว่า เราเป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ครอบครองปกครองปฐพีมณฑลใหญ่ การจะยืนยันว่า เราไม่เห็นคนอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตน ดังนี้ ไม่สมควรแก่เราเลย แต่นางนี้ เป็นหญิงถ่อย ชาติชั่ว เราตั้งไว้ในตำแหน่งสูง ก็ยังไม่รักเราผู้เป็นสามีอย่างแท้จริง ยังกล่าวต่อหน้าเราว่า ตนเท่านั้นเป็นที่รักแก่ตน ดังนี้ แล้วจึงไม่พอพระทัยประท้วงว่า เธอรักพระรัตนตรัยมากกว่าหรือ. พระเทวีกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันปรารถนาสุขในสวรรค์ และสุขในมรรคเพื่อตน แม้พระรัตนตรัยหม่อมฉันก็รัก เพราะฉะนั้น ตนนั่นแลจึงเป็นที่รักยิ่งของหม่อมฉัน. ก็สัตวโลกทั้งหมดนี้ รักคนอื่นก็เพื่อประโยชน์ตนเองเท่านั้น แม้เมื่อปรารถนาบุตรก็ปรารถนาว่า บุตรนี้จักเลี้ยงดูเราในยามแก่ เมื่อปรารถนาธิดาก็ปรารถนาว่า ตระกูลของเราจักเจริญขึ้น เมื่อปรารถนาภริยาก็ปรารถนาว่า จักบำเรอเท้าเรา เมื่อปรารถนาแม้คนอื่นจะเป็นญาติมิตรหรือพวกพ้อง ก็ปรารถนาเนื่องด้วยกิจนั้นๆ ดังนั้น ชาวโลกเป็นผู้เห็นแต่ประโยชน์ตนเท่านั้นจึงรักคนอื่น รวมความว่า พระเทวีมีความประสงค์อย่างนี้แล.

ลำดับนั้น พระราชาทรงพระดำริว่า นางมัลลิกานี้เป็นผู้ฉลาด เป็นบัณฑิต เฉียบแหลม กล่าวว่า ตนนั้นแลเป็นที่รักยิ่งแก่เรา

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 484

แม้ตนของเรานั้นแหละ ก็ปรากฏว่าเป็นที่รัก เอาเถอะ เราจักกราบทูลเรื่องนี้แด่พระศาสดา และเราจะจำเธอไว้ตามที่พระศาสดาทรงพยากรณ์แก่เราไว้. ก็ครั้นทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงเสด็จไปเฝ้าพระศาสดากราบทูลความนั้น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถโข ราชา ปเสนทิโกสโล ฯเปฯ ปิยตโร ดังนี้เป็นต้น.

บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า พระศาสดาทรงทราบโดยประการทั้งปวงซึ่งเนื้อความนี้ คือ ที่พระราชาตรัสว่า สรรพสัตว์ในโลกซึ่งมีตนเป็นที่รักยิ่งของตน จึงเปล่งอุทานนี้ อันแสดงถึงเนื้อความนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพา ทิสา อนุปริคมฺม เจตสา ความว่า ส่งจิตไปด้วยอำนาจการแสวงหาทั่วหมดทั้ง ๑๐ ทิศ.

บทว่า เนวชฺฌคา ปิยตรมตฺตนา กฺวจิ ความว่า คนบางคนมีความอุตสาหะอย่างแรงแสวงหาบุคคลอื่นผู้เป็นที่รักยิ่งแก่ตน ไม่พึงพบ คือ ไม่พึงประสบในที่ใดที่หนึ่ง คือ ในทุกทิศ.

บทว่า เอวํ ปิโย ปุถุ อตฺตา ปเรสํ ความว่า สัตว์เหล่านั้นๆ ก็มีตนเป็นที่รักมาก คือ เป็นพวกๆ เหมือนอย่างนั้น คือ จะหาใครๆ ผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าตนไม่ได้.

บทว่า ตสฺมา น หึเส ปรมตฺตกาโม ความว่า เพราะเหตุที่สัตว์ทั้งหมดรักตัวเอง คือ รักสุขเกลียดทุกข์อย่างนี้ ฉะนั้น ผู้รักตนเมื่อปรารถนาหิตสุขเพื่อตน จึงไม่เบียดเบียน ไม่ฆ่าสัตว์อื่น โดยที่สุดมดดำมดแดง ทั้งไม่เบียดเบียนด้วยปหรณวัตถุ มีฝ่ามือ ก้อนดิน และท้อนไม้ เป็นต้น. จริงอยู่ เมื่อตนทำทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ทุกข์นั้นเป็นเหมือนก้าวออกมาจากกรรมที่ตนทำไว้แล้วนั้น

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 485

จักปรากฏในตนเวลาใกล้ตาย. ก็ข้อนี้ เป็นธรรมดาของกรรมนั่นแล.

จบอรรถกถาราชสูตรที่ ๑